เปิดสรรพคุณ ผลข้างเคียง วิธีกินพืชกระท่อมที่ถูกต้องตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ หลังเกิดกรณีดาราหนุ่มบีม ศรัณยู กินแล้วดีด ขับรถหวาดเสียว
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บีม ศรัณยู ประชากริช นักแสดงและพิธีกรหนุ่ม ได้โพสต์คลิปวิดีโอไลฟ์สดที่มีการเคี้ยวใบกระท่อม และขับรถหวาดเสียวโดยใช้เพียงหัวเข่า เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา จนชาวเน็ตหลายคนเกรงว่าอาจจะเกิดอุบัติเหตุบนถนนทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ทำให้ #บีมศรัณยู ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในเวลาต่อมา
ต่อมาเมื่อวานนี้ (1 ก.พ.) บีม ศรัณยู ได้ออกมาไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กเพจ BeamSaranyoo โดยช่วงหนึ่งได้พูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า
“ทุก ๆ อย่างเกิดได้เพราะการกระทำของผมเอง ผมเป็นคนนอกกรอบ ดังนั้นผมต้องอยู่กับมันให้ได้ สำหรับคนที่คิดต่างก็ขอโทษด้วย อย่างบนถนนผมปล่อยมือไม่ถึง 10 วินาที แค่ของ-ึงก็สามารถเกิดอุบัติเหตุให้คนอื่นได้ อันนี้ผมยอมรับจากใจ และผมก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้น ผมก็ยอมรับน้อมรับเพื่อปรับใช้ อยากเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีคุณภาพมีอนาคต ผมถอดหน้ากาก ผมขอโทษจากใจ ผมไม่ใช่ดาราที่แบบไม่รู้สึกแล้วมาขอโทษ”
ทั้งยังได้ขอบคุณผู้ใหญ่ที่มาตักเตือนเรื่องการขับขี่เรือ พร้อมกล่าวถึงการเคี้ยวใบกระท่อมว่า ไม่ได้เคี้ยวทุกัน
วิธีเสพ-ประโยชน์-อาการ
กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยข้อมูลทางวิชาการของพืชกระท่อม ระบุว่า วิธีเสพทำได้โดยการเคี้ยวใบสดหรือบดใบแห้งให้เป็นผงจึงละลายน้ำดื่ม ในบางรายอาจเติมเกลือเล็กน้อยเพื่อป้องกันท้องผูก ส่วนมากเคี้ยวเพียง 2-3 ใบ ตามด้วยน้ำอุ่นหรือกาแฟร้อน ใช้วันละ 3-10 ครั้งต่อวันตามอาการเหนื่อย แต่จากสถิติพบว่าเมื่อใช้ไประยะหนึ่งปริมาณการใช้จะเพิ่มขึ้น (37% ใช้วันละ 21-30 ใบ)
ในส่วนผลจากการเสพ พบว่าหลังเคี้ยวใบกระท่อมไปประมาณ 5-10 นาที จะมีอาการเป็นสุข กระปรี้กระเปร่า ไม่อยากอาหาร กดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงาน สามารถทำงานได้นาน และทนแดดมากขึ้น แต่จะเกิดอาการกลัวหนาวสั่นเวลาอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน ผู้เสพจะมีผิวหนังแดงเพราะเลือดไปเลี้ยงผิวหนังมากขึ้น
อาการข้างเคียง ได้แก่ ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร ท้องผูก อุจจาระแข็งเป็นก้อนเล็ก ๆ นอนไม่หลับ ถ้าเสพใบกระท่อมในปริมาณมาก ๆ จะทําให้มึนงง และคลื่นไส้อาเจียน (เมากระท่อม) ในรายที่เสพใบกระท่อมมาก ๆ หรือเป็นระยะเวลานาน มักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีขึ้นที่บริเวณผิวหนัง ทำให้ผู้ที่รับประทานมีผิวคล้ำและเข้มขึ้น
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าหากเสพใบกระท่อมโดยไม่รูดก้านใบออก อาจทำให้เกิดอาการ “ถุงท่อม” ในลำไส้ เนื่องจากก้านใบไม่สามารถย่อยได้ จึงตกตะก้อนในลำไส้ ขับถ่ายออกมาไม่ได้ เกิดพังผืดขึ้นและทำให้เกิดถุงขึ้นในลำไส้ บางรายเกิดอาการหวาดระแวง เห็นภาพหลอน คิดว่าจะมีคนมาทำร้ายและพูดไม่รู้เรื่อง
สำหรับอาการเมื่อหยุดเสพ จะมีอาการดังต่อไปนี้ ไม่มีแรง ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและกระดูก แขนขากระตุก อ่อนเพลีย ไม่สามารถทำงานได้ อารมณ์ซึมเศร้า นํ้าตาไหล นํ้ามูกไหล ก้าวร้าว นอนไม่หลับ ร่างกายมีอุณหภูมิสูงผิดปกติ ถ่ายอุจจาระเหลวมากปกติ อยากอาหารยาก อาเจียนคลื่นใส้ มีอาการไอมากขึ้น และกระวนกระวายมากขึ้น
กินเกินขนาดเกิดผลข้างเคียง
ขณะที่ รศ.ดร.อรุณพร อิฐรัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า ความจริงแล้วกระท่อมเป็นยา ไม่ใช่อาหาร แต่หากบริโภคเกินขนาดก็จะมีผลข้างเคียงและทำให้ติดได้ เนื่องจากในกระท่อมมีสาร “Mitragynine” เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ที่มีคุณสมบัติความเป็นด่างมาก มีโทษต่อร่างกายที่ทำให้เกิดอาการหลอน เคลิ้มฝัน มึนงง เหงื่อออก ทนต่อความหนาวไม่ได้ และนอนไม่หลับ หรือถ้าหลับก็จะฝันแบบที่ไม่ควรฝัน
“อย่าง 4×100 ที่ผสมกระท่อม น้ำอัดลม ถ้าใช้ในลักษณะนี้คิดว่าจะทำให้มีโอกาสติดได้ง่าย เนื่องจากน้ำอัดลมมีความหวาน มันจะทำให้เกิดการดูดซึมกระท่อมได้อย่างรวดเร็ว”
ไม่ควรเกินวันละ 5 ใบ
รศ.ดร.อรุณพร เผยอีกว่า สำหรับวิธีการรับประทานกระท่อมที่ถูกต้องไม่ควรรับประทานเกินวันละ 5 ใบ รูดก้านใบออกเพื่อเอาแต่ใบล้วน ๆ แล้วเคี้ยวเหมือนการเคี้ยวหมาก เพราะน้ำลายมีความเป็นด่าง ไปสกัดเอาอัลคาลอยด์ Mitragynine ออกมาและเวลารับประทาน ไม่ควรกลืนกาก เพราะอาจจะทำให้เกิดถุงท่อม
ทั้งนี้ เพราะกากใบเป็นเส้นใยที่ย่อยยาก และเมื่อรับประทานบ่อย ๆ และขับไม่หมด เพราะกระท่อมทำให้ท้องผูก พวกเส้นใยเหล่านี้จะก่อตัว เป็นก้อน เช่นเดียวกับวัว ควาย ที่เคี้ยวหญ้า มักจะเกิดเป็น ก้อนเรียก โคโรค
สำหรับการต้มเพื่อทำน้ำกระท่อมก็ไม่ควรใช้เกิน 5 ใบต่อวัน เช่นกัน และเมื่อต้มแล้วก็ควรกรอง เอากากออก แต่การต้มควรบีบมะนาวลงไปก่อนกรองกาก เพราะอัลคาลอยด์ในกระท่อม จะกลายอยู่ในรูปของเกลือละลายน้ำได้ แล้วดื่มน้ำกระท่อมนั้น
ต้านโรคซึมเศร้า บรรเทาอาการพาร์กินสัน
เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 รศ.ดร.เอกสิทธิ์ กุมารสิทธิ์ และ ผศ.ดร.ดาร์เนีย เจ๊ะหะ นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศึกษาพบว่าพืชกระท่อมช่วยต้านอาการซึมเศร้า จากการทดลองและบันทึกคลื่นสมองในหนูทดลอง และได้เผยแพร่ผลการวิจัยไปในระดับนานาชาติ และกำลังเป็นที่สนใจ
ขณะนี้ทีมงานกำลังทำการวิจัย ร่วมกับแพทย์ด้านระบาดวิทยา ศึกษาผู้ที่ใช้พืชกระท่อม ในภาคใต้เพื่อบำบัดรักษาอาการติดยาเสพติด
อีกทั้งชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้ ใช้ใบกระท่อมในการรักษาอาการและโรคต่าง ๆ หลายชนิด เช่น ท้องร่วง ปวดท้อง โดยการเคี้ยวใบสด เคี้ยวครั้งละ 1-3 ใบ และมีการใช้ใบกระท่อมเพื่อให้สามารถทำงานได้ทนนาน และใช้ทดแทนสารเสพติดชนิดอื่น เช่น ยาบ้า เฮโรอีน
เมาได้จริงหรือไม่
วานนี้ (1 ก.พ.) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ให้ความรู้ผ่านเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุว่า “กินกระท่อมไม่ได้เมา แต่มากไป ก็หลอนได้ครับ ผู้ที่มีปัญหาทางจิต ยิ่งไม่ควรกิน”
ช่วงนี้เห็นข่าวพูดถึง คนดังที่ดื่มน้ำกระท่อม เคี้ยวใบกระท่อม แล้วลงข่าวว่าเป็นการ “เมากระท่อม” … ซึ่งเท่าที่ทราบคือ การบริโภคกระท่อมนั้นไม่ได้เกิดอาการมึนเมาแบบเดียว กับสุรา กัญชา หรือยาเสพติดอื่น ๆ นะครับ แต่จะออกแนวที่เขาเรียกว่า ตื่นตัวเป็นพิเศษหรือ “อาการยัน”
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีเช่นกันว่า การบริโภคกระท่อมมากเกินไป อย่างต่อเนื่อง จะเกิดภาวะเสพติดได้ และยังอาจเกิดภาวะที่เห็น “ภาพหลอน” ได้ด้วย จึงมีคำเตือนว่า ใครที่มีสภาวะปัญหาทางสุขภาพจิตอยู่ ห้ามบริโภคกระท่อมครับ