โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ทักษิณ พรรคเพื่อไทย และอนาคต | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 14 ก.ย 2566 เวลา 10.18 น. • เผยแพร่ 14 ก.ย 2566 เวลา 10.15 น.
1694686607866

เป็นความจริงที่การเมืองไทยกำลังเป็นที่สนใจของนานาชาติอย่างมาก

ผมติดตามคอลัมน์ เทศมองไทย จากสื่อไทยหลายสำนัก พวกเขารายงานข่าวการเมืองไทยจากสำนักข่าวตะวันตกเกือบทั้งหมดเช่น CNN, AP, AFP, Reuters, BBC, Washington Post, New York Times เป็นต้น

แน่นอนการวิเคราะห์การเมืองไทยของสื่อตะวันตกยังน้อยมาก เป็นรายงานข่าวส่วนใหญ่ สำหรับผม หากเป็นการเมืองไทยที่มีบทวิเคราะห์ลุ่มลึก สื่อตะวันตกผมยกให้ Asia Times, Nikkei Asia, South China Morning Post อาจเป็นเพราะสื่อต่างประเทศเหล่านี้มีผู้สื่อข่าวอยู่ในภูมิภาคเอเชียและโดยเฉพาะในไทย แถมยังเป็นนักข่าวประเภทเกาะติด รู้ภาษาไทย มีแหล่งข่าวน่าเชื่อถือ

ยิ่งหลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตามด้วยข่าวร้อนลึกคือ การกลับมาของ ทักษิณ ชินวัตร 22 สิงหาคมที่ผ่านมา1 ผมคนหนึ่งก็ยิ่งติดตามข่าวการเมืองไทย ที่หลายๆ คนเห็นว่า ไม่ได้เปลี่ยนแปลงทุกวัน แต่เป็นเปลี่ยนแปลงเกือบทุกชั่วโมง

ในฐานะคนนอก ผมไม่อาจติดตามข่าวการเมืองไทยแบบ เทศมองไทยดั้งเดิมคือ อ่านเฉพาะสื่อตะวันตกเพียงอย่างเดียวเสียแล้ว

ผมจึงเริ่มติดตามข่าวการเมืองไทยจาก สื่อภาษาจีน แต่หลายคนอาจเห็นว่าผมโม้อีกแล้ว ผมอ่านภาษาจีนไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม ผมเป็นคนชอบตื้อ ผมขอให้เพื่อนร่วมงานของผมที่ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยเก็บข้อมูล บางคนช่วยแปลข่าวชิ้นสำคัญให้ด้วย

ผมจึงขอนำบางส่วนของ บทวิเคราะห์ ทักษิณ ชินวัตร พรรคเพื่อไทยและอนาคตชิ้นที่ตีพิมพ์วันที่ 22 สิงหาคม วันที่ทักษิณ ชินวัตร กลับสู่ไทยอีกครั้งหนึ่งมานำเสนอนั่นคือ

บทความที่เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Yu Qun ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ National University of Defense Technology จาก https://m.thepaper.cn/newsDetail_forward_24309800 22 August 2023

แปลและเรียบเรียงโดย ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย2

“…ปัญหาของพรรคเพื่อไทย

อันที่จริง พรรคเพื่อไทยกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากใหญ่หลวง และแนวทางของพรรคดูเหมือนจะไม่มีเลย ก้าวไปข้างหน้าพรรคเพื่อไทยอาจไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ในที่สุด เมื่อก้าวถอยหลังเป็นไปไม่ได้อีกต่อไปที่จะกลับไปสู่แนวร่วม 8 พรรคที่ก่อตั้งร่วมกับพรรคก้าวไกลในวันที่ 22 พฤษภาคม

อีกทั้งการดำเนินการทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยยังทำลายชื่อเสียงทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยอย่างร้ายแรงอีกด้วย ในฐานะกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งใหญ่ที่สุด ‘กองทัพคนเสื้อแดง’ สมาชิกจำนวนมากพบว่าเป็นการยากที่จะเข้าใจการกระทำของตนและยังฉีกชุดสีแดงบนถนนอย่างเปิดเผยเพื่อประท้วงและแสดงความไม่พอใจและมีความขัดแย้งภายในพรรค มีข่าวลือว่า มีผู้ตั้งใจที่จะนำ ส.ส.มากกว่า 20 คนไปลงคะแนนเสียงให้พรรคอื่น แต่ถูกชลน่าน (ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น-ขยายความโดยผู้เขียน) ขัดขวาง พรรคเพื่อไทยเล็งเห็นถึงผลที่ตามมาข้างต้นเมื่อวางแผนส่งเสริมทั้งหมดนี้คำตอบคือไม่ชัดเจน แล้วจุดประสงค์ที่จะทำสิ่งนี้เพื่อพรรคเพื่อไทยคืออะไร?

ผู้เขียนบทความเชื่อว่าเหตุผลที่สำคัญที่สุดคือ ทักษิณอยากกลับประเทศ (เน้นโดยผู้เขียน) นับตั้งแต่การโค่นล้มปี 2549 ทักษิณได้กลับบ้านเพียงช่วงสั้นๆ และลี้ภัยไปตั้งแต่นั้นมา น้องสาวของเขา อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หนีออกจากประเทศไปในปี 2560 เพื่อเข้าร่วมกับทักษิณ ทั้งสองถูกตั้งข้อหาก่ออาชญากรรมหลายครั้ง และเมื่อพวกเขาเดินทางกลับประเทศไทย พวกเขาจะถูกจำคุก ในช่วงโรคระบาดปี 2563 ทักษิณซึ่งนิ่งเงียบมานานหลายปีได้ปรากฏตัวบนแพลตฟอร์มคลับเฮาส์ และเข้าร่วมแพลตฟอร์มการสื่อสารออนไลน์ที่จัดโดยแคร์ ซึ่งเป็นกลุ่มแกนหลักของพรรคเพื่อไทย เพื่อแสดงความเห็นต่อประเด็นทางการเมืองในปัจจุบัน และดำเนินการต่อ เพื่อดึงดูดความนิยมให้กับพรรคเพื่อไทย เขาหวังว่าในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 พรรคเพื่อไทยจะได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น และยินดีต้อนรับเขากลับบ้านอย่างมีศักดิ์ศรี

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งทั่วไปยังห่างไกลจากที่เขาคาดไว้ ไม่เพียงแต่เขาจะไม่ได้รับชัยชนะอย่างล้นหลาม แต่เขายังล้มเหลวในการป้องกันตำแหน่งของเขาตามที่เขาปรารถนา ทำให้ทักษิณยิ่งวิตกมากขึ้น

ท้ายที่สุดพรรคเพื่อไทยก็แสดงอาการถดถอยหากโอกาสนี้พลิกกลับไม่ได้…ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของทักษิณสำหรับพรรคเพื่อไทยคือ สิ่งสำคัญคือต้องทำให้พรรคเพื่อไทยมีส่วนร่วมในการเมือง (ขยายความโดยผู้เขียน) และจะต้องไม่เป็นพรรคฝ่ายค้านเด็ดขาด หากเป็นไปได้ให้พยายามรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสำคัญๆ สำหรับตอนนี้ การเสนอชื่อเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นการเสนอเพื่อเป้าหมายดังกล่าว (ขยายความโดยผู้เขียน)…

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุผลที่ลึกซึ้งที่สุดที่พรรคเพื่อไทยนำไข่ทั้งหมดมาใส่ตระกร้าใบเดียว (ขยายความโดยผู้เขียน) นั่นคือได้รับการสนับสนุนจากประชาชนโดยนำรัฐบาลใหม่ และดำเนินนโยบายเพื่อฟื้นฟูประเทศของพรรคเพื่อไทย

ส่วนกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งของฝ่ายกลางซ้ายเช่น พรรคเพื่อไทยพยายามรักษาสถานะของพรรคให้เป็นพรรคใหญ่ ภูมิทัศน์ทางการเมืองของไทยจะพัฒนาไปสู่สถานะที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลกลายเป็นผู้นำของทั้งสองค่ายที่เผชิญหน้ากันหรือไม่ยังไม่ชัดเจน…”

ข้อคิดต่อการเมืองและอนาคตของไทย

จากข้อความข้างต้นที่ผมคัดเลือกมา ผมมีความเห็นดังนี้

ในแง่การใช้ข้อมูล ไม่ใช่เรื่องเล่นเลยการใช้ข้อมูลภาษาจีนที่วิเคราะห์การเมืองและเรื่องสำคัญอื่นๆของไทย ด้วยความยากของภาษา การเข้าถึงแหล่งข้อมูล อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนนอกผู้ติดตามการเมืองไทยเสมอมา ผมว่าข้อวิเคราะห์และความคิดเห็นของสื่อภาษาจีนชิ้นนี้ กล่าวได้ว่าข้อมูลดีไม่แพ้สื่อตะวันตก

เช่น ผู้เขียนบทวิเคราะห์คนนี้เป็นนักวิชาการ จะเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์หรือไม่ผมไม่ทราบ อ่านแล้วไม่ใช่ข้อมูลแบบโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่คนเขียนเขียนรายงานข่าวได้ละเอียดและต่อเนื่อง

พร้อมยังอ้าง “ข่าวลื่อ” ที่เขาได้รับแล้วนำมาประกอบการวิเคราะห์ด้วย อีกประการหนึ่ง บทความนี้แสดงว่า ผู้เขียนได้ติดตามอย่างเข้าใจการเมืองไทยแล้วอาจจะมีแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ซึ่งอาจจะดีกว่าสื่อตะวันตกเสียอีก

ในแง่การเมืองไทย แม้ว่าบทความนี้เขียนช่วงที่ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับเมืองไทย ที่อาจะดูล่าช้าไป แต่บทความได้ปูพื้นฐานที่สำคัญคือบทบาทของทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนและช่วงเดินทางกลับไทย อันเป็นเหตุผลแท้จริงของการเดินเกมการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ช่วงการจัดตั้งรัฐบาลและการเสนอชื่อเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี

ที่วิเศษสำหรับคนอ่านอย่างผมคือ วิเคราะห์แบบไม่ต้องเกรงใจและไม่เป็น “การเมือง” หรือเข้าข้างจนเกินไปว่า ทักษิณ ชินวัตร คือเหตุผลหลักของนโยบายพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาลและเส้นทางนายกรัฐมนตรีของเศรษฐา ทวีสิน เขียนเส้นโดยเจ้าของพรรคเพื่อไทยคือคนที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร

บทความนี้แสดงถึงสภาวะ ตาสว่าง กันเสียทีทั้งคนไทยและเทศ แล้วยังกล้าวิเคราะห์ด้วยว่า ในระยะถัดมาพรรคก้าวไกลจะเป็นคู่แข่งขันทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย หมายความว่า ตื่นกันได้แล้วว่า การกลับไทยของทักษิณ ชินวัตร เป็นเพียงเรื่องระยะสั้น แล้วอาจไม่ได้เป็นผลดีต่อทั้งพรรคเพื่อไทยและอนาคตประชาธิปไตยไทยอีกด้วย

ในแง่ที่ว่า เราแน่ใจหรือว่า ทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน หมายถึง การก้าวข้ามความขัดแย้ง การสลายขั้วความขัดแย้งทางการเมือง

เราอาจกำลังก้าวสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงกว่าเดิม โดยเริ่มต้นจากความขัดแย้งรุนแรงภายในชนชั้นนำด้วยกันเอง

แล้วความขยันของทักษิณ ชินวัตร หลังจากกลับไทยหาใช่เรื่องเลี้ยงหลานๆ ที่แสนน่ารักของเขา ทักษิณ ชินวัตร นั่นแหละที่ประกอบสร้าง การเมืองไทย New Chapter ซึ่งเขาเริ่มขึ้นแล้วจากโรงพยาบาลหรือที่อยู่อาศัยของเขาในไทย การหยิบเศรษฐา ทวีสิน เป็นหมากการเมืองตัวใหม่ รวมทั้งรัฐมนตรีและคณะทำงานของรัฐมนตรีในรัฐบาลเศรษฐา 1 อีกด้วย

ไม่มีใครรู้ แม้ตัวทักษิณ ชินวัตร เองก็ไม่รู้ว่า New Chapter ของการเมืองไทยจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขา ครอบครัวของเขาและพรรคเพื่อไทยมากน้อยแค่ไหน

ผมว่า ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ควบคุมอะไรไม่ได้เลย การเผชิญหน้าภายในชนชั้นนำกำลังก่อตัวขึ้นมากกว่าการประนีประนอม

ในโลกยุคใหม่ เราควรติดตามบทวิเคราะห์และรายงานข่าวของทั้งสื่อไทย และสื่อเทศ ที่มีสื่อภาษาจีนด้วย เพื่อความเข้าใจและทันเหตุการณ์มากขึ้น สื่อภาษาจีนน่าติดตามมากครับ

1ทักษิณคุยกับบีบีซีไทยก่อนออกจากดูไบ บีบีซีไทย 19 สิงหาคม 2023

2แปลเสร็จเมื่อ 28 สิงหาคม 2023

สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj

— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 1

  • 1 LEVEL 🎱 🐒
    ขึ้นไม่ถึงดอยสุเทพ🌋... เพราะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
    15 ก.ย 2566 เวลา 00.14 น.
ดูทั้งหมด