ก้าวเข้าสู่หน้าฝนมาได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง พบว่าคนรอบข้างทั้งเด็กเล็กและผู้ใหญ่ เริ่มมีอาการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกจำนวนมาก เนื่องจากความชุกชุมของยุงลายในย่านชุมชน ทำให้วันนี้อดไม่ได้ที่จะไปหาข้อมูลมาอัปเดตข่าวสาร สำหรับสถิติผู้ป่วยไข้เลือดออกที่เกิดขึ้นในปี 2565 ที่ผ่านมา รวมถึงวิธีการดูแลและป้องกันตัวเองจากอาการป่วย หากพร้อมแล้ว มาดูเลย
อัปเดตข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังทางโรคระบาดวิทยา (506) กองระบาดวิทยา ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 พบสถิติผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 39,141 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 59.14 ต่อแสนประชากร ตายสะสม 27 ราย โดยคิดเป็นอัตราการตาย 0.07 ต่อแสนประชากร (ทั้งนี้ข้อมูลจำนวนผู้ป่วยพ.ศ. 2565 มากกว่า พ.ศ. 2564 ในช่วงเวลาเดียวกัน 4 เท่า)
โดยข้อมูลสถิติผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 6,569 ราย คิดเป็น อัตราป่วย 118.83 ต่อแสนประชากร ตายสะสม 3 ราย คิดเป็นอัตราตาย 0.05 ต่อแสนประชากร ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 5-14 ปี อัตราป่วย 272.62 ต่อแสนประชากร รองลงมากเป็นกลุ่มอายุ 15-34 ปี อัตราป่วย 194.14 ต่อแสนประชากร และกลุ่มอายุ 0-4 ปี อัตราป่วย 120.32 ต่อแสนประชากร
ทั้งนี้จากข้อมูลสถิติผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2565 สูงกว่า ข้อมูลพ.ศ. 2564 และค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง จะพบว่าเขตที่อัตราป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก คือ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย อัตราป่วย 66.80 ต่อแสนประชากร, เขตราชเทวี อัตราป่วย 64.96 ต่อแสนประชากร และเขตพญาไท 57.39 ต่อแสนประชากร
วิธีป้องกันตัวเองจากโรคไข้เลือดออก
หลังจากที่ได้เห็นสถิติผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพมหานครกันไปแล้ว เชื่อว่าต้องมีผู้ปกครองและอีกหลาย ๆ คน รู้สึกไม่สบายใจในความเสี่ยงนี้ เราจึงได้รวบรวมวิธีการป้องกันและดูแลตัวเองให้ห่างจากโรคไข้เลือดออกมาฝาก ดูได้ด้านล่างนี้เลย
1.การป้องกันไม่ให้ยุงกัด
- นอนในมุ้งหรือติดมุ้งลวดเพื่อป้องกันยุงเข้ามาในบ้าน
- หลีกเลี่ยงการอยู่บริเวณมุมอับชื้น
- แต่งกายมิดชิด สวมเสื้อและกางเกงขายาวเมื่อออกนอกบ้าน
- ใช้สารไล่ยุง (Mosquito Repellents) แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ DEET ทาผิวนอกเสื้อผ้า
2.กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
- ทำลายภาชนะที่ไม่จำเป็น เพราะอาจมีน้ำขังได้
- ภาชนะที่ใช้เก็บน้ำต้องมีฝาปิดให้มิดชิด
- เลี้ยงปลาขนาดเล็กในบ่อหรืออ่างน้ำเพื่อกำจัดลูกน้ำหรือตัวอ่อนของยุงลาย เช่น ปลาหางนกยูง
- เปลี่ยนน้ำในกระถางต้นไม้หรือภาชนะอื่น ๆ ที่ใช้เก็บน้ำทุกสัปดาห์
- ทำความสะอาดเศษใบไม้หรือวัสดุอื่น ๆ ที่อาจเป็นแหล่งสะสมของน้ำ
นอกจากนี้ ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ดีขึ้น หากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย หรือมีจุดเลือดออก รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที
ความเห็น 0