เคยนึกสงสัยถึงความไม่สมเหตุสมผลของบทเรียนบางบทที่เคยเรียนสมัยมัธยมบ้างไหม เคยหวาดกลัวความเชื่อที่ผู้ใหญ่ปลูกฝังในวัยเด็ก แต่วันหนึ่งกลับพบจุดเปลี่ยนซึ่งทำให้คุณมองสิ่งเหล่านั้นแตกต่างไปจากเดิมบ้างหรือเปล่า?
ใครจะคิดว่า พระอิศวรผู้ยิ่งใหญ่ อาจเป็นเพียงมหาเทพที่ให้พรมั่วซั่ว ส่วนนนทกตัวร้าย จากรามเกียรติ์ ตอนนารายณ์ปราบนนทก คือยักษ์ (เคย) แสนดี ผู้โดนเหล่าเทวดาบูลลี่ จนต้องลุกขึ้นเรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเอง จะเป็นอย่างไร ถ้าพระภูมิเจ้าที่ที่คนยำเกรงในความศักดิ์สิทธิ์ ไม่สามารถจัดการได้กระทั่งปลวกตัวเล็กๆ และหากเด็กติดยา ทำร้ายร่างกายพ่อแม่จนมือใหญ่เท่าใบลานจะกลับมาสร้างหายนะแก่โลก เพราะพลังแห่งการตีพ่อตีแม่ทำให้กลายเป็นผู้แข็งแกร่ง
ทั้งหมดที่กล่าวมา ใครไม่คิด PASULOL คิด ทั้งยังถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นให้กลายเป็นอนิเมชันร้ายๆ จิกกัดสังคมเผยแพร่ลงในยูทูบ ซึ่งนอกจากความตลกแล้วยังมีสาระแฝงอยู่อีกด้วย
PASULOL เป็นช่องของ พสุ หล่อเพ็ญศรี ชายหนุ่มวัย 23 ปี ที่เพิ่งเรียนจบด้านบริหารธุรกิจหมาดๆ แต่กลับมุ่งยูทูบเบอร์เต็มตัว ผลงานที่ได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมาก คือ ‘รามเกียรติ์ ตอนนนทกโดนแกล้ง’ และผลงานล่าสุดอย่าง ‘นิทานคนบาป’ ซึ่งปิดตัวอย่างร้อนแรง ด้วยการติดอันดับหนึ่งเทรนด์ยูทูบไทยตั้งแต่วันแรกที่ปล่อย แม้ไม่ได้เรียนจบด้านอนิเมชันโดยตรง และถึงย้อนเวลากลับไปได้ พสุก็ยืนยันหนักแน่นว่าคงไม่เลือกเรียนสายนี้ และไม่ว่าอย่างไร เขายังคงมีความมุ่งมั่นที่จะทำอนิเมชันต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่ามันจะสร้างรายได้หรือไม่ก็ตาม
จุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจในอนิเมชันของเขาเกิดขึ้นได้อย่างไร becommon จะพาคุณไปหาคำตอบ และทำความรู้จักตัวตนของเขาให้มากยิ่งขึ้น
ความฝันในวัยเด็กของคุณคืออะไร
ไม่มีเป้าหมายว่าโตไปจะเป็นอะไร ตอนนั้นเหมือนอยู่ไปวันๆ ค่อนข้างเป็นเด็กเรียน ด้วยความเชื่อว่าถ้าเรียนได้เกรดดีก็จะมีงานทำ แต่ยังไม่รู้นะว่างานอะไร แล้วพ่อแม่ก็ไม่ค่อยเข้มงวดเรื่องนี้เท่าไหร่ เขาไม่เคยบังคับว่าต้องเรียนได้เกรดเท่าไหร่ แต่ถ้าเราไม่ตั้งใจก็มีดุบ้าง เราเลยให้ความสำคัญกับการเรียนไปก่อน
ทำไมเลือกเรียนบริหารธุรกิจ
ตอนแรกก็มีความรู้สึกอยากเรียนสายศิลป์ แต่ไม่ค่อยมั่นใจว่าถ้าไปสายนี้จะมีงานทำหรือเปล่า แล้วช่วง ม.ปลาย เราต้องตัดสินใจเลือกระหว่างทำในสิ่งที่ชอบ กับทำอะไรที่มันหาเงินได้จริงๆ ผมเลยเลือกเรียนสายที่ตัวเองมองว่ามันมีความมั่นคงกว่า คือบริหารธุรกิจ อย่างน้อยจบมาก็น่าจะมีงานทำ ส่วนอนิเมชันก็ให้เป็นงานอดิเรกไปก่อน
มันเป็นการตัดสินใจของเราเอง แต่ครอบครัวก็มีส่วนด้วย เพราะเวลาเราบอกพ่อแม่ว่าอยากไปสายอนิเมชัน เขาจะเริ่มถามว่า ลองดูรุ่นพี่ก่อนไหม ลองไปศึกษาก่อนไหม จบมาแล้วทำงานอะไร มันเลี้ยงชีพในระยะยาวได้หรือเปล่า แต่พอเราบอกเขาว่า ผมจะเป็นนักธุรกิจนะ พ่อแม่ก็โอเค เลิกถามเลย
เริ่มสนใจในอนิเมชันตั้งแต่เมื่อไหร่
เริ่มตั้งแต่สมัยประถม ผมชอบวาดรูป วาดการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก ไม่ได้วาดสวยนะ ชอบแบบน่าเกลียดๆ วาดล้อเพื่อนแล้วก็เอาให้เพื่อนอ่าน ปรากฏว่าเพื่อนชอบแล้วผมก็สนุก การวาดการ์ตูนเลยกลายเป็นงานอดิเรกของผม พอเลื่อนชั้นเจอเพื่อนใหม่ก็เอาเพื่อนใหม่มาทำเป็นการ์ตูน เป็นแบบนั้นอยู่เรื่อยๆ จนถึงช่วงมัธยม ตอนนั้นเขาไม่ค่อยอ่านการ์ตูนกันแล้ว แต่ผมยังอยากทำอะไรแนวนี้อยู่ เลยลองเอาการ์ตูนที่เราวาดมาทำเป็นอนิเมชัน ตอนแรกที่ทำออกมาประมาณ 7 ปีที่แล้ว ชื่อเรื่อง อันตรายเด็กขายของ ผมก็อัปโหลดลงยูทูบให้เพื่อนในกลุ่มดู ปรากฏว่านอกจากคอมเมนต์ของเพื่อนๆ แล้วยังมีคนอื่นที่เขามาดูด้วย เรารู้สึกว่ามันเจ๋งดี จากนั้นก็ทำต่อมาจนถึงทุกวันนี้
ตอนนั้นคิดไหมว่าจะทำอนิเมชันเป็นงานหลัก
ไม่เคยคิดเลย เพราะเริ่มแรกจริงๆ คือตอน ม. 4 มันเป็นแค่งานอดิเรกที่เราทำให้เพื่อนดู เรียนไปด้วยทำอนิเมชันไปด้วย นานวันเข้าคนดูเริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้ทำเป็นงานหลัก หาเงินเลี้ยงตัวเองได้ คงเพราะเริ่มรู้จักคนรุ่นพี่ในวงการยูทูบ ได้เขาคอยช่วยเหลือ เป็นที่ปรึกษาว่าถ้าจะมาสายนี้ต้องทำงานอย่างไร เวลาสปอนเซอร์เข้าควรคิดเรทอย่างไร ทำอย่างไรให้เข้าถึงคนดูมากขึ้น มันเหมือนจุดประกายให้เรารู้ว่า สายนี้ก็มีเส้นทางของมันนะ
สำคัญที่สุดเลยคือความรู้สึกเรา ผมคิดว่างานแบบนี้มันมีอะไรให้พัฒนาต่อได้เรื่อยๆ ส่วนสายที่เรียนมามันดูตันอย่างไรก็ไม่รู้ อาจเพราะไม่ชอบ ถ้าให้ไปทำงานด้านนั้นก็คงทำได้ แต่คงทำแค่ให้เสร็จๆ แล้วก็ผ่านไป ขณะที่งานครีเอทีฟ ทำอนิเมชัน ตัดต่อวิดีโอเราสามารถเต็มที่กับมันได้ มีความคิดสร้างสรรค์ก็ใส่ลงไป ทำแล้วรู้สึกดี
แรงบันดาลใจในการทำอนิเมชันคืออะไร
แรงบันดาลใจก็มาจากความชอบสมัยเด็กเลย คือเราชอบวาดการ์ตูนอยู่แล้ว อีกส่วนน่าจะมาจากพี่สาว เพราะเขาเรียนสายศิลป์และชอบวาดการ์ตูนน่าเกลียดๆ เหมือนเราด้วย พอเป็นเรื่องอนิเมชันผมมีไอดอลคนหนึ่ง เขาทำยูทูบชื่อช่อง Eddsworld ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากตรงนี้ด้วย เพราะอนิเมชันที่เขาทำมันไม่เน้นลายเส้น แต่เน้นไอเดีย เนื้อเรื่องดูง่าย เล่าเรื่องสนุก มีมุกขำๆ แทรก ส่วนความชอบที่หลอมให้งานเราออกมาสไตล์นี้ ก็คงเป็นพวกการ์ตูนที่ดูสมัยเด็ก อย่างง้องแง้งกับเงอะงะ (Cow abd Chicken) เคอเรจ (Courage the Cowardly Dog) เรื่องจะออกแนวรุนแรงหน่อยๆ หนังผมก็ดูบ้าง แต่ส่วนใหญ่เน้นไปทางการ์ตูนฝรั่งมากกว่า
การ์ตูนเรื่องไหนของคุณที่ทำให้รู้สึกมั่นใจที่จะเดินทางนี้ต่อ
เรื่อง ‘ริกกี้แมลงสาบเพื่อนรัก’ เป็นตอนที่ผมทดลองดูว่าถ้าจะทำการ์ตูนยาว 10-15 นาที เหมือนการ์ตูนที่เคยดูตอนเด็กๆ เราจะทำได้หรือเปล่า พอทำออกมากระแสตอบรับค่อนข้างดี คนดูเขาชอบ ผมเองก็สนุกด้วย แล้วก็เป็นช่วงที่เริ่มมีสปอนเซอร์เข้ามา แต่เราปฏิเสธไปเพราะทำไม่ไหว ถ้าทำมากเกินไปคนดูก็เกลียด
ข้อเสียของการทำงานโฆษณามันเหมือนเราหักหลังคนดู เพราะปกติผมจะไม่ยอใคร ถ้ารับงานโฆษณา อย่างแรกที่บอกเขาไปก็คือต้องให้เราจัดการเอง เพราะเราเป็นคนที่สื่อสารกับคนดูได้ดีที่สุด งานโฆษณาเป็นอะไรที่ค่อนข้างขัดใจเราเหมือนกัน แต่ก็ต้องทำเพราะไม่รู้ว่าผมจะตกงานเมื่อไหร่ เราก็คิดเสียว่ามันเป็นการพยายามพิสูจน์ความสามารถของตัวเองอย่างหนึ่ง
ทำไมถึงหยิบตอน ‘รามเกียรติ์ ตอนนนทกโดนแกล้ง’ มาทำ เป็นเพราะชอบอ่านวรรณคดีมาก่อนหรือเปล่า
ไม่เชิงว่าชอบเรื่องรามเกียรติ์ แต่ตอน ม.2 ที่โรงเรียนสอนเรื่องนารายณ์ปราบนนทกในวิชาภาษาไทย แล้วก็มีการแสดงละครด้วย ซึ่งครูให้ผมเป็นคนกำกับ ทำอุปกรณ์ประกอบฉาก เราจึงมีความผูกพันกับตอนนี้เป็นพิเศษ แล้วพอเราเริ่มศึกษาเนื้อเรื่องจริงๆ จากการตีความของตัวเอง เราเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับนนทกมันดูไม่ยุติธรรมในหลายๆ จุด ไหนจะเป็นการให้พรไปทั่วของพระอิศวรอีก เราเลยอยากจะลองนำเสนอเรื่องนี้ออกมาจากมุมมองของเรา ตอนแรกคิดว่าจะทำเป็นคลิปสั้นๆ แต่ด้วยความที่เรารู้สึกผูกพันกับมันแล้ว สุดท้ายจึงตัดสินใจทุ่มเทเต็มที่ กลายเป็นตอนยาวเกือบ 30 นาที
ใช้เวลาในการทำแต่ละคลิปมากน้อยแค่ไหน
ผมเคยลองทดสอบตัวเองว่าถ้าจะทำอนิเมชันคลิปหนึ่งแบบเร็วที่สุด จะใช้เวลาเท่าไหร่ คำตอบคือสองสัปดาห์ เป็นวิดีโอความยาวประมาณห้านาที ส่วนนทกโดนแกล้งเป็นคลิปหนึ่งที่ใช้เวลาทำนานที่สุด รู้สึกว่าจะประมาณ 3 เดือนตอนแรกที่ตั้งใจจะทำเป็นตอนง่ายๆ คิดพล็อตอยู่ประมาณหนึ่งอาทิตย์ สุดท้ายตัดสินใจขอเล่นใหญ่ดีกว่า แต่จะทำอย่างไรให้พล็อตเดิมที่มันเล็กๆ ขยายเป็นเรื่องยาวขึ้น การที่เรามีสตอรีหนึ่งอยากเล่าให้คนอื่นฟัง แล้วระหว่างเล่าต้องใส่มุกเข้าไป ใส่ความน่าสนใจเพื่อให้คนดูไม่เบื่อ มันยากนะ คิดว่าทำไม่ได้แน่ๆ เลยหนีไปทำอย่างอื่นก่อนดีกว่า ปรากฏว่าเสียเวลาไปฟรีๆ พอเราทำแบบนั้น เรื่องมันยังติดอยู่ในหัว เลยต้องฮึดสู้อีกรอบ ขอทำสุดฝีมือ เอาแบบถ้างานนี้เสร็จ ต่อให้ตายก็ไม่เสียใจ แล้วผลตอบรับที่ได้กลับมามันค่อนข้างเหนือความคาดหมายไปมากๆ
ช่วยเล่าเรื่องกว่าที่จะมาเป็น ‘นิทานคนบาป’ ให้ฟังหน่อย
ตอนแรกตั้งไว้ว่าอยากจะทำแบบสบายสมอง ไม่ต้องคิดอะไรมาก ให้คนดูเห็นแล้วก็เข้าใจแล้วตลกได้เลย ปกติผมจะเป็นคนชอบความประชดประชัน พอได้หัวข้อมาก็เริ่มคิดว่ามันสามารถทำเป็นแนวอื่นได้ไหม แบบที่ฉีกไปจากเดิม เลยคิดหัวข้อว่าทำเป็นหนังผีแล้วกัน
นิทานคนบาป เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิและความเชื่อที่เรากลัวมากตอนเด็กๆ ในวิดีโอก็จะพูดถึงศาลพระภูมิ กับการตีพ่อตีแม่แล้วกลายเป็นเปรต ผมได้ไอเดียเรื่องศาลมาจากรูปอากงของผมเอง สมัยก่อนทุกคนจะบอกเราว่าทำตัวดีๆ นะ อากงจะได้คอยคุ้มครอง อากงเขาดุมาก เราก็กลัวมากเลย รู้ตัวอีกทีตอนทำความสะอาดบ้าน เราเปิดหีบที่ใส่รูปอากงไว้ แล้วในนั้นมีปลวกเต็มเลย อากงโดนปลวกกิน เราเลยมีความรู้สึกว่าอากงที่เก๋ามาทั้งชีวิตทำไมถึงมาตายแบบนี้ กับคนนี่อย่างดุเลย แต่ทำไมกับปลวกถึงทำอะไรไม่ได้
ส่วนเรื่องเปรต ก็มาจากตอนเด็กๆ ผู้ใหญ่เขาบอกว่า ใครตีพ่อตีแม่แล้วมือจะใหญ่เท่าใบลาน จะกลายเป็นเปรต แต่ก่อนผมกลัวแต่พอโตมาเราเริ่มมีความรู้สึกต่อต้าน เริ่มคิดว่าตกลงมันดีหรือไม่ดีกันแน่ ถ้าสมมุติมือเท่าใบลานก็จะกลายเป็นว่ามีพลังวิเศษหรือเปล่า แล้วคนที่ชอบตีพ่อตีแม่ถ้ามันได้มือโตๆ ไปแล้วมันจะกลับมาทำอะไร กลายเป็นการ์ตูนเชิงประชดประชันออกมาอย่างที่เห็น
เวลาคิดอะไรอย่างนี้ได้ มีเล่าให้ใครฟังบ้างไหม
ผมเป็นคนที่อธิบายให้คนอื่นฟังยาก พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่รู้ว่าจะอธิบายยังไงให้เขาเข้าใจ พอเล่าให้ใครฟังก็จะแป้กตลอด แล้วตัวเองรู้สึกเสียกำลังใจ เลยแก้ปัญหาด้วยการทำออกมาให้ดูเลยแล้วกัน เราถนัดเล่าเรื่องผ่านทางอนิเมชันมากกว่า เพราะมันจะมีทั้งภาพ ทั้งบรรยากาศ เสียงเพลง อารมณ์การพูดของตัวละคร มันทำให้เนื้อเรื่องสนุกกว่าการเล่าแบบธรรมดาๆ
คุณมีทีมงานที่ช่วยทำอนิเมชันไหม
ปกติผมทำทุกอย่างเองคนเดียว ตั้งแต่คิดสตอรี วาด ทำอนิเมชัน พากย์เสียง แต่เรื่องรามเกียรติ์มีเพื่อนช่วยทำ เพื่อนเป็นนักวาดรูปที่รู้จักกันทางอินเทอร์เน็ต ผมเลยชวนมาช่วย เราส่งฉากไป ให้เขาลองวาดเป็นสไตล์เรา มันจะได้เข้ากันกับตัวละคร ปรากฏว่าเขาก็วาดออกมาเป็นสไตล์ผม แล้วรายละเอียดดีกว่าด้วย
ในการทำอนิเมชันขั้นตอนไหนยากที่สุด
ทำอนิเมชันจะเป็นขั้นตอนสบายที่สุด ยากที่สุดเป็นการคิดพล็อตเรื่อง แต่ที่เหนื่อยที่สุดคือการพากย์เสียง เพราะต้องพากย์เองคนเดียว แล้วผมไม่มีความรู้ด้านนี้มาก่อน เริ่มฝึกเองจากศูนย์เลย ตอนแรกต้องนั่งจดว่าตัวละครนี้เสียงเป็นยังไง เสียงหนีบจมูก เสียงแหลม เสียงแหบ มีใช้โปรแกรมช่วยด้วย แต่พอเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เริ่มคุ้นเคยกับเสียงตัวเองมากขึ้น เราสามารถเล่นกับมันได้มากขึ้น บางทีใช้เสียงเดียวแต่เปลี่ยนสำเนียงการพูดก็กลายเป็นตัวละครอีกตัวแล้ว
ตอนเขียนบท วาดการ์ตูน ทำอนิเมชัน มันเหมือนเราทำงานออฟฟิศทั่วไป ส่วนการพากย์จะออกไปทางกีฬาหน่อย เพราะผมไม่ได้ยืนเฉยๆ แล้วใช้เสียงโทนเดียว มันต้องขยับตัวอยู่ตลอด เพื่อให้ได้อารมณ์ที่เข้ากับตัวละครจริงๆ แล้วทำเป็นสิบๆ เทคเลย พอพากย์เสร็จก็ป่วยเลย คอแตก ต้องกินน้ำผึ้งผสมมะนาว
ตอนเริ่มทำแรกๆ ผมต้องขอยืมห้องพ่อเพื่อพากย์เสียง มีครั้งหนึ่งพ่อเปิดประตูเข้ามาถามว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะผมตะโกนว่า “ช่วยด้วย! ช่วยด้วย!” แต่ตอนนี้เข้าใจกันแล้ว เขาก็ทำห้องส่วนตัวให้เรา ผมเลยต้องบอกพ่อบอกแม่ก่อนทุกครั้งว่าวันนี้จะพากย์เสียงนะ ถ้ายินอะไรไม่ต้องบุกเข้ามา
เอาวิชาบริหารมาใช้ในงานนี้อย่างไรบ้าง
ส่วนตัวคิดว่าไม่ค่อยได้เอามาใช้มากเท่าไหร่ เพราะงานของเราจะไปเชิงครีเอทีฟมากกว่า หรือต่อให้เราทำงานตรงสายกับที่จบมา พอเจอกับการทำธุรกิจจริงๆ มันก็คงไม่เหมือนกับที่เรียนในคลาสเสียทีเดียว ยังไงก็ต้องอาศัยการสั่งสมประสบการณ์ด้วยตัวเอง อย่างเราทำยูทูบ ตอนแรกที่รับทำโฆษณาคิดเรทเล็กๆ น้อยๆ แล้วมารู้ทีหลังว่าสิ่งที่เราทำไปควรจะได้มากกว่านั้น ทุกวันนี้รู้สึกเลยว่ายังมีอีกหลายอย่างให้เรียนรู้กันต่อไป
การที่ผลงานได้รับความสนใจ และมีคนรู้จักคุณมากขึ้น เปลี่ยนแปลงชีวิตไปอย่างไรบ้าง
ไม่ใช่แค่คนรู้จักเรามากขึ้น แต่เราได้รู้จักคนมากขึ้นด้วย อย่างรุ่นพี่ในวงการยูทูบ เขาสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำงานสายนี้ ทำให้เราเข้าใจโลกมากขึ้น แต่ถ้าโดยไลฟ์สไตล์ก็คือไม่ค่อยเปลี่ยนเท่าไหร่ เพราะว่าผมทำงานที่บ้านตลอด จะออกข้างนอกก็แค่ตอนไปเซเว่นเท่านั้นเลย
มีวิธีบริหารเวลาในการทำงานที่บ้านอย่างไรบ้าง
เราจะมีเวลาที่ค่อนข้างตายตัว ปกติตื่นประมาณ 7 โมงเช้า ตอนนั้นอยากทำอะไรก็ทำไป แต่พอ 8 โมงต้องเริ่มทำงาน 11 โมงพักกินข้าว แล้วก็กลับมานั่งทำงานอีกทีประมาณบ่ายโมงจนถึงเย็น แต่ตอนเย็นเราจะเริ่มปล่อยไหลแล้ว อาจจะอู้ไปเล่นเกมกับเพื่อนนิดหน่อยแต่สุดท้ายก็กลับมาทำต่อ
ก็มีช่วงที่เบื่อ และส่วนใหญ่จะเป็นช่วงที่เราว่าง เช่น หลังทำคลิปเสร็จปล่อยตัวเองฟรีไปเลยหนึ่งอาทิตย์ มันจะไม่รู้ว่าต้องไปทำอะไรดี ต่อให้ไปเที่ยวมันก็ไม่อิ่ม ตรงกันข้ามถ้ามีงานเรายังรู้สึกดีกว่า เหมือนมีอะไรให้ทำตลอด ไม่ชอบตัวเองเวลานอนขี้เกียจ แต่ถามว่ามีช่วงเวลาแบบนั้นไหม ก็มีบ้าง แต่แค่แป๊บเดียวก็ต้องลุกไปหาอะไรทำ
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้อยากเรียนอนิเมชันจริงจังไหม
คิดว่าไม่น่า เพราะการที่เรียนบริหารธุรกิจแล้วก็เรียนสายวิทย์มาโดยตลอด มันมีผลให้เราผลักดันตัวเองมาทางอนิเมชันเหมือนกัน เคยเห็นเพื่อนที่เรียนสายศิลป์ เขาก็จะมีโปรเจ็กต์ มีงานของเขาที่ต้องทำส่ง แล้วเรากลัวว่าถ้าไปเรียนจริงๆ จะหมดแพสชันหรือเปล่า เพราะมันเปลี่ยนจากสิ่งที่เราชอบให้กลายเป็นงาน เราจะใส่ความเป็นตัวเองมากไม่ได้ ต้องทำตามกรอบแล้วก็ส่ง ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นเราคงเกลียดตัวเอง ขนาดงานจ้างก็เริ่มเกลียดแล้ว แต่ยังดีที่งานจ้างเขาอนุญาตให้เราใส่ความเป็นตัวเองลงไปได้ เรายังรู้สึกสนุกไปกับมัน
เคยรู้สึกกดดันหรือคิดงานไม่ออกบ้างไหม แล้วมีวิธีแก้อย่างไร
กดดันตรงที่งานจะออกมาดีหรือไม่ดีมากกว่า ประมาณว่าถ้าเรื่องนี้กำหนดไว้ว่าจะใช้เวลา 2 เดือน ผมก็ใช้เวลา 2 เดือนเต็มๆ แล้วทำออกมาให้ดีไปเลย ตอนเราดูเองเราก็ต้องขำ ถ้ามันเอ็นเตอร์เทนเราได้อย่างน้อยก็น่าจะมีคนที่รสนิยมเดียวกันมาดูแล้วขำตาม เราพยายามเต็มที่กับทุกงาน ทำให้สุด ถ้ารู้สึกว่ามันยังไม่ดีหรือคิดอะไรไม่ออกก็พักก่อน แต่จะกลับมาพยายามใหม่จนกว่าจะได้ในสิ่งที่พอใจ
ปกติหลังจบโปรเจ็กต์ผมจะหยุดหนึ่งอาทิตย์ ให้เวลาตัวเองไปทำอะไรที่อยากทำ เล่นเกม ทำสวน แล้วไอเดียก็จะค่อยๆ มาเอง ไม่ค่อยชอบอยู่ว่างๆ ต้องหาอะไรทำให้มือไม้มันขยับ มันเหมือนเป็นการออกกำลังกายแต่ต้องเป็นกิจกรรมที่ทำแล้วเพลิน จะให้ออกจริงจังเลยก็ไม่ชอบเพราะมันเหนื่อย พอเหนื่อยสมองมันไม่ค่อยทำงาน แต่ถ้าเป็นตัดหญ้า หรือทำอะไรง่ายๆ อย่างจัดบ้าน ล้างจาน ไอเดียก็จะเริ่มโผล่มา เพราะมันเหมือนเราได้คิด ได้บ่นกับตัวเองว่ามาทำอะไรตรงนี้ มือขยับสมองก็แล่นไปเรื่อย เพราะงั้นเวลาคิดเรื่องไม่ออก หรือวันไหนเกิดตันขึ้นมาผมก็จะออกไปทำอะไรแบบนี้มากกว่า
เวลาเผยแพร่ผลงานออกไปคุณมีความคาดหวังอย่างไรบ้าง
ถ้าเรื่องความคาดหวังก็คือ ขอแค่เขาชอบก็พอแล้ว เพราะก่อนจะอัพคลิปลงยูทูบ ผมต้องนั่งตรวจสอบงานไปเรื่อยๆ ดูวนไปสิบยี่สิบรอบเพื่อดูว่าจังหวะของวิดีโอเป็นยังไง มีอะไรติดขัดบ้าง เสียงพากย์โอเคไหม ไหนจะต้องเช็คความผิดพลาดของตัวอนิเมชัน เผลอวาดนิ้วเกินมาหรือเปล่า มันอาจเป็นจุดเล็กๆ ที่คนดูไม่ทันสังเกต แต่พอเขาสังเกตครั้งหนึ่งเขาก็จะมองแต่ความผิดพลาดนั้น ฉากที่ควรจะซีเรียส เขาก็คงไม่ซีเรียสแล้ว เพราะเขาไม่ได้โฟกัสตรงนั้นแต่มามองนิ้วที่เราวาดเกินมาแทน สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นตราบาปของเรา
จุดประสงค์หลักของเราคือการเล่าเรื่องจากมุมมองของตัวเอง เพื่อเอ็นเตอร์เทนผู้ชม ให้เขาดูสนุก ยิ้มได้ หัวเราะได้ แต่ถ้าเขาได้ข้อคิดอะไรกลับไปด้วยก็ถือว่าดีมากๆ เลย
ผลตอบรับกับช่องของคุณเป็นอย่างไรบ้าง
ก็มีทั้งดีและไม่ดี แต่โดยรวมคนดูเขาค่อนข้างเอนจอย ถ้ามีคำแนะนำอะไรเราก็พยายามปรับเปลี่ยนให้มันดีที่สุดและเมคเซนส์ที่สุด อย่างเรื่องภาพ ในช่วงแรกๆ มีคนบอกว่ามันรุนแรงเกินไปผมก็ยินดีที่จะปรับ แต่ก่อนมีระเบิด มีเลือด ไส้ทะลักก็พยายามลดลง เหลือไว้แค่สิ่งที่สื่อให้เห็นว่าตัวละครตัวนี้กำลังเจ็บ
อีกเรื่องคือคำหยาบ มีทั้งที่บอกว่าเด็กดูแล้วจำไปพูดตาม ใช้คำหยาบมากเกินไปบ้าง ถ้าฉากไหนมันไม่จำเป็นต้องด่าแรงเราก็ปรับให้ได้ แต่ถ้าจะให้เลิกแบบไม่มีเลยคงไม่ได้ เพราะผมยังอยากทำอยู่ อยากให้งานเราออกมาแบบนี้ อยากให้รู้ว่าตัวละครมันโกรธแบบสุดขีดแล้ว จนต้องด่าอะไรสักอย่างออกมา สุดท้ายอยู่ที่ตัวเราว่าจะปรับยังไง ยอมรับฟังและปรับแต่เป็นการปรับแบบไม่สูญเสียความเป็นตัวเอง
วางแผนจะทำอะไรต่อในอนาคต
ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากจะเปิดสตูดิโอทำการ์ตูนไปเลย แล้วรับคนที่เขาทำงานแนวนี้เข้ามาช่วย เพราะทำคนเดียวไม่น่าไหว เขาอาจมีสไตล์อนิเมชันของเขาแต่ใส่สไตล์ความเป็นเราเข้าไปด้วย ผมคิดว่าจุดเด่นของการ์ตูนอยู่ที่ไอเดียมากกว่าลายเส้น ถ้าเราจะไปต่อสายอนิเมชัน คงจ้างคนอื่นมาวาดแต่ใช้ไอเดียของเราเอง ส่วนตอนนี้ยังอยู่ระหว่างเก็บเงินทำต้นทุน อย่างไรก็ตามผมคงไม่ทิ้งการทำอนิเมชัน สุดท้ายไม่ว่าจะได้เงินหรือไม่ได้เงินก็จะทำต่ออยู่ดี เราอยากทำผลงานออกมาเรื่อยๆ เวลามีไอเดียดีๆ ก็อยากจะแชร์กับคนดู เพราะผมรู้สึกขอบคุณพวกเขาเสมอ
ความเห็น 0