โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สุดมึนนโยบายรัฐ-คมนาคม เบรกแผนพัฒนามักกะสันคอมเพล็กซ์

Manager Online

เผยแพร่ 08 พ.ย. 2564 เวลา 12.46 น. • MGR Online

วงการพัฒนาอสังหาฯ สุดมึนนโยบายรัฐ-คมนาคม เบรกแผนพัฒนามักกะสันคอมเพล็กซ์ 3 แสนล้าน แต่ประเคนที่ดินให้กลุ่มทุนผุด "ซุปเปอร์ทาวเวอร์ 120 ชั้น" แทนทั้งที่ถอดรูปมาจากโครงการเดียวกัน

ยังคงเป็นประเด็นสุดฮือฮา เป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์

เมื่อมีกระแสข่าวว่าบริษัท เอเชียเอราวัน จำกัด ได้เปิดภาพร่างโครงการซุปเปอร์ทาวเวอร์ คอมเพล็กซ์ยักษ์ขนาดความสูง 120 ชั้น 550 เมตรบนพื้นที่ 140 ไร่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มักกะสัน โดยหวังจะให้เป็นแลนด์มาร์คใหม่ของคนกรุง

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ ได้เปิดเผยว่า โครงการซุปเปอร์ทาวเวอร์และเมืองใหม่ไฮสปีดเทรน ที่เตรียมดำเนินการอยู่นั้น แท้ที่จริงแล้วก็ล้วนถอดรูปแบบมาจากโครงการ “มักกะสันคอมเพล็กซ์” มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ที่การรถไฟฯ เคยจัดทำแผนพัฒนาโครงการเพื่อนำรายได้มาล้างหนี้ขาดทุนสะสมของการรถไฟฯที่มีอยู่กว่า 1.2 แสนล้านบาทนั่นเอง

ทั้งนี้ ในอดีตเมื่อปี 2559 การรถไฟและกระทรวงคมนาคมเคยมีนโยบายที่จะดึงเอกชนเข้ามาพัฒนาที่ดิน "นิคมมักกะสัน”เนื้อที่กว่า 497 ไร่ให้ เป็นโครงการ "มักกะสันคอมเพล็กซ์" 3 แสนล้าน เพื่อนำรายได้มาล้างขาดทุนสะสมของการรถไฟที่มีอยู่กว่า 1.2 แสนล้านบาท

แต่โครงการดังกล่าวถูก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ในขณะนั้น "กระตุกเบรก"หัวทิ่ม ด้วยข้ออ้างต้องการปรับเปลี่ยนให้เป็น สวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์รถไฟให้เป็น"ปอดคนกรุง" ควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ดินในเชิงพาณิชย์บางส่วน โดยมอบหมายให้กรมธนารักษ์กระทรวงการคลังรับไปดำเนินการ

นโยบายรัฐบาล คสช.ข้างต้น ทำเอากระทรวงการคลัง และนักลงทุนน้อย-ใหญ่ ที่หมายมั่นป้ันมือกับการพัฒนาทำเลทองผืนสุดท้ายแห่งนี้ต้อง “หาวเรอ”ไปตามๆ กัน เพราะเท่ากับพับโครงการ "มักกะสัน คอมเพล็กซ์" มูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาทลงไปโดยปริยาย

แต่วันดีคืนดี เมื่อรัฐบาลเปิดประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุน ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง*สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงินลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาท โดยเอกชนที่เข้ามาลงทุนในโครงการดังกล่าว นอกจากจะได้รับวงเงินอุดหนุนการก่อสร้างร่วมแสนล้านจากรัฐบาลพร้อมสัมปทานรถไฟความเร็วสูงไปแล้ว ยังได้สิทธิ์การบริหารโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มูลค่า 25,000 ล้านบาท และสิทธิ์ในการพัฒนาที่ดินสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และสถานีรถไฟความเร็วสูงตลอดเส้นทางอีกด้วย

รวมทั้งที่ดิน “ทำเลทอง” 140 ไร่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มักกะสัน ที่ถือเป็นทำเลทองผืนสุดท้ายใจกลางกรุงที่มีการประเมินว่า มีมูลค่ามากกว่าแสนล้านบาทแถมพกไปด้วย

ล่าสุดโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ได้สร้างความฮือฮาขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อ 19 ต.ค.64 อนุมัติการแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินกับ บริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการดังกล่าว ในส่วนของการขยายเวลาการจ่ายค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ จำนวน 10,671 ล้านบาท ออกไปจากที่กำหนดไว้ภายใน 2 ปีนับจากการลงนามในสัญญา หรือภายใน 24 ต.ค.2564

แต่ก่อนถึงกำหนดเวลาดังกล่าว บริษัท เอเชีย เอราวันได้ร้องขอให้รัฐขยายเวลาการชำระค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ออกไป 10 ปี ด้วยข้ออ้างได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและโควิด-19 ทำให้ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ไม่เป็นไปตามประกาณกาลที่คาดไว้ ก่อนที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)จะอนุมัติให้ขยายเวลาออกไป 6 ปี

ทั้งที่บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานยังไม่ได้เข้ามาดำเนินโครงการดังกล่าวแม้แต่น้อย

ไม่เพียงการขยายเวลาจ่ายค่าสิทธิ์เดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ล่าสุด ทางกลุ่มซีพี ยังได้เผยภาพร่างโครงการ “มักกะสันคอมเพล็กซ์” ที่ถูกปัดฝุ่นขึ้นมาดำเนินการอีกครั้ง ภายใต้โครงการ "ซุปเปอร์ทาวเวอร์" 120 ชั้นเพื่อรองรับโครงการไฮสปีดเทรนที่ทางกลุ่มได้รับสัมปทานจากรัฐโดยหวังจะให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของคนกรุงและเป็นแหล่งช็อปปิ้งแห่งใหม่ของโลก เป็นประตูเชื่อมโยงโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีกับใจกลางเมืองหลวง กทม.

ก่อให้เกิดคำถามกลับไปยังภาครัฐ อะไรขึ้นกับโครงการ “มักกะสัน คอมเพล็กซ์” 3 แสนล้าน! เหตุใดรัฐบาลถึงกระตุกเบรกแผนพัฒนาโครงการของการรถไฟเป็นอีกบทสะท้อนตอกย้ำ "รัฐบาลเอื้อประโยชน์ต่อนายทุน" หรือไม่?

แหล่งข่าวในวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนกลับมาพิจารณา “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน” ที่รัฐบาลและการรถไฟ กระทรวงคมนาคมเซ็นสัญญากับบริษัทบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เมื่อปลายปี 2562 นั้น

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินดังกล่าว ได้ผนวกเอา 3 โครงการใหญ่ที่ประกอบด้วย 1.รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มูลค่า 2.24 สานล้านบาท ,2.โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์มูลค่า 25,000 ล้านบาท และ3. โครงการพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์มักกะสันเนื้อที่รวมกว่า 140 ไร่มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทที่สามารถจะก่อสร้างคอมเพล็กซ์ยักษ์ต่างๆ ได้นับแสนล้านบาทได้แล้ว

ล่าสุด! มีรายงานว่า ทางกลุ่มซีพี.ได้เตรียมพลิกขุมทรัพย์ทำเลทองสถานีรถไฟมักกะสันแห่งนี้ ให้เป็น “ซุปเปอร์ทาวเวอร์ –เมืองไฮสปีดเทรน” ที่จะมีทั้งโรงแรม อาคารสำนักงาน ค้าปลีก เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ มีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ มีความทันสมัยด้านเทคโนโลยี ไม่ต่างจากโครงการ “วัน แบงค็อก” บนถนนพระราม 4 ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี

แต่ “โครงการซุปเปอร์ทาวเวอร์” แห่งนี้จะมีอาคารขนาด 120 ชั้น ความสูง 550 เมตร ที่สูงที่สุดในเมืองไทย เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์คใหม่ของประเทศไทยเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีกับย่านธุรกิจใจกลางเมืองหลวง กทม.ให้เป็นศูนย์กลางช็อปปิ้งโลกทั้งยังเป็นแหล่งรวมของความบันเทิง ศูนย์การประชุมระดับนานาชาติ เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวนักธุรกิจอีกด้วย

โครงการซุปเปอร์ทาวเวอร์" ที่ “เจ้าสัว” เตรียมเปิดตัวให้ฮือฮาด้วยหวังจะให้เป็นแลนด์มาร์คใหม่ของคนกรุงและประเทศไทยนั้น แท้ที่จริงแล้วก็ถอดรูปแบบมาจากโครงการ "มักกะสันคอมเพล็กซ์" เดิมที่การรถไฟฯจัดทำแผนพัฒนาโครงการเอาไว้ก่อนหน้านั่นเอง

เพียงแต่แทนที่รัฐหรือการรถไฟฯ จะได้เม็ดเงินรายได้จากการพัฒนาโครงการนี้อน่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเพื่อนำมาล้างหนี้สินให้กับการรถไฟ ก็กลับกลายเป็นเจ้าสัว "ชุบมือเปิบ"ไปแทน

โดยที่รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมก็ยังคงโขกสับการรถไฟฯ ว่า ….”บริหารห่วยแตก สร้างแต่หนี้…บลาๆๆๆ……

ทั้งที่เขาเคยจัดทำแผนสะสางหนี้ จะเอาทำเลทองมักกะสันไปทำคอมเพล็กซ์ แบบ “ศูนย์เอนเนอยี่ คอมเพล็กซ์”หรือศูนย์คมนาคมบางซื่อแล้ว แต่ก็กลับ "กระตุกเบรก" หัวทิ่ม และไล่ให้ไปทำสวนสาธารณะ-พิพิธภัณธ์ไปซะฉิบ! แต่วันนี้กลับไฟเขียวให้ “เจ้าสัว”เข้ามา “ชุบมือเปิบ” เช่นนี้

จะให้ประชาชนคนไทยเข้าใจว่าอย่างไรกันหรือฯพณฯท่าน พลเอกประยุทธ์

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0