โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คนอีสานลุ้นนั่งรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว หนุนไทยเร่งมือคาดเกิดผลดีกว่าเสีย

NATIONTV

อัพเดต 17 ก.พ. 2565 เวลา 09.49 น. • เผยแพร่ 17 ก.พ. 2565 เวลา 09.41 น.

อีสานโพลสำรวจความคิดเห็นคนอีสานเรื่องรถไฟความเร็วสูง ส่วนใหญ่อยากไปนั่งที่ลาวหากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย พร้อมหนุนให้เชื่อมเส้นทางเข้าไทยคาดมีประโยชน์มากกว่าผลเสีย

17 กุมภาพันธ์ 2565 ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเผยผลสำรวจเรื่อง "คนอีสานกับรถไฟความเร็วสูงลาว–จีน” ผลสำรวจพบว่า หากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย คนอีสานอยากลองไปใช้บริการรถไฟความเร็วสูงลาว–จีน ภายในปีนี้ ร้อยละ 18.7 หรือประมาณ 1.3 ล้านคน เกินครึ่งเชื่อว่ารถไฟความเร็วสูงลาว–จีน มีประโยชน์มากกว่าผลเสียต่อเศรษฐกิจอีสาน และเชื่อว่าในการเชื่อมทางรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ ไปเวียงจันทน์ หากรถไฟความเร็วสูงเส้นกรุงเทพฯ – ขอนแก่น แล้วสร็จก่อน จะให้ประโยชน์สูงสุดกว่าช่วงเส้นทางอื่นๆ และคนอีสานคิดว่าควรใช้เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นมากที่สุด

 

ผศ.ดร.สุทิน กล่าวอีกว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อรถไฟความเร็วสูงลาว–จีน ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ว่าจะส่งผลดีและผลเสียต่อเศรษฐกิจภาคอีสานด้านใดบ้างและมากน้อยเพียงใด ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 12-14 กุมภาพันธ์ 2565 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,080 รายในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด

 

เมื่อสอบถามว่า “ภายในปีนี้ท่านจะไปใช้บริการรถไฟความเร็วสูงลาว-จีนหรือไม่” พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 42.0 ตอบว่ายังไม่ไป รองลงมาร้อยละ 39.3 ตอบว่าอาจจะไป ขณะที่ร้อยละ 18.7 ตอบว่าไปแน่นอน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าสนใจเนื่องจากจำนวนประชากรอีสานที่มีอายุระหว่าง 18 – 40 ปี (กลุ่มที่มีสัดส่วนความต้องการไปลองใช้บริการสูง) มีจำนวนประมาณ 7.1 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่าจะมีคนอีสานประมาณ 1.3 ล้านคน ที่อยากไปลองใช้บริการรถไฟความเร็วสูงลาว–จีน ภายในปีนี้ ซึ่งหากภาวะการระบาดของโรคโควิดคลี่คลาย เราอาจจะได้เห็นการแห่ไปลองใช้บริการรถไฟความเร็วสูงลาว–จีน ของคนอีสานอย่างคึกคัก 

 

เมื่อสอบถามถึง “ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากรถไฟความเร็วสูงลาว–จีน” พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ได้ ระบุถึงผลประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนี้ เศรษฐกิจภาคอีสานดีขึ้น การเดินทางสะดวกและรวดเร็วขึ้น เกิดการจ้างงานและอาชีพใหม่ๆ ลดต้นทุนการนำเข้าสินค้า ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาจีน เพิ่มการลงทุนในภาคอีสาน ธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวลาวและจีนขยายตัว ช่วยเร่งการพัฒนาการขนส่งทางรางในภาคอีสาน ธุรกิจการขนส่งขยายตัว การนำเข้าและส่งออกเติบโต สินค้าเกษตรของไทยส่งออกได้มากขึ้น และส่งเสริมการท่องเที่ยวในภาคอีสาน

 

เมื่อสอบถามถึง “ผลกระทบทางลบที่คาดว่าจะมาจากรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน” พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ได้ ระบุถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนี้ เกิดการระบาดของโรคติดต่อง่ายขึ้น เศรษฐกิจเติบโตกระจุกเฉพาะพื้นที่ การเข้ามาของทุนจีน ค่าครองชีพในบางจังหวัดเพิ่มสูงขึ้น คู่แข่งทางธุรกิจและการค้าจะเพิ่มขึ้น มีอาชญากรรมและมิจฉาชีพข้ามชาติมากขึ้น เกิดการแย่งอาชีพและการค้าขายจากชาวต่างชาติ อาจสูญเสียการเป็นศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค เงินไหลออกจากการออกไปเที่ยวของคนไทย เงินไหลออกจากการออกไปเที่ยวของคนไทย ความวุ่นวายจากนักท่องเที่ยวและคนต่างถิ่นที่มากขึ้น ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินลดลง และสินค้าเกษตรไทยถูกคุกคามจากสินค้าเกษตรของจีน

 

เมื่อสอบถามว่า “เศรษฐกิจภาคอีสานโดยรวมจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์มากน้อยเพียงใดจากรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน” พบว่า ร้อยละ 55.0 ระบุว่าเศรษฐกิจภาคอีสานโดยรวมจะได้ประโยชน์ โดยแบ่งเป็น ได้ประโยชน์มาก ร้อยละ 20.6 และได้ประโยชน์เล็กน้อย ร้อยละ 34.4 ขณะที่มีเพียงร้อยละ 19.0 ที่ตอบว่า เศรษฐกิจภาคอีสานโดยรวมจะเสียประโยชน์ โดยแบ่งเป็น เสียประโยชน์เล็กน้อย ร้อยละ 13.9 และเสียประโยชน์มาก ร้อยละ 5.1 ทั้งนี้มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 26.0 ที่ระบุว่า ไม่ได้และไม่เสีย (ได้และเสียเท่าๆ กัน)

เมื่อสอบถามว่า “ด้วยงบประมาณที่จำกัดและประโยชน์สูงสุด ท่านอยากให้มีการสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นใดให้เสร็จก่อน” พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 46.3 เห็นว่าควรสร้าง เส้นกรุงเทพฯ – ขอนแก่น ให้เสร็จก่อน รองลงมา ร้อยละ 32.5 เห็นว่า เส้นเวียงจันทน์ – หนองคาย และเส้นกรุงเทพฯ – นครราชสีมา และร้อยละ 21.2 เห็นว่าเป็นเส้นเวียงจันทน์ – ขอนแก่น

 

สุดท้ายเมื่อสอบถามว่า “ประเทศไทยควรใช้เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงจากประเทศใดมากที่สุด” พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 41.4 เห็นว่าควรใช้เทคโนโลยีประเทศญี่ปุ่น รองลงมา ร้อยละ 18.0 เห็นว่า เทคโนโลยีของจีน ร้อยละ 14.5 เกาหลีใต้ ร้อยละ 13.6 เยอรมัน และร้อยละ 12.5 ฝรั่งเศส

โดย - สุมาลี สุวรรณกร
 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0