โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

15 อาการคนท้อง ผู้หญิงตั้งครรภ์แรกเริ่ม ต้องเจอกับอะไรบ้าง?

MThai.com - Health

เผยแพร่ 06 ก.ย 2561 เวลา 03.00 น.
15 อาการคนท้อง ผู้หญิงตั้งครรภ์แรกเริ่ม ต้องเจอกับอะไรบ้าง?
ว่าที่คุณแม่มือใหม่ จะต้องรู้จักสังเกตให้ดีว่า ความผิดปกติอะไรในร่างกายของเราเกิดขึ้นบ้าง และนี่คือ 15 อาการคนท้อง ที่กำลังบอกว่าคุณจะมีเบบี

ว่าที่คุณแม่มือใหม่บางคน อาจจะต้องเจอกับ อาการคนท้อง ที่เป็นสัญญาณเตือนเริ่มต้นของอาการตั้งครรภ์ ให้ว่าที่คุณแม่สังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายให้ดี เพราะนั่นอาจเป็นตัวที่บอกได้เป็นอย่างดีว่า คุณกำลังมีเบบี๋ตัวน้อยๆ แล้วน่ะสิ

ส่วนในการตรวจด้วยชุดตรวจการตั้งครรภ์ ในระยะแรกที่ประจำเดือยเริ่มขาดหายไป อาจจะยังไม่บอกผลว่าคุณตั้งครรภ์ เนื่องจากชุดตรวจเหล่านั้นจะตรวจพบการตั้งครรภ์เมื่อระดับฮอร์โมน hCG ในปัสสาวะมีมากพอ ซึ่งก็อาจกินเวลาอีกหลายวันหลังจากประจำเดือนขาดไปยังไงล่ะ

อาการคนท้อง 1 สัปดาห์

ในช่วงแรกว่าที่คุณแม่อาจมีอาการประจำเดือนขาด รู้สึกเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก คัดเต้านม ความรู้สึกไวต่อสิ่งต่างๆ และแม้ว่าจะตรวจด้วยชุดตรวจการตั้งครรภ์แล้ว ก็อาจจะไม่พบผลว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ เนื่องจากระดับฮอร์โมน hCG ในปัสสาวะยังมีไม่มากพอ แนะนำว่าให้ว่าที่คุณแม่ตรวจหลังจาก 2 สัปดาห์ไปแล้ว จะได้ผลที่แน่นอนกว่า

15 อาการคนท้อง

1. หายใจถี่

คุณแม่อาจรู้สึกเหนื่อยและหายใจถี่เมื่อขึ้นบันไดทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อาจจะเป็นเพราะคุณกำลังตั้งครรภ์ ตัวอ่อนที่กำลังเจริญเติบโตมีความต้องการออกซิเจนจากคุณแม่ และอาการเช่นนี้อาจต่อเนื่องไปตลอดการตั้งครรภ์เลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทารกมีการเจริญเติบโตมากขึ้น ก็จะมีแรงกดดันต่อปอดและกระบังลมของคุณแม่ตั้งครรภ์อีกด้วย

2. เจ็บหน้าอก หรือคัดเต้านม

หากคุณแม่วางชุดชั้นในบนหน้าอกเช้านี้แล้วรู้สึกเหมือนมีอาการเจ็บคัดตึง คล้ายๆ ช่วงที่จะมีรอบเดือนแต่มันไม่หายไปแม้ครบกำหนดแล้วก็ตาม คุณแม่อาจสังเกตเห็นว่าเต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อย มีความรู้สึกหนัก และบริเวณรอบๆหัวนมมีสีคล้ำขึ้น ผิวหนังบริเวณเต้านมบางลงมองเห็นหลอดเลือดดำเด่นชัดมาก คุณแม่ควรสวมชุดชั้นในที่มีขนาดพอดีเพื่อช่วยรับน้ำหนักได้อย่างเหมาะสม และอาจใส่เสื้อชั้นในในเวลานอนด้วยเพื่อช่วยบรรเทาความรู้สึกไม่สบายนั้น

3. ความเมื่อยล้า

คุณแม่ที่อ่านหนังสือก่อนเข้านอนอาจไม่ได้เปลี่ยนไปสู่อีกหน้าหนึ่งของหนังสือก่อนหลับไป หากคุณแม่มีอาการอ่อนล้า หมดแรง ก็จะอาจเกิดจากการตอบสนองต่อฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นในร่างกายของคุณแม่ สำหรับผู้หญิงจำนวนมากยังคงเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าตลอดในระยะไตรมาสแรก แต่แล้วก็จะรู้สึกดีขึ้นในระยะไตรมาสที่สอง

4. อาการคลื่นไส้

หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่เริ่มมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 6 สัปดาห์ แต่บางคนจะได้พบกับอาการแพ้ท้องได้ตั้งแต่รอบเดือนขาดหายไป ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในเวลาเช้า กลางวัน และกลางคืน ซึ่งอาการคลื่นไส้นี้จะบรรเทาลงได้เมื่อการตั้งครรภ์เข้าสู่ระยะไตรมาสที่สอง ในระหว่างนี้ให้พยายามรับประทานอาหารที่จะช่วยบรรเทาอาการ เช่น ขนมปังแครกเกอร์ หรือ น้ำหวาน ไอสครีม

5. ปัสสาวะบ่อย

ถ้าอยู่ๆ คุณแม่ก็พบว่าตัวเองนอนไม่หลับทั้งคืน โดยต้องลุกไปเข้าห้องน้ำบ่อยๆ ในระหว่างตั้งครรภ์ร่างกายของคุณแม่ท้องจะสร้างของเหลวในร่างกายมากขึ้น มีเลือดในระบบไหลเวียนมากขึ้น ดังนั้นกระเพาะปัสสาวะของคุณแม่จึงต้องทำงานล่วงเวลาในระยะแรกนี้

6. อาการปวดหัว

สัญญาณเริ่มต้นของการตั้งครรภ์นั้น รวมถึงอาการปวดหัวด้วย ซึ่งเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ในกรณีที่คุณกำลังตั้งครรภ์แน่นอน ใช้ยาแก้ปวดพวกพาราเซตามอลจะปลอดภัยกว่ายาพวกแอสไพรินในการจัดการกับความเจ็บปวด

7. ปวดหลัง

คุณแม่อาจจะมีอาการปวดหรือเจ็บหลังช่วงล่าง หากปกติคุณแม่ไม่ได้มีอาการปวดหลังอยู่ก่อนแล้ว อาการปวดเหล่านี้ก็อาจหมายถึงการผ่อนคลายหรือยืดหยุ่นมากขึ้นของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ทั้งนี้อาการปวดหลังอาจเกิดขึ้นได้ตลอดการตั้งครรภ์ เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น และศูนย์กลางของการทรงตัวของคุณแม่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นผลให้ท่าทางในการยืน นั่งหรือเดิน มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย

8. ปวดเกร็งในช่องท้อง

จะเป็นปวดประจำเดือนหรือตั้งครรภ์ในช่วงนี้นั้นยากที่จะบอก แต่ถ้าคุณแม่รู้สึกปวดหน่วงๆ อาจเป็นได้ว่ามีการยืดขยายของมดลูกให้พร้อมสำหรับลูกน้อย

9. ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง

คุณแม่อาจอยากอาหารที่มีรสเปรี้ยวมากขึ้น ในขณะที่กลิ่นของปลามักจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ถ้าคุณแม่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของความอยากอาหารแตกต่างไปจากก่อนหน้านี้ทันทีทันใด อาจเป็นอาการที่ร่างกายกำลังบอกว่าคุณตั้งครรภ์

10. ท้องผูก

ท้องผูกและมีลมในกระเพาะอาหารมากขึ้น สัปดาห์ก่อนหน้านี้คุณแม่ยังใส่กางเกงยีนส์ตัวเดิมได้อย่างพอดีอยู่เลย แต่เพียงแค่สัปดาห์ที่ผ่านมา คุณแม่อาจรู้สึกท้องป่องเล็กน้อยหรือไม่สามารถใส่ยีนส์ตัวเดิมได้ ก็อาจจะเกิดจากการที่ฮอร์โมน progesterone เพิ่มสูงขึ้นและส่งผลต่อระบบย่อยอาหารของคุณแม่ ทำให้ย่อยได้ช้าลง มีแก๊สในกระเพาะอาหารมากขึ้น และอาจส่งผลให้ท้องผูกร่วมด้วย

11. อารมณ์เปลี่ยนแปลง

บางทีใครทำอะไรไม่ถูกต้องเพียงเล็กน้อย กลับทำให้คุณอารมณ์เสียได้ง่ายๆ ซึ่งทั้งนี้อาจเกิดจากการที่ระดับฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง และร่างกายของคุณแม่กำลังพยายามปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่ แต่เมื่อผ่านพ้นช่วงนี้ไป อารมณ์ของคุณแม่ก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ

12. อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น

คุณแม่อาจสังเกตได้ว่าอุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น รู้สึกร้อนง่ายกว่าคนอื่นๆ นั่นเป็นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและมีการใช้พลังงานมากขึ้น

13. ได้กลิ่นรุนแรง Super smell

คุณแม่จะมีความไวต่อกลิ่นเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นหอมก็จะรู้สึกหอมรุนแรง จนบางครั้งทนกลิ่นน้ำหอมเดิมของตัวเองไม่ได้ หากเป็นกลิ่นเหม็นแล้วละก็จะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก บางทั้งการเอาถุงขยะไปทิ้งอาจทำให้คุณแม่แทบจะอาเจียน หรือการเข้าห้องน้ำสาธารณะก็ยิ่งเป็นสิ่งที่รบกวนจิตใจ

14. เวียนศีรษะหรือเป็นลม

อาการเช่นนี้เป็นอาการที่ใช้เพื่อบ่งบอกการตั้งครรภ์ในหนังหรือในละคร แต่มันอยู่ในความเป็นจริง เมื่อน้ำตาลในเลือดต่ำหรือความดันโลหิตลดลงอาจทำให้เกิดอาการหน้ามืดวิงเวียนได้ ให้แน่ใจว่าคุณแม่รับประทานอาหารได้มากพอและดื่มน้ำอย่างพอเพียง ก็จะห่างไกลจากอาการนี้ได้

15. มีเลือดออก

การมีเลือดออกเล็กน้อยกระปริบกระปรอยในระยะแรกของการตั้งครรภ์ โดยที่ไม่มีอาการปวดเกร็งท้องร่วมด้วย อาจเป็นอาการที่รกของทารกมีการแบ่งเซลล์และฝังตัวลงไปในเยื่อบุโพรงมดลูกของแม่ ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจทำให้เกิดมีเลือดออกได้ คุณแม่ควรสังเกตอาการและหากเลือดหยุดไปก็ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง

อย่างไรก็ตามคุณแม่บางรายแทบไม่มีอาการอะไร บางรายกลับมีอาการมากมาย และเป็นในระดับรุนแรง คุณแม่ควรดูแลสุขภาพในระยะแรกของการตั้งครรภ์นี้ โดยรับประทานอาหารให้พอ แม้ว่าจะมีอาการแพ้ท้องก็ไม่ควรอดอาหาร เพราะจะทำให้อาการแย่ลง หากมีความยากลำบากในการรับประทาน รับประทานอาหารมื้อหลักได้น้อยลง ควรเลือกอาหารที่รับประทานง่ายและมีพลังงานสูงรับประทานระหว่างมื้ออาหารหลัก เช่น ไอศครีม น้ำหวาน นมถั่วเหลือง หรือชีสสำหรับทานเล่น ขนมปังกรอบ เป็นต้น หากคุณแม่ดูแลสุขภาพให้ดีอาการแพ้ท้องก็จะทุเลาลงได้

คลิป > รีวิวสอนใช้อุปกรณ์ ตรวจการตั้งครรภ์ ให้ถูกวิธี รู้ผล ท้องไม่ท้อง ภายใน 5 วินาที

https://seeme.me/ch/women/MNA6b9

ที่มา : นพ. ม.ร.ว.ทองทิศ ทองใหญ่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0