กัญชา เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีทั้งประโยชน์และโทษอยู่ในตัว พืชชนิดนี้จึงถูกจัดให้เป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ตามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แต่เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลไทยได้มีการแก้กฎหมายใหม่เพื่อเปิดโอกาสให้นำกัญชาไปศึกษาและวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และนำไปใช้รักษาโรคภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ได้
ทำความรู้จักกับ กัญชา
กัญชา เป็นพืชในตระกูล Cannabis ที่สามารถจำแนกออกมาได้อีก 3 ชนิด ได้แก่
- Cannabis Indica : มีลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย สูงไม่เกิน 2 เมตร ใบมีสีเขียวเข้ม มีลักษณะสั้นและกว้าง เติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น หรือการปลูกในร่ม นิยมปลูกเพื่อนำดอกมาใช้สกัดเป็นน้ำมันทางด้านการแพทย์ และนำมาใช้เพื่อการผ่อนคลาย
- Cannabis Sativa : ลำต้นใหญ่ หนา และแข็งแรง อาจสูงได้มากถึง 6 เมตร ใบมีลักษณะเรียวยาว สีเขียวอ่อน เติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีอากาศร้อน นิยมปลูกเพื่อเอาใยมาใช้ทางด้านอุตสาหกรรม และนำเมล็ดมาสกัดน้ำมัน
- Cannabis Ruderalis : ต้นเล็กคล้ายวัชพืช ใบมีลักษณะกว้างและเล็กผสมกัน เติบโตได้ดีทั้งในอากาศร้อนและเย็น พบได้มากในทวีปยุโรป
สรรพคุณทางการแพทย์
จากการศึกษาทางการแพทย์พบว่า ในกัญชามีสารออกฤทธิ์สำคัญ 2 ชนิด ที่สามารถนำมาใช้บำบัดหรือรักษาโรค ได้แก่
- สาร CBD (Cannabidiol) : มีคุณสมบัติลดอาการเจ็บปวด ลดการอักเสบของแผล ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ลดอาการชักเกร็ง และลดอาการคลื่นไส้
- สาร THC (Tetrahydrocannabinol) : มีคุณสมบัติต่อจิตประสาท ทำให้เกิดความผ่อนคลาย และเคลิบเคลิ้ม หากได้รับในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยลดอาการตึงเครียดได้
นอกจากนี้ยังมีรายงานการใช้กัญชาในรูปแบบสเปรย์เพื่อรักษาโรคหอบหืดอีกด้วย ปัจจุบันนี้มีหลายประเทศทั่วโลกที่อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมาย ได้แก่
- ออสเตรเลีย กำหนดให้การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ถูกกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2016
- สหราชอาณาจักร มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้แล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2018
- ในเกาหลีใต้ มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้แต่มีการควบคุมอย่างเคร่งครัด
- เลโซโท ประเทศแรกในทวีปแอฟริกันที่อนุญาตให้มีการเพาะปลูกกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมาย
- สหรัฐอเมริกา อนุญาตให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้แล้วทั้งหมด 33 จากทั้งหมด 50 รัฐ
- รัฐบาลอุรุกวัยได้อนุญาตให้มีการขายกัญชาเพื่อสันทนาการตามร้านขายยาได้อย่างถูกกฎหมายเป็นชาติแรกในโลก หลังผ่านกฎหมายเสพกัญชาอย่างถูกฎหมายมาตั้งเเต่ปี 2017
ส่วนในประเทศไทย ได้มีการเผยแพร่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2562 ที่ระบุให้กัญชาสามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคได้ แต่ต้องพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับการนำมาใช้รักษาโรค แต่ทั้งนี้ กัญชายังคงเป็นยาเสพติดผิดให้โทษตามกฎหมายเช่นเดิม
แม้กัญชาจะใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ แต่ก็ต้องมีการควบคุมปริมาณให้เหมาะสม เพราะถ้าหากใช้ในปริมาณมากเกิน จะทำให้ความคิดเลื่อนลอยสับสน ควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ความจำเสื่อม กล้ามเนื้อลีบ หัวใจเต้นเร็ว หูแว่ว เป็นต้น
เรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับกัญชา
1. กัญชาสามารถลบความจำระยะสั้นออกได้
ผู้เสพกัญชาหลายคนมักจะขี้หลงขี้ลืม เนื่องจากกัญชามีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำกัญชามาใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เกิดจากมีความทรงจำที่สะเทือนใจ เช่น การรักษาทหารที่ผ่านสงคราม หรือการรักษาผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก
2. การสูบกัญชา ไม่ทำให้เสียชีวิตในทันที
การสูบกัญชาเกินขนาด จะส่งผลกระทบต่อระบบสมองที่ประกอบไปด้วยไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) และฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) จึงทำให้รู้สึกกระหาย หิวน้ำ ปากแห้ง ความจำสั้น ขาดสมาธิ และอาจพบเรื่องเลือกเลือน สติไม่สมประกอบได้บ้างในระยะยาว แต่ไม่เคยมีผู้เสียชีวิตจากการสูบกัญชาเกินขนาด
3. กัญชากระตุ้นความอยากอาหารได้
ส่วนประกอบของกัญชาที่นิยมนำมาใช้ประกอบอาหารมากที่สุด คือใบกัญชา และเมล็ดกัญชา ซึ่งทั้งสองส่วนนี้มีฤทธิ์กระตุ้นความอยากอาหาร โดยเมนูยอดนิยมคือ ต้มไก่ใส่กัญชาที่ยังหารับประทานได้ตามต่างจังหวัด
อันตรายจากการใช้กัญชา
- ทำให้ร่างกายอ่อนแอ สารที่อยู่ในกัญชาสามารถทำลายการทำงานของอวัยวะหลายส่วน ซึ่งจะทำให้ร่างกายอ่อนแอ อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลงและทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย
- ทำลายสมรรถภาพทางกาย ผู้ที่เสพกัญชาในปริมาณมากๆ เป็นเวลานานจะทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม จนไม่สามารถทำงานได้ โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้แรงกาย ความคิด และการตัดสินใจ
- ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งมีผลร้ายเหมือนกับโรคเอดส์ โดยระบบภูมคุ้มกันในร่างกายจะเสื่อมลงหรือบกพร่อง และติดเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น
- มีอาการทางจิต ผู้ที่เสพกัญชาในปริมาณมาก มักจะเป็นโรคจิตในภายหลัง โดยมักจะเกิดปัญหาต่างๆ เช่น วิตกกังวล หวาดระแวง ทำให้มีอาการเลื่อนลอย สับสน ฟั่นเฟือง และเกิดอาการประสาทหลอน จนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ หากเสพเป็นระยะเวลานานจะทำให้สภาพจิตเสื่อม
รวมข้อสงสัยเกี่ยวกับกัญชา
สารกัญชาอยู่ในร่างกายได้กี่วัน?
คำตอบ : ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความถี่ในการใช้กัญชา สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ 10-13 วันหลังเสพ หรืออาจนาน 45-90 วัน หากใช้กัญชาในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)
สารกัญชาอยู่ในกระแสเลือดได้นานแค่ไหน?
คำตอบ : ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้กัญชา แต่ส่วนมากจะอยู่ได้ตั้งแต่ 1-6 เดือน เพราะกัญชาจะมีสาร THC ซึ่งจะถูกสะสมไว้ในไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกายและจะปล่อยมายังกระแสเลือดทีละน้อย
- ตอบโดย นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (พญ.)
คำตอบ : การตรวจสารกัญชา มักจะตรวจหาสารที่เรียกว่า เตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol) หรือ เรียกว่า THC ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธ์ต่อจิตประสาท (psychoactive substance)
เมื่อสารนี้เข้าสู่ร่างกายจะถูกย่อยสลายในตับ โดยตับจะย่อยสารออกฤทธิ์ที่ชื่อ Hydroxy-THC และเปลี่ยนไปเป็นสารที่ไม่มีผลต่อระบบประสาทชื่อ THC Carboxylic Acid (THC-COOH) ซึ่งจะละลายในไขมันและจะถูกขับออกจากร่างกายอย่างช้าๆ โดยปกติ THC-COOH จะอยู่ในร่ายกายเราประมาณ 13 วัน สำหรับผู้ที่ไม่ได้มีปริมาณสารสะสมมาก่อน แต่ก็เคยมีการตรวจพบ THC-COOH ในปัสวะของผู้ที่ใช้กัญชาอย่างหนักคนหนึ่ง 84 วันหลังจากที่เขาหยุดสูบ
- ตอบโดย Witchuda Onmee (พญ.)
ใช้กัญชาบ่อยเกือบทุกวัน 2-3 ชม.จะผ่าตัดและจะมีการนำเลือดไปตรวจก่อนผ่า จะตรวจพบสารเสพติดกัญชาหรือไม่ และจะมีผลอย่างไรบ้าง?
คำตอบ : การตรวจเลือดก่อนผ่าตัด เป็นการตรวจเพื่อประเมินความพร้อมของร่างกายร่วมกับหาความผิดปกติอื่นๆเพื่อประเมินความเสี่ยงในการผ่าตัด สิ่งที่แพทย์สั่งตรวจส่วนมากได้แก่ ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เกลือแร่ในเลือด น้ำตาล การทำงานของไต และอื่นๆ แล้วแต่โรคที่เป็น
ส่วนเรื่องสารกัญชาที่ตกค้างในเลือดจะอยู่นานหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สูบมานานแต่ไหน ความถี่ ปริมาณ ความเข้มข้นของพันธ์กัญชาที่ใช้ แต่โดยส่วนมากสารที่ตกค้างจะอยู่ได้นานเป็นเดือนๆ ถ้าแพทย์สั่งตรวจ THC ก็จะพบสารนี้ แต่ถ้าโรคที่ผ่าตัดไม่เกี่ยวกับการตรวจหาสารเสพติดแพทย์จะไม่สั่งตรวจ
- ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)
กัญชาสามารถออกฤทธิ์ได้นานแค่ไหน?
คำตอบ : ปกติแล้วหลังสูบกัญชา กัญชาจะออกฤทธิ์สูงสุดภายในครึ่งชั่วโมง และมักเป็นอยู่นานประมาณ 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 5-8 ชั่วโมง
- ตอบโดย นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (พญ.)
เมากัญชาทำไมต้องกินของหวาน?
คำตอบ : กัญชามีฤทธิ์ผสมผสาน เสพแล้วอาจทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายแปรปรวน เช่น
- ตาแดง คออักเสบ คอแห้ง เหงื่อออกมาก นอกจากนี้กัญชายังเพิ่มการขับน้ำในร่างกายผู้เสพ ทำให้เกิดอาการหิวน้ำและต้องการของหวาน รับประทานอาหารจุ
- มีอาการสั่นของกล้ามเนื้อ มือสั่น เท้าสั่น ทรงตัวไม่อยู่มีอาการผิดปกติทางสายตา ขาดการควบคุมตนเอง ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งถ้าผู้เสพกัญชาขับรถยนต์ หรือเดินบนท้องถนน
- เวียนศีรษะอย่างแรง หูอื้อ มีเสียงในหู ม่านตาขยายกว้างขึ้น มักอยู่ไม่สุข พูดพล่าม หัวเราะลั่น เอะอะ หรือแสดงตลกต่างๆ ความรู้สึกต่อความเจ็บปวดและประสาทสัมผัสไวมากขึ้น
- ความดันโลหิตสูง อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น มือเท้าเย็น เพราะกัญชามีส่วนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเปลี่ยน
- ความคิดสับสน การตัดสินใจและสมาธิเสีย อารมณ์ซึมเศร้าคุมสติไม่อยู่ เกิดอาการทางจิตได้
- ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)
ติดกัญชา อยากเลิก มีวิธีการเบื้องต้นอย่างไร?
คำตอบ : ในส่วนของการเลิกยาเสพติดเบื้องต้นนั้น ความตั้งใจของผู้ที่จะเลิกมีส่วนสำคัญมาก การเลิกกัญชาสามารถเลิกได้โดยวิธีการหยุดใช้ทันที เมื่อหยุดใช้แล้วอาจจะมีอาการที่เรียกว่าอาการถอนยาบ้างในช่วง 1-2 วันแรก จากนั้นอาการดังกล่าวจะค่อยๆ หายไปเอง ซึ่งจุดนี้อาจต้องได้รับกำลังใจจากคนในครอบครัว เพื่อน และคนรัก
นอกจากนั้นแล้วยังมีเทคนิคอีกมากที่ช่วยให้ไม่เกิดการกลับไปใช่กัญชาซ้ำหลังจากที่ได้หยุดการใช้แล้ว สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่
https://www.honestdocs.co/dealing-with-addiction-drugs
หากคิดว่าต้องการการช่วยเหลือเพิ่มเติม การติดต่อสถานบำบัดยาเสพติดหรือโทรสายด่วนเลิกยาเสพติด 1165 ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้คุณสามารถปรึกษากับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการเลิกสารเสพติดได้
- ตอบโดย ฉัตรดนัย ศรชัย (นักจิตวิทยาการปรึกษา)
ที่มาของข้อมูล
Brian MacIver, Cannabis Legalization World Map (https://www.cannabisbusinesstimes.com/article/cannabis-legalization-world-map), 29 June 2017.
Zach Reichard, Indica vs. Sativa Medical Marijuana Strain Differences (https://www.medicaljane.com/2013/06/28/cannabis-indica-vs-cannabis-sativa-differences), 28 June 2013.
ณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ, กัญชาถูกกฎหมายซื้อและบริโภคได้ที่ไหนบ้าง (https://thestandard.co/where-is-marijuana-legal/), 14 พฤศจิกายน 2561.
ดร.จอห์น คอลลินส์, กัญชา: ทำไมหลายประเทศในโลกถึงเปิดรับกัญชากันมากขึ้น? (https://www.bbc.com/thai/international-46533005), 12 ธันวาคม 2561.
บีบีซี ไทยแลนด์, กัญชา : กฎหมายใช้กัญชา-กระท่อมทางการแพทย์มีผลบังคับใช้แล้ว (https://www.bbc.com/thai/thailand-47288335), 19 กุมภาพันธ์ 2562.
บีบีซี ไทยแลนด์, กัญชา: พืชร้ายหรือสมุนไพรทางเลือก (https://www.bbc.com/thai/thailand-42748753), 20 มกราคม 2561.
ผู้จัดการออนไลน์, ป.ป.ส.ทำ Infographic ปลูกกัญชาอย่างไรไม่ผิดกฎหมาย (https://mgronline.com/crime/detail/9620000005362), 16 มกราคม 2562.
องค์การเภสัชกรรม, สายพันธุ์กัญชา (https://www.gpo.or.th/LinkClick.aspx?fileticket=sjyxuXZvxNU%3D&tabid=388&mid=1186&language=th-TH)
ค้นหาโรค อาการ ยา โรงพยาบาล คลินิก และอ่านบทความสุขภาพ เขียนโดยคุณหมอหรือผ่านการรีวิวจากคุณหมอแล้ว ที่ www.honestdocs.co และ www.honestdocs.id
ไม่พลาดข้อมูลดีๆ ที่จะทำให้คุณแข็งแรงขึ้นทั้งกายและใจ คลิกที่นี่เพื่อแอดไลน์ @honestdocs หรือแสกน QR Code ด้านล่างนี้ และยังติดตามเราได้ที่ Facebook และ Twitter วันนี้
ทุกเรื่องสุขภาพอุ่นใจ ให้ HonestDocs คุณหมอมือถือ ดูแลคุณ ❤️
ความเห็น 0