ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต cars@khaosod.co.th
‘โตโยต้า’ เปิดศึกรถยนต์ไฟฟ้า
ผนึกกำลัง ‘เลกซัส’-ผงาดทั่วโลก
เมื่อหลายปีก่อนสมัยที่ “มิไร” รถพลังงานไฮโดรเจนของ “โตโยต้า” เผยโฉมรุ่นแรก ถือว่าสร้างความฮือฮาอย่างมาก เพราะเวลานั้นค่ายรถญี่ปุ่นและยุโรปให้น้ำหนักกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรืออีวี มากกว่า
แต่โตโยต้ามองว่า ณ เพลานั้นรถพลังงานไฮโดรเจนน่าจะเป็นอนาคตที่ดีและเหมาะสมต่อการพัฒนามากกว่ารถไฟฟ้าล้วน และเชื่อว่ารถยนต์พลังงานไฮบริดเป็นตัวเลือกที่ดีในการเปลี่ยนผ่านจากเครื่อยนต์สันดาปภายใน ไปสู่เทคโนโลยีทางเลือกอื่นๆ
โตโยต้าจึงให้น้ำหนักกับการพัฒนารถยนต์พลังงานไฮโดรเจน และไฮบริดมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ในกาลต่อมาที่เทคโนโลยีต่างๆ พัฒนามากขึ้น ทำให้ข้อจำกัดของรถยนต์ไฟฟ้ามีน้อยลงเรื่อยๆ ราคาที่เคยแพงเว่อร์เหลือไม่ถึง 1 ล้านบาท หรือล้านต้นๆ
การชาร์จต่อครั้งที่ใช้เวลานานแต่วิ่งได้ระยะทางน้อย กลายเป็นมีระบบชาร์จเร็วและวิ่งได้พอๆ หรือมากกว่ารถยนต์เติมน้ำมัน 1 ถังด้วยซ้ำ
ไม่รวมถึงชิ้นส่วนต่างๆ ของรถยนต์ไฟฟ้า มีน้อยกว่ารถยนต์แบบอื่นๆ
ขณะเดียวกันแบตเตอรี่ที่เป็นหัวใจของรถยนต์ไฟฟ้า พัฒนาจนมีขนาดเล็กลงแต่ความจุมากขึ้น เสถียรมากขึ้น
และอนาคตอันใกล้มากๆ โลกกำลังจะได้พบกับเทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบใหม่ “โซลิด สเตต” (Solid-state battery) ใช้อิเล็กโทรด ที่เป็นของแข็ง และอิเล็กโทรไลต์แข็ง แทนอิเล็กโทรไลต์เจลเหลว หรือโพลีเมอร์ที่ใช้ในแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในปัจจุบัน
แม้ตอนนี้ต้นทุนยังสูงอยู่มากแต่ประสิทธิภาพเหนือกว่าเห็นได้ชัด ทั้งอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น เวลาชาร์จน้อยลง ปลอดภัยมากขึ้น รวมทั้งใช้ในอุณหภูมิสูงและต่ำมากๆ ได้มีประสิทธิภาพมากกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน
ด้วยหลายๆ ปัจจัยดังกล่าว บวกกับความนิยมของผู้บริโภค ทำให้โตโยต้า และเลกซัส แบรนด์รถหรูในเครือ หันมาพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
รุ่นที่ถือว่าเป็นพระเอกของโตโยต้าไม่พ้น “C-HR EV” ใช้พื้นฐานC-HR ที่ขายในบ้านเรานี่แหละ แต่ปรับโฉมภายนอก-ภายในเล็กน้อย เพื่อให้สมกับเป็นรถยนต์ไฟฟ้า
ภายในห้องโดยสารใกล้เคียงกับรุ่นเครื่องยนต์สันดาปและไฮบริด แต่เรือนไมล์เป็นแบบหน้าจอ TFT เต็มระบบ
“C-HR EV” ผลิตและขายหลักๆ ที่ประเทศจีน ที่ถือว่าเป็นประเทศที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในโลก
พัฒนาตัวถังบนแพลตฟอร์ม TNGA ที่ใช้เหมือนกันทั่วโลก
ขุมพลังมอเตอร์ไฟฟ้าเดี่ยว แบตเตอรี่ความจุ 54.3 kWh กำลังสูงสุด 200 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 300 นิวตัน-เมตร อัตราเร่ง 0-50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้ใน 3.4 วินาที
พิสัยการวิ่งไกลสุด 400 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็ม 100%
การชาร์จจากไฟบ้านปกติ หรือวอลบอกซ์ จาก 0-100% ใช้เวลา 6.5 ชั่วโมง
ต้องบอกว่าเหลือเฟือมากๆ ยิ่งในประเทศจีนที่เครือข่ายสถานีชาร์จกว้างขวางอย่างมาก เรียกว่าการหาสถานีชาร์จสะดวกสบาย ไม่ต่างจากหาปั๊มน้ำมันเลย
สนนราคา “C-HR EV” คิดเป็นเงินไทยล้านบาทต้นๆ ถือว่าไม่แพงเลยเมื่อเทียบรายได้ของคนจีนในยุคปัจจุบัน
ที่สำคัญการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในจีนได้สิทธิพิเศษอีกเพียบจากรัฐบาล ที่สนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นส่วนลดของราคาขาย ภาษีประจำปี ภาษีขอป้ายทะเบียน ฯลฯ
ด้วยความใส่ใจของรัฐบาลจีน ที่เอาจริงเอาจังกับปัญหามลพิษ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะให้สิทธิต่างๆ เพื่อจูงใจพลเมืองของเขาหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า มากกว่ารถยนต์สันดาปภายใน ที่ปล่อยมลพิษจำนวนมาก
พร้อมกันนี้โตโยต้าวางนโยบายรุกตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือกมากขึ้น
มีรายงานว่าตั้งแต่ปี 2020 ที่ผ่านมา โตโยต้าประกาศแผนพัฒนารถยนต์พลังงานทางเลือกทั้งรถยนต์ไฟฟ้า ไฮบริด และฟิวเซลล์ หรือไฮโดรเจน มากขึ้นตามลำดับ ตามเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนไป
โดยตั้งเป้าเป็นเต้ยในวงการรถยนต์พลังงานทางเลือกในอนาคตอันใกล้
โตโยต้านั้นวางแผนผลิตรถยนต์ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ ตั้งแต่รถขนาดเล็กแบบ 2 ที่นั่ง ไปจนถึงรถตลาดที่มีโมเดลเหมือนรถยนต์พลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น “C-HR EV”
หลายรุ่นที่ใช้พื้นฐาน e-TNGA ซึ่งรองรับทั้งรถยนต์ขนาดกลางและขนาดใหญ่ รวมถึงระบบขับเคลื่อนทั้งแบบล้อหน้า-ล้อหลัง และระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ
อย่างไรก็ตาม รถยนต์พลังงานทางเลือกอื่นๆ ยังมีความสำคัญ
โตโยต้าคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 จะจำหน่ายรถยนต์ไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริดทั่วโลกกว่า 4.5 ล้านคัน
ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าและรถพลังงานฟิวเซลล์ น่าจะมียอดจำหน่ายมากกว่า 1 ล้านคัน
นอกจากบริษัทแม่ที่รุกเข้มรถยนต์พลังงานทางเลือกแล้ว “เลกซัส” แบรนด์หรูจากค่ายก็เอาจริงเอาจังไม่แพ้กัน ก่อนหน้านี้ออกรถยนต์ไฟฟ้าตีตลาดจันไปแล้ว 1 รุ่น ไม่รวมรถพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่ออกมาเป็นซีรีส์
“RX 400h” รถยนต์หรูพลังงานทางเลือกรุ่นแรกของโลกในปี 2005 จนถึงปัจจุบัน รถยนต์ไฮบริดจากเลกซัส จำหน่ายไปแล้วกว่า 2 ล้านคันทั่วโลก
ปัจจุบันเลกซัสมีรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEVs) และรถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEVs) ทั้งหมด 9 รุ่น ทำตลาดใน 90 ประเทศทั่วโลก
ล่าสุดยังอวดโฉมรถพลังงานไฟฟ้าต้นแบบ “LF-Z Electrified” คอนเซ็ปต์คาร์ BEV ที่รวมเอาสมรรถนะการขับขี่ สไตล์ และเทคโนโลยีไว้ด้วยกัน
รถยนต์รุ่นนี้มาพร้อมกับความสมดุลในการขับขี่ที่เกิดจากการจัดวางแบตเตอรี่ และมอเตอร์ไฟฟ้าอย่างเหมาะสมที่สุด
ใช้เทคโนโลยีควบคุมพลังขับเคลื่อนสี่ล้อแบบใหม่ “DIRECT4” สร้างสมรรถนะการขับขี่ที่เหนือชั้นและยืดหยุ่นอย่างมาก ทำให้ LF-Z Electrified มีความแตกต่างจากรถยนต์ในรูปแบบเดิมๆ
ในอนาคตอันใกล้ เลกซัสยังวางแผนที่จะนำเทคโนโลยีและฟังก์ชั่นอินโฟเทนเมนต์ชั้นสูงเข้ามาใช้งาน
ภายในปี 2025 เลกซัสมีแผนจะเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่และรุ่นปรับปรุงโฉมจำนวน 20 รุ่น รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 10 รุ่น
ตั้งเป้าหมายให้มีอัตราการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า สูงกว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์น้ำมันภายในปี 2050
จริงๆ ในเมืองไทยเอง โตโยต้าและเลกซัสเริ่มมีรถไฮบริดขายควบคู่กับรถยนต์สันดาปมาพักใหญ่แล้ว
เชื่อว่าจากนี้จะเห็นรถพลังงานทางเลือกจากโตโยต้าและเลกซัสมากขึ้น
แน่นอนว่าเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม คนไทยคงมีโอกาสใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ “โตโยต้า” แน่นอน