โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

‘สมชัย’ เชื่อร่างแก้ รธน.ตัดอำนาจ ส.ว.ไม่แท้ง ปัญหาสุกงอม-เสนอเรื่องเดียวเน้นๆ ไม่ซับซ้อน

VoiceTV

อัพเดต 18 ม.ค. 2565 เวลา 07.59 น. • เผยแพร่ 17 ม.ค. 2565 เวลา 09.44 น. • กองบรรณาธิการวอยซ์ออนไลน์
‘สมชัย’ เชื่อร่างแก้ รธน.ตัดอำนาจ ส.ว.ไม่แท้ง ปัญหาสุกงอม-เสนอเรื่องเดียวเน้นๆ ไม่ซับซ้อน

‘วอยซ์’ พูดคุยกับสมชัยถึงที่มาที่ไปของการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ และอะไรทำให้มั่นใจว่า จะผ่าน ‘ด่านอรหันต์’ ที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ต้องมีส.ว.โหวตให้ 1 ใน 3 ซึ่งที่ผ่านมาประเด็นที่แตะอำนาจส.ว.ไม่เคยผ่านซักที

อยากถามถึงที่มาที่ไปว่า ทำไมอาจารย์จึงลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้ในช่วงเวลานี้ ?

สมชัย : มันเป็นประเด็นปัญหาของตัวรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามจริงแล้วมีอยู่หลายมาตราที่เป็นปัญหาอยู่และไม่ได้เป็นประชาธิปไตย มาจากการออกแบบที่ไม่ดี มีความไม่เป็นธรรม แล้วยังไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อการเมืองไทย แต่ครั้งนี้ การที่จะได้ความเห็นชอบจากฝ่าย ส.ส. และ ส.ว.อาจจะเป็นไปได้ยาก เวลาเสนอไปแต่ละครั้งแต่ละเรื่อง มักจะถูกปรับตกจาก ส.ว. บางท่านเห็นชอบประเด็นนั้น บางท่านก็ไม่เห็นชอบประเด็นนี้ เลยคิดหาประเด็นสำคัญที่เป็นเรื่องด่วน ทำให้เป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และเรื่องนี้ก็แก้ไขได้ไม่ยาก ไม่ต้องไปทำประชามติด้วย

ที่ผ่านมาสภาผู้แทนราษฎร หรือแม้แต่ประชาชนก็ล่าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกันหลายครั้ง อะไรทำให้อาจารย์คิดว่าครั้งนี้จะสำเร็จ พรรคเพื่อไทยก็ดูเหมือนเคยเสนอแก้มาตรา 272 อย่างเดียวเช่นกัน ?

สมชัย : ตั้งแต่มีการเสนอแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ณ ตอนนี้มีการเสนออยู่ 3 ครั้ง

  • ครั้งแรกคือ iLaw ที่เคยเสนอเรื่องนี้ แต่เป็นการมัดรวมหลายเรื่อง หลายมาตรา
  • ครั้งที่ 2 พรรคประชาธิปัตยเสนอ อันนั้นเป็นวาระที่เข้าประชุมพร้อมกันถึง 13 ด้าน พิจารณาพร้อมๆ กัน)
  • ครั้งที่ 3 คือของคุณไอติม (พริษฐ์ วัชรสินธุ) และคุณปิยบุตร (ปิยบุตร แสนกนกกุล) อันนี้ยิ่งไปกันใหญ่ คือ แก้มัดทีเดียวตั้งครึ่งเล่ม หลายบท หลายสิบมาตรา ถ้าแก้ในหลายๆ เรื่องแล้ว โอกาสที่จะประสบความสำเร็จจะมีน้อย

คราวนี้จึงเอาเรื่องเดียว และเมื่อเอาเรื่องเดียวแล้ว ในฝั่ง ส.ส. เท่าที่ดูท่าทีแล้วน่าจะไม่เป็นปัญหา แต่เมื่อเห็นผลโหวตในครั้งประชาธิปัตย์เสนอ ฝั่ง ส.ส.ก็โหวตเห็นด้วยถึง 440 คน รวมทุกพรรค เพราะมาประชุมจำนวนเท่านั้นในวันนั้น เรียกได้ว่าเป็นเอกฉันท์เลย ในส่วนของ ส.ว. อาจเป็นเรื่องหนึ่งในหลายๆ เรื่องที่ไปพร้อมกัน ผลออกมาก็เลยยังเป็นเสียงโหวตที่ค่อนข้างน้อย แต่ในครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นคนเสนอเองนั้น มีเสียง ส.ว.ออกมาโดยประมาณ 20 เสียง แต่ตอนที่ iLaw เสนอนั้น เสียงของ ส.ว. เห็นด้วยถึง 56 คน ถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะพอสมควร จึงคิดว่าครั้งนี้เราเสนอเพียงเรื่องเดียว ประเด็นเดียว อาจได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี ในฝั่ง ส.ส. คิดว่าโอเคอยู่แล้ว จึงอยู่ที่ในฝั่งของ ส.ว. ว่าจะคิดเห็นอย่างไร

เรื่องนี้อาจมีเพิ่มจำนวนเสียงโหวตในฝั่งของ ส.ว. คาดการณ์อยู่ประมาณ 20 - 30 กว่าคน มีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะหันมาสนับสนุนครับ  

ด่านสำคัญที่สุดคือ ต้องมีเสียง ส.ว. 1 ใน 3 ซึ่งทุกฉบับล้วนไม่ผ่านด่านนี้ จะเป็นไปได้อย่างไรที่เขาจะโหวตตัดอำนาจตัวเอง?

สมชัย : ก็เป็นในเรื่องของเหตุผลว่าเขาคิดว่ายังเป็นช่วงเวลาที่จำเป็นหรือไม่ ในหลักการของรัฐธรรมนูญ ม.159 เขาเขียนไว้ “การเลือกนายกรัฐมนตรี ให้กระทำโดย ส.ส. และผู้เป็นนายกฯ จะได้เสียงข้างมากจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” เพียงแต่ว่าในบทเฉพาะการเป็นการเขียนในช่วงเวลาที่เริ่มต้นเพื่อจะทำให้ต่อเนื่องในการปฏิรูปประเทศ ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ ก็เลยเห็นสมควรให้ ส.ว. มามีส่วนร่วมในการเลือกนายกในช่วง 5 ปีแรก ซึ่งอันนี้ เวลาก็ผ่านไป บริบทต่าง ๆ ก็ผ่านไปนานแล้ว ผมคิดว่า ส.ว. คงได้รับบทเรียน

คราวที่แล้ว ที่โหวตเลือกนายก ทำให้เกิดความต่อเนื่องในการทำตามยุทธศาสตร์ชาติจริงหรือไม่ (ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) มีความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศจริงหรือไม่ หากมันออกมาไม่ได้จริง เท่ากับว่าคุณใช้อำนาจในการตัดสิน แล้วมันไม่ก่อให้เกิดผลตามเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

หลังจากตระเวนพบหลายพรรคการเมือง การตอบรับเป็นอย่างไร / อาจารย์จะพบพรรคร่วมรัฐบาลด้วยไหม เพราะลำพังเสียงฝ่ายค้านอาจไม่เพียงพอ ?

สมชัย : ได้รับการตอบรับที่ดีมาก จากหลายๆ ฝ่าย ผมก็จะเดินสายเข้าพบกับทุกพรรค ขณะนี้ทางเราติดต่อไปยังหลายพรรคภายในรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับ ก็ยังคงติดต่อเข้าไปเรื่อย ๆ ถ้าพรรคไหนพร้อมก็นัดหมายตามลำดับไป และพยายามทำให้ไม่เป็นความลำบากแก่ตัวเอง คือไม่จำเป็นต้องไปทุกวัน ติดต่อกัน อาจจะไปสัปดาห์ละ 1-2 ที่

ในส่วนของส.ว. อาจารย์จะไปพบใครบ้าง เพราะอะไร ?

สมชัย : ส่วนของ ส.ว.พวกเราตั้งใจจะไปเข้าพบกับประธานสภาสมาชิกวุฒิสภา และรองประธานสมาชิกวุฒิสภา และ ส.ว.อีกหลายต่อหลายท่านที่เคยโหวตให้กับการยื่นแก้ไข ม.272 แต่จะพบได้ทั้งหมดหรือไม่ ก็ยังไม่สามารถรับปากได้ และอาจจะทำได้ไม่หมดเพราะแต่ละคนอยู่แต่ละที่ แยกกัน ไม่เหมือนพรรคการเมืองที่มี ส.ส. อยู่ประจำพรรคการเมือง สรุปก็คือ จะพยายามทำเท่าที่ทำได้ให้มากที่สุด แต่ส.ว.อาจจะเป็นจังหวะสุดท้าย ในช่วงเดือนที่ 3 ไปแล้วหลังจากการรณรงค์

สมมติว่าร่างนี้ไม่ผ่าน โฉมหน้าการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร สมมติว่าร่างนี้ผ่าน โฉมหน้าการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร ?

สมชัย : ถ้าร่างนี้ไม่ผ่าน ใครที่ไม่เห็นชอบด้วยหลักการนี้ เขาก็ต้องให้เหตุผลต่อสังคมว่าทำไม ถ้าให้ ส.ว.มีอำนาจมาเลือกนายกฯ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฎิรูปประเทศ ก็ต้องตอบได้ว่า ในปัจจุบันมันมีความคืบหน้าไปมากแล้วแค่ไหน ตอนนี้มันไม่ได้คืบหน้าอะไรเลย ดังนั้น บอกได้เลยว่าการให้เหตุผลแบบนี้คือการคิดไปเอง เข้าข้างตัวเอง แล้วพอเป็นเรื่องของการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม ผมว่าหลังจากเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เราเองเราไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหา แต่เราสามารถริเริ่มในการแก้ไขได้ ในส่วนของการตัดสินใจก็จะเป็นในส่วนของคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจว่าพวกเขาจะคิดเห็นอย่างไร แล้วตอบต่อประชาชนให้ได้

แต่ถ้าร่างนี้ผ่านรัฐธรรมนูญนี้ต้องมีการแก้ไข และการเลือกตั้งครั้งต่อไปก็จะเป็นการเลือกตั้งที่เป็นเรื่องของภายในสภาที่ ส.ส. เสียงข้างมากจะเข้าไปเลือกใครเป็นนายกฯ โดยไม่มี ส.ว. เข้ามาเกี่ยวข้อง ตรงไปตรงมาเลย อำนาจอยู่ที่ประชาชน ประชาชนมอบอำนาจให้แก่ใคร มอบอำนาจให้แก่พรรคการเมืองไหน พรรคการเมืองนั้นก็ต้องมีอำนาจในการเข้ามาบริหารประเทศ ถ้าบริหารไม่ดี ไม่พอใจ ก็ต้องใช้กลไกภายในสภาผู้แทนราษฎรในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือถ้าหากครบวาระแล้ว ประชาชนก็ยังมีสิทธิในเรื่องของบทลงโทษของคนๆ นั้นเอง ไม่ต้องไปเลือกอีก โดยไม่มี ส.ว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของอดีตหัวหน้า คสช. เข้ามาเลือกตัวเองเป็นนายกฯ อันนี้หลักการก็ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว และยังเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายการเมือง ทำให้ตัว ส.ว. เอง เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในสายตาของประชาชนอีกด้วย

หมายเหตุ : สัมภาษณ์โดยพงศ์ระพี รัตนวราหะ

0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0