โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Exclusive Interview : “หมอตั้ม Master Chef” จาก “ไก่รองบ่อน” สู่ “พัฒนาการ”

TheHippoThai.com

อัพเดต 02 ก.ค. 2561 เวลา 11.02 น. • เผยแพร่ 02 ก.ค. 2561 เวลา 11.00 น.

Exclusive Interview :  “หมอตั้มMaster Chef” จากไก่รองบ่อนสู่พัฒนาการ”  

ด้วยกระแสที่มาแรงในช่วงนี้ น้อยคนที่จะไม่รู้จักรายการ Master Chef และน้อยคนเข้าไปอีกที่จะไม่รู้จักผู้เข้าแข่งขันสุดฮอต หมอตั้มดิษกุลประสิทธิ์เรืองสุขหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันที่แม้จะไปไม่ถึงฝั่งฝันในฐานะผู้ชนะการแข่งขันมาสเตอร์เชฟ แต่ก็ประสบความสำเร็จในฐานะคนที่ “ชนะใจ” คนดู ทำให้เขามีกองเชียร์ให้กำลังใจมากมาย…ด้วยอาชีพที่ดูห่างไกลจากการเป็นเชฟบวกกับความตั้งใจในการพัฒนาตนเองและการพิสูจน์ตนเองในฐานะคนทำอาหารอย่างไม่หยุดยั้ง… ทำให้ “ไก่รองบ่อน” อย่างหมอตั้ม ที่ดูเหมือนจะเป็นคนที่อ่อนประสบการณ์ทางด้านการทำอาหารที่สุดในรายการกลายเป็นที่รักของผู้ชมทางบ้านได้ไม่ยาก 

 หมอที่อยากเป็น Chef เพื่อคนไข้ 

“ตอนผมไปใช้ทุนปีแรกในฐานะนักศึกษาแพทย์ ผมต้องรับหน้าที่ดูแล ตรวจโรคผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน – ความดัน – ไขมัน…ซึ่งสาเหตุหลักเลยก็คือไม่ควบคุมอาหาร ไม่ออกกำลังกาย… 50% - 60% ของคนไข้จะมีปัญหาในการควบคุมอาหาร…ทุกครั้งที่เข้าห้องตรวจ ผมก็จะพยายามอธิบายกับคนไข้ว่าห้ามกินอะไร ต้องปรุงอาหารยังไง แต่หลายๆคนก็บ่นว่ามันยากเกินไป ทำตามไม่ได้” 

“ผมก็เลยมานั่งคิดว่า เราจะทำยังไงคนไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับอาหารโรคจำพวกกลุ่มเบาหวาน – ความดัน – ไขมัน ได้ง่ายขึ้น…จริงๆตอนแรกผมไม่ได้กะจะเขียนอะไรเองนะ ก็นั่งทำรีเสิร์ชบนอินเตอร์เน็ตไป พยายามหาดู เผื่อมีอะไรที่คนอื่นเขาเขียนอยู่แล้วและมันอ่านเข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไป…จริงๆตอนแรกแค่กะจะปริ้นท์มาแจกคนไข้ธรรมดาเลยครับ” 

ถ้าเราสามารถทำ Cookbook สำหรับผู้ป่วยได้ มันก็จะง่ายกว่ามากๆ

“จังหวะมันมาพอดีที่รายการ Master Chef เปิดรับผู้เข้าแข่งขัน ก็รู้สึกว่ามันเหมาะพอดี หนึ่งก็คือมันเป็นรายการสำหรับคนที่ไม่ได้มีอาชีพเชฟที่จะได้มาทำอาหาร สองก็คือผู้ชนะจะได้ทำ Cookbook (หนังสือคู่มือการทำอาหาร) เป็นของตัวเองด้วย…ผมเลยคิดว่า เออ ถ้าเราสามารถทำ Cookbook สำหรับผู้ป่วยได้ มันก็จะง่ายกว่ามากๆ เพราะในสูตรอาหาร เราชั่ง ตวง วัด คำนวณมาให้แล้วว่าปริมาณเกลือ น้ำตาลเท่าไรถึงจะพอดีกับสุขภาพ…ผมก็เลยเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดี เลยมาสมัครครับ” 

หมอ + ทำอาหาร= ส่วนผสมที่ไม่น่าจะลงตัว? 

“ต้องบอกก่อนว่าเราเป็นคนชอบทำอาหารอยู่แล้ว คือเข้าครัวตั้งแต่ ม.1 – ม.2 ด้วยความที่บ้านผมไม่ชอบให้เล่นเกมออนไลน์ บวกกับอาศัยอยู่ในทาวน์เฮ้าส์ เพราะฉะนั้น การจะมีโอกาสได้ออกไปเล่นกีฬา ทำกิจกรรมสนุกๆมันไม่ค่อยมีเท่าไหร่ ช่วงก่อนอาหารเย็นผมก็เลยหาอะไรทำด้วยการช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำกับข้าว เข้าครัว หั่นโน่นหั่นนี่ เตรียมโน่นเตรียมนี่ มันก็สนุกดีน่ะครับ” 

อยากกินอะไร…ก็ลองทำสิ่งนั้น 

“ผมเป็นคนชอบกิน แล้วชอบไปกินร้านโน้นร้านนี้ที่มันดังๆ ทีนี้พอไปกินเสร็จก็ติดใจ อยากกินอีก แต่ด้วยความที่ตอนนั้นเรายังเด็ก ยังไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง…จะขอตังค์พ่อแม่บ่อยๆไปกินโน่นกินนี่บ่อยๆก็ไม่ควร…ผมก็เลยตั้งใจว่า ถ้าอยากกินอีกโดยไม่ต้องจ่ายตังค์ซื้อ…เราก็ต้องพยายามแกะสูตรเขามา” 

“ก็ลองชิม ลองทำไปเรื่อยๆ ด้วยความที่ชอบลองแกะสูตรอาหารที่เราอยากกินอีกบ่อยๆ มันก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมชอบทำอาหาร” 

“ไก่รองบ่อนที่มีพัฒนาการ” มากที่สุด

“เราก็รู้สึกว่าเราอ่อนนะ เป็น Underdog ของรายการ เอาจริงๆ มีหลายคนถามว่าทำไมคนนี้มันถึงเข้ามาในรายการได้ (หัวเราะ)…มันทำให้เราพยายามที่จะไปฝึกฝน ไปอ่านหนังสือมากขึ้น ไปศึกษาวัตถุดิบมากขึ้น พอถึงเวลาที่มันเห็นผลจริงๆ แล้วเขาเห็นพัฒนาการของเราจริงๆ เราก็รู้สึกดีใจที่สุดท้ายความพยายามของเรามันเป็นผล”

 หลายวัตถุดิบหลายโจทย์หลายแรงกดดัน  

“สำหรับผม รอบแรกๆเนี่ยแหละกดดันที่สุด เพราะหนึ่ง เรายังไม่รู้จักวัตถุดิบดีพอ ด่านที่ผมต้องใช้มะเขือทำอาหาร อันนั้นผมว่าผมทำได้ไม่ดีเลย เพราะเรายังจับทางตัวเองไม่ถูก เรามองแค่ว่ามะเขือ ที่คุ้นเคยมันต้องทำอาหารไทย แล้วพอไปทำอาหารไทยที่ตัวเองไม่ถนัด…มันก็ออกมาไม่ดี”  

“ในการแข่งขัน Master Chef การรู้จักวัตถุดิบที่เราต้องใช้ในการทำอาหาร สำคัญที่สุด อย่างน้อยเลยคือเราต้องรู้จักวัตถุดิบที่หลากหลายของอาหารแต่ละประเทศ เช่น อาหารอิตาเลียนก็ควรจะรู้จักและรู้วิธีทำพวก มะเขือเทศ กระเทียม ใบเบเซิล หรืออย่างพวกญี่ปุ่น พื้นฐานเราก็ต้องรู้จัก โชยุ มิโสะ อะไรแบบนี้ เพราะพอเราเข้าไปสู่ด่านที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้พื้นฐานตรงนี้จะช่วยเราได้” 

“ช่วงหลังๆ พอเรามีความรู้เยอะขึ้น เวลาเจออะไรแปลกๆ อย่างตอน "หางจระเข้" เราก็ช็อกนะ แต่มันไม่ถึงขนาดไปไม่ได้…คือรายการอาจจะไม่ได้ตัดมาให้ดู แต่เราทุกคนจะมีโอกาสได้ชิมก่อน อย่างผมก็เอาไปปิ้งก่อน จ๋าเอาไปต้ม พี่ลัทนี่กินเนื้อจระเข้ดิบเลย (หัวเราะ) พอเราได้ไอเดียว่าเนื้อมันเป็นยังไง เราก็จะสามารถมองตะกร้าวัตถุดิบที่เหลือว่า เออ เราจะทำอะไรได้บ้าง” 

ทุ่มเทศึกษาเพื่อพัฒนาฝีมือ 

“คือการทำอาหารแข่งในรายการ มันไม่เหมือนเราทำกินเองที่บ้าน อย่างเวลาครอบครัวผมทำพาสต้าทานเองที่บ้าน ผมจะชอบเส้นแบบสุก ก็คือต้มทิ้งไว้เลย แต่จริงๆแล้วเส้นพาสต้าที่ดีมันต้องเป็นแบบ อัล เดนเต้ (Al Dente) ก็คือกลางๆ ไม่สุกเกินไป ไม่ดิบไป แต่ด้วยความที่ผมชินกับสุกๆ ก็เลยกะไม่ค่อยถูก เวลาทำในรายการก็กลายเป็นดิบตลอด ก็เสียความมั่นใจไปเหมือนกันครับ (หัวเราะ)” 

“ด้วยความที่เราเป็น Home Cooking (ฝึกทำอาหารเองที่บ้าน) มันก็มีหลายๆอย่างที่เราต้องเรียนรู้ อยากพวกเทคนิกต่างๆ การใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ มันไม่ได้มีแค่การผัด ต้ม ทอด อย่างที่เราเคยชินอย่างเดียว เทคนิกอย่างเช่นการม้วน หรือการซูวี (Sous Vide) เราก็ต้องไปดู ไปศึกษาเพิ่มเติมมาว่ามันเป็นยังไง หรือกระทั่งการใช้หม้ออัดแรงดัน คือรายการก็มีเวิร์กช็อปให้เราลองทำดูก่อนแหละครับ แต่เราก็ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมเองด้วย…บางคนอาจจะสงสัยว่าเรา Home Cooking มา ทำไมถึงได้ซูวีเป็น…คำตอบก็คือเราไปอ่านเพิ่มเติม ไปศึกษาเพิ่มเติมมา” 

มาสเตอร์เชฟให้อะไร? 

“มาสเตอร์เชฟให้อะไรผมหลายอย่างเลยครับ อย่างแรกก็คือช่วยให้ผมมีพื้นฐานที่ดีมากขึ้นในการจัดการในครัว ถ้าดูรายการ แรกๆจะเห็นเลยว่าการจัดการในครัวผมแย่มาก คือเวลาเราทำกับข้าวที่บ้าน เราก็วางมั่วๆ พอมาแข่งในรายการจริงๆก็โดนดุ แล้วเราก็จะรู้ว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ ได้รู้ว่าควรทำอันไหนลำดับก่อนหลัง” 

“อีกอย่างนึงที่ได้เต็มๆเลยก็คือมิตรภาพ ทั้งกับผู้เข้าแข่งขันด้วยกัน ทั้งกับทีมงานที่ร่วมถ่ายทำกันมา เราสนิทกันมาก เหมือนเป็นครอบครัว อย่างผมสนิทกับจ๋า (ทีมงาน: ให้เผาเพื่อนให้ฟังได้ไหม?) จ๋าไม่ค่อยมีอะไรให้เผานะ คือมันเก่งมากอะ มีแต่ผมที่ต้องเผาตัวเองเพราะตอนแรกเข้าใจผิดว่ามันเป็นช่างซ่อมรถ ก็งงว่าช่างซ่อมรถทำไมชีวิตมันดูไฮโซ…ตอนแรกคิดว่ามันโกหก จริงๆคือมันเป็นลูกเจ้าของอู่รถ…คือน่าอายมาก (หัวเราะ) อีกคนที่น่าเผาคือพี่ลัท เดี๋ยวกินจระเข้ดิบ เดี๋ยวพูดคนเดียว คือที่เห็นว่าเขาพูดกับตัวเองที่รายการตัดมาออกนั่นน้อยแล้วนะ จริงๆเขาพูดคนเดียวตลอดเวลา พูดกับอุปกรณ์ในครัวบ้าง พูดกับวัตถุดิบบ้าง (ขำ) ตอนแรกนึกว่าเขาเลี้ยงกุมารทอง”

ชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังรายการ Master Chef 

“ชีวิตเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะมากครับ คือปกติผมชอบออกไปเดินตามตลาด ตามซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อซื้อของสดเข้าบ้าน เมื่อก่อนก็เดินสบายๆ แต่เดี๋ยวก็จะเริ่มมีคนมาทักทายให้กำลังใจมากขึ้น ซึ่งผมก็ดีใจนะ มันเป็นกำลังใจที่ดีมากเลยครับ คือเวลาแข่งผมก็ไม่รู้ว่าฟีดแบคคนคิดยังไงกับเรา แต่พอเห็นคนเขาชอบ ให้กำลังใจเรา เราก็ชื่นใจครับ (ยิ้ม)” 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0