ด้านมืดของพระกฤษณะ ในศึกมหาภารตะ ที่ต่างจากแง่มุมคุณธรรม-ความดี
ไม่ทราบว่าเป็นการตัดสินใจถูกหรือตัดสินใจผิดของผู้เขียน ที่อาจหาญเขียนถึง “พระกฤษณะ” ซึ่งได้รับความเคารพว่าเป็นเทพเจ้าองค์สำคัญอย่างยิ่งของอินเดีย (รวมถึงประเทศใกล้เคียง) และไทย ผ่านอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งแตกต่างไปจากเรื่องคุณธรรมหรือความดีงามที่เราได้รับรู้กันมา เนื่องจากด้านที่จะกล่าวถึงนี้ไม่ค่อยจะโสภานัก ผู้เขียนจึงขอเรียกมันว่าเป็น “ด้านมืด” ขององค์พระกฤษณะเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทที่จะนำเสนอ
เป็นที่ทราบกันดีว่า พระกฤษณะ คืออวตารปางที่ 8 ของพระนารายณ์ โดยท้าวเธอยังเป็นบุตรคนที่ 8 ของท้าววาสุเทพกับนางเทวากี อวตารลงมาเพื่อปราบพญากังสะ (พญากงส์) กษัตริย์ผู้ดุร้าย [1]เรื่องราวของพระกฤษณะยังเชื่อมต่อไปถึงมหาสงคราม ณ ทุ่งกุรุเกษตร นามว่า “ศึกมหาภารตะ” อีกด้วย การที่ พระกฤษณะเข้าไปมีส่วนร่วมกับมหาสงคราม ก็เนื่องจากว่า ท้าวเธอเป็นญาติกับสองพี่น้องเการพและปาณฑพนั้นเอง แต่ดูท่าแล้วจะเอนเอียงไปทางฝ่ายปาณฑพเสียเป็นส่วนมาก ในคราที่เหล่าพี่น้องปาณฑพแพ้สกาจนต้องเสียเมืองและถูกเนรเทศเข้าสู่ป่าเป็นเวลา 13 ปี ด้านพระกฤษณะเองก็แวะมาเยี่ยมเยือนพี่น้องปาณฑพอยู่บ่อยๆ และพร้อมยินดีให้การช่วยเหลือเหล่าปาณฑพอย่างเต็มที่
เมื่อสงครามกำลังก่อตัว เหล่าเการพและปาณฑพต่างประสงค์ตัวพระกฤษณะให้มาร่วมช่วยเหลือกองทัพฝ่ายตนเป็นอย่างมาก จึงส่งตัวแทนไปเข้าเฝ้าพระกฤษณะที่กรุงทวารกา โดยปาณฑพส่งอรชุน ส่วนเการพมีทุรโยธน์ ซึ่งไปถึงกรุงทวารกาก่อนอรชุนเล็กน้อย เมื่อไปถึงปรากฏว่าพระกฤษณะบรรทมหลับอยู่ ทุรโยธน์จึงเข้าไปนั่งที่พระราชอาสน์ใกล้แท่นบรรทมตรงเหนือหัวพระกฤษณะ ส่วนอรชุนนั่งลงพื้นตรงใกล้ๆ เท้าของพระกฤษณะ เมื่อกฤษณะลืมตาขึ้นมาเห็นจึงเห็นอรชุนก่อน แต่ก็ต้องอึดอัดใจเมื่อในห้องไม่ได้มีแต่อรชุน ดันมีทรโยธน์อยู่ด้วย เมื่อทราบประสงค์ของการมาของทั้งสองคน และเพื่อความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย องค์กฤษณะก็ให้เลือกเอาระหว่าง
1. ตัวพระกฤษณะเอง แต่มีข้อแม้ว่าจะไม่จับอาวุธ ไม่บัญชาการรบ กับ 2. กองทัพของพระองค์อันเกรียงไกรที่ชื่อ “นารายัน” หรือ “นารายณีเสนา” ในการเลือกนั้นอรชุนมีสิทธิ์ก่อนเพราะอายุน้อยกว่า รวมถึงกฤษณะลืมตามาเห็นอรชุนก่อน ผลก็ปรากฏว่าอรชุนเลือกพระกฤษณะที่ไม่จับอาวุธ ไม่บัญชาการรบ ส่วนทุรโยธน์ได้กองทัพนารายันอันเกรียงไกรไป
เมื่อมหาสงครามเริ่มขึ้น พระกฤษณะทำหน้าที่สารถีบังคับรถม้าศึกให้แก่อรชุน แต่ทว่ายังไม่ทันไรอรชุนก็เกิดอาการหวั่นไหว วิตก จิตใจโลเลเรี่ยวแรงอ่อนล้า ไม่อยากทำการรบ เนื่องจากฝ่ายตรงข้ามนั้นเป็นบุคคลที่มีความสำคัญกับเขาทั้งหมด เช่น ภีษมะผู้เป็นพระอัยยิกา โทรณาจารย์และกฤษปาจารย์ผู้เป็นอาจารย์ ฯลฯ ความอ่อนไหวของอรชุนเป็นปัญหาในสงคราม พระกฤษณะจึงแสดงบทเพลงแห่งพระเจ้า “ภควัทคีตา” [2] แก่อรชุน เพื่อให้ตั้งมั่นในหน้าที่ของนักรบเป็นบทปลุกเร้าให้อรชุนฮึกเหิมขึ้นสู้และกระหายในสงครามอีกครั้ง บทภควัทคีตานี้นักปรัชญาบางท่านมองว่าเป็นการยุยงให้คนใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งขัดกับหลักทางพระพุทธศาสนา
แต่อย่างไรสงครามก็เกิดขึ้นและดำเนินไปได้ 3 วัน ฝ่ายเการพนำทัพโดยท้าวภีษมะขุนศึกเฒ่าผู้ชำนาญพิชัยยุทธ์สามารถบดขยี้กองทัพของฝ่ายปาณฑพจนได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ตรงกันข้ามที่ฝ่ายปาณฑพ โดยเฉพาะอรชุนนั้นกลับไม่ตั้งใจทำการศึกอย่างจริงจัง อ่อนแอไร้กำลัง และเหยาะแยะ ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของสารถีอันมีนามว่ากฤษณะเป็นอย่างยิ่ง
จนกระทั่งท้าวเธอทนไม่ไหว กระโดดลงจากรถศึกหวังจะไปสังหารขุนศึกเฒ่าภีษมะแทนอรชุนและเหล่าพี่น้องปาณฑพเสียเอง ด้วยความลืมตัวเพราะโมหะอันเกรี้ยวกราด ตอนนี้พระกฤษณะไม่ต่างกับราชสีห์ที่กำลังโกรธแค้น อรชุนเมื่อเห็นดังนั้นจึงวิ่งเข้าไปกอดขาพระกฤษณะไว้ เพื่อเตือนสติให้นึกถึงสัจจะที่ว่าจะไม่จับอาวุธทำสงครามเสียเอง พร้อมกันนั้นอรชุนปฏิญาณตนว่านับจากนี้จะรบอย่างสุดกำลัง พระกฤษณะจึงคลายโมหะ เดินกลับไปที่ม้าศึกสานต่อหน้าที่สารถีพร้อมเป่าสังข์ ทำการรบเต็มรูปแบบ
สงครามกุรุเกษตรดำเนินมาได้ 9 วัน ทั้งสองฝ่ายสู้รบได้อย่างดุเดือด ฝ่ายปาณฑพไม่สามารถโค่นฝ่ายเการพลงได้ ด้วยฝ่ายเการพมีแม่ทัพอย่างภีษมะ ยอดขุนศึกเฒ่าผู้มีความชำนาญในการรบและประสบการณ์สูงส่ง แถมยังสร้างความเสียหายให้ฝ่ายปาณฑพอยู่เนืองๆ ฝ่ายปาณฑพรู้ดีว่าหากจะกำจัดฝ่ายเการพให้ได้โดยเร็ว ต้องกำจัดภีษมะให้ได้เสียก่อน แม้จะด้วยวิธีใดก็ตาม ปฏิบัติการเล่นไม่ซื่อเพื่อทำร้ายคนแก่จึงเกิดขึ้น
วันที่ 10 ของสงคราม พระกฤษณะออกอุบายให้ศิขัณฑินแห่งเมืองปัจจาละ ลูกท้าวทุรปัทผู้เป็นเพศที่ 3 มาอยู่ข้างหน้าอรชุน ด้วยรู้ดีว่าภีษมะยึดหลักกติกาสงครามอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นนักรบวรรณะของกษัตริย์จะไม่ลักลอบทำการรบหลังพระอาทิตย์ตกดิน และที่สำคัญคือจะไม่รบกับผู้หญิงหรือเพศที่ 3 ฉะนั้นฝ่ายปาณฑพเมื่อจะสังหารภีษมะ ต้องเอาศิขัณฑินีออกบังหน้าอรชุน ได้ผลเมื่อภีษมะเห็นเข้าก็ลดอาวุธลงไม่ทำการรบ โอกาสทองจึงเปิดทางให้อรชุนแผลงศรดังห่าฝนใส่ร่างของภีษมะพรุนตั้งแต่หัวจรดเท้า จนร่วงตกจากรถม้าศึก แต่ร่างไม่ถึงพื้นเพราะคันลูกศรค้ำยันร่างของภีษมะไว้เสมือน “เตียงลูกศร” เป็นอันยุติบทบาทขุนศึกเฒ่าในครานั้น
พระกฤษณะเข้าแทรกแซงในสงครามเป็นระยะๆ คราวหนึ่งเมื่ออรชุนสู้กับท้าวชยัทรถ พระกฤษณะเกรงว่าอรชุนจะไม่สามารถสังหารท้าวชยัทรถได้ตามคำสาบานก่อนที่อาทิตย์จะตกดิน เพราะอรชุนสาบานว่าหากสังหารท้าวชยัทรถไม่ได้อรชุนจะปลิดชีพตนเอง ดังนั้นพระกฤษณะจึงใช้จักรสุทัศน์ไปบดบังแสงอาทิตย์ให้ดูมืดมิดเสมือนอาทิตย์ลับขอบฟ้า เมื่อเหล่านักรบเห็นท้องฟ้ามืดเร็วกว่าปกติ ต่างก็แหงนหน้ามองขึ้นด้วยความแปลกใจไม่เว้นแม้แต่ท้าวชยัทรถ พระกฤษณะเห็นว่านี่เป็นโอกาสเหมาะจึงบอกให้อรชุนสังหารท้าวชยัทรถเสีย อรชุนจึงบรรจงแผลงศรเสียบคอของท้าวชยัทรถขาดกระเด็นไป ทันใดนั้นท้องฟ้าก็สว่างออก เหตุการณ์นี้สร้างความตกตะลึงแก่ฝ่ายเการพจนขวัญเสียตามๆ กัน
ฝ่ายเการพเสียผู้นำสำคัญและไพร่พลไปอย่างต่อเนื่อง ต่อมาแม่ทัพที่ทำหน้าที่บัญชาการรบของฝ่ายเการพในครั้งนี้คือ โทรณาจารย์อาจารย์ผู้สอนการยิงธนูให้แก่อรชุน การสังหารโทรณาจารย์นั้นยากยิ่ง พระกฤษณะรู้ดีว่าอรชุนคงจะไม่กล้าทำการรบอย่างเต็มที่กับอาจารย์ซึ่งเคารพนับถือผู้นี้เป็นแน่แท้ พระกฤษณะรู้ว่าโทรณาจารย์รักลูกชายที่ชื่ออัศวถามาดั่งแก้วตาดวงใจ ดังนั้นจึงออกอุบายให้ฆ่าช้างชื่ออัศวถามา (ชื่อเดียวกับบุตรชายโทรณาจารย์) แล้วให้ป่าวประกาศทั่วสมรภูมิว่าอัศวถามาตายแล้ว เมื่อเรื่องนี้รู้ถึงหูโทรณาจารย์ผู้ที่กำลังรบอยู่ก็เสียใจเป็นอย่างมาก คิดว่าบุตรชายตนเองได้พลาดท่าเสียชีวิตในสนามรบเสียแล้ว จึงไม่มีเรี่ยวแรงและจิตใจจะรบอีก จากนั้นพระกฤษณะจึงกำกับยุยงให้ธฤตทยุมน์สังหารโทรณาจารย์เสียในทันที
เหตุการณ์ต่อมาเป็นเล่ห์กลอันแยบยลและเลือดเย็นอย่างยิ่งของพระกฤษณะ ซึ่งเกิดในคราวที่อรชุนทำการศึกกับคู่ปรับตลอดกาลอย่างกรรณะ [3] ด้วยกรรณะมีฝีมือการยุทธที่เป็นเลิศไม่แพ้อรชุน ทั้งยังมีหอกศักติที่สามารถปลิดชีพคนได้แค่ครั้งเดียวอีกด้วย เป็นการยากยิ่งที่จะสังหารกรรณะซึ่งๆ หน้าได้ แผนการอันเลือดเย็นดังกล่าวจึงเกิดขึ้น พระกฤษณะวางแผนให้ฆโฏตกัจ บุตรแห่งภีมะ (ซึ่งเป็นหลานของอรชุน) มาสู้กับกรรณะก่อน เพื่อบีบให้กรรณะใช้ศักติสังหารบุตรชายของภีมะแทนอรชุน กรรณะจึงหมดอาวุธวิเศษที่ใช้ได้ครั้งเดียวไป
แต่กรรณะก็หาเกรงไม่ ในระหว่างที่เขากำลังรบกับอรชุน ล้อรถรบของเขาติดหลุมโคลนไม่สามารถวิ่งต่อไปได้ เขาขอพักการต่อสู้ จากนั้นจึงลงไปพยายามที่จะยกล้อรถของเขาให้ขึ้นมา แต่ไม่สามารถขยับล้อรถได้ พระกฤษณะเห็นว่านี่เป็นโอกาสเหมาะในการสังหาร เขาจึงบอกให้อรชุนรีบลงมือสังหารเสียในตอนนี้เพราะหากสู้กันซึ่งๆ หน้าแล้วยากนักที่จะสังหารเขาได้ อรชุนจึงยกคันธนูขึ้นตามคำสั่ง และปล่อยศรเสียบคอของกรรณะยอดขุนศึกเการพสิ้นชีพไปอีกคน การสูญเสียกรรณะสร้างความหายนะและเสียใจแก่ทุรโยธน์เป็นอย่างยิ่ง
ช่วงปลายสงครามทุรโยธน์หนีสงครามไปแอบใต้กอบัวในสระน้ำไทวปายน จนกระทั่งพี่น้องฝ่ายปาณฑพตามหาจนเจอ จึงได้ขอท้าทุรโยธน์มาสู้ตัวต่อตัว ทุรโยธน์จึงขอสู้กับภีมะด้วยคทา มีพลรามและกฤษณะมาชมการต่อสู้ในครั้งนี้ด้วย การต่อสู้ดำเนินไปอย่างดุเดือด แต่หากมองกันจริงๆ แล้วทุรโยธน์นั้นเหนือกว่าภีมะมาก และกำลังจะพ่ายแพ้แก่ทุรโยธน์อยู่รอมร่อ พระกฤษณะจึงออกอุบายทำเป็นคุยกับอรชุน (คุยเสียงดัง) ถึงคราวที่ฝ่ายปาณฑพเล่นสกาแพ้ เพื่อที่จะกระตุ้นให้ภีมะนึกถึงสิ่งที่ฝ่ายเการพทำกับฝ่ายปาณฑพ รวมถึงเทราปตี มเหสีของ 5 พี่น้องปาณฑพ พร้อมบอกว่าการที่จะต่อสู้แบบยุติธรรมไม่สามารถเอาชนะทุรโยธน์ได้
อรชุนหลังจากที่คุยกับพระกฤษณะแล้ว จึงทำท่าลูบหรือตีไปที่หน้าขาของตน ส่งสัญญาณให้ภีมะ ทั้งคู่รู้ทันทีว่าสื่อถึงอะไร ทันใดนั้นเอง ภีมะก็ใช้คทาฟาดไปที่หน้าขาของทุรโยธน์ (ซึ่งการกระทำเช่นนี้ถือว่าผิดกฎ เพราะคทามีกฎว่าหามจู่โจมไปบริเวณที่ต่ำกว่าเอว)[4] จนกระดูกแตกละเอียดล้มฟุบลงกับพื้นไม่สามารถขยับได้อีก พระกฤษณะยิ้มมุมปากอย่างพอใจ ปิดฉากเจ้าชายแห่งราชวงศ์กุรุลงนับแต่นั้น
หลังสิ้นสุดสงครามด้วยชัยชนะของฝ่ายปาณฑพ พระกฤษณะสวมมงกุฎแก่ยุธิษฐีระตามที่สัญญาไว้ แต่ทว่าพระกฤษณะเองก็โดนนางคานธารีผู้เป็นมารดาของเจ้าชายเการพทั้ง 100 คน ต่อว่าในเรื่องยุยงให้เหล่าพี่น้องฆ่ากันจนเกิดสงคราม พร้อมกับสาปให้โคตรวงศ์ยาทพของพระกฤษณะฆ่ากันเอง รวมถึงให้กฤษณะมีจุดจบที่อนาถที่สุด พระกฤษณะไม่กล่าวสิ่งใดนอกจากยิ้มรับ ไม่มีใครรู้ว่าในใจคิดอะไรอยู่ แต่อีกไม่นานคำสาปของนางคานธารีก็สัมฤทธิผล โคตรวงศ์ยาทพหันมาฆ่าล้างกันเอง พระกฤษณะอนาถใจเป็นที่สุดจึงเดินเหม่อลอยเข้าไปในป่า กระทั่งถูกพรานป่ายิงลูกดอกปักข้อเท้าเสียชีวิต กรุงทวารกาก็จมดิ่งลงก้นมหาสมุทรนับแต่บัดนั้น
ถึงตรงนี้เราเห็นว่าพระกฤษณะมีความเฉียบแหลมฉลาด (แกมโกง) ในการการวางแผนเพื่อที่จะเอาชนะปานใด? ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ต่างกับท้าวศกุนิผู้เป็นลุงของฝ่ายเการพเท่าใดนัก เพียงแต่ว่าท้าวศกุนินั้นอยู่ฝ่ายผู้แพ้และตายในสงคราม ส่วนพระกฤษณะอยู่ฝ่ายผู้ชนะ (แถมมีส่วนช่วยอย่างมากต่อชัยชนะ) นี่คือเรื่องราวของมหาบุรุษแห่งยุคในอีกแง่มุมหนึ่งที่ไม่โสภานัก ทั้งนี้การที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมาจะด้วยเจตนาลบหลู่ดูหมิ่นองค์ท่านเพื่อความคึกคะนองก็หาไม่ เพียงแต่ต้องการเล่าเรื่องบางเรื่องให้เป็นแง่คิดแก่ผู้อ่านหรือแลกเปลี่ยนความรู้กันเท่านั้น ซึ่งก็อีกนั่นแหละในสังคมก็มีเลวมีดีปะปนกันไป แม้พระกฤษณะผู้ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเทพอวตารองค์หนึ่งยังมีมุมที่ไม่น่าพิสมัย นับประสาอะไรกับมนุษย์ที่ยังมีกิเลส
กล่าวได้ว่าตำนานหรือประวัติศาสตร์นั้นมักเป็นบทเรียนที่ดีให้เราได้เสมอ โดยเฉพาะบทเรียนจากการกระทำต่างๆ ของมนุษย์ ที่ถือเป็นเสน่ห์อันกลมกล่อมของมหากาพย์ที่ชื่อมหาภารตะ
อ่านเพิ่มเติม :
- “กรรณะ” วีรบุรุษฝ่ายอธรรม คู่ปรับอรชุน ผู้ถูกกีดกันจากชาติกำเนิดในศึกมหาภารตะ
- “ภควัทคีตา” คัมภีร์แห่งการนำพามวลมนุษย์ข้ามพ้นสรวงสวรรค์ ที่มา “รบเถิดอรชุน”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เชิงอรรถ :
[1] ดูเพิ่มที่ ศานติ ภักดีคำ. (2556). พระนารายณ์ ผู้ปราบยุคเข็ญแห่งโลก. กรุงเทพฯ:อมรินทร์. และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. (2514). ลิลิตนารายณ์สิบปาง. กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย
[2] ดูเพิ่มเติมได้ที่ กฤษณไทวปายนวยาส รจนา อินทรายุธ แปล. (2522). ภควัทคีตาพร้อมภาคผนวก. กรุงเทพ : ศิวาลัย.
[3] เรื่องกรรณะนั้นควรจะกล่าวสักเล็กน้อยว่าเขาเป็นพี่ชายของเหล่าปาณฑพทั้ง 5 พระกฤษณะรู้ดีแต่ปิดเรื่องนี้ไว้ไม่บอกอรชุนด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ในสงครามกรรณะเอาชนะน้องเหล่าปาณฑพ เช่น ยุธิษฐีระ ภีมะ และนกูล แต่ไม่ได้สังหารเนื่องจากให้สัญญากับกุนตีไว้ กล่าวกันว่าหลังจากที่เอาชนะนกูลได้แล้วกรรณะปล่อยตัวนกูลไป เขามองตามหลังนกูลไปและแอบร้องไห้ออกมาโดยไม่ให้ใครเห็น แต่เรื่องนี้ไม่คลาดสายตาของพระกฤษณะ จนถึงขนาดแอบยิ้มออกมา ด้วยรู้ทันทีว่ากรรณะจะไม่สังหารพี่น้องปาณฑพให้ใครในกองทัพต้องเสียขวัญ
[4] หลังจากที่เล่นนอกกฎทำร้ายทุรโยธน์ได้แล้ว ภีมะได้ทำการหยามเกียรติโดยการเดินไปใช้เท้าเหยียบหัวของทุรโยธน์ พร้อมเยาะเย้ยต่างๆ นานา จนยุธิษฐีระต้องมาห้ามปราม เหตุการณ์นี้สร้างความโกรธแก่พลรามอย่างยิ่งจนหมายจะเข้าสังหารภีมะ แต่พระกฤษณะมาดึงพลรามไว้ เหตุการณ์ในครั้งนี้สร้างรอยมลทินแก่ภีมะจนถึงวันนี้
อ้างอิง :
กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย. (2555). ศึกมหาภารตะ. กรุงเทพฯ : สยาม.
กฤษณไทวปายนวยาส รจนา อินทรายุธ แปล. (2522). ภควัทคีตาพร้อมภาคผนวก. กรุงเทพฯ : ศิวาลัย.
จรัส พยัคฆราชศักดิ์. (2521).อารยธรรมอินเดีย. มหาสารคาม:มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม.
ปีเตอร์ บรุค เขียน จักรกฤษณ์ ดวงพัตรา แปล. (2544). บทละครแปล = The Mahabharata : a play based upon the Indian classic epic. กรุงเทพฯ : อมรินทร์.
ยวาหระลาล เนห์รู เขียน กรุณา กุศลาสัย แปล. (2548. พบถิ่นอินดีย. กรุงเทพฯ : แม่คำผาง.
พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระบาทสมเด็จ. (2514). ลิลิตนารายณ์สิบปาง. กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย
รบเถิด อรชุน! เว็บไซต์ เข้าถึงได้ที่ http://ray-wat.blogspot.com/2008/11/blog-post_11.html
วีระ ธีรภัทร. (2555) เรื่องเล่าจากมหากาพย์ มหาภารตะ เล่ม 1 ตอน กำเนิดพี่น้องเการพและปาณฑพ. กรุงเทพฯ : โรนิน.
__. (2555) เรื่องเล่าจากมหากาพย์ มหาภารตะ เล่ม 2 ตอน เหตุแห่งสงครามบนทุ่งกรุเกษตร. กรุงเทพฯ : โรนิน.
__ (2555) เรื่องเล่าจากมหากาพย์ มหาภารตะ เล่ม 3 ตอนสงครามบนทุ่กุรุเกษตร. กรุงเทพฯ : โรนิน.
__. เรื่องเล่าจากมหากาพย์ มหาภารตะ เล่ม 4 ตอนอวสานสงคราม ทุ่งกุรุเกษตร. กรุงเทพฯ : โรนิน.
ศานติ ภักดีคำ. (2556). พระนารายณ์ ผู้ปราบยุคเข็ญแห่งโลก. กรุงเทพฯ : อมรินทร์.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มีนาคม 2560
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ด้านมืดของพระกฤษณะ ในศึกมหาภารตะ ที่ต่างจากแง่มุมคุณธรรม-ความดี
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com
ความเห็น 12
ตติยมฺปิ จำสิ
แบบนี้.น่าอ่านน่าศึกษา ดีๆ
12 ส.ค. 2564 เวลา 11.43 น.
ทำลาย.ร่างกายไม่เท่าทำร้ายจิตใจ..จิตเปนนายกายเปนบ่าว..จิงๆๆด้วย..
18 ก.ย 2563 เวลา 00.53 น.
ศึกสงคราม..มีแต่แพ้กับชนะ..ใช้อาวุธ.อารมณ์..ไม่ได้ใช้เหตผล..จะสู้การเจรจา..ได้ไง..โลกอารย.จึงใช้เจรจาเปนหลัก..
18 ก.ย 2563 เวลา 00.48 น.
👻M.Terapol🤪👻
🧐เหรียญมีสองด้านเสมอ😜🤪
17 ก.ย 2563 เวลา 04.38 น.
widhya
ต้องโกงจึงจะชนะ
ต้องทำทุกทางให้มีเปรียบเพื่ออยู่เหนือ
...
สังคมน่าคิดนะ
17 ก.ย 2563 เวลา 03.17 น.
ดูทั้งหมด