โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

‘ชฎาทิพ’ ประกาศทุ่มสรรพกำลัง หนุนนโยบายรัฐฟื้นท่องเที่ยวเต็มสูบ

The Bangkok Insight

อัพเดต 13 ก.ย 2566 เวลา 14.53 น. • เผยแพร่ 14 ก.ย 2566 เวลา 00.30 น. • The Bangkok Insight
‘ชฎาทิพ’ ประกาศทุ่มสรรพกำลัง หนุนนโยบายรัฐฟื้นท่องเที่ยวเต็มสูบ

"ชฎาทิพ จูตระกูล" บิ๊กบอส สยามพิวรรธน์ พร้อมหนุนรัฐบาลร่วมฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ในฐานะ Global Destination อันดับหนึ่งของไทย ชี้นโยบายรัฐบาลทั้งฟรีวีซ่า เงินดิจิทัล ส่งผลบวกเศรษฐกิจ-กำลังซื้อประเทศ

เราในฐานะภาคเอกชน ดีใจที่เห็นประเทศไทยมีความชัดเจนที่จะก้าวต่อไป หลังจากได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ และให้การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่

นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจค้าปลีกชั้นนำ เจ้าของและผู้บริหารโครงการที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ กล่าว

ทั้งนี้ สยามพิวรรธน์ ในฐานะการเป็นผู้สร้าง Global Destinations อันดับหนึ่งของประเทศไทย พร้อมที่จะทุ่มสุดตัวในไตรมาส 4 ปีนี้และต่อเนื่องในปีหน้า ทั้งด้านงบประมาณ กำลังคนและเครือข่าย เพื่อร่วมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยให้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

เห็นได้จากในไตรมาส 4 ปีนี้ ที่สยามพิวรรธน์จะทุ่มงบประมาณถึง 1,000 ล้านบาทในการจัดกิจกรรมรวม 40 อีเวนท์ รวมถึงงานเคาท์ดาวน์อย่างยิ่งใหญ่ที่ไอคอนสยาม ซึ่งเป็นการใช้งบเพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงเท่าตัว เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยถึง 30 ล้านคนในสิ้นปีนี้

ที่สำคัญคือ ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่ติดอันดับโลกในการเป็นที่สถานที่ที่ดีที่สุดในสายจานักท่องเที่ยว เมื่อผนึกกำลังกับภาคเอกชนเชื่อว่าจะสามารถดึงคนทั่วโลกให้เข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยได้

แนะฟรีวีซ่า-เพิ่มสายการบิน-ดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่

นอกจากนี้ ยังมองว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายฟรีวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจีน จะส่งให้นักท่องเที่ยวจีนกลับเข้ามาเที่ยวไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวันชาติจีนต้นเดือนตุลาคมนี้

ขณะเดียวกัน ในฐานะ Global Destination สยามพิวรรธน์ ยังมองเห็นโอกาสจากนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ที่มีกำลังซื้อสูง มาเป็นครอบครัวและใช้เวลาอยู่ในไทยนานหลายวัน รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ ที่ใช้ไทยเป็นสถานที่จัดประชุมสัมมนา หากสามารถเพิ่มนักท่องเที่ยวทั้งสองกลุ่มนี้ได้ จะช่วยให้การท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวเร็วขึ้น

ทั้งนี้เห็นได้จาก กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวตะวันออกกลาง ที่เข้ามาช้อปปิ้งในศูนย์การค้าเครือสยามพิวรรธน์ ที่ส่งผลให้ยอดการใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มสูงขึ้นจาก 5,500 บาทต่อคนต่อวัน เป็น 8,500 บาทต่อคนต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องของสายการบินที่ไม่เพียงพอกับความต้องการของนักเดินทางทั่วโลก จึงอยากเสนอให้เพิ่มเที่ยวบินให้มากขึ้น หรือร่วมเป็นพันธมิตรกับสายการบินจากประเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มเที่ยวบินเข้าไทยให้เพียงพอกับความต้องการของนักท่องเที่ยว

ส่วนกรณีเงินดิจิทัล 10,000 บาทที่จะแจกให้ประชาชนทุกคนนั้น มองว่า จะส่งผลบวกต่อภาพรวมธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากเกิดแรงซื้อ เกิดการจับจ่ายมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระตุ้นให้ภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้นอีกทางหนึ่ง

เดินหน้าขับเคลื่อนกลยุทธ์การเป็นที่ 1

ที่ผ่านมา สยามพิวรรธน์ ดำเนินกลยุทธ์สู่ความเป็นที่ 1 มาอย่างต่อเนื่องใน 4 ด้านได้แก่

  • การเป็นที่ 1 ในใจผู้คน จากการเป็นผู้สร้าง Global Destinations ทั้งในไทยและในระดับนานาชาติ
  • การเป็นที่ 1 ในใจลูกค้า เห็นได้จากปัจจุบันทั้ง 5 ศูนย์การค้าในเครือ มีทราฟฟิกรวมวันละ 2.5-3 แสนคน หลายร้านค้ามียอดขายเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับร้านค้าในสาขาอื่น
  • การเป็นที่ 1 ในใจพันธมิตร จากการร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรที่หลากหลายกว่า 50 ราย ผ่านวันสยาม ซูเปอร์แอป เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประกันภัย ธนาคารฯลฯ
  • การเป็นที่ 1 ของโลก สะท้อนได้จากได้รับรางวัลระดับโลกมากมาย เช่นรางวัลผู้สร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดของโลก รางวัลการออกแบบที่ดีที่สุดในโลก เป็นต้น

นางชฎาทิพ กล่าวอีกว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 นี้ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาศูนย์การค้าของสยามพิวรรธน์มีถึง 14 ล้านคน เพิ่มขึ้น 46% จากปี 2565 โดยมียอดการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยที่ 8,500 บาท/คน/วัน

เมื่อรัฐบาลมีนโยบายที่จะอำนวยความสะดวกและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างเต็มที่แล้ว เชื่อมั่นว่าภายในสิ้นปีนี้ประเทศไทยจะมียอดนักท่องเที่ยวถึง 30 ล้านคน และสยามพิวรรธน์จะทุ่มทุนจัดกิจกรรมในไตรมาสสุดท้ายทุกศูนย์การค้าด้วยงบประมาณ 1,000 ล้านบาทเพื่อเป็นแม่เหล็กให้ผู้คนทั่วโลกอยากมาเยี่ยมชม

เผย 4 ยุทธศาสตร์ (Strategic Pillars)

1. ผู้นำการสร้างประสบการณ์ Shopping ยิ่งใหญ่เหนือความคาดหมาย เสริมแกร่งผู้นำในตลาด Luxury retail ด้วยการผนึกกำลังกับ Luxury brand ร้านค้าผู้เช่า และพันธมิตรธุรกิจ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ดังนี้

  • เตรียมเปิดร้าน Luxury brands ใหม่เพิ่มเติมถึง 20 ร้านค้าในไตรมาส 4 ซึ่งหลายแบรนด์เป็นสาขาแรกในประเทศไทย
  • มีคิวจัด Pop-up store และงานอีเวนต์ระดับโลก ร่วมกับแบรนด์ต่างๆ มากกว่า 40 แบรนด์ไปจนถึงสิ้นปี 2567
  • ลักซ์ซูรี่แบรนด์ทุกค่าย เตรียมขยายพื้นที่กว่าเท่าตัวให้เป็น Iconic store ที่ใหญ่ที่สุดในสยามพารากอนและไอคอนสยามในปีหน้า

2. ผู้นำการจัด World Class Event และการประชุมนานาชาติ

ที่ผ่านมา สยามพิวรรธน์ได้ทำงานร่วมกับองค์กรภาครัฐ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) และภาคเอกชนต่างๆ เพื่อดึงดูดนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ ที่มีกำลังซื้อสูงจากทั่วโลก

ทั้งนี้ ได้โดยใช้พื้นที่รอยัลพารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน และทรู ไอคอนฮอลล์ ชั้น 7 ไอคอนสยาม เป็นสถานที่จัดงานอีเวนต์มาตรฐานระดับโลกหรือการประชุมนานาชาติ ซึ่งในปีนี้ได้รองรับงานสำคัญรวมกันกว่า 40 งาน และมีการจองใช้ใน ปี 2567 แล้วมากถึง 70%

นอกจากนี้ สยามพิวรรธน์ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้จัดงานอีเวนต์รายใหญ่ของโลกรายหนึ่งที่จะมาร่วมลงทุนสร้างศูนย์ประชุมและการแสดงเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในต้นปี 2567

3. ผู้นำในการส่งเสริมศิลปะไทย ยกระดับกรุงเทพฯ ให้เป็นศูนย์กลางศิลปะระดับโลก

สยามพิวรรธน์ เตรียมแผนเสนอรัฐบาลที่จะปั้นให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของ S/E Asia ที่จะจัดงานศิลปะระดับโลกให้เกิดขึ้น เพื่อดึงดูดบุคคลในวงการศิลปะเข้ามาในประเทศไทย อาทิ งาน Art Basel และ Frieze เป็นต้น ซึ่งจะทำให้บรรดาศิลปินไทยได้มีโอกาสแสดงผลงานร่วมกับศิลปินระดับโลกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น สยามพิวรรธน์มีนโยบายที่จะเปิดศูนย์ศิลปะริเวอร์มิวเซียม ชั้น 8 ไอคอนสยาม ในปี 2026 ด้วยพื้นที่ 8,000 ตารางเมตร ซึ่งจะเป็นมิวเซียมมาตรฐานโลกแห่งแรกของประเทศไทยที่สามารถรองรับงานศิลปะ master piece ระดับโลกได้ทัดเทียมกับมิวเซียมชั้นนำในประเทศต่างๆ

ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะดึงดูดบุคคลสำคัญในวงการศิลปะและบรรดา นักสะสมงานศิลปะจากทั่วโลกเข้ามาในประเทศไทย นับว่าเป็นกลุ่มท่องเที่ยวคุณภาพสูงกลุ่มใหม่ที่จะ ต่อยอดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีในระยะยาว

4. ผู้นำในการปั้น Soft power ของไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์และต่อยอดสู่เวทีโลก

ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่สยามพิวรรธน์ได้พัฒนาแพลตฟอร์มแห่งโอกาสที่นำสุดยอดฝีมือในด้านต่างๆ ของไทย เพื่อนำเสนอ Soft power ของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ภาพยนตร์ แฟชั่น ดีไซเนอร์ และอื่นๆ

ขณะเดียวกันยังรวมทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs และพ่อค้าแม่ค้าจาก 77 จังหวัด จำนวนกว่า 6,000 ราย มารวมตัวกันนำเสนออัตลักษณ์ไทยรูปแบบต่างๆ ผ่านเมืองสุขสยาม ซึ่งมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมไม่ต่ำกว่าวันละ 7 หมื่นคนและเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างมากใน social media ทั่วโลก

นอกจากนี้ การสร้างแบรนด์สินค้าของคนไทยผ่านธุรกิจรีเทลของสยามพิวรรธน์ อันได้แก่ ICONCRAFT, ODS และ ECOTOPIA ก็สามารถขายแฟรนไชส์ไปต่างประเทศ โดยพร้อมร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งพันธมิตร ระดับโลก ยกระดับ Soft power ของคนไทยให้เป็นที่ชื่นชมบนเวทีโลกด้วยเช่นกัน

นางชฎาทิพ กล่าวว่า สยามพิวรรธน์พร้อมที่จะผสานพลังทุกภาคส่วน สนับสนุนนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล ร่วมผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ทำให้ประเทศไทยครองแชมป์จุดหมายปลายทางของโลก

อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ที่จะช่วยกระตุ้นกิจกรรมเศรษฐกิจ สร้างรายได้ และก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระบวกทั้งผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจ MICE และบริการที่จะได้ประโยชน์จากการมาเยือนของชาวต่างชาติเช่นกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น