หลายคนอาจจะพอทราบกันอยู่แล้วว่า “วาฬ ≠ ปลาวาฬ” เนื่องจากวาฬ (Whale) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเล (Marine Mammal) ในขณะที่ปลา (Fish) เป็นสัตว์น้ำทั่วไปที่มักขยายพันธุ์ด้วยการวางไข่ แต่เนื่องด้วยเรามักจะติดเรียกสัตว์ที่อาศัยอยู่ใต้ทะเลด้วยคำว่า “ปลา” นำหน้าเสมอทำให้ “วาฬ” ถูกเรียกว่า “ปลาวาฬ” และทำให้บางคนเข้าใจผิดว่าเป็นมันปลาประเภทหนึ่ง เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างพะยูน ที่ไม่ได้เป็น “ปลาพะยูน” นอกจากนี้แล้ว สัตว์ทะเลอย่าง “หมึก (Squid) และ หมึกยักษ์ (Octopus)” ที่เป็นสัตว์ลำตัวนิ่มที่ไม่ได้มีรูปร่างคล้ายคลึงกับปลาแต่อย่างใด เราก็มักติดคำเรียกว่า “ปลาหมึก” ตามไปด้วย
แน่นอนว่าสัตว์อย่าง“วาฬเพชรฆาต (Killer Whale)” หรือ Orca (ขอเรียกแทนวาฬเพชรฆาตว่า Orca) ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Orcinus Orca จัดได้ว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในท้องทะเล (Marine Mammal) ชนิดหนึ่งนั้นก็ไม่ใช่ปลาด้วยเช่นกัน แต่นอกเหนือไปกว่านั้น มันยังไม่ได้เป็นหนึ่งใน “วาฬ” และจัดได้ว่าเป็นสัตว์ตระกูลเดียวกับโลมาต่างหาก!
ภาพจาก : https://www.irishmirror.ie/news/weird-news/amazing-photos-orca-whale-time-6615092
ที่มาของชื่อ "วาฬเพชรฆาต (Killer Whale)"
ถึงแม้ว่า Orca จะอยู่ในอันดับย่อย (Infraorder) Cetacea เช่นเดียวกับวาฬ และจัดได้ว่าอยู่ใน Parvorder ประเภทOdontoceti (Toothed Whale) หรือวาฬที่มีฟันก็ตาม แต่ Orca นั้นอยู่ในตระกูล (Family) Delphinidae ประเภทเดียวกับโลมา ที่มีสกุล (Genus) Ornicus เป็นสกุลเฉพาะตัวของมันเอง ซึ่งจากการไล่ตามลำดับของอนุกรมวิธาน (Taxonomy) นับได้ว่ามันเป็นญาติใกล้ชิดกับโลมา และเป็นเพียงแค่ญาติเผ่าพันธุ์ใกล้เคียงกับวาฬเพียงเท่านั้น
และ Orca ยังมีพฤติกรรมและนิสัยบางอย่างที่คล้ายกับโลมา เช่น การว่ายน้ำที่มันจะปล่อยคลื่นความถี่ต่ำให้เกิดการสะท้อนกลับเพื่อประเมินระดับความลึกของพื้นและระยะห่างจากเส้นชายฝั่งทะเล ซึ่งก็ได้ใช้คลื่นความถี่สะท้อนกลับนี้เพื่อช่วยในการล่าเหยื่อและการระวังภัย นอกจากนี้มันยังมีนิสัยชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงและร่วมกันล่าเหยื่ออีกด้วย โดยเราจะสามารถพบเห็น Orca ได้ในทะเลน้ำตื้นบริเวณใกล้ชายฝั่งทั่วโลก เว้นแต่ในทะเลบอลติก (Baltic) , ทะเลดำ (Black sea) และบางส่วนของมหาสมุทรอาร์กติก เพียงเท่านั้น ในขณะที่สัตว์จำพวก Cetacea ประเภทอื่นๆ มักจะชื่นชอบในการอาศัยอยู่ในทะเลน้ำลึก
ส่วนเหตุผลของชื่อ วาฬเพชรฆาต (Killer Whale) นี้น่าจะเกิดขึ้นมาจากการที่นักเดินเรือและนักล่าวาฬ (Whalers) เห็นพฤติกรรมการล่าเหยื่อของมันที่มักจะล่าวาฬบาลีน (วาฬไม่มีฟัน เช่น วาฬหลังค่อม, วาฬสีน้ำเงิน เป็นต้น) เป็นอาหาร จึงพากันเรียกว่า “นักล่าวาฬ (Whales Killer)” จนเพี้ยนมาเป็นชื่อ “วาฬเพชรฆาต (Killer Whale)” ในที่สุด จนทำให้มีหลายคนเข้าใจผิดว่ามันเป็นหนึ่งในตระกูลวาฬนั่นเอง และมันยังได้ชื่อว่าเป็น “หมาป่าแห่งท้องทะเล (Wolves of the sea)” จากพฤติกรรมการล่าเหยื่อเป็นฝูงของมันอีกด้วย
ประเภทของ Orca
ซึ่งความจริงแล้ว Orca ไม่ได้ล่าเฉพาะแค่วาฬเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันยังล่าสัตว์จำพวกปลาทะเล, หมึก, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลอย่างสิงโตทะเล, แมวน้ำ หรือเพนกวิน และล่าสัตว์ที่เป็นนักล่าด้วยกันเองอย่างโลมาและฉลามอีกด้วย โดยเราจะสามารถแบ่ง Orca ออกได้เป็นประเภทย่อยอีก 3 ประเภทตามขนาด, ลักษณะฟัน, กระโดงหลัง และพฤติกรรมการล่าเหยื่อ ดังนี้
- Transient เป็น Orca ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีฟันลักษณะโค้งและแหลม กระโดงหลังมีลักษณะตรงและโค้งขึ้น* มักจะล่าสัตว์ทะเลขนาดกลางและใหญ่เป็นอาหาร เช่น แมวน้ำ, โลมา, สิงโตทะเล, วาฬ หรือแม้กระทั่งฉลาม โดยมันมักจะมีพฤติกรรมการล่าสัตว์เป็นฝูงขนาดเล็กที่ใช้คลื่นความถี่ต่ำในการสื่อสาร
ลักษณะฟันของ Orca แบ่งตามประเภท
ภาพจาก : https://sites.psu.edu/apassion/2017/08/21/orcas/
- Resident เป็น Orca ที่มีฟันตรงยาวและค่อนข้างแหลม กระโดงหลังมีลักษณะโค้งและมนที่สุด* ที่มักจะล่าสัตว์จำพวกปลาขนาดกลางและเล็ก รวมทั้งสัตว์จำพวกหมึกเป็นอาหาร
ลักษณะกระโดงหลังของ Orca ประเภทต่างๆ
ภาพจาก : https://www.researchgate.net/figure/Examples-of-dorsal-fins-and-saddle-patches-of-resident-transient-and-offshore-killer_fig6_237443079
- Offshore เป็น Orca ที่พบได้น้อยที่สุด มีขนาดเล็กที่สุดเมื่อเทียบกับ Orca ประเภทอื่นๆ ลักษณะคล้ายฟันตัด กระโดงหลังเฉียงโค้งขึ้น* แต่ในส่วนของพฤติกรรมการล่าเหยื่อยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก แต่คาดว่าน่าจะล่าสัตว์จำพวกปลา และฉลาม
*ทั้งนี้ ลักษณะของกระโดงหลังของ Orca แต่ละตัวจะมีลักษณะเฉพาะตัวเป็นของตัวเอง แต่ลักษณะกระโดงหลังของเพศเมียจะมีลักษณะโค้งและมนมากกว่าเพศผู้โดยกำเนิด
นอกเหนือไปจากการล่าสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเลแล้ว Orca ยังล่าสัตว์อื่นๆ อย่างหมีขั้วโลก, นกทะเล, เพนกวิน หรือแม้กระทั่งกวางมูสที่อาศัยอยู่บนบกอีกด้วย (ไม่ได้หมายความว่ามันขึ้นบกมาเพื่อไล่งับหมีขั้วโลกหรือกวางมูสหรอกนะ แต่มันไล่จู่โจมสัตว์บกที่ลงมาว่ายน้ำต่างหาก) ซึ่งในกรณีนี้ นักสัตววิทยาคาดการณ์ว่าพวกมันน่าจะจู่โจมสัตว์เหล่านี้เป็น “การหยอกล้อเพื่อความบันเทิง” เพียงเท่านั้น เพราะOrca ค่อนข้างเป็นสัตว์ที่เลือกกินอยู่พอสมควร ซึ่งเมื่อดูจากการที่มันล่าวาฬเพื่อกินแค่ “ลิ้น” ของวาฬ และล่าฉลามเพื่อกินเฉพาะ “ตับ” ก็ยืนยันในเรื่องนี้ได้มากเลยทีเดียว
Orca “หยอกล้อ” กับเพนกวิน
ภาพจาก : https://www.aboutanimals.com/mammal/killer-whale/
และด้วยพฤติกรรม “เลือกกิน” นี้ทำให้มนุษย์ไม่ใช่เหยื่อของมันเช่นกัน เพราะยังไม่เคยมีรายงานว่ามีมนุษย์คนใดถูก Orca จู่โจมร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต มีเพียงแค่รายงานว่าถูกกัดแบบไม่รุนแรงเพียงเท่านั้น
คลิกเพื่อซ่อนหรือแสดงข้อความ
ส่วนในกรณีของ Tilikum Orca ที่ถูกจับมาแสดงโชว์ในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ (Capative Orca) ที่เคยมีข่าวว่ามันเข้าไปพัวพันกับการเสียชีวิตของมนุษย์ถึง 3 คน โดยในปี 1991 ในขณะที่มันอาศัยอยู่ใน Sealand of the Pacific (ในเมือง British Columbia ประเทศแคนาดา) ได้มีนักศึกษาที่มีชื่อว่า Keltie Byrne พลัดตกลงไปในบ่อโดยบังเอิญ ซึ่ง Tilikum และ Orca อีก 2 ตัวก็ยื้อไม่ให้ Keltie ว่ายขึ้นมาจากบ่อจนทำให้เธอขาดอากาศหายใจตายในที่สุด (หลังจากนั้น Tilikum ก็ถูกย้ายไปที่ Seaworld ในเมือง Orlando รัฐ Florida ประเทศสหรัฐอเมริกาแทน) และในปี 1999 ก็มีการพบศพของนักท่องเที่ยวคนหนึ่งบนหลังของ Tilikum โดยผลการชันสูตรพบว่าเสียชีวิตจากการจมน้ำ (คาดว่านักท่องเที่ยวคนนี้น่าจะรอเวลาให้สวนน้ำปิดเพื่อที่จะได้แอบมาเล่นกับ Tilikum ตามลำพัง) ต่อมาในปี 2010 Tilikum ก็ได้ลากครูฝึก (Trainer) ของมันลงไปในน้ำจนขาดอากาศหายใจ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นการโจมตีอย่างรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตแต่อย่างใด
ภาพจาก : https://www.nationalgeographic.com/news/2017/01/tilikum-seaworld-orca-killer-whale-dies/
และด้วยชื่อเสียงของ Tilikum ทำให้เกิดภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า Blackfish ขึ้นในปี 2013 ซึ่งหลังจากที่ภาพยนตร์นี้ฉายก็ทำให้ยอดเข้าชม Seaworld ลดต่ำลงอย่างมากและมีกระแสเรียกร้องให้ปล่อย Tilikum กลับไปสู่ท้องทะเล แต่ด้วยความที่มันถูกจับมาจากทะเลตั้งแต่ยังเล็กและใช้ชีวิตอยู่ในบ่อตั้งแต่อายุ 2 ขวบจึงทำให้การปล่อยกลับสู่ทะเลเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม จากกระแสสังคมก็ทำให้ทาง Seaworld ออกมาประกาศยกเลิกการแสดง Orca ลงในปี 2015 และยุบโครงการเพาะพันธุ์ Orca ในปี 2016
คาดว่าอีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนน่าจะสงสัยเกี่ยวกับ Orca ก็คือ “ตำแหน่งของลูกตา” ของมัน เพราะจุดขาวๆ บนหน้าของมันไม่ใช่ลูกตาจริง แต่เป็น “ลูกตาหลอก (Eyespot)” เพื่อช่วยในการล่าเหยื่อ เพราะส่วนมากแล้วสัตว์ที่ถูกล่ามักจะโจมตีกลับไปยังบริเวณ “ลูกตา” ของนักล่าเพื่อหนีเอาตัวรอด การที่ Orca มีลูกตาหลอกนี้ก็ช่วยในเรื่องนี้ได้มากเลยทีเดียว ส่วนตำแหน่งของลูกตาที่แท้จริงของ Orca นั้นซ่อนตัวอยู่ที่พื้นที่สีดำถัดจากลูกตาหลอกเพียงนิดเดียว โดยขนาดของลูกตาที่แท้จริงของมันมีขนาดประมาณเท่าๆ กับลูกตาของวัว
ภาพจาก : http://www.pacific-landscapes.com/-/galleries/orcas/-/medias/5ece4b5f-8a95-497b-ae83-9f3b04cc89a7-orcas-on-the-crest
สรุปแล้ว “วาฬเพชรฆาต (KiIler Whale)” ไม่ได้เป็น “วาฬ” แต่มันเป็นเพียงแค่ฉายาของ Orca เท่านั้น แต่ในคำภาษาไทยแล้วยังไม่มีคำแปลของชื่อ Orca แต่อย่างใด จะให้เขียน (หรือพิมพ์) ว่า “ออก้า” ก็ดูแปลกๆ อยู่ดี เอาเป็นว่าเราจะขอเรียกสัตว์ชนิดนี้ว่า Orca ต่อไปก็แล้วกัน..
ความเห็น 1
Golf Carabao
เพชฌฆาต สะกดแบบนี้ครับ เห็น LINE Today มีสะกดผิดบ่อย ๆ อยากให้ใส่ใจกับเรื่องนี้มากขึ้นครับ
15 ต.ค. 2564 เวลา 00.26 น.
ดูทั้งหมด