โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"ม.มหิดล" แนะคนไทยใช้ยาอย่างรู้เท่าทัน-สมเหตุสมผล

สยามรัฐ

อัพเดต 04 พ.ย. 2564 เวลา 08.15 น. • เผยแพร่ 04 พ.ย. 2564 เวลา 08.15 น. • สยามรัฐออนไลน์

จากเดิมพบว่าโรคอุบัติใหม่ยังมีการศึกษากลไกการเกิดโรค และการใช้ยาอย่างจำกัด แต่ด้วยบทเรียนจากวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกแล้วระลอกเล่าที่ผ่านมา ทำให้ทุกคนบนโลกตระหนักดีว่า นับจากนี้ไป หมดเวลาแล้วที่จะใช้ชีวิตกันอย่างประมาท

และทุกคนทราบดีว่า การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ คือปัจจัยพื้นฐานสู่การมีสุขภาวะที่ดี ซึ่งแต่ละคนมีความจำเป็นต่อการได้รับปริมาณสารอาหารที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัยและสภาพร่างกาย การสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงอยู่เสมอจึงเปรียบเสมือนการมีกองทัพที่คอยสะสมกำลังสำรองไว้ภายในร่างกายเพื่อเป็นแรงเสริมให้สามารถต่อสู้กับโรคร้ายได้อย่างไม่หวาดหวั่นทุกเมื่อ

"วิตามิน" แม้จะไม่ใช่ "ยารักษาโรค" แต่ก็สามารถใช้เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกายเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตได้ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิงศยามล สุขขา อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แนะนำถึงวิตามินที่สำคัญต่อการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก และภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งสามารถสร้างขึ้นได้เอง ผ่านการกระตุ้นจากแสงแดด ได้แก่ "วิตามินดี"

แม้ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนที่มีแสงแดดล้นเหลือ แต่กลับพบว่าเราใช้ประโยชน์จากแสงแดดกันยังไม่เต็มที่ ทั้งๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ต้องซื้อหา แต่กลับพบปัญหาจาก "อุบัติการณ์ขาดวิตามินดี" โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวิถีชีวิตที่ต้องอาศัยกันอยู่แต่ในอาคาร เช่นในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ต้องอาศัยกันอยู่แต่ในบ้าน

กลุ่มอายุที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ "ผู้สูงวัย" ซึ่งเสี่ยงต่อการหกล้ม เนื่องจากมีกระดูกที่เปราะบาง และแตกหักได้ง่ายหากขาดวิตามินดี ลำพังจะหวังให้ร่างกายได้รับวิตามินดีจากการรับประทานอาหารตามปกติอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอจำเป็นต้องเสริมด้วยการรับประทานวิตามินดีเพื่อกระตุ้นภูมิฯ รวมทั้งให้ร่างกายได้รับแสงแดดตามธรรมชาติร่วมด้วย

ในทางกลับกัน การรับประทานวิตามินเสริมอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกสิ่ง โดยพบว่ายังมีโรคต่างๆ ที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการรับประทานวิตามินดี เช่น โรคไต เนื่องจากการทำงานของวิตามินดีมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มระดับแคลเซียมในร่างกาย นอกจากนี้ผู้ที่มีอาการ "วิตามินดีเป็นพิษ" อาจสังเกตได้จากอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และอ่อนเพลีย และยังมีอีกหลายโรคที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลผ่านการให้คำปรึกษาจากเภสัชกร ก่อนการนำวิตามินดีมารับประทาน

"การพัฒนายาให้เท่าทันต่อโรคอุบัติใหม่ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะรอช้าพึ่งพาแต่เทคโนโลยีจากประเทศที่เจริญกว่าและมีข้อมูลทางชีวภาพของประชากรที่แตกต่างกันไม่ได้ ซึ่งการจะพัฒนายาเพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ให้ได้ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาตินั้น จะต้องยึดหลัก SDGs ข้อที่ 12 ซึ่งว่าด้วยการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน (Responsible Consumption and Production) ร่วมด้วย โดยหวังให้คนไทยใช้ยาด้วยความรู้เท่าทัน และสมเหตุสมผล ซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิงศยามล สุขขา จะเป็นผู้ดำเนินการสัมมนาออนไลน์ พร้อมบรรยายเรื่องน่ารู้และประโยชน์จากวิตามินดี (Vitamin D and Health Benefit) กับเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย (ภสท.) ในวันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน 2564 เวลา 15.00 - 17.00 น. ผู้สนใจลงทะเบียนได้ที่ https://regist.pat.or.th/index.php?r=register&project=64-F87

ฐิติรัตน์ เดชพรหม มหาวิทยาลัยมหิดล
ออกแบบแบนเนอร์โดย วิไล กสิโสภา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0