ช่วงนี้มีโอกาสได้พบเห็นข้อความบนโซเชียลมีเดียจากคนใกล้ตัวบ่นในเรื่องประมาณว่า ‘ชีวิตมีแต่ปัญหาถาโถมมาก จนเหนื่อยใจ ไม่รู้จะแก้ไขอะไรก่อน’ จำนวนมากเป็นพิเศษ มากจนน่าแปลกใจ บ้างก็เรื่องงาน บ้างก็เรื่องคน บ้างก็เรื่องเงิน สารพัดเรื่องราวที่พรั่งพรูผ่านตัวอักษรบนสเตตัสเฟซบุ๊ก ทำให้เราฉุกคิดและได้แต่ย้อนถามตัวเองว่า ถ้าเป็นตัวเราเองตกอยู่ในสถานการณ์น่าหนักใจเช่นนั้น จะหาทางออกได้ยังไงบ้าง
หลังจากได้สำรวจและทบทวนความคิดก็พบว่า สิ่งที่ควรทำหลัก ๆ มีเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น จึงได้ลิสต์มาเป็นคำแนะนำให้กับผู้อ่านทุกคน นำไปปรับใช้กับ ‘ทุกทุกข์ปัญหา’ กันค่ะ รับรองว่า ทำได้แล้วสบายใจขึ้นแน่นอน!
ตั้งสติและยอมรับ
ไม่ว่าเรื่องอะไรหากมีสติก็จะมีปัญญา ท่องเอาไว้เลยค่ะ เมื่อเกิดปัญหา แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือความกังวล ความเซ็ง ความเศร้าทั้งหลายแหล่ แต่ใช้อารมณ์ก็ไม่ช่วยอะไร หยุดคิดสักหน่อย รับรู้สิ่งที่กำลังเกิด ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วไม่ว่าจะเลวร้ายสักแค่ไหนก็ย้อนเวลากลับไปแก้ไขไม่ได้แล้ว นี่คือสัจธรรมค่ะ สิ่งที่ต้องทำคือ 'ยอมรับความจริง' รับผิดชอบสิ่งที่เป็นอยู่ ไม่หนีปัญหา ไม่โทษฟ้าดิน การทำผิดพลาดเป็นเรื่องสากลที่มนุษย์ทุกคนต้องเคยเจอ การหนีความจริงไม่ได้ทำให้ปัญหาจบลงไป เผลอ ๆ ยังทำให้ปวดใจไม่รู้จักจบจักสิ้นอีกด้วยนะคะ ยอมรับซะ แล้วก้าวไปข้างหน้าเพื่อแก้ไขมันดีกว่า
ชั่งน้ำหนัก
แบปัญหาทั้งหมดออกมาแล้วจัดลำดับความเล็กใหญ่ของแต่ละเรื่อง (เหมือนเวลาที่งานเยอะ ๆ แล้วต้องทำ to-do list น่ะ) ไล่เรียงความสำคัญและความสัมพันธ์ของมัน ข้อนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลนิดหน่อย เพราะว่าเบื้องหลังและถึงปัญหาของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะจัดให้เรื่องที่มีผลกระทบมากที่สุดเป็นเรื่องที่ต้องแก้อันดับแรก หรือบางคนอาจจะต้องการแก้ไขจากปัญหาที่แก้ง่ายที่สุดก่อนเป็นอันดับหนึ่ง หรือขมวดรวมเรื่องที่เกี่ยวโยงและจำเป็นต้องแก้ไปพร้อมกันก็จับคู่ไว้ เพื่อที่จะหาทางออกทีเดียว ก็ย่อมทำได้ ไม่มีกฎตายตัวใด ๆ ค่ะ การจัดวางปัญหาเป็นข้อ ๆ แบบนี้จะช่วยให้สามารถตัดสินใจได้ง่ายและแก้ได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนได้มากขึ้น
แก้ไขทีละเรื่อง
อย่าพยายามแก้ปมเชือกทีเดียวพร้อมกันทั้งหมด ไม่งั้นจะยุ่งเหยิงมากกว่าเดิม เชื่อสิคะ ค่อย ๆ คลายปมมันออกทีละเรื่องจะเป็นระเบียบเรียบร้อยมากกว่า มองหาสาเหตุต้นตอของเรื่องที่เกิดขึ้น คิดหาวิธีจัดการแต่ละเรื่อง จดบันทึกความเป็นไปได้ในแต่ละอย่างไว้ แล้วลองนำมาปรับใช้ทีละข้อ ๆ ไปค่ะ
ไม่สร้างปัญหาเพิ่ม
หยุดสร้างเรื่องราวยุ่ง ๆ มากไปกว่านี้ ช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้ มีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดเพิ่มขึ้นได้เพราะจิตใจอ่อนแอเหลือเกิน มืดแปดด้านไปหมด ไม่เป็นไรค่ะ แม้ว่าปัญหาที่มีอยู่จะยังไม่ถูกแก้ แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ตัวเองสร้างปัญหาเพิ่ม ไม่หาเหาใส่หัว ไม่แก้ปัญหาด้วยปัญหา อย่างเช่นกรณีที่เห็นกันบ่อย ๆ คือมีหนี้สินก้อนหนึ่งอยากปิดหนี้ เลยไปกู้หนี้อีกก้อนมาโปะ เหมือนจะดี แต่นี่คือการสร้างปัญหาไม่รู้จบวนไปเรื่อย ๆ มากกว่า
ให้เวลาทำหน้าที่ของมัน
ใจเย็น ๆ ไม่ต้องเร่งรีบไปเสียทุกเรื่อง บางสถานการณ์ต้องใช้เวลาบรรเทาปัญหาสักระยะ อย่าเคร่งเครียดเกินไปค่ะ ใช้เวลาที่มีอยู่ให้มีคุณภาพ ค่อยเป็นค่อยไปจะดีกว่า
เชื่อมั่นในตนเอง
เวลาล้มเหลวหรือผิดพลาด ไม่แปลกที่เราจะสูญเสียความมั่นใจ เสียใจได้ ร้องไห้ได้ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่คลี่คลายปัญหาได้แล้ว อย่ากลัวที่จะทำสิ่งใหม่ ต้องเชื่อมั่นในศักยภาพของเราเอง หมั่นให้อภัยและให้กำลังใจตัวเองอยู่เสมอ พลังงานบวกต้องเกิดจากใจเราเองเช่นกันนะคะ เรียนรู้จากความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพื่อจะไม่ทุกข์ซ้ำแบบเดิมอีก เพราะไม่ว่าจะเจอเรื่องราวดีหรือร้ายในชีวิต สุดท้ายตัวเราเองนี่แหละที่จะต้องเผชิญหน้ากับมัน ฉะนั้นจงมั่นใจในตัวเองเข้าไว้นะคะ
อีกมุมมองที่น่าสนใจในการแก้ไขปัญหาอย่างมีหลักการ ทางจิตวิทยาบอกไว้ว่า คนเรามีวิธีจัดการปัญหา 2 แบบใหญ่ ๆ ได้แก่
1.จัดการที่ปัญหาโดยตรง
แปลง่าย ๆ คือเราจะมุ่งเน้นแก้ปัญหาที่สาเหตุ ตัวปัญหา และสถานการณ์แวดล้อมตรงนั้นให้คลี่คลายลง รวมไปถึงอาจมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเราเองหรือผู้อื่นที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งมักใช้กับปัญหาที่เราสามารถแก้ไขให้จบสิ้นลงไปได้ด้วยความสามารถที่มีอยู่นั่นเอง
2.จัดการที่อารมณ์
ในเมื่อแก้ไม่ได้ก็ต้องเลิกคิด! เป็นอีกด้านที่คนเราจำเป็นต้องจัดการคือ 'ความรู้สึก' ที่เกิดขึ้น ความเครียด ทุกข์ เศร้าซึมต่าง ๆ ก็ต้องปราบให้สงบเช่นกัน ซึ่งเรามักจะใช้เวลาที่รู้สึกว่าปัญหาแก้ไขไม่ได้ หรือไม่มีทางแก้ไขอะไรเลย จึงต้องหันไปจัดการความรู้สึกนึกคิดแทนซะเลย ทางที่ดีควรจะใช้ทั้งสองประเภทให้สมดุลกัน เพื่อการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและตรงจุดนะคะ
I do not fix problems. I fix my thinking. Then the problems fix themselves. — Louise L. Hay
“ฉันไม่ได้แก้ไขที่ปัญหา ฉันแก้ไขที่ความคิด เท่านี้ปัญหาก็จะถูกแก้ไขด้วยตัวมันเอง”
เป็นคำกล่าวที่เห็นภาพเลยค่ะ แค่เพียงสติมา ปัญญาก็เกิดอย่างแท้จริง ห้องแนะแนวเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตามนะคะ ขอให้แก้ไขผ่านไปได้ด้วยดีทุกเรื่องค่ะ
.
อ้างอิง
ความเห็น 24
Yongyuth
จะสุขหรือทุกข์อยู่ที่กรรม ถ้าทำดีก็มีสุข จะทำชั่ว ก็มีทุกข์เป็นผล จงยอมรับ ในผลแห่งกรรม ยิ่งปฏิเสธ ยิ่งทุกข์ ใช้หลักฆราวาสธรรม 4 คือสัจจะทมะขันติจาคะ คือมีความซื่อสัตย์ ซื่อตรง นี่คือศีล ได้แก่การไม่พูดโกหก พูดดีมีประโยชน์ ไม่พูด ในสิ่งที่ทำให้ผู้อื่นเป็นทุกข์ คือไม่พูด เบียดเบียนทางวาจา อันมาจากใจที่มีอคติ ส่วนทมะคือความ ข่มใจ เวลาอยากได้อะไร เพราะมีตัณหามาก แล้วห้ามใจตัวเองไม่ได้ ต้องมีสติคอยเตือนตัวเอง ว่า ต้นเหตุของทุกข์เกิดจากความอยาก อย่าทำ ส่วนขันติ อดทนเข้าไว้ เวลาเผชิญกับทุกข์วิบาก
16 ม.ค. 2563 เวลา 22.48 น.
บางครั้งในการที่ได้ฟังธรรมมะก็อาจที่จะช่วยทำให้สภาพของจิตใจดีขึ้นมาได้บ้าง.
16 ม.ค. 2563 เวลา 22.14 น.
54@ฝันดี@45
บางครั้งทำได้ง่าย#บางครั้งก็ยากทำ
17 ม.ค. 2563 เวลา 01.11 น.
อ่านจบ ไม่ได้ช่วยอะไรกูเลย
17 ม.ค. 2563 เวลา 05.32 น.
pop
ทิ้งทุกอย่าง เพื่อหลุดพ้น ทํายากหน่อย แต่ทําได้
17 ม.ค. 2563 เวลา 12.41 น.
ดูทั้งหมด