โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

รู้ทัน “จำนำไอคลาวด์” เงินกู้ดิจิทัลสุดอันตราย เสี่ยงเสียเงิน เสียทั้งข้อมูล

Thaiger

อัพเดต 28 มี.ค. เวลา 16.57 น. • เผยแพร่ 28 มี.ค. เวลา 09.55 น. • Thaiger ข่าวไทย
รู้ทัน “จำนำไอคลาวด์” เงินกู้ดิจิทัลสุดอันตราย เสี่ยงเสียเงิน เสียทั้งข้อมูล
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ข้อมูลส่วนตัวของเราทุกวันนี้ผูกติดกับบัญชีออนไลน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะชาว Apple ที่ใช้ iPhone, iPad คงคุ้นเคยกับ Apple ID หรือ iCloud เป็นอย่างดี แต่ทราบไหมว่า ปัจจุบันมีมิจฉาชีพหรือผู้ให้บริการเงินกู้นอกระบบหัวใส ใช้ประโยชน์จาก iCloud ของเรามาเป็นเครื่องมือในการปล่อยกู้รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “การจำนำไอคลาวด์” (iCloud Pawning) ล่าสุดเพิ่งมีข่าวตำรวจไซเบอร์บุกทลายเครือข่ายแก๊งเงินกู้โหดในลพบุรี ขอนแก่น รับจำนำไอคลาว ดอกโหดถึง ร้อยละ 240 ต่อปี

จำนำไอคลาวด์คืออะไร ต่างจากจำนำทั่วไปยังไง?

การจำนำไอคลาวด์ หรือ “ไอคลาวด์แลกเงิน” เป็นรูปแบบหนึ่งของการกู้เงินนอกระบบที่ใช้บัญชี iCloud (Apple ID และรหัสผ่าน) ของผู้กู้เป็นหลักประกัน แทนทรัพย์สินมีค่าอื่นๆ เหมือนการจำนำทั่วไปที่เราเอาทอง เอามือถือไปวางไว้ที่โรงรับจำนำ

แต่การจำนำไอคลาวด์นั้นน่ากลัวกว่า เพราะสิ่งที่เราเอาไปจำนำไม่ใช่แค่ตัวเครื่องโทรศัพท์ แต่เป็นกุญแจที่เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวทั้งหมด ที่ผูกกับบัญชี Apple ID ของเราเลยทีเดียว ซึ่งคนส่วนใหญ่เก็บรูปภาพ วิดีโอส่วนตัว ข้อมูลส่วนตัว รหัสทางธุรกรรมการเงินไว้ในนั้นทั้งนั้น

ขั้นตอนการจำนำไอคลาวด์ทำงานอย่างไร?

จากข้อมูลการสืบสวนของตำรวจไซเบอร์ พบว่ากระบวนการมักจะเป็นดังนี้

1. ผู้ให้กู้มักประกาศผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เพจ Facebook โดยใช้คำชวนเชื่อ #จำนำไอคราว #ฝากไอคราว หรือ #ปล่อยกู้ไอโฟน

2. เมื่อมีคนสนใจกู้ ผู้ให้กู้จะขอข้อมูลส่วนตัวแบบละเอียดมาก ทั้งชื่อ-นามสกุล, เบอร์โทร, เลขบัตรประชาชน, รูปถ่ายหน้าคู่กับบัตรประชาชน, ข้อมูลคนรู้จัก, เลขบัญชีธนาคาร, บัญชีโซเชียลมีเดีย (Line, Facebook, IG) และที่สำคัญคือ หมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์ (IMEI)

3. ผู้กู้จะต้อง ให้ Apple ID และรหัสผ่าน แก่ผู้ให้กู้ เพื่อใช้เป็นหลักประกัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

4. ผู้ให้กู้จะโอนเงินให้ตามวงเงินที่ตกลง แต่! มักจะ หักค่าธรรมเนียม หรือดอกเบี้ยงวดแรก ไปเลยทันที ทำให้ได้รับเงินไม่เต็มจำนวน (เช่น กู้ 6,000 อาจโดนหัก 600 เหลือรับจริง 5,400 บาท)

ความเสี่ยงใหญ่หลวง เกิดอะไรขึ้นถ้าจ่ายหนี้ไม่ตรง
ความเสี่ยงใหญ่หลวง เกิดอะไรขึ้นถ้าจ่ายหนี้ไม่ตรง
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ความเสี่ยงใหญ่หลวง เกิดอะไรขึ้นถ้าจ่ายหนี้ไม่ตรง?

หากผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ หรือจ่ายดอกเบี้ยได้ตามกำหนด หรือผิดสัญญา ผู้ให้กู้ซึ่งมีรหัส iCloud ของเราอยู่ จะเข้าไป เปลี่ยนรหัสผ่าน Apple ID ของเราทันที เมื่อรหัสผ่านถูกเปลี่ยน iPhone หรือ iPad ของเราจะติดล็อก ไม่สามารถเข้าใช้งานได้อีกต่อไป กลายเป็นแค่ก้อนสี่เหลี่ยมธรรมดาๆ ที่ทำอะไรไม่ได้เลย

นี่คือจุดที่อันตรายที่สุด ข้อมูลหายเกลี้ยง ทุกอย่างที่ผูกกับ iCloud เช่น รูปภาพ, รายชื่อติดต่อ, โน้ต, ข้อมูลสำรองต่างๆ จะไม่สามารถเข้าถึงได้ ฟังก์ชัน “Find My iPhone” ก็จะใช้ไม่ได้

คิดให้ดีก่อนจำนำไอคลาวด์ อันตรายกว่าที่คิด

ดอกเบี้ยโหดมหาศาล สูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดมาก จากตัวอย่างในข่าว กู้ 6,000 บาท ต้องจ่ายดอกเบี้ยรวม 7,200 บาท ภายใน 6 เดือน คิดเป็น ร้อยละ 20 ต่อเดือน หรือ ร้อยละ 240 ต่อปี! ซึ่งผิดกฎหมายและทำให้ผู้กู้ตกเป็นทาสหนี้ได้ง่ายๆ

การให้ข้อมูลส่วนตัวและรหัส iCloud ไป เท่ากับเปิดประตูให้มิจฉาชีพเข้าถึงข้อมูลทุกอย่างของเราได้ พวกเขาสามารถนำข้อมูลไปขาย, สวมรอยทำธุรกรรม, แบล็กเมล์ หรือใช้ในการก่ออาชญากรรมอื่นๆ ได้อีก

นอกจากจะต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงแล้ว หากผิดนัดชำระ คุณจะเสียโทรศัพท์หรืออุปกรณ์ Apple ของคุณไปเลย ไม่สามารถใช้งานได้อีก ผู้ให้กู้ส่วนใหญ่เถื่อน ดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ผู้กู้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

คิดให้ดีก่อน จำนำไอคลาวด์
คิดให้ดีก่อน จำนำไอคลาวด์

ข้อควรระวังและวิธีป้องกันตัว

1. ห้ามให้รหัส iCloud/Apple ID แก่ใครเด็ดขาด: นี่คือกฎเหล็กที่สำคัญที่สุด บัญชี Apple ID เปรียบเสมือนกุญแจสู่ชีวิตดิจิทัลและข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดของคุณ

2. ต้องการเงินด่วน ควรพึ่งสถาบันการเงินที่ถูกกฎหมาย: หากมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ควรติดต่อธนาคาร หรือผู้ให้บริการสินเชื่อที่ได้รับอนุญาตและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมและมีกฎหมายคุ้มครอง

3. การกู้เงินผ่าน Facebook, Line หรือช่องทางออนไลน์อื่นๆ มีความเสี่ยงสูง ควรตรวจสอบผู้ให้กู้อย่างละเอียด และหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลส่วนตัวหรือหลักประกันที่ละเอียดอ่อนอย่าง iCloud โดยเด็ดขาด

4. หากพบเห็นเพจหรือบุคคลที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยในการปล่อยกู้ลักษณะนี้ สามารถแจ้งเบาะแสไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจไซเบอร์ (บช.สอท.) ได้

วิธีการระวังเมื่อจำนำ iCloud
วิธีการระวังเมื่อจำนำ iCloud

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง