โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สังคม

ศาลจำคุกอ่วมพระคม 468 ปี เป็นเจ้าพนักงานทุจริตฯยักยอกเงิน วัดป่าธรรมคีรี กว่า 300 ล้าน

THE ROOM 44 CHANNEL

เผยแพร่ 20 มี.ค. เวลา 09.42 น.

ศาลจำคุกอ่วม "อดีตพระอาจารย์คม" 468 ปี เป็นเจ้าพนักงานทุจริตฯยักยอกเงิน วัดป่าธรรมคีรี กว่า 300 ล้าน ส่วนพรรคพวกโดนลดหลั่นกันลงมา

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2567 ที่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนเลียบรางรถไฟ ศาลอ่านคำพิพากษา ในคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 1 ยื่นฟ้อง นายคมฯ หรือ พระอาจารย์คม อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าธรรมคีรี กับพวกรวม 9 คนเป็นจำเลย

คำฟ้องระบุพฤติการณ์ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าอาวาส วัดวัดป่าธรรมคีรี เป็นเจ้าพนักงานและเจ้าพนักงาน ของรัฐตามกฎหมาย จำเลยที่ 2,4 เเละ 6-9 เป็นพระลูกวัด จำเลยที่ 3,5 เป็นฆราวาส ตามวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เบียดบังเงินสดที่มีผู้บริจาค ให้แก่วัด ป. ผู้เสียหาย โดยนำเงินเก็บรักษาไว้ที่กุฏิจำเลยที่ 1 แล้วยินยอมให้จำเลยที่ 2,3 นำเข้าฝากในบัญชีเงินฝากธนาคารชื่อบัญชีจำเลยที่ 3 และบุคคลอื่นที่มีเงื่อนไขให้จำเลยที่ 3 เบิกถอนได้แต่เพียงผู้เดียวรวม 76 ครั้ง นอกจากนี้ยังนำส่งมอบให้จำเลยที่ 3 เก็บไว้เป็นเงินสดในที่พักอาศัยของจำเลยที่ 3 ซึ่ง เจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึดได้เป็นเงิน 51,918,170 บาทและระหว่างวันที่ 1-7 พ.ค. จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เบียดบังเอาทรัพย์ของวัดป่าธรรมคีรีผู้เสียหายไป โดยจำเลยที่ 1 ตกลงกับจำเลยที่ 2,4,6,8 แล้วก่อนจำเลยที่ 1,2เดินทางเข้ากรุงเทพมหานครได้สั่งการให้จำเลยที่ 4,6,8ขนย้ายทรัพย์สินออกจากกุฏิของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปซุกซ่อนตามสถานที่ต่าง ๆ ภายในวัด จำเลยที่ 4,6,8จึงขนย้ายทรัพย์สินไปซุกซ่อนไว้เพื่อรอฟังคำสั่งจากจำเลยที่ 1,2 แจ้งว่าจะให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกจากวัดเมื่อใด ต่อมาวันที่ 7 พ.ค.66

จำเลยที่ 2 โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 9 ไปแจ้งแก่จำเลยที่ 4-8 ช่วยกันขนย้ายทรัพย์สินบางส่วนใส่รถตู้ออกไปซุกซ่อนไว้ที่อื่นนอกวัด โดยมีบางส่วนยังคงซุกช่อนอยู่ในวัดและอยู่ในกุฏิของจำเลยที่ 1 ซึ่งขนย้ายไปยังไม่หมด การกระทำของจำเลยที่ 2,4-9เป็นการร่วมกันกับจำเลยที่ 1 เบียดบังเอาทรัพย์นั้นไป และเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดรวมเงินสดและทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายเป็นจำนวน 1,454 รายการ รวมราคาเป็นเงินประมาณ 299,505,992 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86,91,147,157 พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561มาตรา172

ศาลพิเคราะห์แล้ว พยานหลักฐานที่โจทก์ชี้ช่องมีน้ำหนักมั่นคงให้ฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าธรรมคีรีเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา จำเลยที่ 2 เป็นประธานสงฆ์ สั่งการให้จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารของวัดป่าธรรมคีรี และบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบัญชีสำหรับฝากเงินที่วัดได้รับบริจาค นำมาเก็บรวบรวมไว้โดยมิได้จัดทำบัญชีแจกแจงตามหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ แล้วนำเงินดังกล่าวไปส่งมอบให้จำเลยที่ นำเข้าฝากในบัญชีเงินฝากธนาคารชื่อจำเลยที่ 3 และบัญชีเงินฝากธนาคารบุคคลอื่นที่มีการขอให้ เปิดบัญชีให้ไว้โดยให้จำเลยที่3 มีอำนาจเบิกถอนเงินเพียงผู้เดียวโดยไม่ปรากฎว่าวัดมีสิทธิเรียกร้องในเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าว รวม 76 ครั้ง และบางส่วนนำเก็บเป็นเงินสดไว้ในที่พักอาศัย

จำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 1-3 ยกข้อต่อสู้ว่าเป็นเงินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 แต่ข้ออ้างดังกล่าวปราศจากพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ทั้งที่อยู่ในหน้าที่รู้เห็นของจำเลยที่ 1เเละ 2

แต่จำเลยที่ 1-3 มิอาจแจกแจงแสดงรายการบัญชีของเงินดังกล่าวได้ หากแม้มีเงินที่จำเลยที่ 2 ได้รับบริจาคส่วนตัว เงินดังกล่าวก็ย่อมปะปนระคนกันกับเงินอันเป็นทรัพย์สินของวัดมิอาจแยกแยะได้ การกระทำของจำเลยที่ 1จึงเป็น การจัดการทรัพย์สินของวัดโดยมิชอบ และมีลักษณะเป็นการเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสีย โดยมีจำเลยที่ 2,3 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ส่วนเงินสดและทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานตำรวจพบและยึดไว้เป็นของกลางภายในวัด พยานหลักฐาน ที่โจทก์ชี้ช่องมีน้ำหนักมั่นคงฟังยุติได้ว่าวันที่ 1 พ.ค.66 อันเป็นวันก่อนที่จำเลยที่ 1 ลาสิกขาจำเลยที่ 4,8 ร่วมกันขนย้ายทรัพย์สินของกลางดังกล่าวที่เก็บอยู่ในวัดถือว่าอยู่ในความครอบครอง

ของจำเลยที่ 1เจ้าอาวาส ซึ่งจำเลยที่ 2 มิได้จัดทำรายการบัญชีแจกแจงทรัพย์สินไว้เช่นกัน นำออกไปซุกซ่อนไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ภายในวัด ตามที่จำเลยที่ 1,2สั่งการ แล้วจำเลยที่ 4,8ช่วยกันขนย้ายทรัพย์สินดังกล่าวเปลี่ยนที่ซุกซ่อนเร้นครอบครองแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลายครั้งเพื่อหลบเลี่ยงให้พ้นไปมิให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของวัดหรือเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบ

ต่อมาวันที่ 7 พ.ค.66 จำเลยที่ 2 สนทนาทางโทรศัพท์ใช้ให้จำเลยที่ 9แจ้งแก่จำเลยที่ 4,8ขนย้ายทรัพย์ดังกล่าวออกไปนอกวัด จำเลยที่ 4-9จึงร่วมกันขนย้ายทรัพย์ใส่รถตู้ให้จำเลยที่ 5 ขับออกจากวัดไปจอดไว้ที่บ้านพักอาศัยจำเลยที่ 5อันมีวัตถุประสงค์ต่อเนื่องกับการขนย้ายทรัพย์ตั้งแต่เริ่มต้นเป็นกรรมเดียว

แม้จำเลยที่ 4-9ไม่ทราบถึงพฤติกรรมทางเพศของจำเลยที่ 1,2ที่ถูกกล่าวอ้างในรายงานและสำนวนการสอบสวน ประกอบกับด้วยสถานภาพของจำเลยที่ 2ที่แสดงออกต่อสาธารณะ ซึ่งแม้วิญญูชนทั่วไปหากแต่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดและอยู่เป็นช่วงระยะเวลาที่เพียงพอให้ได้มีโอกาสรับรู้หรือสังเกตเห็นการกระทำอันเป็นเครื่องซี้เจตนาในใจ ก็ย่อมไม่อาจทราบถึงพฤติการณ์หรือเจตนาในใจที่จำเลยที่1,2ปกปิดไม่แสดงออกได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินภายในวัดได้มาจากการบริจาค ของประชาชน ไม่มีการจัดทำรายการบัญชีทรัพย์สินแจกแจงให้ปรากฎชัดแจ้งว่าเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1,2

ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นใดอันจะพอให้เข้าใจได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวล้วนมิใช่เป็นทรัพย์สินของวัดอย่างแน่แท้ จึงไม่พอให้ฟังได้ว่าจำเลยที่4-9ไม่รู้หรือสำคัญผิดในข้อเท็จจริงดังกล่าว ขณะจำเลยที่ 4,8ร่วมขนย้าย ก็ทราบได้ว่าจำเลยที่1,2สั่งการให้เคลื่อนย้ายทรัพย์สิน จากที่เก็บเดิมอันมีลักษณะเพื่อปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์ ทั้งต่อมาจำเลยที่ 4-9 ต่างก็ทราบว่า

จำเลยที่ 1,2ถูกเจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดี มีการแต่งตั้งรักษาการแทนเจ้าอาวาส มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของวัด แต่จำเลยที่ 4-9ก็เลือกกระทำการช่วยเหลือจำเลยที่1,2ชุกช่อนยักย้ายทรัพย์ดังกล่าว แม้อ้างว่าด้วยเหตุที่เคารพศรัทธาจำเลยที่ 2 ภายหลังบอกที่ซุกซ่อน ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานตำรวจและแจ้งให้จำเลยที่ 5 ขับรถนำทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนโดยไม่ปรากฎทรัพย์ขาดหายไปก็ตาม พยานหลักฐานที่จำเลยยกขึ้นอ้างก็ไม่มีน้ำหนักหักล้างแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาเป็นอย่างอื่น การกระทำของจำเลยที่ 1,2,4,8จึงเป็นการร่วมกันเบียดบังทรัพย์ของวัดโดยทุจริต

คดีฟังยุติได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสีย และฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดและเป็นผู้ร่วมกระทำความผิด จำเลยที่ 3เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด จำเลยที่ 4,8

ร่วมกันกระทำความผิดในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ แต่เมื่อจำเลยที่ 2,3,4,8ไม่ได้เป็น เจ้าพนักงาน ขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ จึงมีความผิดเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสีย ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือ หน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ส่วนจำเลยที่ 5,6,7,9เข้าร่วมกระทำการดังกล่าวภายหลังจากจำเลยที่ 1 ลาสิกขา เมื่อวันที่ 2 พ.ค.สิ้นสถานะเจ้าพนักงานแล้ว จึงมีความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ ซึ่งศาลมีอำนาจวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192วรรคท้าย ประกอบ พรบ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ส่วนการกระทำของจำเลยที่ ในฐานะผู้ใช้นั้นย่อมเกลื่อนกลืนกับการกระทำของตนที่ได้เป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดข้างต้นแล้ว และเมื่อการกระทำของจำเลยที่1,2,3,4 เเละ8 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147ซึ่งเป็นบทเฉพาะของบททั่วไปตามมาตรา 157 แล้ว ย่อมไม่จำต้องปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯมาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 2 ,3,4,8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 172ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

จำเลยที่ 5,6,7,9 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่1,2,3เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสีย และเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสียและเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือ เป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสีย

ลงโทษจำเลยที่ 2,3ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสีย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 6ปี รวม 78กระทง คงจำคุก 468 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 4ปี รวม 78กระทง คงจำคุก 312 ปี จำคุกจำเลยที่ 3กระทงละ 4 ปี รวม 77กระทง คงจำคุก 308ปี จำคุกจำเลยที่ 4,8คนละ 3ปี 4 เดือน จำคุกจำเลยที่5,6,7 ,9 คนละ ๓ ปี การเสนอแนวทางชี้ช่องพยานหลักฐานและนำสืบของจำเลยที่ 5-9 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 4,8คนละ 2ปี 2เดือน 20วัน คงจำคุกจำเลยที่ 5,6,7,9คนละ 2 ปี

สำหรับจำเลยที่ 1,2 และจำเลยที่ 3 เมื่อรวมโทษ ทุกกระทงแล้วให้จำคุกคนละ 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 4-9ให้ยกฟ้อง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0