โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เฟเนร์บาห์เช – กาลาตาซาราย: ความขัดแย้งของพื้นที่ ชนชั้น นำมาสู่การจลาจลในอิสตันบูล

The101.world

เผยแพร่ 24 ม.ค. 2565 เวลา 09.47 น. • The 101 World
เฟเนร์บาห์เช – กาลาตาซาราย: ความขัดแย้งของพื้นที่ ชนชั้น นำมาสู่การจลาจลในอิสตันบูล

The Rivalry - คู่ปรับแห่งโลกกีฬา : วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

‘อินเตอร์เนชันแนล ดาร์บี’ (ในภาษาเตอร์กิชเรียกว่า คิตาลาราราซี ดาร์บี) คือชื่ออย่างเป็นทางการของเกมการเจอกันระหว่าง 'เฟเนร์บาห์เช' กับ 'กาลาตาซาราย' ซึ่งที่เกมนี้มีชื่อเช่นนั้นเนื่องจากที่ตั้งของทั้งสองทีมถูกคั่นด้วยช่องแคบบอสฟอรัส ซึ่งเป็นช่องแคบที่แยกทวีปยุโรปและเอเชียออกจากกัน แม้ทั้งสองทีมจะมีที่ตั้งอยู่ในกรุงอิสตันบูลเหมือนกัน ทว่าเฟเนร์บาห์เช ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของช่องแคบบอสฟอรัส ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตแดนของเอเชีย ส่วนกาลาตาซารายตั้งอยู่ที่ฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ของดินแดนยุโรป นั่นทำให้การเจอกันของสองทีมนี้เป็นการเจอกันระหว่างทวีปไปโดยปริยาย ซึ่งกลายมาเป็นชื่อ ‘อินเตอร์เนชันแนล ดาร์บี’ นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่ชื่อเรียกเพียงชื่อเดียวของการเจอกันระหว่างคู่ปรับแห่งอิสตันบูลสองสโมสรนี้ เพราะยังมีชื่ออื่นๆ ทั้ง 'เอเซลี เรกาเบ็ต' หรือ 'คู่ปรับตลอดกาล' และชื่อที่สะท้อนความจริงอย่าง 'เนเฟรต เดอร์บิซี' หรือ 'ดาร์บีแห่งความเกลียดชัง' เป็นชื่อเรียกของเกมนี้ด้วย เพราะการเจอกันของเฟเนร์บาห์เชกับกาลาตาซาราย ถือเป็นเกมฟุตบอลที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นมากที่สุด ทำให้เกิดการจลาจลมากที่สุด และสร้างความเสียหายมากที่สุดในยุโรปอย่างไม่ต้องสงสัย

หนึ่งในคำถามที่ทำให้เกมคู่นี้น่าสนใจคือ ‘อะไรทำให้แฟนบอลของทั้งสองสโมสร สามารถทำร้ายและทำลายกันได้ทุกครั้งที่ทั้งสองทีมเจอกัน?’ ซึ่งเมื่อขุดค้นลงไปในรากเหง้าแห่งประวัติศาสตร์เราก็จะพบกับคำตอบของคำถามนั้น ซึ่งก็ไม่ต่างจากเหตุผลที่สโมสรอื่นๆ เกลียดชังกันสักเท่าไหร่ เพราะคำตอบของคำถามข้างบนก็หนีไม่พ้น 'ชนชั้น' และ 'ที่ตั้ง' ของทั้งสองสโมสร

เหตุผลเหล่านั้น 'เพียงพอ' และ 'เกินพอ' ที่จะทำให้คนเราเกลียดชังกันได้ แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องของกีฬาก็ตาม แต่เมื่อยิ่งมีการแข่งขันของสองสโมสรเข้ามาผสม มีชัยชนะและศักดิ์ศรีเป็นเดิมพัน ความเกลียดชังระหว่างแฟนบอลทั้งคู่จากที่มีอยู่แต่เดิม ก็ยิ่งเพิ่มเติมเป็นเท่าทวี จนมีการเรียกเกมการเจอกันของคู่นี้ว่า ‘นรกบนดิน’ ที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้ตำรวจในนครอิสตันบูลได้อยู่ร่ำไป

นี่คือเรื่องราวของคู่ปรับที่มีประวัติศาสตร์การเจอกันที่ยาวนาน ซึ่งลงสนามเผชิญหน้ากันมากกว่า 300 นัด โดยระหว่างทางจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน เต็มไปด้วยเรื่องราวของการเมือง สังคม และผู้คนมาเกี่ยวข้องอีกมากมาย ขอเชิญทำความรู้จักกับอินเตอร์เนชันแนล ดาร์บี ระหว่างสองทีมแห่งกรุงอิสตันบูล อย่าง 'เฟเนร์บาห์เช' กับ 'กาลาตาซาราย' กันได้เลยครับ

ช่องแคบบอสฟอรัส จุดตัดแห่งความแตกแยก

‘กาลาตาซารายคือยุโรป ส่วนเฟเนร์บาเชคือเอเชีย’ คือนิยามง่ายๆ ของที่ตั้งสโมสรคู่อริในอิสตันบูล ที่ถูกแบ่งแยกจากกันด้วยช่องแคบบอสฟอรัส เรื่องของประเด็นที่ตั้งสโมสรนี้ แม้อาจจะไม่ได้เป็นปัจจัยหลักให้ทั้งสองทีมแห่งเมืองหลวงตุรกีเป็นอริกัน แต่พูดได้ว่ามันเหมือนสารตั้งต้นของความไม่ลงรอยที่จะตามมาในอนาคต ดังนั้นคงจะดีกว่าถ้าเราเริ่มทำความเข้าใจความขัดแย้งของทั้งสองทีมจากภูมิศาสตร์ที่ตั้งของทั้งสองสโมสร

อิสตันบูลเป็นเมืองที่มีประชากรอยู่อาศัยมากที่สุดในยุโรป ด้วยจำนวนประชากรมากกว่า 15 ล้านคน (จากการสำรวจในปี 2020) และเป็นเมืองใหญ่ที่สุดอันดับ 15 ของโลก แต่ความน่าสนใจของอิสตันบูลไม่ใช่ขนาด หากแต่เป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากบทบาทอันยาวนานในประวัติศาสตร์ และเป็นเมืองสำคัญที่ถูกยกย่องว่าเป็นประตูสู่เอเชีย (สำหรับชาวยุโรป) หรือเป็นประตูสู่ยุโรป (ของชาวเอเชีย) เพราะเมืองแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ของทั้งสองทวีปที่ว่ามา

หากให้สรุปโดยย่อแบบสั้นๆ คือ การเข้ามายึดครองพื้นที่ของชาวเติร์กในนามจักรวรรดิออตโตมัน ช่วงปีคริสตศักราช 1453 เปลี่ยนให้ดินแดนแห่งนี้กลายเป็นของชนมุสลิม จากเดิมที่เคยเป็นของชาวคริสต์ในนามจักรวรรดิไบแซนไทน์ ส่งผลให้ชาวตุรกีมักถูกกีดกันจากชาวยุโรปในช่วงก่อนหน้านี้ไม่ให้มาเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา จากความแตกต่างทางด้านประวัติศาสตร์และศาสนา แต่ในมุมของชาวเติร์กหัวก้าวหน้า พวกเขาก็ต้องการจะได้ชื่อว่าเป็นชาวยุโรปเพราะความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมและเรื่องของการเมืองที่ถูกมองว่าจะทำให้พวกเขาพัฒนาต่อไปได้อย่างรวดเร็ว

นั่นส่งผลต่อเนื่องไปถึงพื้นที่ในนครอิสตันบูลที่ฝั่งหนึ่งติดกับยุโรปและอีกฝั่งที่ติดกับเอเชียตามไปด้วย ทั้งๆ ที่นั่นคือเมืองเดียวกันแท้ๆ

ตุรกีก่อนการประกาศอิสรภาพของมุสตาฟา เคมัล ‘อตาเติร์ก’ พื้นที่ส่วนต่างๆ ของจักรวรรดิออตโตมันถูกยึดครองและแบ่งแยกจากหลายชาติในยุโรป ภายหลังจากความปราชัยของออตโตมันในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยชาติส่วนมากจะเข้ามาลงทุนค้าขายในพื้นที่อิสตันบูลปัจจุบัน และย่านฝั่งที่เป็นพื้นที่ฝั่งยุโรป ก็ถูกจับจองโดยผู้ที่มีฐานะเหล่านั้น อาจจะทั้งชาวต่างชาติที่เข้ามาเอง และรวมไปถึงชาวเติร์กที่มีฐานะ ทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นเสมือนพื้นที่ ‘คนรวย’ และทำให้พื้นที่ฝั่งเอเชีย มีไว้สำหรับคนที่มีรายได้และฐานะต่ำกว่าโดยปริยาย

หลังจากที่อตาเติร์กประกาศอิสรภาพและรวมตุรกีเป็นชาติเดียวได้สำเร็จ ความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจในสองพื้นที่นี้ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปง่ายๆ และเมื่อตัวพื้นที่เอง ยังมีความแตกต่างกัน สโมสรฟุตบอลที่เกิดขึ้นมาในแต่ละพื้นที่นั้นๆ จะไม่ต่างกันก็คงเป็นไปไม่ได้

ความแตกต่างทางชนชั้นของการเริ่มต้น

จุดเริ่มต้นของกาลาตาซาราย (อ่านว่า กาลาตา-ซาราย มาจาก ชื่อหมู่บ้าน กาลาตา) แห่งนี้ถูกก่อตั้งในปี 1905 โดยกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายที่มีฐานะจากฝากฝั่งตะวันตกของกรุงอิสตันบูล โดยโรงเรียนแห่งนี้ มีชื่อเต็มๆ ว่า 'กาลาตาซาราย ลิเซซี' ในภาษาเตอร์กิซ หรือ เลซิซี เดอ การาตาซาราย ในภาษาฝรั่งเศส โดยโรงเรียนแห่งนี้ถูกก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1481 แรกเริ่มก่อตั้งมีชื่อว่า 'กาลาตา ซารายี เอ็นเดอรุน-ยู ฮูมายูนู' ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยคร่าวๆ ได้ว่า โรงเรียนจักรวรรดิแห่งปราสาทกาลาตา (Galata Palace Imperial School) เพราะในสมัยนั้นพื้นที่ตรงนี้ยังชื่อว่ากาลาตา และยังไม่ได้เปลี่ยนมาเป็นการากอย แบบที่เป็นอยู่ในตอนนี้นั่นเอง

โดยในสมัยแรกเริ่มก่อตั้ง กาลาตาซารายยังไม่สามารถส่งทีมลงแข่งขันได้เพราะข้อห้ามของจักรวรรดิออตโตมันในสมัยนั้น ไม่ให้มีการรวมกลุ่มใดๆ เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการแข็งข้อต่อจักรวรรดิ ทำให้พวกเขาได้แต่ก่อตั้งทีมและเล่นกันเองในวงแคบๆ แต่ถึงอย่างนั้นด้วยความที่เป็นพื้นที่ของคนมีเงิน สโมสรแห่งนี้จึงได้รับการสนับสนุนมาจนอยู่รอดปากเหยี่ยวปากกาและสามารถผ่านยุคสมัยแห่งการต่อสู่เพื่ออิสรภาพของมุสตาฟา เคมัล จนมาสู่ยุคแรกเริ่มของวงการฟุตบอลตุรกีที่อนุญาตให้มีการเล่นฟุตบอลลีกเกิดขึ้นจนได้

แน่นอนว่าด้วยทำเลที่ตั้งในย่านคนมีตังค์ ทำให้แฟนบอลของทีมนี้เป็นแฟนบอลในกลุ่มของคนมีเงิน แม้ในยุคแรกเริ่มจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่กาลาตาซารายก็ไม่ได้ล้มหายตายจากไปจากวงการฟุตบอลตุรกี ก่อนที่ในเวลาต่อมาพวกเขาจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็น 1 ใน 'บิ๊ก 3' ของวงการฟุตบอลตุรกี (ควบคู่ไปกับเฟเนร์บาห์เช และ เบซิกตัส) จวบจนปัจจุบันได้

ข้ามไปทางฝั่งของเฟเนร์บาห์เช สโมสรแห่งนี้ถูกก่อตั้งขึ้นทางซีกตะวันตกของช่องแคบบอสฟอรัส ซึ่งเป็นซีกที่ถูกเรียกกันว่า พื้นที่ฝั่งเอเชีย แน่นอนว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นฝั่งตรงข้ามกับพื้นที่ของพวกลูกคุณหนูอย่างกาลาตาซาราย เพราะในพื้นที่เต็มไปด้วยชนชั้นกลางลงไปถึงชนชั้นแรงงาน ในยุคแรกเริ่มก่อตั้ง พื้นที่ในโซนนี้เต็มไปด้วยท่าเรือ ส่งผลให้มีประภาคารมากมาย จนเกิดเป็นเฟเนร์บาห์เช ที่แปลว่า ‘ประภาคารในสวน (Lighthouse in the Garden)’ ขึ้นมา โดยปัจจุบัน เฟเนร์บาห์เชยังมีชื่อเล่นคงเดิมว่า 'เฟเนร์' หรือ 'ทีมประภาคาร' ไม่ต่างจากยุคก่อตั้งเลย

เฟเนห์บาห์เชถูกก่อตั้งในปี 1907 หรือ 2 ปี หลังจากการกำเนิดของการาตาซาราย แต่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน ทำให้สโมสรแห่งนี้มีชะตากรรมที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ไม่ต่างจากกฎข้อห้ามการรวมกลุ่มแบบที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่ต่างกันที่ผู้ก่อตั้งของสโมสรแห่งนี้ เป็นคนในท้องที่ 3 คนที่ร่วมกันสร้างสโมสรแห่งนี้ขึ้นมา โดยทั้ง 3 คน คือ ซิยา ซอนกูเลน, อาเยตูลลาห์​ เบย์ และ เนซิป โอคาเนร์ โดยทั้ง 3 คน ได้กลายมาเป็นประธานสโมสรคนแรก, เลขาธิการสโมสรคนแรก และ กัปตันทั่วไปคนแรกของสโมสรตามลำดับ

นอกจากความแตกต่างเรื่องที่ตั้งซึ่งห่างกันบนพื้นที่คนละทวีปแล้ว สิ่งที่แตกต่างกันอย่างมากอีกอย่างคือเรื่องของกลุ่มแฟนบอล เพราะทีมประภาคารแห่งนี้ แม้ฐานแฟนบอลจะไม่ได้มีฐานะเหมือนกาลาตาซาราย แต่แฟนบอลในยุคแรกของพวกเขาเหนี่ยวแน่นอย่างมาก ซึ่งแฟนส่วนใหญ่ก็เป็นชนชั้นแรงงานที่อาศัยอยู่ในย่านนั้น แม้จะไม่มีเงินทองมากมาย แต่ก็มีจำนวนมากแทน 

จากเกือบเป็นทีมเดียวกัน ผันสู่การอยู่ร่วมกันไม่ได้

เรื่องไม่น่าเชื่อระหว่างสองทีมคู่อริแห่งตุรกีคู่นี้ คือครั้งหนึ่งพวกเขาเกือบได้กลายเป็นทีมเดียวกัน โดยในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จะเริ่มต้นขึ้น ในปี 1912 เป็นช่วงที่กาลาตาซารายมีปัญหาเรื่องนักเตะในทีมไม่พอใช้ ทำให้ อาลี ซามี เยน ประธานสโมสรคนแรกและผู้ก่อตั้งสโมสรกาลาตาซาราย ได้เดินทางไปพบกับซูครู ซาราโคกลู ประธานสโมสรเฟเนร์บาห์เชในตอนนั้น เพื่อพูดคุยเรื่องการขอยืมนักเตะมาร่วมทีม แต่การพูดคุยคงออกรสออกชาติมากเกินไป ประกอบกับในยุคนั้นเป็นยุคการก่อตั้งของทั้งสองสโมสร ความเกลียดชังที่มีระหว่างสองทีมยังไม่ปรากฏตัวให้เห็นเด่นชัด เลยมีแนวคิดการรวมสองสโมสรเป็นหนึ่งเดียวกันออกมา

แนวคิดของทั้งสองประธานที่พูดคุยกันนั้น เห็นร่วมกันว่าต้องการสร้างสุดยอดสโมสรของเมืองอิสตันบูล และดูเหมือนว่าพวกเขาจะเอาจริงกันอย่างมาก เพราะหลังจากนั้นซามี เยนกับซาราโคกลูก็พบกันอีกหลายครั้งเพื่อพูดคุยถึงแนวคิดนี้ จนถึงขั้นคิดชื่อสโมสรออกมาว่า 'เติร์กกูลูบู' และคิดไปถึงขั้นจะให้ทีมแห่งนี้ใช้ 'เสื้อสีขาวที่มีดาวสีแดง' ลงทำการแข่งขันไปแล้วทีเดียว

อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้มิอาจเกิดขึ้นได้จริง หลังจากสงครามโลกทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และที่ใกล้ตัวกว่านั้นคือความขัดแย้งบนคาบสมุทรบอลข่าน ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อจักรวรรดิออตโตมัน และในเวลาต่อมาก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตุรกีไปตลอดจากจากการปรากฏตัวของมุสตาฟา เคมัล ‘อตาเติร์ก’ ที่นำตุรกีไปสู่การเป็นสาธารณรัฐในปี 1923 และเปลี่ยนแปลงวงการฟุตบอลกับความสัมพันธ์ระหว่างกาลาตาซารายและเฟเนร์บาห์เชให้เป็นคู่อริที่มองหน้ากันไม่ติดหลังจากนั้นอย่างชัดเจน

สาธารณรัฐตุรกี มีผลกระทบในสนามฟุตบอล

อตาเติร์กเป็นเหมือนบิดาของประเทศตุรกีในยุคสาธารณรัฐ เขาเป็นคนที่แยกการศาสนาออกจากการเมืองในประเทศตุรกี และเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่างในตุรกี จนถูกยกย่องให้กลายเป็นบิดาของชาวเติร์ก เพราะคำว่าอตาเติร์กมีความหมายเช่นนั้น และอย่างที่ใครๆ หลายคนรู้ว่านั่นคือชื่อที่ถูกยกย่องให้เป็นของคนเพียงผู้เดียว นั่นคือ มุสตาฟา เคมัล หนึ่งเดียวคนนี้

การเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่างของอตาเติร์ก ต้องใช้เวลาเหมือนกับความเปลี่ยนแปลงอีกมากมายบนโลกนี้ กว่าตุรกีจะเข้าที่เข้าทางก็ต้องใช้เวลานับสิบปี ซึ่งนั่นส่งผลมาถึงวงการฟุตบอลในประเทศตุรกีด้วย โดยกว่าที่จะมีลีกอาชีพอย่างเป็นทางการก็ต้องรอถึงทศวรรษที่ 1960 ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการเริ่มแข่งขันฟุตบอลตุรกี ซูเปอร์ ลีก ในปี 1959 วงการฟุตบอลของตุรกีมีการแข่งขันแบบกึ่งอาชีพมาในรูปแบบทั้งทัวร์นาเมนต์และเนชันลีก แต่ความสำเร็จส่วนใหญ่ก็วนเวียนอยู่กับเฟเนร์บาห์เชและเบซิกตัส สองยักษ์ใหญ่แห่งอิสตันบูลเป็นส่วนมาก โดยในยุคนั้น กาลาตาซารายมีบทบาทเป็นเพียงแค่บันไดให้บรรดาทีมอื่นๆ ไต่ไปหาความสำเร็จเท่านั้น

แต่เมื่อสถานการณ์ในประเทศสงบและราบรื่น จนทำให้เกิดเป็นซูเปอร์ลีกที่แข่งขันมาจนถึงปัจจุบัน บทบาทของกาลาตาซารายก็เริ่มเด่นชัด ซึ่งปรากฏขึ้นพร้อมๆ กับการแสดงตัวของแฟนบอล ที่ทนอัดอั้นอยู่นานกับความไม่สำเร็จที่ทีมต้องเผชิญมาตลอดหลายปี นั่นทำให้พวกเขาออกมาเฉลิมฉลองครั้งใหญ่ และเป็นชนวนเหตุความไม่พอใจจนลุกลามกลายเป็นการกระทบกระทั่งกันนอกสนามครั้งแรกๆ ระหว่างแฟนกาลาตาซารายและเฟเนร์บาห์เช

แม้ว่าในอิสตันบูลจะมีบิ๊ก 3 อันประกอบไปด้วย กาลาตาซาราย, เฟเนร์บาห์เช และเบซิกตัส แต่ปัญหาส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นระหว่างกาลาฯ และเฟเนร์ฯ มากกว่า ซึ่งสาเหตุที่เป็นแบบนั้นไม่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรว่าเพราะอะไร แต่ถ้าจากมุมมองของนักวิเคราะห์และนักวิชาการเชื่อว่า เพราะทั้งสองสโมสรมีความแตกต่างกันมากกว่า และมีจุดร่วมกันน้อยเกินไป

กาลาตาซารายมีจุดเริ่มต้นจากคนรวย ในดินแดนฟากฝั่งยุโรป และตั้งอยู่ในพื้นที่ของคนมีอันจะกิน ส่วนเฟเนร์บาห์เชตั้งอยู่ในพื้นที่ของชาวเอเชีย ชนชั้นกรรมาชีพ และยังถูกก่อตั้งโดยคนธรรมดา แค่นี้ก็พอจะเห็นความแตกต่างของทั้งคู่ไม่น้อยแล้ว แต่มันจะชัดขึ้นเมื่อเอาเบซิกตัสมาเทียบเข้าไปอีกทีม

แม้จะแชร์พื้นที่ในอิสตันบูลเหมือนกัน แต่เบซิกตัสเป็นทีมที่ตั้งอยู่ในฟากที่เป็นทวีปยุโรป ทว่าทีมของพวกเขาเป็นทีมของชาวพื้นเมือง แฟนบอลยุคแรกเป็นชาวมุสลิมที่เคร่งครัดในศาสนา พวกเขามีจุดร่วมกับกาลาตาซารายในเรื่องที่ตั้ง และมีจุดร่วมกับเฟเนร์บาห์เชในแง่ของพื้นเพ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ความรุนแรงระหว่างพวกเขากับกาลาตาซารายหรือ เฟเนร์บาห์เชจะเกิดขึ้นน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม จากความขัดแย้งในแง่ความแตกต่างจากจุดเริ่มต้น มันก็ถูกเพิ่มเติมเชื้อไฟก่อนจะเปลี่ยนไปเป็นในเรื่องของความสำเร็จ และการยอมกันไม่ได้เหมือนกับคู่อริอีกหลายๆ คู่ในโลกนี้ แต่ที่แตกต่างกันคือเรื่องของความรุนแรง จนไปถึงขั้นจลาจล และมีคนตาย ซึ่งบางครั้งการเจอกันของสองทีมนี้ ถูกขนานนามให้เป็น ‘นรกบนดิน’ เลยทีเดียว

ปัจจุบันของความขัดแย้ง

ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าทำไมเกมระหว่างกาลาตาซารายและเฟเนร์บาห์เช ส่วนมากจะจบลงด้วยความรุนแรงของแฟนบอล โดย COPA90 เคยทำสารคดีเกี่ยวกับประเด็นนี้ ซึ่งแฟนบอลของทั้งสองทีมก็ตอบไม่ได้เช่นกัน ข้อสรุปที่ได้จากคำพูดของแฟนบอลเหล่านั้นคือ ‘มันเป็นเพราะมันต้องเป็น’

“ความรุนแรงมักเกิดขึ้นเสมอ มันเป็นปัญหาของแฟนบอล บางครั้งผู้คนก็ถูกแทงและถูกฆ่าตายด้วยซ้ำ” แพทริค ค็อกซ์ แฟนบอลของเฟเนร์บาห์เชกล่าว

ขณะที่ เซติม เซม ยิลาซ บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ เฮอร์ริเยต เดลี นิวส์ ก็เสริมในประเด็นนี้ว่า "มีปัญหาแบบนี้อยู่เสมอ หน้าต่างถูกทุบ วัตถุถูกโยนลงไปในสนาม เป็นการยากที่จะเข้าใจ ว่าทำไมมีความเกลียดชังมากมายเช่นนี้"

ไม่สามารถพูดได้แม้แต่น้อยว่าความรุนแรงเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งนี้มันเหมือนอยู่คู่กับ ‘อินเตอร์เนชันแนล ดาร์บี’ จนยากจะแยกออก แม้แฟนบอลทั้งสองทีมจะรู้ดีว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ดี แต่วันที่เกมระหว่างหว่างทั้งสองทีมเจอกัน ต้องมีปัญหาเหล่านี้ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า จนตำรวจในท้องที่เองก็ไม่รู้ว่าจะต้องจัดการเรื่องนี้อย่างไร พวกเขาทำได้เต็มที่แค่วางกำลังคอยป้องกันเท่านั้น แต่ถ้าแฟนบอลหลักหลายร้อยหรืออาจจะถึงพันคนจะเข้าต่อสู้กันจริง มันก็เกินกำลังของเจ้าหน้าที่ทำตรวจที่จะเข้าควบคุมเหตุการณ์ได้

หนึ่งในเหตุการณ์ที่น่าเศร้าและเกิดขึ้นได้ไม่นาน คือเหตุการณ์การปะทะกันของแฟนบอลกาลาฯ และเฟเนร์ฯ ในเดือนพฤษภาคม 2013 ซึ่งส่งผลให้บูรัค ยูดิริม แฟนบอลเฟเนร์บาห์เชวัย 19 ปี ถูกแทงเสียชีวิต ที่ป้ายรถเมล์แห่งหนึ่งในกรุงอิสตันบูล โดยภายหลังตำรวจจับตัวผู้ก่อเหตุได้ว่าเป็นแฟนกาลาตาซารายจำนวน 3 คน และคนที่ลงมือทำร้ายด้วยมีด มีอายุเพียง 20 ปี เท่านั้น โดยหลักฐานในคดีนี้คือเสื้อกาลาตาซารายที่เปื้อนรอยเลือดที่ตำรวจได้จากครอบครัวของผู้ก่อเหตุในเวลาต่อมา

หลังจากเหตุการณ์การเสียชีวิตของยูดิริมเกิดขึ้นไม่ถึง 2 ฤดูกาล แฟนบอลกาลาตาซารายและเฟเนร์บาห์เชก็กลับมาตีกันอีกครั้ง และกลับมาบานปลายหลายเป็นความรุนแรงจนเกือบถึงขั้นจลาจล และยังคงเป็นเช่นนั้นมาถึงทุกวันนี้ โดยไม่มีท่าทีว่าจะเบาบางลงเลยแม้แต่น้อย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0