Prachachat BITE SIZE โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ
จากเหตุการณ์บุกยิงกลางใจเมือง ครั้งที่สะเทือนขวัญที่สุดในปีนี้ ที่เกิดขึ้นล่าสุด เมื่อเย็นวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ความโชคร้าย คือ มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และความโชคร้ายระดับที่ลดลงมา คือ การเข้าควบคุมตัวผู้ก่อเหตุ ซึ่งเป็นเยาวชนวัย 14 ปี แต่เคราะห์ดีที่ไม่มีใครเสียชีวิตเพิ่มอีก
เหตุดังกล่าวที่เกิดขึ้น ห่างจากเหตุความรุนแรงครั้งที่สะเทือนขวัญที่สุด ที่ จ.หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ซึ่งเมื่อคำนวณเวลาแล้ว เวลาห่างกันไม่ถึงปี
และเหตุการณ์ที่ จ.หนองบัวลำภู นับเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่สะเทือนขวัญ เพราะมีผู้เสียชีวิตถึง 37 คน รวมผู้ก่อเหตุ และมีผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นเด็ก รวมอยู่ด้วย
หลายคนอาจยังเคลือบแคลงสงสัยว่า เหตุความรุนแรงลักษณะนี้ เป็นอย่างไรกันแน่ ความรุนแรงลักษณะใดถึงเข้าข่ายว่าเป็นการ “กราดยิง” และปัจจัยที่จุดชนวนสู่เหตุความรุนแรงนี้ได้ คืออะไร จะใช่แบบที่หลาย ๆ คนคิดหรือเชื่อมโยงกันหรือไม่
Prachachat BITE SIZE ชวนทำความเข้าใจไปด้วยกัน
นิยาม “การกราดยิง” ?
คำว่า “กราดยิง” หรือในภาษาอังกฤษ คือ “Mass Shooting” ไม่มีคำแปลที่ตายตัวชัดเจน แต่มีคำนิยามที่น่าสนใจ
เริ่มจาก FBI หรือ สำนักงานสอบสวนกลาง จำกัดความไว้ว่า เหตุกราดยิง คือเหตุการณ์ที่มีบุคคลตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป มีส่วนร่วมในการฆ่าหรือพยายามฆ่าผู้คน
ขณะที่เว็บไซต์ Gun Violence Archive เว็บไซต์ฐานข้อมูลออนไลน์เกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงของปืนในสหรัฐอเมริกา จำกัดความว่า เหตุกราดยิง คือเหตุการณ์ที่มีการยิงคนตั้งแต่ 4 คนขึ้นไป แม้ว่าจะไม่มีใครถูกสังหารก็ตาม
ด้านกฎหมายของสหรัฐฯ อย่าง พ.ร.บ.ความช่วยเหลือสืบสวนสำหรับอาชญากรรมรุนแรง พ.ศ. 2555
ระบุไว้ว่า เหตุกราดยิง คือ เหตุการณ์ที่มีการสังหารอย่างน้อย 3 คนในเหตุการณ์เดียว
หากสังเกตคำจำกัดความ จากทั้ง 3 หน่วยงาน จะเห็นได้ว่า จุดร่วมหนึ่งคือ เรื่องของการสังหารหรือการพยายามสังหารผู้คน แต่แตกต่างกันที่การระบุจำนวนผู้เคราะห์จากเหตุความรุนแรงดังกล่าว
สำหรับประเทศไทย มีเหตุความรุนแรงลักษณะดังกล่าว ทั้งการกราดยิง และการบุกยิงเกิดขึ้นมาแล้ว ไล่ตั้งแต่ที่ จ.นครราชสีมา เมื่อปี 2563 มีผู้เสียชีวิตรวมผู้ก่อเหตุ 30 ราย และที่ จ.หนองบัวลำภู เมื่อปี 2565 มีผู้เสียชีวิตรวมผู้ก่อเหตุ 37 ราย ส่วนเหตุล่าสุดที่ห้างย่านสยาม มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นชาวต่างชาติทั้งคู่
และเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ ก็สั่นสะเทือนความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกด้วย
ปัจจัยนำไปสู่ การกราดยิง ?
สำหรับที่มีโอกาสติดตามข่าวเหตุความรุนแรงลักษณะดังกล่าว จะทราบว่า สาเหตุการก่อความรุนแรงแบบนี้ จะแตกต่างไปในแต่ละครั้ง แล้วอะไรคือปัจจัยที่นำไปสู่เหตุกราดยิง หรือเหตุความรุนแรงที่คล้าย ๆ กัน
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุลักษณะนี้ได้ คือ ปัจจัยด้านอาชีพการงาน โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องอยู่กับกฎเกณฑ์และกฎระเบียบต่าง ๆ ทำให้เกิดความเครียดสูง และการอยู่ใกล้อาวุธต่าง ๆ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่อาจนำไปสู่เหตุทำร้ายผู้อื่นโดยใช้อาวุธได้
และเมื่อเกิดความเครียด อาจทำให้โกรธง่าย และความยับยั้งชั่งใจลดลง นำไปสู่ความรุนแรงกับตัวเอง หรือต่อผู้อื่น
หากมีปัจจัยอื่นเพิ่มเติม เช่น ปัญหาสุขภาพจิต การติดยาเสพติด ภาวะทางสมอง ก็จะทำให้มีโอกาสเกิดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
แต่กรณีที่เกิดเหตุการณ์รุนแรง แต่ผู้เสียชีวิตไม่ได้เป็นคู่กรณี หรือไม่ได้มีเรื่องบาดหมางใจกันมาก่อน อาจเกิดจากสภาพจิตใจกับเหตุสลับซับซ้อนบางอย่าง ที่ต้องตามหาคำตอบต่อไป
“เกม” คือชนวนสู่ความรุนแรง ?
จากเหตุความรุนแรงล่าสุดที่เกิดขึ้นนั้น หลายคนมักพุ่งประเด็นไปที่ว่า เกิดขึ้นเพราะการติดเกม โดยเฉพาะเกมที่เป็นลักษณะการยิงปืน เกมประเภท FPS ต่าง ๆ แต่ในต่างประเทศ มีผลการศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกม และการก่ออาชญากรรม
ศูนย์การแพทย์ Irving มหาวิทยาลัยโคลอมเบีย เปิดเผยผลการสำรวจ 2 สาเหตุหลักที่คนมักเชื่อมโยงกับการกราดยิง คือ อาการป่วยทางจิต (Mental Illness) และเกม หรือวิดีโอเกม (Video Game)
สำหรับเรื่องอาการป่วยทางจิต มีงานวิจัยระบุว่า เหตุรุนแรงเหล่านี้ มีเพียง 3-5% เท่านั้น ที่มีสาเหตุมาจากอาการป่วยทางจิต และความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุดังกล่าว มักเกิดจากการถูกกระตุ้นให้อาการป่วยทางจิตมีระดับที่รุนแรงมากขึ้น และกลายเป็นเหตุความสูญเสียในที่สุด
ขณะที่เรื่องของเกม การศึกษาพบว่า ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างวิดีโอเกมกับการเป็นเจ้าของอาวุธปืนในหมู่วัยรุ่น และแม้การเล่นเกมจะทำให้เกิดความก้าวร้าวมากขึ้น แต่ไม่ได้นำไปสู่การตัดสินใจกราดยิงด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่น่ากังวลที่มากกว่านั้น คือ การที่ถูกสอนให้ใช้อาวุธจริงมาตั้งแต่เด็ก ๆ
ขณะที่ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลอมเบีย ระบุว่า ปัจจัยเกี่ยวกับโรคทางจิตไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุดังกล่าว บางเหตุเกิดขึ้นจากปัจจัยด้านโรคหรืออาการป่วยทางจิต หรือปัจจัยด้านการเสพสารเสพติดของผู้ก่อเหตุร่วมด้วย
ป้องกัน-ฮีลใจผู้สูญเสีย สำคัญกว่าการหาจุดเริ่มต้นเหตุรุนแรง
การหาสาเหตุการก่ออาชญากรรมหรือเหตุรุนแรงลักษณะนี้ ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องทำในการสอบสวนคดี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการหาทางป้องกัน และเยียวยาใจผู้สูญเสีย
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ อดีตนายกสมาคมจิตแพทย์ไทย กล่าวตั้งแต่ช่วงเหตุความรุนแรงที่หนองบัวลำภู ระบุว่า สิ่งที่สังคมต้องเป็นห่วง คือการช่วยกันเยียวยาจิตใจผู้สูญเสีย และหาทางป้องกันเหตุดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ หรือสูญเสียน้อยที่สุด มากกว่าการพยายามสืบหาคำตอบกันเองว่าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นจากอะไร
ระบบเตือนฉุกเฉิน ภาครัฐพร้อมลุย พร้อมใช้ใน 1 เดือน
ส่วนเรื่องที่หลาย ๆ คนเรียกร้องให้ทำมาตั้งแต่หลังเหตุที่ห้างย่านสยาม อย่าง ระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert System) ซึ่งช่วยให้ผู้คนรู้เหตุฉุกเฉินได้ทันที และมีใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ
ตอนนี้ กสทช. กำลังเตรียมรายละเอียดการใช้ระบบดังกล่าว ทั้งกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ เพื่อให้เครือข่ายต่าง ๆ ดำเนินการต่อ คาดว่าพร้อมใช้ภายใน 1 เดือนนับจากนี้
ส่วนเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งล่าสุดนี้ หวังแค่ว่า จะนำไปสู่การหาทางป้องกันได้อย่างจริงจัง ไม่ต้องคอยมาสรุปบทเรียนกันเหมือนเช่นที่ผ่านมา
ติดตาม Prachachat BITE SIZE EP.23 ได้ที่ https://youtu.be/oeflNZvWHAY
ความเห็น 0