“เอินกัลยกร” กับเพื่อนเก่าสุดหลอนที่ทำให้เกือบเอาชีวิตไม่รอดอย่าง“โรคซึมเศร้า”
“…เคยเห็นวันที่ฟ้ามันไม่ค่อยสว่างรึเปล่าคะปรกติชีวิตพี่ก่อนเริ่มรักษาโรคซึมเศร้ามันเป็นชีวิตแบบนั้นน่ะแต่ถ้าเผลอมีอะไรมาสะกิดหรือกระแทกเราขึ้นมาเราจะกระโดดเข้าไปอยู่ในที่ที่มันมืดที่สุดเท่าที่มันจะมืดได้มีห้องก็เข้าห้องล็อกประตูลองนึกภาพชีวิตตัวเองที่เศร้าเสียใจที่สุดในชีวิตกันนะแล้วพี่อยากให้คูณเข้าไปอีก…”
นี่คือประโยคแรกเมื่อเราได้นั่งพูดคุยถึงภาวะอาการของโรคซึมเศร้า “เพื่อนเก่าที่ไม่ได้รับเชิญ” ของเอิน– กัลยกรนาคสมภพ ศิลปินเจ้าของพบเพลงฮิต ทั้ง “เพื่อนรัก” “ขอโทษ” และ “กับคนนิสัยไม่ดี” และผลงานแสดงที่เธอได้ฝากไว้ก่อนห่างหายจากวงการไปร่วมสิบกว่าปี และได้เผชิญหน้ากับโรคซึมเศร้าที่คุกคามเธอมานาน จนในวันนี้ เธอเลือกฝากเรื่องราวเหล่านั้นไว้เบื้องหลัง แล้วกลับมาร่วมพูดคุยกับเราอีกครั้ง ถึงสิ่งที่ได้รับจาก “โรคซึมเศร้าที่เธอเพิ่งจะเข้าใจ”
“ซึมเศร้า” โรคที่เข้ามาโดยไม่รู้ตัว
“…ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือแม้แต่ตัวพี่เอง มันมักจะเริ่มจากการไม่รู้ตัว มันเป็นโรคที่มีอาการทางอารมณ์ ไม่เหมือนกับเราเป็นแผลที่ตัว หรือคลำไปแล้วเจออะไรที่ผิดปรกติ ซึ่งคนทั่วไป เค้าก็มีอารมณ์โศกเศร้า เสียใจเป็นธรรมดาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่จะมาวัดว่าเราอยู่ในจุดที่ไม่ปรกติแล้ว มันยาก เราวัดไม่ได้เลยว่าสิ่งนี้เป็นโรค หรือเป็นอาการ แต่สิ่งที่ถ้าเกิดขึ้นกับเราแล้วในทางการแพทย์จะบอกเลยว่านี่เป็นตัวชี้วัดได้แล้ว ว่าคุณไม่ปรกติก็คือ ถ้าเมื่อไหร่มันเริ่มกระทบชีวิตประจำวันเราใช้ชีวิตปรกติไม่ได้ เราไปทำงานไม่ได้เราทำสิ่งที่มีความสุขแล้วกลายเป็นไม่มีความสุขโดยที่มีระยะเวลาชัดเจนคือสองสัปดาห์ขึ้นไป นั่นหมายความว่าคุณเริ่มมีอาการของโรคแล้ว เพียงแต่โรคนี้จะทำให้เรามีอาการระยะสั้นหรือระยะยาวก็แล้วแต่คน เป็นโรคที่ค่อนข้างจะอินดี้เนอะ (หัวเราะ)…”
ภาวะสำคัญของโรคคือ “การควบคุมตัวเองไม่ได้”
“…มันเป็นความเศร้าแบบควบคุมไม่ได้ อยากจะควบคุมให้ได้ แต่มันทำไม่ได้ มันจะไม่เหมือนกับบางคนที่เศร้าแล้วอินจังเลย ดีจังเลย เล่น MV ไป แต่เราอยากหลุดมากแล้วพอหลุดไม่ได้เราก็จะโกรธตัวเองเข้าไปอีกโทษตัวเองว่าทำไม“ตกหลุม” (อาการที่พี่เอินใช้เรียกภาวะของโรคเมื่อกำเริบ) ไปแบบนั้น เลวร้ายที่สุดคือคนที่ทำร้ายตัวเองเลวร้ายที่สุดคือคนที่ฆ่าตัวตาย เพราะพี่เองก็เคยมีจังหวะที่ไปถึงตรงนั้นเหมือนกัน มันคือมวลความอึดอัดที่ไม่มีทางออกได้ แล้วก็รู้สึกอยากจะตายๆ ไปให้จบๆ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่ดี และการไปถึงตรงนั้นมันไม่ได้ไปกันง่ายๆ…”
โรคซึมเศร้าที่หลายคนเข้าใจผิด
“…โรคนี้ไม่ใช่เฉพาะที่เมืองไทยที่ไม่ค่อยเข้าใจทั่วโลกก็ยังไม่ค่อยเข้าใจนะ แต่สำหรับประเทศเราเป็นเรื่อง โคตรรรร (ลากเสียง) ใหม่ ! เรามีคนฆ่าตัวตายมาตลอดในประวัติศาสตร์ เชื่อว่ามันมีโรคนี้มาตลอด แต่ไม่มีชื่อเรียกมันอย่างในปัจจุบัน มันก็เลยมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคนี้อยู่มาก
อย่างแรกเลย “ซึมเศร้าเป็นโรคของชนชั้นกลาง” คำนี้ได้ยินบ่อยมาก พี่มีเพื่อนแบบที่ไม่มีตังค์ติดตัว กับเพื่อนที่บ้านโคตรรวยเลย ก็ยังเป็นซึมเศร้า เพราะฉะนั้นไม่ได้เกี่ยวกับว่าคุณเป็นชนชั้นไหน มีรายได้เท่าไหร่ มันเป็นโรคที่คุกคามได้ทุกคน
“โรคแฟชั่น” คำนี้โคตรเกลียดเลย คิดไปเองรึเปล่า (หลับตานิ่ง สูดหายใจ) โรคแฟชั่นน่ะ แบบวันนี้ไม่มีไรทำน่ะ ตื่นมาวันนี้ กูเป็นซึมเศร้าดีกว่า งี้เหรอ (หัวเราะ) คนไม่เข้าใจว่าโรคซึมเศร้า เวลามันเศร้ามันไปถึงระดับไหนไง คนเข้าใจกันว่าซึมเศร้าในระดับมองหน้าต่าง ฝนตก เสพความเศร้ากันไป มันไม่ใช่ไง ! หรือแบบคูลว่ะ เท่ดี ดาราเป็นกูเป็นบ้างดีกว่า เฮ้ย ! ไม่ใช่มั้งลูก
“โรคเรียกร้องความสนใจ” คนที่เป็นส่วนใหญ่ เท่าที่เราเคยเจอนะ ส่วนใหญ่ไม่เคยมีใครรู้เลยว่าเค้าเป็นโรคซึมเศร้า เพราะเค้าไม่ยอมเล่าให้ใครฟัง เค้าไม่ต้องการความสนใจ ไม่ต้องการให้ใครมายุ่งกับชีวิตเค้า เพราะว่าการไปเล่าเรื่องตัวเองให้ใครฟังเป็นเรื่องโคตรเปราะบางและการไปร้องไห้ให้ใครเห็นเป็นเรื่องโคตรอ่อนแอโคตรน่าอาย และเอาจริงๆนะ คนที่ต้องออกมาเรียกร้องความสนใจด้วยการบอกว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า อันนี้ก็แสดงว่าเค้ามีปัญหาอะไรบางอย่างแล้วรึเปล่าวะ (หัวเราะ) ซึ่งสิ่งที่แนะนำเค้าได้ ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือบอกว่าเป็นเพื่อเรียกร้องความสนใจ คือทำยังไงก็ได้ ให้เค้าสบายใจที่จะไปหาหมอ…”
ไม่ว่าจะป่วยจะดีหรือจะบ้าทุกคนสามารถไปหาจิตแพทย์ได้หมด
“…จิตแพทย์มีไว้เพื่อช่วยเหลือชีวิตเราการไปหาจิตแพทย์ไม่ได้แปลว่าเราบ้าแต่ถึงบ้าแล้วไงวะ? การไปพบจิตแพทย์มันทำให้ชีวิตมึงดีขึ้นไม่ใช่เหรอ (หัวเราะ) มันเป็นในเรื่องของภาพลักษณ์มากกว่า คนเรามันไปผูกติดกับคำว่าบ้า คำว่าโรคจิต แล้วภาพลักษณ์ของทั้งสองคำนี้ในสังคมเรามันแย่ มันเป็นฆาตกรโรคจิต มันเลยทำให้คนกลัวการไปหาจิตแพทย์
ซึ่งการไปหาจิตแพทย์มันโคตรง่ายดายง่ายกว่าการไปหาหมอเพราะเป็นโรคหวัดอีก มันแค่คุย อย่างสบายใจด้วยนะ เอาเท่าที่เราโอเคในแต่ละวัน ไม่น่ากลัวอะไรทั้งสิ้น แล้วถ้าใครจะมาตราหน้าเราในการมาหาหมอว่ามึงบ้าเลิกคบมันไปค่ะ! ไอ้คนนี้ไม่มีประโยชน์กับชีวิตเราเลย! แล้วมันทำให้เราป่วยยิ่งกว่าเดิมด้วย (หัวเราะ) เพื่อนที่ดีคือคนที่จะอยู่เคียงข้างเราไม่ว่าเราจะต้องเจอกับอะไร…”
คนข้างๆคือปัจจัยสำคัญสำหรับผู้ป่วย
“…คนรอบข้างมีผลมากจริงๆในการจะทำให้คนๆนึงมีชีวิตอยู่ต่อไปการรับฟังเป็นสิ่งที่โคตรสำคัญ การทำให้เค้ารู้สึกว่า ตัวตนที่เค้ามีอยู่พอแล้ว ทำให้เค้ารู้สึกว่าสิ่งที่เค้าเป็นนั่นคือเพียงพอแล้ว ถ้ารักกันจริงๆนะ แต่ถ้าไม่จริงก็ไปเหอะ (หัวเราะ) แต่สุดท้ายแล้วผู้ป่วยโรคซึมเศร้าน่ะ แม้ในตอนแรกๆ เราต้องพึ่งพาใครสักคนหนึ่งเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ พอถึงจุดหนึ่งเค้าก็ต้องอยู่ได้ด้วยตัวของเค้าเอง ฉันจะต้องอยู่ได้เมื่อเธอไม่อยู่ ที่สุดคนที่เป็นโรคซึมเศร้าต้องมี Mindset นี้
อย่างตัวพี่เอง สิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้มันทำให้ชีวิตคู่เรามีปัญหา สามีพี่เคยร้องไห้ แล้วตบตัวเองเลยนะ ไหนดูซิ ตบตัวเองแล้วมันดียังไง พี่อึ้งเลย อ้าว กูตบตัวเองอยู่นะ เราจะมาตบตัวเองพร้อมกันสองคนไม่ได้ซิ (หัวเราะ) เพราะเค้าไม่รู้ว่าจะรับมือกับเราอย่างไร แต่เมื่อวันที่เรายอมรับกับตัวเองว่าเราเป็นโรคซึมเศร้า แล้วเดินไปบอกเค้า เราสองคนรู้ว่าเราต้องจัดการกับมันนะ เค้ารับมือเราดีขึ้นเลยทันทีนะ อ๋อ มันเป็นเพราะโรค ไม่ใช่เพราะเอิน แล้วเราก็แค่รักษามัน…”
ให้เวลากับการรักษาให้เวลากับตัวเองได้ฟื้นฟูจิตใจ
“…คนเป็นโรคซึมเศร้ามันจะน่าเบื่อตรงที่เราไม่รู้ว่าจะต้องกินยาไปถึงเมื่อไหร่ เพราะว่าเมื่อเราเป็น ไม่ว่าจะสาเหตุใดๆ ทั้งความเครียด ทั้งชีวิต ทั้งครอบครัว ทั้งกรรมพันธุ์ ทั้งความป่วยไข้ของร่างกาย สุดท้ายมันจะเกิดปัญหากับสารเคมีในสมองเสมอ เปรียบเทียบง่ายๆ เวลาคนเรามีความสุขหรือเศร้าสารเคมีในสมองมันจะหลั่งออกมาพร้อมกันเสมอทีนี้ถ้าเราปล่อยให้ตัวเองไปจมอยู่กับความเศร้าหรือต้องจมกับปัญหานานๆเข้าสมองมันก็จะหลั่งสารเวลาเราเศร้าออกมาถี่ๆจนสุดท้ายมันกลายเป็นกิจวัตรเหมือนหลั่งน้ำย่อยเวลาถึงมื้ออาหาร ดังนั้นถึงได้บอกว่าอย่าหยุดกินยา และอย่าหยุดพบแพทย์จนกว่าเค้าจะบอกว่าเราโอเคแล้ว ต้องให้เวลากับมัน กว่าเราจะกลายเป็นผู้โชคดีได้เป็นโรคนี้ (หัวเราะ) มันไม่ได้เป็นกันแบบไปเดินชนกำแพงหัวโน มันใช้เวลา ดังนั้นก็ต้องให้เวลากับการรักษามันด้วย…”
โชคดีที่เป็นโรคซึมเศร้าเพราะมันทำให้เราเข้าใจความทุกข์
“…โรคนี้ มันทำให้เรารู้ว่าความทุกข์เป็นอย่างไร เวลาที่ทำให้ใครสักคนเสียใจมันเจ็บปวดขนาดไหน ความเสียใจนี่มันทำให้คนถึงตายได้เลยนะมันเลยทำให้เราไม่อยากเห็นใครเป็นทุกข์เราเลยกลายเป็นคนที่ดูแลคนรอบข้างมากๆ พี่ถึงบอกว่าโรคซึมเศร้านี่มันทำให้พี่เป็นคนที่ดีขึ้น เป็นคนรักที่ดี อย่างตอนนี้เค้าต้องไปทำงานที่อินโดนีเซีย ซึ่งมันจะมีช่วงนึงเลยที่เค้าเกือบจะเป็นโรคซึมเศร้า แต่เรารู้ว่าเราจะรับมือกับมันอย่างไร คือพี่ไม่ได้เก่งนะ ไม่ได้หายแล้วด้วย (หัวเราะ) ทุกวันนี้ก็ยังกินยาอยู่ แต่ว่าพี่เป็นไง พี่เลยเข้าใจอาการ และรับมือกับอาการเหล่านั้นได้ถูก แล้วมันก็ทำให้เค้าพ้นจากภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า…”
RAQUE FORWARD จากผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
“…ตอนแรกรู้สึกว่าทุกข์มากแล้ว แล้วมันเป็นหนึ่งในขั้นตอนการรักษาที่นักบำบัดเค้าจะให้เราหาว่าอะไรที่เราทำแล้วมีความสุข เราก็จะมีศิลปะ การท่องเที่ยว การให้ ประมาณนี้ แล้วการให้มันชัดมาก พอหาเจอปั๊ปพี่ปรับชีวิตตัวเองเลย เริ่มจากให้อะไรเล็กๆน้อยๆ กับขอทานก่อน ทำประโยชน์นั่นนี่ แล้วก็โตขึ้นมาเป็น บริษัท Kal & Co Consultant ที่เรานั่งกันอยู่ในตอนนี้ โดยที่กำไร10 % จากบริษัทนี้เราจะเอาไปทำประโยชน์ให้สังคม
แล้วพอเกิดเหตุการณ์วันที่ 13 ตุลาคม 2559 อ่ะเนอะ เหตุการณ์นั้นทำให้เรารู้ว่า ที่ผ่านมาเราตัดสินใจที่จะให้ แต่ว่ามันยังไม่เพียงพอที่จะไปบอกคนรุ่นต่อๆ ไปว่า นี่คือแรงบันดาลใจของเรา แล้วก็เคยหานะว่าจะทำอะไรดี จนสุดท้าย อ้าวเฮ้ย ! ทำไมเราไม่ทำเรื่องโรคซึมเศร้าล่ะ เราก็เป็นโรคซึมเศร้า แล้วเราพบว่าสิ่งที่มีปัญหาที่สุดคือคนไม่เข้าใจโรคซึมเศร้าทำให้คนที่เป็นผู้ป่วยไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าเพราะสังคมมีอคติกับมัน แล้วก็เลยเกิดเป็น Brand เสื้อผ้า ชื่อ RAQUE ในระหว่างรอที่จะทำเสื้อผ้าออกมา เราก็เลยทำ RAQUE FORWARD เป็น Page เป็นงานสัมมนา เป็นสารคดี ให้ความรู้เรื่องโรคซึมเศร้า เราอยากจะทำให้มากกว่าการให้ความรู้ไปเรื่อยๆ เป็น Project ใหญ่ของชีวิตเลยนะ วันที่เรามีสัมมนาแล้วมีผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้ากับคนข้างๆที่ดูแลเค้ามาแล้วเค้าเดินมาบอกว่าเค้าได้รับประโยชน์ไปมันรู้สึกว่าโคตรดีเลยนะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า…”
เสียงหัวเราะและรอยน้ำตารื้นๆของ "พี่เอิน กัลยกร" ในวันนี้
ทำให้เราได้รู้ว่า เธอยังคงเป็นศิลปินคนเดิม ที่ถึงแม้จะไม่ได้มีผลงานเพลง แต่ศิลปะจากชีวิตของเธอก็ยังคงโลดแล่นต่อไป
เคียงคู่กับชีวิตที่มีความสุขมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม แม้ไม่จำเป็นจะต้องสุขมากมายอะไร ดังที่เธอกล่าวทิ้งทายกับโรคซึมเศร้า
เพื่อนเก่าที่ไม่ได้รับเชิญ แต่บังเอิญมาอาศัยอยู่ใต้ชายคาเดียวกันว่า…
“…ไม่หายก็ได้ไม่เป็นไรหรอกค่ะเพราะว่าเราเข้าใจมันตั้งแต่เรารักษามันเรามีชีวิตที่สงบสุขมากยิ่งขึ้น
ถ้ามันจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆมันก็มีความสุขมากกว่าเมื่อก่อนไม่รู้กี่เท่าแล้ว…”