โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ธรรมlife EP.74 | #ทำงานหนักเงินน้อย ต้องคิดอย่างไรให้รอด

สวนโมกข์

เผยแพร่ 13 มิ.ย. 2563 เวลา 17.00 น.

ตอบโดย พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

ธรรมะสวัสดีค่ะ อ้อมคิดว่าวันนี้คำถามของคุณผู้ชมเป็นคำถามที่น่าสนใจทีเดียวค่ะ ซึ่งมันก็น่าจะโดนใจใครหลายๆ คนที่เป็นมนุษย์ทำงาน โดยเฉพาะคนที่คิดว่าเงินเดือนฉันช่างน้อยนิด นั่นก็คือ ถ้าเรางานหนักแล้วเงินก็น้อย เราจะทำอย่างไรให้ใจเรารอดคะ วันนี้เรามีโอกาสได้ไปเรียนถามพระอาจารย์อนิลมานมาค่ะ

ทุกวันนี้คนไม่เข้าใจเรื่องรายได้กับรายจ่าย ส่วนใหญ่อยากมีรายได้มากเพื่อใช้จ่ายตามความต้องการของตัวเองได้ ทั้งที่จริงๆแล้ว ถ้าเราเอาความต้องการของตัวเองเป็นที่ตั้ง เราจะมีรายได้มากเท่าไร ก็ไม่เพียงพอต่อความโลภที่เรามี เพราะเราคิดว่าสิ่งนั้นก็จำเป็น สิ่งนี้ก็ดี สิ่งนั้นก็ช่วยเหลือเรา สิ่งนี้ทำให้เรามีความสุข นี่คือวิถีชีวิตของมนุษย์ในโลกนี้ ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า สันตุฏฐิ ปะระมัง ธะนัง ความสันโดษ เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง หรือ ความสันโดษเป็นสุดยอดของทรัพย์ทั้งหมด หมายถึง เวลาเราต้องการอะไร เราจะต้องมีตัวควบคุม คือคำว่าสันโดษ แต่คำว่า “สันโดษ” ในปัจจุบันมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปมาก คำว่า สันโดษ (สันตุฏฐิ) ที่ถูกต้องคือ สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานไว้ได้แก่ หลักเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง 

คำว่าพอเพียง หรือ สันโดษ มีอยู่ 3 ระดับ หนึ่งคือ พอเพียงตามที่ได้ (ยถาลาภสันโดษ) เราได้อะไร ก็ใช้จ่ายในสิ่งที่เรามีอยู่ ไม่ไปขวนขวายหามากกว่านั้น สองคือ เราหาได้ตามกำลัง (ยถาพลสันโดษ) เรามีกำลังเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นกำลังกาย กำลังทุน ก็รู้จักใช้ รู้จักอยู่กับตรงนั้น สามคือ ยินดีพอใจตามเหตุและผล (ยถาสารุปปสันโดษ) ถ้าเราเข้าใจสัจธรรมในข้อนี้ เราก็จะเห็นว่า มันไม่เกี่ยวกับเรื่องของรายได้กับรายจ่าย แต่มันคือการสนองความต้องการในชีวิตทั้งหลายอย่างสมเหตุสมผล 

กลับไปที่คำถามเรื่องงานหนักได้เงินน้อยโดยเฉพาะทุกวันนี้โควิด-19 แผลงฤทธิ์ รายได้กับรายจ่ายไม่เสมอกัน มันก็ขึ้นอยู่กับตัวเราว่าพยามยามจะรู้จักคำว่า “สันโดษ” ในแต่ละวันแล้วหรือไม่ ในอดีตเราใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ในเวลานี้เราอาจจะต้องควบคุมการใช้จ่ายบ้าง เราจะได้รู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีนั้น มีค่ามหาศาล จากปกติเราใช้กันจนไม่รู้ว่าเรามีอะไรบ้าง ลองกลับมาดูสิ่งที่เรามีอยู่อย่างจริงจังแล้วบริหารจัดการสิ่งเหล่านั้น เมื่อนั้นแหละ รายได้กับรายจ่ายก็ไม่เป็นปัญหา แล้วเราก็จะสามารถมองการทำงานในทุก ๆ วันได้ว่า ไม่ใช่ทำงานเพื่อรายได้ เราทำงานเพื่องาน เพื่อความสำเร็จของงาน เงินนั้นเป็นแค่ตัวประกอบ รายได้นั้นเป็นแค่ตัวประกอบ เรามีใช้ เรามีกิน ถือว่าดีแล้ว จัดการบริหารสิ่งที่เรามีอยู่อย่างพอเพียงได้ นั่นจึงเป็นวิถีชีวิตของผู้ฉลาด

อย่าลืมว่า ถ้าคุณรู้สึกหนัก มีทุกข์ในใจแบ่งเรื่องราวของคุณให้พวกเราได้ค่ะ ส่งความหนัก ความทุกข์ สิ่งสงสัยมาให้พวกเราได้ที่ www.bia.or.th/dhamlife อ้อมจะไปหาคำตอบจากพระอาจารย์มาให้ค่ะ อะไรที่อ้อมช่วยได้ อ้อมยินดีค่ะ ติดตามข้อธรรมดีๆ ได้ที่เพจ fb : หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ Line: @Suanmokkh_Bangkok  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0