โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เปิดที่มา “บุรีรัมย์” เมืองเก่าแก่กว่า 2,000 ปี ชื่อนี้มีความหมายว่าอะไร มีความเป็นมาอย่างไร

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 17 ม.ค. เวลา 08.56 น. • เผยแพร่ 17 ม.ค. เวลา 08.52 น.
ภาพปก-บุรีรัมย์
บ้านเมืองบุรีรัมย์ เมื่อ พ.ศ. 2504 ในภาพขบวนแห่กิจกรรมของชุมชนกำลังผ่านสำนักงานไปรษณีย์โทรเลขหลังแรกของบุรีรัมย์ ถนนนิวาศ (นายกำจร ศิริพานิช-เจ้าของภาพ, ภาพจากหนังสือบุรีรัมย์มาจากไหน)

เดิมที “บุรีรัมย์” อาจไม่ได้เป็นหนึ่งในเมืองหลักของภาคอีสาน แต่ปัจจุบันบุรีรัมย์ทวีความสำคัญมากขึ้นทั้งในแง่เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

ชื่อจังหวัด บุรีรัมย์ มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต 2 คำ คือ “บุรี” กับ “รัมย์” บุรี แปลว่า เมือง, รัมย์ แผลงจากคำว่า รมย์ แปลว่า รื่นรมย์ บุรีรัมย์จึงหมายถึง“เมืองอันน่ารื่นรมย์” มีความเป็นมาและพัฒนาการที่สำคัญๆ พอสรุปได้ดังนี้ หลัง พ.ศ. 500 บริเวณบุรีรัมย์ ลุ่มน้ำมูล และทิวเขาพนมดงเร็ก มีคนตั้งหลักแหล่งทั้งบริเวณที่ต่อไปจะเป็นบ้านเมืองใกล้ห้วยจระเข้ นับถือศาสนาผี และมีร่องรอยถลุงเหล็กอยู่ที่ ต. ถลุงเหล็ก อ. เมืองบุรีรัมย์ จ. บุรีรัมย์

พ.ศ. 1000 มีรัฐเจนละ แรกสุดในอีสาน อยู่บริเวณโขง-ชี-มูล ที่อุบลราชธานี, อำนาจเจริญ, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, ถึงบุรีรัมย์กับดินแดนทางทิวเขาพนมดงเร็ก โดยเฉพาะบริเวณเมืองบุรีรัมย์มีชุมชนขยายใหญ่มาแต่อดีต และพบจารึกพระเจ้าจิตรเสนที่ถ้ำเป็ดทอง อ. ปะคำ จ. บุรีรัมย์ หลัง พ.ศ. 1500 บรรพชน “ขอม” ที่ลุ่มน้ำมูล ก่อสร้างปราสาทหินสำคัญในภาคอีสานและในบุรีรัมย์ เช่น ปราสาทพนมรุ้ง, ปราสาทพิมาย ฯลฯ

นอกจากการสร้างปราสาทแล้ว ยังขยายมาควบคุมเส้นทางการค้าด้านลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล หลัง พ.ศ. 1700 บุรีรัมย์ รวมทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล ที่อยู่ในอิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีบ้านเล็กเมืองน้อยเรียงรายหนาแน่นตามเส้นทางการค้า หลัง พ.ศ. 1800 บริเวณบุรีรัมย์ เขาพนมรุ้ง และพื้นที่ใกล้เคียง เป็นศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ มีเจ้าเมืองปกครองสืบเนื่อง เรียกต่อเนื่องกันว่า “เมืองพนมรุ้ง”

ก่อน พ.ศ. 1981 เจ้าเมืองพนมรุ้งยอมอ่อนน้อมต่อเจ้าสามพระยา กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1967-1981) พร้อมกันกับเจ้าเมืองพิมาย เนื่องจากทราบข่าวว่าเจ้าสามพระยากำลังเตรียมทัพจะมาตี พ.ศ. 2320 บรรดา “เขมรป่าดง” เมืองตะลุง (อ. ประโคนชัย จ. บุรีรัมย์) เมืองสุรินทร์, เมืองสังขะ, เมืองขุขันธ์ สวามิภักดิ์พระเจ้าตากสิน กรุงธนบุรี

พ.ศ. 2433 เมืองบุรีรัมย์เป็นเมืองเอก 1 ใน 16 หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ มีที่ว่าการอยู่เมืองหนองคาย พ.ศ. 2436 รัชกาลที่ 5 โปรดให้เมืองนครราชสีมา, เมืองบุรีรัมย์, เมืองนางรอง, เมืองชัยภูมิ รวม 4 เมือง เป็น“มณฑลนครราชสีมา” มีที่ว่าการอยู่ที่เมืองนครราชสีมา พ.ศ. 2442 เรียกชาวบุรีรัมย์เป็นคน “ชาติไทยบังคับสยาม” อันเป็นผลจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตกเป็นของฝรั่งเศส ส่วนฝั่งขวาเป็นของสยาม ต้องแสดงลักษณะสยามให้ปรากฏเป็นทางการ เพื่อป้องกันมิให้ถูกฝรั่งเศสคุกคามข้ามโขงมายึดครองอีก

พ.ศ. 2456 รัชกาลที่ 6 โปรดฯ ให้รวมมณฑลอุดรธานี, มณฑลอุบลราชธานี และมณฑลร้อยเอ็ด เป็น “ภาคอีสาน” พ.ศ. 2468 รถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงบุรีรัมย์เป็นครั้งแรก หลังจากทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา แล้วเสร็จ และเปิดเดินรถเมื่อ พ.ศ. 2443 ต่อมา พ.ศ. 2460 เริ่มก่อสร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ไปยังอุบลราชธานี ผ่านบุรีรัมย์

พ.ศ. 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย จังหวัดบุรีรัมย์มีผู้แทนราษฎรคนแรก คือ พันตรี หลวงศักดิ์รณการ (นาก ปิตะเสน)

พ.ศ. 2476 ยกฐานะเมืองบุรีรัมย์ เป็นจังหวัดบุรีรัมย์ ไม่ต้องขึ้นต่อเมืองนครราชสีมาอีกต่อไป

พ.ศ. 2482 ชาวบุรีรัมย์ที่ถูกเรียกว่า ลาว, ส่วย, เขมร มาแต่เดิม ต่อไปนี้เป็น “คนไทย” หมดทุกคน เพราะรัฐบาลเปลี่ยนชื่อราชอาณาจักรสยามเป็น “ประเทศไทย” ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 แล้วให้ราษฎรเป็นคนไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ. บุรีรัมย์มาจากไหน?, สำนักพิมพ์แม่คำผาง พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2553.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เปิดที่มา “บุรีรัมย์” เมืองเก่าแก่กว่า 2,000 ปี ชื่อนี้มีความหมายว่าอะไร มีความเป็นมาอย่างไร

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น