กลับมาอย่างยิ่งใหญ่หลังจากเว้นว่างไป 2 ปี สำหรับ “มติชนอวอร์ด 2024” (MATICHON AWARDS 2024) โครงการประกวด เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และการ์ตูนการเมืองสะท้อนสังคม จากการผนึกกำลัง 5 หน่วยงาน ในบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นำโดย มติชนสุดสัปดาห์ มติชนออนไลน์ ศิลปวัฒนธรรม สำนักพิมพ์มติชน และศูนย์ข้อมูลมติชน อีกเวทีหนึ่งที่ได้รับยกย่องในระดับประเทศ
“นางสาวปานบัว บุนปาน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มติชนอวอร์ด 2024 กลับมาอีกครั้งในรอบ 2 ปี ด้วยการประกวดที่ใหญ่ขึ้น กว้างขึ้น และลึกขึ้น ทั้งในแง่ของเงินรางวัลและมิติการประกวด เพื่อเปิดโอกาสให้นักเขียนหน้าใหม่ และคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงการเขียนได้มีเวลาเตรียมตัวเข้าสู่การประกวด รวมทั้งเพื่อให้มีผู้เข้าประกวดที่หลากหลายขึ้น
ปัจจุบันการประกวดในลักษณะนี้ลดลงไปพอสมควร โดยเฉพาะเวทีที่จัดโดยสื่อมวลชน แต่มติชนยังคงส่งเสริมวงการหนังสือ และให้ความสำคัญในความถูกต้อง เข้มข้น ของเนื้อหาอยู่เสมอ หลักการและคอนเทนต์ของมติชนยังยืนหยัดอยู่บนเส้นเรื่องเดิม นั่นคือ “โครงสร้างทางสังคมไทย” โดยสะท้อนผ่านทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือเล่ม และออนไลน์
สำหรับมติชนอวอร์ด 2024 เชื่อว่าประเทศไทยยังมีเรื่องราวให้เขียนถึงได้เสมอ ทั้งในเชิงคุณภาพชีวิต ความเหลื่อมล้ำ การเงิน กฎหมาย การศึกษา และสิ่งต่าง ๆ ที่มีการเรียกร้องกัน จึงมีอะไรอีกมากมายที่จะทำให้เกิดงานเขียนสะท้อนสังคมขึ้นมา
“ประเทศไทยยังมีเรื่องราวอีกมากมาย ซึ่งยังไม่ถูกเล่า หรือเล่าแล้วแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข มติชนจึงต้องเปิดเวทีให้มีการเล่าต่อไป ให้คนทั่วไปส่งเสียงออกมา”
มติชนต้องการเปิดโอกาสให้คนทั่วไปพูดในสิ่งที่เชื่อและเรียกร้อง เสียงเหล่านี้เบาลงทุกทีและไม่มีใครโอบอุ้ม สังคมที่ดีต้องฟังน้ำเสียงเหล่านี้ ดังนั้นจึงเป็นบทบาทที่ถูกต้องของมติชนในการเปิดเวทีฟังเสียงในทุกมิติ เพื่อนำเสนอไปในวงกว้าง
เชื่อว่าการประกวดในครั้งนี้จะทำให้ผู้คนได้สะท้อนในสิ่งที่อยากพูดหรืออยากเขียน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นประชาชนในประเทศไทย อีกทั้งการเขียนยังเป็นวิธีส่งเสียงที่ “นุ่มนวล” และ “แยบยล” ที่สุดโดยไม่เกิดการปะทะขัดแย้ง มติชนเพียงแค่อยากให้ฟังน้ำเสียงที่แตกต่างไปในสังคมไทย
มติชนอวอร์ด 2024 เป็นการผนึกกำลังจาก 5 หน่วยงาน ในบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นำโดย มติชนสุดสัปดาห์ มติชนออนไลน์ ศิลปวัฒนธรรม สำนักพิมพ์มติชน และศูนย์ข้อมูลมติชน ซึ่งล้วนมีพื้นฐานและความชำนาญในการสื่อสารคอนเทนต์ที่ดีสู่สังคม
ทั้งยังเป็นการขยายการเข้าถึงผู้สมัครหน้าใหม่จากกลุ่มผู้อ่านของทุกหน่วยงานด้วย เชื่อว่าการบูรณาการในการจัดการประกวด มติชนอวอร์ด 2024 ในครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จที่มากขึ้นกว่าเดิม และเป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากขึ้น
“เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ การ์ตูนฯ” ฐานเดิมคนทำสื่อ
นางสาวปานบัวกล่าวอีกว่า ความพิเศษที่เพิ่มขึ้นมาของมติชนอวอร์ด 2024 คือ “การประกวดการ์ตูนการเมืองสะท้อนสังคม” การประกวดปีที่ผ่าน ๆ มา จะมีกวีนิพนธ์และเรื่องสั้น เป็น 2 มิติหลักเสมอ และพยายามเพิ่มการประกวดมิติที่ 3 อยู่ตลอด เช่น เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
มติชนอวอร์ด 2024 จึงมีแนวคิดเพิ่มหัวข้อประกวดในมิติที่ 3 ขึ้น คือ การ์ตูนการเมืองสะท้อนสังคม เพราะในบางครั้งการ์ตูนการเมืองสามารถสะท้อนสภาพสังคมได้มากกว่าภาษาเสียอีก ภาพเพียงภาพเดียวอาจรู้สึกมากกว่าข้อเขียนทั้งหน้าก็เป็นได้
ในปัจจุบันเชื่อว่าคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยมีการสื่อสารในลักษณะนี้ กราฟิก และอาร์ตเวิร์กในไทยเก่งขึ้นเรื่อย ๆ แต่ที่ผ่านมามีเพียงการประกวดภาพประกอบ หรือภาพปกสวยงาม ทั้งที่เด็กและคนรุ่นใหม่แหลมคมกว่านั้น มีอารมณ์ ความรู้สึก และแนวคิดทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่ลุ่มลึก จึงเป็นที่มาของการประกวดการ์ตูนการเมืองสะท้อนสังคม ซึ่งอาจสะท้อนออกมาในมิติที่เราไม่เคยเห็น
ที่สำคัญ การ์ตูนการเมืองนั้นกำเนิดขึ้นมากับสื่อสิ่งพิมพ์ตั้งแต่ต้น ดังนั้น โมเดลที่นำมาใช้ในการประกวดครั้งนี้ ถือเป็นโมเดลดั้งเดิมของสิ่งพิมพ์ยุคแรกในประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วย “เรื่องสั้น-กวีนิพนธ์-การ์ตูนการเมือง”
“มติชนอวอร์ด 2024 จึงเปรียบเสมือนการกลับสู่ฐานเดิมของคนทำสื่อ แม้ปัจจุบันผู้คนจะมีวิธีสะท้อนความคิดผ่านช่องทางอันหลากหลาย แต่มติชนอยากกลับมาสู่การสะท้อนความคิดเห็นผ่านงานเขียนเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และการ์ตูนการเมือง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการ์ตูนการเมืองจะออกมาน่าสนใจ และเป็นการขับเคลื่อนการทำสื่อต่อไป” นางสาวปานบัวกล่าว
เกียรติยศ ไม่จำเป็น แต่สำคัญ
นอกจากเพิ่มการประกวดการ์ตูนการเมืองเป็นอีกสาขาหนึ่งในมติชนอวอร์ด 2024 แล้ว บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จะมีการตั้ง “รางวัลมติชนเกียรติยศ” มอบถ้วยรางวัลพร้อมเงิน 100,000 บาท เพื่อเป็นเกียรติแก่นักเขียน คอลัมนิสต์ นักหนังสือพิมพ์ ที่มีผลงานและคุณูปการต่อแวดวงหนังสือและวรรณกรรม
นางสาวปานบัวกล่าวว่า รางวัลเกียรติยศอาจไม่จำเป็น แต่มีความสำคัญมาก ปีที่ผ่านมามีผู้บริหารในเครือมติชนได้รับรางวัลเกียรติยศถึง 3 คน คือ “นายขรรค์ชัย บุนปาน” ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) รางวัลเกียรติยศคนหนังสือพิมพ์ “นายสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร” บรรณาธิการนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ รางวัลบรรณาธรเกียรติยศ และ “นายสุพจน์ แจ้งเร็ว” บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒธรรม รางวัลบรรณาธิการดีเด่น รางวัลคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง
รางวัลเกียรติยศนั้นสำคัญมาก เพราะการทำงานและมีจุดยืนอยู่เสมอบนพื้นฐานวิชาชีพที่ยึดมั่นมาตลอดควรได้รับเกียรติ มติชนจึงริเริ่มรางวัลเกียรติยศนี้ขึ้นมา เพื่อยกย่องและให้เกียรติคนทำงาน การอยู่บนพื้นฐานวิชาชีพที่ดีแล้วมีคนเห็นถือเป็นเรื่องภาคภูมิใจ
“รางวัลนี้มติชนขอมอบเอง เป็นเกียรติยศ เป็นศักดิ์ศรี เป็นการเผยแพร่ เป็นการตอกย้ำสิ่งที่เขาทำมา เราให้คุณค่า เรามองเห็นแล้วอยากให้สาธารณะได้ยกย่องมองเห็นเช่นกัน”
มติชนอวอร์ด เวทีแห่งความหลากหลาย
นายสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ กล่าวว่า ในแง่ของการเป็นสื่อมวลชน มติชนได้สะท้อนความคิดเห็นของสังคมในเชิงข่าวสาร แต่อีกแง่หนึ่ง เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และการ์ตูนการเมือง คือการนำเสนอข้อเท็จจริงหรือน้ำเสียงของสังคมในเวลานั้น และเป็นการสะท้อนได้อย่างมีชั้นเชิง เพราะบางเรื่องไม่สามารถพูดได้ตรง ๆ งานเหล่านี้จะสะท้อนมุมที่ไม่สามารถพูดได้ออกมา
การประกวดครั้งล่าสุดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว คนรุ่นใหม่ส่งเรื่อง LGBTQ+ มาเป็นจำนวนมากในรูปแบบที่แตกต่างกัน เปรียบเสมือนเสียงสะท้อนแห่งยุคสมัย มติชนคาดว่าการประกวดในครั้งนี้จะเกิดปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ขึ้น เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องจีโอโพลิติกส์ (Geopolitics) เป็นต้น
มติชนอวอร์ด 2024 เปิดกว้าง ไม่จำเป็นต้องเขียนเรื่องการเมืองหรือสังคม เขียนเรื่องโป๊ก็ได้ถ้าสามารถสะท้อนอะไรบางอย่างในสังคมได้ ถือเป็นการเปิดกว้างทั้ง 3 มิติ เพื่อให้ได้ความหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องเขียนเรื่องการเมืองแล้วได้รางวัล
“ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่จะช่วยสะท้อนปัญหา เพียงแต่ไม่ได้ออกมาในรูปแบบข่าวสาร แต่ใช้ชั้นเชิงวรรณกรรม ศิลปะ และการ์ตูน มาเป็นตัวสะท้อนแทน…ปัจจุบันมีหลายเรื่องที่เราไม่สามารถพูดตรง ๆ ได้ แต่เราคาดหวังว่าด้วยชั้นเชิงและวิธีการของนักเขียนจะส่งเสียงในมุมมืดออกมาให้เราได้ยิน” นายสุวพงศ์กล่าว
กติกา มติชนอวอร์ด 2024
มติชนอวอร์ด 2024 จะเปิดรับส่งผลงานเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และการ์ตูนการเมืองสะท้อนสังคม จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 จากนั้นจะคัดเลือก เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และการ์ตูนฯ ที่เข้ารอบเพื่อตีพิมพ์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ระหว่างเดือนเมษายน-พฤศจิกายน 2567 ก่อนจะตัดสินผลรอบสุดท้ายในช่วงปลายปี 2567 พร้อมการประกาศรางวัลมติชนเกียรติยศ
กติกาประกวดเรื่องสั้น ไม่จำกัดรูปแบบและเนื้อหา พิมพ์เป็นภาษาไทย ความยาวไม่เกิน 6 หน้ากระดาษ A4 (ขนาดตัวหนังสือ 16 pt)
กติกาประกวดกวีนิพนธ์ ไม่จำกัดรูปแบบ และเนื้อหา จะมีฉันทลักษณ์หรือไม่มีฉันทลักษณ์ก็ได้ พิมพ์เป็นความยาวไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ A4 (ขนาดตัวหนังสือ 16 pt)
กติกาประกวดการ์ตูนฯ ขนาดผลงาน 1 หน้ากระดาษ A4 ไม่จำกัดรูปแบบ เนื้อหา และเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงาน ไม่เป็นศิลปินที่มีผลงานประจำกับสื่อใดมาก่อน
โดยการประกวดทั้ง 3 ประเภท ผลงานที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นผลงานที่ทำขึ้นมาใหม่ ไม่ลอกเลียน แปล หรือดัดแปลงมาจากผู้อื่น รวมทั้งไม่เคยเผยแพร่ในสื่อรูปแบบใดมาก่อน ทั้งนี้ ไม่จำกัดคุณสมบัติผู้ส่งงานเข้าประกวด ทั้งอายุ วัย เพศ ระดับการศึกษา และภูมิลำเนา โดยสามารถส่งได้ไม่เกิน 1 คน ต่อ 1 เรื่อง
ผู้ส่ง เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และการ์ตูนฯ ต้องระบุ นามปากกา, ชื่อจริง และที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้โดยสะดวก โทรศัพท์ และอีเมล์ มายังกองบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์ เลขที่ 12 เทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. 10900 (ประเภทการประกวด), weekly_shortstory@hotmail.com
ความพิเศษของมติชนอวอร์ด 2024 คือการเพิ่มเงินรางวัลทุกประเภท มูลค่ารวมกว่า 400,000 บาท รางวัลชนะเลิศเรื่องสั้น 70,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 40,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับสอง 20,000 บาท
สำหรับกวีนิพนธ์ และการ์ตูนฯ รางวัลชนะเลิศ 50,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 30,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับสอง 10,000 บาท
ปลุกปั้นนักคิด นักเขียนสู่สังคม
เครือมติชนในฐานะสื่อที่เป็นเสาหลัก ยังยืนหยัดในวงการ มีฐานผู้อ่านสนใจวรรณกรรม-กวีนิพนธ์ อยู่จำนวนมาก โดยเป้าหมายคือต้องการส่งเสริมการอ่าน และกระตุ้นให้แวดวงวรรณกรรมให้มีความคึกคักตื่นตัว
มติชนอวอร์ด ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 2554 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เป็นรางวัลที่เครือมติชนภูมิใจอย่างมาก เพราะนอกจากจะประสบความสำเร็จอย่างสูงในการกระตุ้นและส่งเสริมการอ่านในหมู่ประชาชนทั่วไปให้เกิดความตื่นตัวคึกคักขึ้นแล้ว ยังได้รับการตอบรับจากนักเขียนและผู้อ่านในแวดวง วรรณกรรม-กวีนิพนธ์ เป็นอย่างสูง
ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา มติชนอวอร์ด ได้เป็นพื้นที่ปลุกปั้น สร้าง “นักคิด-นักเขียน” หน้าใหม่เข้าสู่แวดวงวรรณกรรม พร้อมทั้งส่งเสริมนักเขียนเดิมให้ได้รับความนิยมในระดับประเทศเป็นจำนวนมาก อาทิ
สุธีร์ พุ่มกุมาร, ฉมังฉาย, บัญชา อ่อนดี, นรพัลลภ ประณุทนรพาล, นฤพนธ์ สุดสวาท, นายทิวา, มีนา ฟ้าศุกร์, เฟืองเขียว เกี้ยวบุหลัน, ธารา ศรีอนุรักษ์, กล้า สมุทวณิช, สมภพ นิลกำแหง, ผาด พาสิกรณ์, ชาลี ศิลปรัศมี, วิกรานต์ ปอแก้ว, รมณ กมลนาวิน, ถนอม ไชยวงษ์แก้ว, สันติพล ยวงใย, อนันต์ เกษตรสินสมบัติ เป็นต้น
ขอเชิญชวนนักเขียน นักอ่าน และผู้ที่สนใจทุกท่านร่วมส่งผลงานเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และการ์ตูนการเมืองสะท้อนสังคม ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 โดยจะคัดเลือกเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และการ์ตูนการเมืองที่เข้ารอบเพื่อตีพิมพ์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ระหว่างเดือนเมษายน-พฤศจิกายน 2567 และจะมีการตัดสินผลรอบสุดท้าย พร้อมกับการมอบรางวัลมติชนเกียรติยศ ในช่วงปลายปี 2567
- สัปดาห์หนังสือ 2567 สำนักพิมพ์มติชนคึกคัก “หนุ่มเมืองจันท์” เเชมป์ขายดีต่อเนื่อง
- งานสัปดาห์หนังสือ 2567 Gen Z แห่ตุน ไลต์โนเวล-นิยายวาย
- สัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 52 เปิดอันดับ 10 เล่มขายดีสำนักพิมพ์มติชน
- สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 อ่านเอาฤกษ์ 14 ปกใหม่ สำนักพิมพ์มติชน บูท J47
- สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 คาด เงินสะพัด 400 ล้าน ดันตลาดหนังสือไทยแตะ 1.7 หมื่นล้าน
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : มติชนอวอร์ด 2024 เขียน คิด พลิกโลก เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ การ์ตูนการเมืองสะท้อนสังคม
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net