โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ฝากไข่ เผื่อมีลูกในอนาคต มีอะไรที่ต้องรู้อีกบ้าง

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 25 ก.ค. 2562 เวลา 04.30 น. • Motherhood.co.th Blog
ฝากไข่ เผื่อมีลูกในอนาคต มีอะไรที่ต้องรู้อีกบ้าง

ฝากไข่ เผื่อมีลูกในอนาคต มีอะไรที่ต้องรู้อีกบ้าง

สำหรับหลายๆครอบครัวที่อยากจะมีลูกแต่ยังไม่พร้อมในช่วงนี้ สมัยนี้เรามีเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ที่ช่วยให้มีลูกในวันข้างหน้าที่พร้อมกว่าได้ด้วยการ "ฝากไข่" ขณะที่ยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์และร่างกายยังสามารถผลิตไข่ที่สมบูรณ์แข็งแรงได้ ถือว่าเป็นการเก็บไข่ไว้ก่อนเพื่อรอใช้ในวันที่พร้อมจะมีลูกจริงๆนั่นเอง แต่ขั้นตอนของการฝากไข่จะมีอะไรบ้าง ต้องมีความพร้อมทางสุขภาพอย่างไร มีค่าใช้จ่ายสูงหรือไม่ รวมทั้งยังมีข้อกฎหมายที่จำเป็นต้องรู้อีกหากต้องการฝากไข่จริงๆ ติดตามอ่านกันได้เลยนะคะ

การฝากไข่คืออะไร?

เป็นวิธีการที่ผู้หญิงนำเซลล์สืบพันธุ์ของตัวเองในขณะที่มีสภาพพร้อมที่จะมีบุตรมาเก็บไว้ โดยการนำไข่มาฝากหรือแช่แข็งตามวิธีทางการแพทย์ที่อุณหภูมิต่ำถึง -150 องศาเซลเซียส เมื่อพร้อมที่จะมีบุตรแล้ว ก็นำไข่ที่ฝากไว้นี้มาละลายและนำอสุจิมาฉีดผสมให้เกิดการปฏิสนธิภายนอก พอเกิดเป็นตัวอ่อนแล้วจะนำกลับไปฝังตัวที่ผนังมดลูก เพื่อให้เจริญเติบโตเป็นทารกต่อไป

แพทย์จะเก็บไข่จากรังไข่ด้วยการใช้เข็มเล่มเล็กๆดูดไข่ออกมา
แพทย์จะเก็บไข่จากรังไข่ด้วยการใช้เข็มเล่มเล็กๆดูดไข่ออกมา

วิธีนี้เหมาะกับใคร?

ผู้ที่ควรฝากไข่มักเป็นผู้ที่ยังไม่ต้องการมีบุตรหรือแต่งงานช้า รวมทั้งผู้หญิงที่ผ่าตัดเอารังไข่ออกไปแล้วหรือจะต้องมีการผ่าตัดรังไข่เพื่อรักษาอาการบางอย่าง ผู้หญิงที่มีประวัติว่าจะมีโอกาสเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็วหรือมีปัญหาด้านพันธุกรรมที่ส่งผลให้รังไข่เสื่อมการทำงานเร็ว ก็สามารถนำไข่ไปฝากไว้ก่อนได้ รวมทั้งผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยจากโรคบางอย่าง เช่นเป็นมะเร็งที่จะต้องรักษาโดยการฉายแสงและทำเคมีบำบัด ซึ่งจะส่งผลให้ไข่ต้องถูกทำลายไปด้วย ก็สามารถนำไข่ไปฝากไว้ก่อนที่จะเริ่มต้นรับการรักษามะเร็งตามขั้นตอน

ทำตอนอายุเท่าไหร่ดี?

สามารถทำได้ทุกช่วงอายุ แต่จะได้จำนวนไข่มากและมีคุณภาพสูงกว่าหากทำเมื่ออายุน้อยกว่า 35 ปี หากอายุยิ่งมากขึ้น อัตราความสำเร็จของการมีบุตรจากไข่ที่ฝากไว้ก็จะยิ่งลดลง และอาจจำเป็นต้องได้จำนวนไข่มากขึ้น ซึ่งคุณภาพก็ลดลงด้วย จึงแนะนำให้ใช้ไข่แช่แข็งก่อนอายุ 50 ปี เนื่องจากจะพบภาวะแทรกซ้อนมากหากตั้งครรภ์ในช่วงอายุที่มากกว่านี้

ข้อดีของการนำไข่ไปฝาก

ถือเป็นการเตรียมตัวเพื่อคุณภาพของไข่และตัวอ่อนที่ดีขึ้น อาจช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์และอาจลดความเสี่ยงต่อโรคทางพันธุกรรมที่ผิดปกติของตัวอ่อน โดยเฉพาะผู้ที่มีเนื้องอก หรือถุงน้ำที่รังไข่ ช็อคโกแลตซีสต์ ซึ่งเมื่อโรคลุกลามขึ้นในอนาคต รังไข่อาจถูกทำลายจนด้อยคุณภาพในการผลิตไข่ที่ดี ยิ่งถ้าเกิดเป็นมะเร็งรังไข่ อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเอารังไข่ทั้งสองข้างออก หรือทำการรักษาด้วยการฉายรังสีหรือเคมีบำบัด สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการทำลายรังไข่โดยสิ้นเชิง การนำไข่ไปฝากไว้ก่อนย่อมช่วยให้ผู้ป่วยมีลูกได้ด้วยพันธุกรรมของตนเอง

ข้อเสียของการนำไข่ไปฝาก

อาจจะไม่คุ้มค่าเท่าไหร่นัก เนื่องจากวิธีการนี้มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง รวมถึงยังมีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากยากระตุ้นไข่ และการดมยาโดยไม่จำเป็น ส่วนไข่ที่ยังแช่แข็งไว้ก็ยังไม่มีการยืนยันว่าหลังจากละลายออกมาใช้ในอนาคตแล้วจะยังคงมีคุณภาพเท่าเดิมหรือไม่ ยิ่งถ้าในอนาคตหากไม่ได้แต่งงาน หรือคู่สมรสมีปัญหาเรื่องคุณภาพอสุจิที่ไม่ดีอยู่แล้ว ก็อาจส่งผลให้ตัวอ่อนมีคุณภาพไม่ดีพอที่จะตั้งครรภ์ได้

นำไข่ที่เก็บมาแล้วไปแช่เย็นในอุณภูมิ -70 ถึง -150 องศาเซลเซียส
นำไข่ที่เก็บมาแล้วไปแช่เย็นในอุณภูมิ -70 ถึง -150 องศาเซลเซียส

ขั้นตอนและวิธีการ

จะเริ่มทำได้หลังจากผู้หญิงได้รับการกระตุ้นเพื่อให้ผลิตไข่ที่แข็งแรงและมีปริมาณมากพอ โดยแพทย์จะทำการดูดเก็บไข่ด้วยการให้ยานอนหลับในเวลาสั้นๆ จากนั้นจะสอดเครื่องมือเข้าทางช่องคลอด แล้วใช้เข็มเล็กๆดูดไข่ออกมาจากรังไข่ ซึ่งจะต้องทำในช่วงเวลาก่อนไข่ตกเท่านั้น

ขั้นตอนทั้งหมดกินเวลาไม่นาน เมื่อได้ปริมาณไข่ตามต้องการแล้ว จะนำไปเก็บไว้ในตู้เย็นแบบพิเศษที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า -70 ถึง -150 องศาเซลเซียส และเก็บรักษาไว้ในไนโตรเจนเหลวอีกชั้นหนึ่ง เป็นการหยุดอายุและคุณภาพของไข่ไว้จนกว่าผู้ฝากไข่จะต้องการมีบุตร และหลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนแล้ว ก็สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติโดยที่ไม่มีข้อจำกัดใดๆ

การแช่แข็งเซลล์ไข่ (Egg Freezing)

ในอดีตการแช่แข็งเซลล์ไข่ถือว่าเป็นไปได้ยากมาก เพราะเซลล์ไข่นั้นมีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกายมนุษย์ และมีน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก แต่เดิมนิยมทำการแช่แข็งด้วยการลดอุณหภูมิลงอย่างช้าๆ (Slow Freezing) เมื่ออุณหภูมิลดลงจนถึงจุดเยือกแข็ง จะเกิดผลึกน้ำแข็งขึ้นในเซลล์ไข่ ซึ่งทำอันตรายให้โครงสร้างของเซลล์เสียหาย อัตราความสำเร็จจึงต่ำ

ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคนิคให้ดีขึ้นโดยการแช่แข็งแบบผลึกแก้ว (Vitrification) โดยใช้สารรักษาความเย็นเข้ามาแทนที่น้ำในเซลล์ไข่และลดอุณหภูมิของเซลล์ได้รวดเร็วมาก จนไม่เกิดผลึกน้ำแข็งขึ้นในเซลล์เหมือนแต่ก่อน จึงทำให้มีอัตราความสำเร็จสูงมาก

การเตรียมตัว

เริ่มต้นที่การปรึกษาแพทย์เพื่อซักประวัติ และมีการให้ยาเพื่อกระตุ้นให้ผลิตไข่จนได้ปริมาณมากพอที่ 10-20 ฟอง โดยจะฉีดยากระตุ้นให้ 4-5 วัน จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจร่างกายเพื่อดูจำนวนไข่และบริเวณที่ไข่อยู่ รวมทั้งสภาพของไข่ว่าแข็งแรงพอหรือไม่ หากพร้อมแล้ว แพทย์จึงจะทำการเก็บไข่ประมาณวันที่ 2-3 ของการมีประจำเดือน

เซลล์ไข่สามารถแช่แข็งไว้นานแค่ไหน?

ตามหลักการแล้ว เราสามารถแช่แข็งเซลล์ไข่ไว้ได้นานตราบเท่าที่ยังมีสารรักษาความเย็นเพียงพอ มีข้อมูลว่าไข่ที่เก็บแช่ไว้เป็นเวลา 14 ปี เมื่อนำมาใช้ก็ประสบความสำเร็จดี

เด็กที่เกิดจากไข่ที่นำไปแช่เย็นฝากไว้ก็มีสุขภาพที่แข็งแรงดี
เด็กที่เกิดจากไข่ที่นำไปแช่เย็นฝากไว้ก็มีสุขภาพที่แข็งแรงดี

ผลข้างเคียงของการแช่แข็งเซลล์ไข่

การแช่แข็งเซลล์ไข่นับว่าปลอดภัยมาก ไม่ได้เป็นสาเหตุให้จำนวนไข่ในร่างกายลดลงหรือจะเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนเร็วขึ้นแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการนำเอาไข่ที่จะต้องสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ในแต่ละรอบเดือนมาเก็บแช่เย็นไว้ อาจพบภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป (Ovarian Hyperstimulation Syndrome - OHSS) จากการให้ฮอร์โมน ซึ่งจะทำให้รังไข่บวมและมีอาการเจ็บปวด พร้อมทั้งมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้อง ภาวะนี้จะพบได้ในผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอายุ 20-30 ปี และพบได้ราว 5% เท่านั้น แต่หากเป็นกรณีที่สาหัสมากจริงๆ ก็จะมีความเสี่ยงกับอาการไตวาย ลิ่มเลือดอุดตัน หรือเสียชีวิตได้ นอกจากการเจาะเก็บไข่อาจจะทำให้เลือดออกได้ในบางราย หรือการติดเชื้อ แต่ก็สามารถพบได้น้อยมาก

เด็กที่เกิดจากไข่แช่แข็งจะมีความผิดปกติหรือไม่?

เด็กที่เกิดมาจากวิธีแช่แข็งไข่คนแรกของโลก เกิดในปีพ.ศ. 2529 ปัจจุบันแข็งแรงดี เป็นการยืนยันว่าการแช่แข็งไข่มีความปลอดภัยไม่เพิ่มโอกาสของความผิดปกติในโครโมโซมหรือมีความพิการแต่อย่างใด เมื่อเทียบกับการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติซึ่งพบเพียง 1-2%

สามารถรับบริการได้ที่ใดบ้าง?

สามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลของรัฐ เช่น รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.ธรรมศาสตร์ รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รพ.พระมงกุฎฯ ส่วนที่โรงพยาบาลเอกชน เช่น รพ.วิภาวดี รพ.วิชัยยุทธ

ราคาประมาณไหน?

การนำไข่ไปฝากจะมีราคาประมาณ 100,000-150,000 บาท ซึ่งราคาจะต่ำหรือสูงก็ขึ้นอยู่กับว่าเลือกฝากที่โรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชน และยังมีค่าฝากรายปีอีกประมาณ 1,500-2,000 บาทต่อปี

เทคโนโลยีที่ใช้ลดอุณหภูมิเพื่อแช่เซลล์ไข่พัฒนาขึ้นมากจากอดีต
เทคโนโลยีที่ใช้ลดอุณหภูมิเพื่อแช่เซลล์ไข่พัฒนาขึ้นมากจากอดีต

ข้อจำกัดทางกฎหมายที่ควรรู้

ก่อนที่จะตัดสินใจนำไข่ไปฝาก ควรจะศึกษาข้อจำกัดทางกฎหมายไว้ด้วย ซึ่งกฎหมายของประเทศไทยอนุญาตให้ทำได้ใน 2 กรณี  คือ

  • ฝากไว้ใช้กับตัวเองเท่านั้น กฎหมายเมืองไทยอนุญาตให้ผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นโรคทำการเก็บไข่ไว้ได้ แต่ต้องเก็บไว้เพื่อใช้ในอนาคตกับตัวเองเท่านั้น กล่าวคือ ไข่ที่ตัวเองเก็บไว้จะใช้ได้เฉพาะกับเจ้าของไข่เท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้กับคนอื่นได้ โดยเมื่อต้องการนำไข่ที่เก็บหรือฝากไว้มาใช้ ผู้หญิงคนนั้นจะต้องแต่งงานมีครอบครัวที่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงจะนำไข่ที่แช่แข็งมาละลายเพื่อผสมกับอสุจิจากสามีที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น เพราะกฎหมายไทยไม่อนุญาตให้เก็บไข่ตัวเองเพื่อนำไปใช้ในการอื่นๆ เช่น บริจาคให้ญาติพี่น้องที่มีลูกไม่ได้
  • ฝากล่วงหน้าในกรณีที่ป่วยหรือเป็นโรค การรักษาโรคบางอย่างอาจส่งผลกระทบต่อรังไข่ เช่น ในผู้หญิงบางคนที่เป็นโรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง จำเป็นต้องให้ยา ฉายแสง หรือทำเคมีบำบัดในการรักษา ซึ่งวิธัการที่ใช้รักษาโรคทั้งสองกลุ่มนี้ บางชนิดส่งผลทำลายรังไข่ได้ ผู้ป่วยจะได้รับยาที่มีผลกระทบต่อรังไข่ จนทำให้รังไข่เสี่ยงต่อการถูกทำลาย หรือร่างกายอาจผลิตไข่ไม่ได้อีกเลย ผู้ป่วยกลุ่มนี้เมื่อต้องการเป็นแม่ก็จะมีลูกไม่ได้  ดังนั้น การเก็บไข่ตัวเองไว้ก่อนทำการรักษาโรค จะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียโอกาสในการมีลูก และแพทย์ก็จะสามารถทำวิธีต่างๆในการรักษาได้เต็มที่ เพื่อให้โรคหายขาด โดยต้องไม่กังวล เพราะผู้ป่วยได้เก็บไข่ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

ก็ได้รับทราบรายละเอียดกันไปแล้วสำหรับขั้นตอนของการฝากไข่ หากสนใจที่จะใช้บริการจริงๆ ต้องคิดให้รอบคอบก่อน เพราะค่าใช้จ่ายในการทำถือว่าค่อนข้างสูงเหมือนกันค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0