โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ต่างประเทศ

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปลายทางขยะผิดกฎหมายโลก

PPTV HD 36

อัพเดต 13 เม.ย. เวลา 04.17 น. • เผยแพร่ 13 เม.ย. เวลา 01.01 น.
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปลายทางขยะผิดกฎหมายโลก
รายงานฉบับใหม่ของสหประชาชาติเปิดโปงกระบวนการ อาศัยช่องโหว่ ลักลอบค้าขยะผิดกฎหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปลายทางขยะผิดกฎหมายโลก

รายงานที่มีชื่อว่า Turning the Tide ที่เผยแพร่โดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นโอดีซี (UNODC) เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ได้อธิบายให้เห็นคร่าว ๆ ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจุดรวมของขยะผิดกฎหมายที่ถูกส่งมาจากทั่วโลกได้อย่างไร ซึ่งขยะที่ว่านี้รวมถึงขยะที่ย่อยสลายไม่ได้จำนวนมหาศาล ปีละหลายล้านตัน

ประเทศหลัก ๆ ที่นำเข้าขยะผิดกฎหมายในภูมิภาคนี้ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซีย

ในบรรดาขยะที่ถูกส่งจากทั่วโลกระหว่างปี 2017 ถึง 2022 พลาสติกเป็นประเภทขยะที่พบมากที่สุด โดยมีจำนวนเกือบ 43 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7 แสน 7 หมื่นล้านบาท)

นอกจากพลาสติกแล้ว ขยะประเภทอื่นๆ ที่ถูกส่งมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ โลหะ กระดาษ สิ่งทอ ชิ้นส่วนรถยนต์ และยังพบขยะอุตสาหกรรมและขยะทางการแพทย์อยู่บ่อยครั้ง

รวมๆ แล้ว เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นำเข้าขยะโลหะ กระดาษ และพลาสติกมากกว่า 100 ล้านตันในช่วงเวลาดังกล่าว และตัวเลขนี้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี

อย่างไรก็ตาม การค้าขยะทั่วโลกที่มีปริมาณมหาศาลเช่นนี้ หมายความว่าจะต้องมีการจ่ายเงินใต้โต๊ะหลายพันล้านดอลลาร์ และอาจมีผู้เกี่ยวข้องหลายส่วน

รายงานฉบับนี้ยังชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมขยะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการทุจริต เนื่องจากผู้กระทำผิดจะหาโอกาสติดสินบนเจ้าหน้าที่ให้ออกใบอนุญาต ปลอมแปลงเอกสาร มองข้ามการละเมิด และขัดขวางการตรวจสอบ

กลุ่มผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องในการค้าขยะผิดกฎหมายที่มีกำไรสูง ฉวยโอกาสจากช่องโหว่ต่างๆ เช่น ติดป้ายแสดงที่ไม่ตรงกับความจริงเพื่อให้ผ่านศุลกากร นอกจากนี้ ยังพบขยะอันตรายปะปนกับขยะที่เป็นของใช้ในครัวเรือนด้วย

ยกตัวอย่างในประเทศไทย ขยะบางประเภทไม่จำเป็นต้องสำแดง นอกจากนี้ ผู้ลักลอบค้าขยะสามารถส่งสินค้าของตัวเองโดยระบุว่าเป็น “สินค้ามือสอง” เพื่อนำเข้าขยะมากกว่าที่ได้รับอนุญาตได้

หรือในประเทศเวียดนาม ขยะพลาสติกใช้แล้วทิ้งที่รีไซเคิลไม่ได้ก็ถูกติดป้ายว่าเป็นพลาสติกที่รีไซเคิลได้ เพื่อลักลอบนำเข้ามา และไม่มีการตั้งคำถามใดๆ

รายงานระบุว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตกเป็นเป้าหมายกลุ่มอาชญากรรมที่ฉวยโอกาสจากความหลากหลายทางสังคมและเศรษฐกิจ และความแตกต่างในแนวทางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ เพื่อลักลอบค้าขยะผิดกฎหมายมานานแล้ว
และรายได้จากการขายขยะผิดกฎหมายนี้มักจะไหลเข้าไปสู่เครือข่ายเศรษฐกิจผิดกฎหมายในภูมิภาค ส่งเสริมคอร์รัปชัน และบ่อนทำลายกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่รวบรวมจาก 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่าเรือสำคัญในสหภาพยุโรป 3 แห่ง และปฏิบัติการระหว่างประเทศ ก็สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการปราบปรามการส่งขยะผิดกฎหมายของทั้งประเทศต้นทางและปลายทาง

แต่แม้ว่าประเทศปลายทางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีกฎหมายและมาตรการบังคับใช้ การลักลอบค้าขยะผิดกฎหมายก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับภูมิภาคนี้อยู่

เกือบทุกประเทศ เป็นไปไม่ได้ที่หน่วยงานท่าเรือจะตรวจคอนเทนเนอร์ที่เข้ามาทั้งหมดได้ ส่วนใหญ่จะสามารถตรวจได้ไม่ถึง 1 ใน 10 ของคอนเทนเนอร์ที่ผ่านเข้ามา

การค้าขยะผิดกฎหมายถูกมองว่าเป็นการกระทำผิดที่มีความเสี่ยงต่ำแต่กำไรสูง ทำให้จำนวนขยะที่ส่งจากประเทศรายได้สูง ไปยังประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง มีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

หลายประเทศในยุโรปตะวันตกถูกระบุว่าเป็นผู้ส่งออกขยะผิดกฎหมายจำนวนมาก โดยระหว่างปี 2017 ถึง 2022 การค้าขยะพลาสติกทั่วโลก เกือบครึ่งมาจากสหภาพยุโรป

คณะกรรมาธิการยุโรปประมาณการว่า การส่งขยะผิดกฎหมายจากสหภาพยุโรปไปยังประเทศอื่นๆ ระหว่างปี 2017 ถึง 2022 สร้างรายได้ 9,500 ล้านยูโร (ราว 3 แสน 7 หมื่นล้านบาท) และคิดเป็น 15-30 เปอร์เซ็นต์ ของการค้าขยะทั้งหมดของสหภาพยุโรป

เมื่อขยะผิดกฎหมายไปถึงที่หมายปลายทาง ก็มักจะลงเอยที่บ่อขยะหรือสถานที่เก็บที่ผิดกฎหมาย หรือถูกเผากลางแจ้ง ซึ่งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมนุษย์

การรายงานกรณีลักลอบค้าขยะในระดับโลกนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก โดยรายงานของ UNODC ระบุว่า การส่งขยะผิดกฎหมาย มีไม่ถึงครึ่งที่ถูกตรวจพบจริงๆ และในหลายๆ กรณีที่ผู้กระทำผิดถูกจับ ก็มักจะไม่ได้รับโทษจำคุก ขณะที่ค่าปรับก็ต่ำมาก เมื่อเทียบกับความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกิดขึ้นกับประเทศปลายทาง

กระบวนการส่งกลับเองก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญ เนื่องจากขยะที่ถูกลักลอบนำเข้ามานั้นมักจะไม่สามารถสืบย้อนไปยังประเทศต้นทางได้

คอนเทนเนอร์ที่ถูกทิ้งไว้หรือไม่มีผู้รับที่ท่าเรือต่างๆ ทำให้ความพยายามในการสืบสวนและบังคับใช้กฎหมายยิ่งยากขึ้นไปอีก

รายงานฉบับนี้ยังชี้ให้เห็นถึงการขาดแคลนข้อมูลที่จะประเมินขอบเขตที่ทั้งหมดของการค้าขยะผิดกฎหมาย และการระบุความเชื่อมโยงระหว่างผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ รายงานของ UNODC ได้ย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการปฏิรูปกฎหมาย การขยายความร่วมมือระหว่างประเทศ การพัฒนาศักยภาพ การวิจัย และข้อมูล รวมถึงมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดขึ้น เพื่อที่จะต่อสู้กับการค้าขยะผิดกฎหมายให้ได้ผล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

KNU แถลงหลังยึด “เมียวดี” มุ่งรักษาเสถียรภาพไทย-เมียนมา

พบศพหญิงไทยอายุ 27 ปีถูกฆาตกรรมในบ้านพักที่อังกฤษ

ปู่ชาวเปรูฉลองวันเกิด 124 ปี เล็งยื่นบันทึกสถิติ “คนอายุยืนสุดในโลก”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0