กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พ.ต.อ.วิระชาญ ขุนไชยแก้ว รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.ปทักข์ ขวัญนา รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.เผด็จ งามละม่อม รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.ภัทราวุธ อ่อนช่วย ผกก.๕ บก.ป., พ.ต.ท.หัตถพร ทองคำ, พ.ต.ท.ฤทธิชัย ชุมช่วย, พ.ต.ท.หัตถพล ทองคำ, พ.ต.ท.ณัติรุจน์ วัฒนะฉัตรรัตน์ รอง ผกก.๕ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ต.ธีระพงษ์ คงเขียว สว.กก.5บก.ป. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชุดปฏิบัติการที่ 4 กก.5 บก.ป. ได้ร่วมกันจับกุม น.ส.วรรณนิภาฯ อายุ 27 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ จ.4016/2566 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน ฉ้อโกง,โดยทุจริตหรือหลอกลวงนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด, ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม สถานที่จับกุม บริเวณห้าง ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
พฤติการณ์ สืบเนื่องจากเมื่อประมาณเดือนเมษายน 2565 น.ส.วรรณนิภา (สงวนนามสกุล) ได้ติดต่อซื้อเนื้อหมูสดจากร้านหมูสดของผู้เสียหาย โดยชำระเงินผ่านการแสกนคิวอาร์โค้ดเข้าบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย พร้อมกับส่งภาพถ่ายหลักฐานการโอนเงินผ่านแอพพลิเคชันไลน์เพื่อยืนยันการชำระค่าสินค้า โดยระบุว่าโอนเงินออกจากบัญชีธนาคารของ น.ส.วรรณนิภาฯ ไปยังบัญชีธนาคารของผู้เสียหายเป็นประจำ ต่อมาผู้เสียหายได้ทำการตรวจสอบพบว่าไม่มีรายการเงินโอนเข้าบัญชีของผู้เสียหายแต่อย่างใด ซึ่งจากการตรวจสอบย้อนหลัง ตามภาพถ่ายสลิปการโอนเงินที่ น.ส.วรรณนิภาฯ ส่งยืนยันการชำระเงินนั้น มีจำนวน 208 ครั้ง ไม่พบเงินโอนเข้าบัญชีของผู้เสียหายแต่อย่างใด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,615,857 บาท จึงเชื่อได้ว่า น.ส.วรรณนิภาฯ ทำสลิปการโอนเงินปลอมขึ้นมาหลอกลวงให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าได้ชำระเงินค่าสินค้าแล้ว ผู้เสียหายจึงไปร้องทุกข์มอบคดีให้กับพนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับ น.ส.วรรณนิภาฯ ตามกฎหมาย
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สายไหม ได้ทำการจับกุมตัว น.ส.วรรณนิภาฯ ไว้ได้แล้ว ยอมรับผิดและยินยอมตกลงที่จะชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้เสียหาย จึงได้ประกันตัวออกไป แต่ในภายหลัง น.ส.วรรณนิภาฯ ได้หลบหนีการประกันและไม่ชดใช้ค่าเสียหายอีก พนักงานสอบสวน จึงได้ขอศาลอาญา อนุมัติออกหมายจับ น.ส.วรรณนิภาฯ ไว้ตามหมายจับที่ จ.4016/2566 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกง,โดยทุจริตหรือหลอกลวงนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด, ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม”ได้ออกหมายจับประกาศสืบจับไว้
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ป. ได้สืบสวนทราบว่า น.ส.วรรณนิภาฯ ปรากฏตัวบริเวณถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร จึงวางแผนเข้าทำการจับกุมตัวไว้ได้ที่บริเวณดังกล่าว ก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.สายไหม เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ในชั้นจับกุมผู้ต้องหาให้การยอมรับว่าก่อเหตุจริง โดยก่อนหน้าทำทีมาซื้อของจ่ายเงินจริง เพื่อให้ได้สลิปของจริง จากนั้นเมื่อมาซื้อครั้งต่อไป ก็ปรับแต่งสลิปโอนเงิน โดยตัดชื่อร้านมาแปะ สลิปที่ตนโอนเงินตามจำนวนสินค้าที่ซื้อของ ก่อนส่งให้ทางร้านดูว่าจ่ายเงินแล้ว
ผู้สื่อข่าวนครบาล ทีมข่าวสยามนิวส์ รายงาน
ความเห็น 0