นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการปรับปรุงซอยกำนันแม้น 13 โดยมีนายสมศักดิ์ ตั้งเอี่ยมสกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตบางบอน หัวหน้าฝ่ายโยธา หัวหน้าฝ่ายเทศกิจ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล จากนั้นลงพื้นที่ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน โดยมี พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร มาสมทบร่วมลงพื้นที่ เมื่อวันที่28ธันวาคม2567
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้ กทม. เร่งปรับปรุงทางเท้าและถนนหลายจุด อาทิ ซอยกำนันแม้น 13 อ่อนนุช 66 สุขุมวิท 64 รามคำแหง 24 รามอินทราฝั่งเลขคี่ เป็นต้น ซึ่งสถานการณ์ซอยกำนันแม้น 13 ทะลุปากซอยบางบอน 1 ปัจจุบันเทคอนกรีตทั้งซอยแล้วแต่ต้องรอคอนกรีตเซ็ตตัวใช้เวลาประมาณ 7 วัน
ขณะนี้เร่งบ่มคอนกรีตให้ได้มากที่สุดเพื่อจะลดเวลาเซ็ตตัวให้สามารถเปิดใช้งานได้เร็วขึ้น และอยู่ระหว่างการเก็บรายละเอียดเล็กน้อย เช่น เส้นทางเชื่อมจากถนนเข้าบ้านของประชาชน
ทั้งนี้ โครงการปรับปรุงถนนซอยกำนันแม้น 13 ซึ่งมีระยะทางกว่า 1.3 กิโลเมตร เริ่มจากคลองราชมนตรีถึงคลองวัดสิงห์ ปัจจุบันงานเทคอนกรีตผิวจราจรเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังปิดการจราจรให้เดินรถทางเดียวอยู่เนื่องจากต้องรอให้คอนกรีตแข็งตัวประมาณ 1 สัปดาห์ ถึงจะดำเนินการเปิดให้ประชาชนได้สัญจรทั้งสองฝั่ง ส่วนที่เหลือเป็นการเก็บรายละเอียดงานบริเวณไหล่ทาง พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม
นอกจากนี้ในพื้นที่เขตบางบอน มีการปรับปรุงก่อสร้างซอยพระยามนธาตุราชศรีพิจิตร์ที่เกิดปัญหาเรื่อง ไหล่ทาง ทางเท้า และปรับปรุงผิวการจราจร ด้วยการลาดลาดยางมะตอยขั้นพื้นฐานประมาณ 5 ซม. โดยใช้การปรับปรุงตามมาตรฐานใหม่ คือ ทำคอนกรีตเสริมเหล็กไว้ก่อนแล้วค่อยลาดยางฯ ทับ แล้วบดอัดยางฯ ให้เรียบ ไม่เป็นคลื่น ก็จะทำให้ถนนมีความคงทนมากขึ้น ซึ่งใช้งบประมาณเพิ่มเติมจากปี 2566
ขณะนี้ผลการดำเนินงานสำเร็จแล้ว 75% ปัญหาที่น่าเป็นห่วงระหว่างการปรับปรุงคือเรื่องฝุ่นละออง PM2.5 จากการก่อสร้าง ซึ่งก็ได้ฉีดน้ำป้องกันฝุ่นวันละ 5 รอบ เพื่อแก้ปัญหา สำหรับการรับมือสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เขตบางบอนตามงบประมาณปี 2568 มีทั้งสิ้น 5 โครงการ ลอกท่อระบายน้ำโดยสำนักงานเขต 42 ซอย โดยกรมราชทัณฑ์ 22 ซอย ซึ่งจะดำเนินการทันทีควบคู่กับการเร่งขุดลอกคูคลอง ให้พร้อมรับสถานการณ์เมื่อฝนตกหนัก
ในส่วนของสถานการณ์ซอยอ่อนนุช 66 เมื่อเข้าสู่ปีใหม่จะเริ่มต้นลาดยางมะตอยทั้งเส้นทางเพื่อลดปริมาณฝุ่น PM2.5 จากการก่อสร้าง ส่วนซอยรามคำแหง 22 อยู่ระหว่างการลาดยางมะตอยอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ผู้รับเหมาหยุดทำงาน แต่ก็ยังให้รดน้ำบนพื้นถนน วันละ 2 เวลา เพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง
สำหรับทางเท้าที่ถนนวิทยุ ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงทั้ง 2 ฝั่ง โดยจะมีบางส่วนอาจยังดำเนินการไม่เรียบร้อย เนื่องจากเป็นบริเวณหน้าสำนักงานที่มีคนสัญจรมากทำให้ดำเนินการยาก ซึ่งจะเร่งรัดให้เสร็จสิ้นประมาณกลางเดือนมกราคม 68 ให้เชื่อมกับสะพานเขียว (สวนลุมพินี-สวนเบญจกิติ) ให้ประชาชนเดินทางได้สะดวก
รวมถึงจะมีการปรับปรุงสะพานลอย ทางม้าลายพร้อมสัญญาณไฟจราจรในจุดที่มีประชาชนและนักท่องเที่ยวสัญจร พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการที่ใช้วีลแชร์ได้สัญจรสะดวก รวมถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์ด้วยต้นไม้สวยงาม โดยในอนาคตจะดำเนินการปรับปรุงทางเท้า การนำสายไฟฟ้าลงดิน ถนนวิทยุที่เชื่อมต่อไปถึงถนนเพชรบุรีอีกด้วย
ส่วนสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพฯ ล่าสุดได้รับการประสานจากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ขณะนี้อยู่ในช่วง 7 วันอันตราย จึงประสานโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตน้ำตาล 57 โรงงานทั่วประเทศ งดรับอ้อย 7 วัน (27 ธ.ค. 67 - 2 ม.ค. 68) จึงทำให้โรงงานไม่มีการเผาอ้อย จนส่งผลให้สภาพอากาศมีฝุ่นละออง PM2.5 ลดลงทั่วประเทศ นอกจากนี้ได้ประสานงานกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กองทัพอากาศ กรมควบคุมมลพิษ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งจะเป็นผู้จัดระเบียบการบินเส้นทางการบินในกรุงเทพฯ
เนื่องจากกรุงเทพฯ มี สนามบิน เครื่องบิน และการจราจรทางอากาศที่หนาแน่น เพื่อประสานงานการทำฝนหลวงในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้อย่างปลอดภัย โดยเจาะชั้นอากาศที่กดพื้นที่กรุงเทพฯ เหมือนฝาชีที่ครอบกรุงเทพฯ ให้เกิดเป็นรูระบายฝุ่นให้ได้ด้วยการโปรยน้ำแข็งแห้งเพื่อปรับอุณหภูมิให้ต่ำลง ซึ่งแต่ก่อนสามารถทำได้เพียงจุดเดียว คือ บริเวณถนนพระราม 2 เขตหนองแขม นอกนั้นต้องไปทำนอกพื้นที่กรุงเทพฯ
เนื่องจากความหนาแน่นของการจราจรทางอากาศในกรุงเทพฯ ซึ่ง กทม. จะประสานงานทุกทางและทุกหน่วยงาน เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ได้ ทั้งนี้หากประชาชนมีเรื่องร้องเรียน ให้ กทม. แก้ปัญหา ก็สามารถแจ้งมาได้ที่ Traffy Fondue และช่องทางต่างๆ ซึ่ง กทม. มีทีมงานพร้อม 24 ชั่วโมง เพื่อลงพื้นที่แก้ปัญหา อีกทั้ง กทม. มีศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานครในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประจำปี 2568 ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ที่มีกล้อง CCTV รายงานสถานการณ์มาที่ศูนย์ฯ เพื่อความปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่อีกด้วย
ความเห็น 0