โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

มงคลปีใหม่ ไหว้ “พระธาตุศรีจอมทอง” พระธาตุประจำปีชวด

Manager Online

เผยแพร่ 01 ม.ค. 2563 เวลา 02.10 น. • MGR Online

Youtube :Travel MGR

เริ่มต้นศักราชใหม่ ถือเป็นโอกาสนิมิตรหมายอันดีที่จะเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ในชีวิต และสิ่งหนึ่งที่ชาวพุทธถือปฏิบัติกันในช่วงปีใหม่ก็คือการไปกราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

สำหรับชาวล้านนานั้นมีความเชื่อเรื่อง “พระธาตุประจำปีเกิด” โดยเชื่อว่าก่อนที่วิญญาณจะมาปฏิสนธิในครรภ์ของผู้เป็นมารดา วิญญาณจะลงมา “ชุธาตุ” ซึ่งหมายถึงการที่ดวงวิญญาณจะลงมาพักอยู่ที่เจดีย์แห่งใดแห่งหนึ่ง โดยมี ตั๋วเปิ้ง (สัตว์ประจำนักษัตร) พามาพักไว้ และเมี่อได้เวลา ดวงวิญญาณก็จะเคลื่อนจากพระเจดีย์ ไปสถิตอยู่บนกระหม่อมของผู้เป็นบิดาเป็นเวลา 7 วัน ก่อนที่จะเคลื่อนเข้าสู่ครรภ์ของมารดา และเมื่อเสียชีวิตลงแล้ว ดวงวิญญาณก็จะกลับไปพักอยู่ที่เจดีย์นั้นๆ ตามเดิม

ดังนั้นการมีโอกาสได้ไปกราบไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตนอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ก็เชื่อว่าจะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต อีกทั้งเชื่อว่าเมื่อตายไป ดวงวิญญาณจะได้กลับไปยังพระธาตุองค์นั้น ไม่ต้องเร่ร่อนไปในทุคคติภพ

สำหรับในปี 2563 นี้ ถือเป็นปีนักษัตรปีชวด (หนู) ตามความเชื่อของชาวล้านนา ผู้ที่เกิดในปีนักษัตรนี้จะต้องไปกราบไหว้บูชา “พระธาตุศรีจอมทอง” ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ 58 ก.ม. ซึ่งบริเวณนี้เรียกว่าดอยจอมทองมาแต่โบราณ

ตามตำนานเล่าว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมายังบริเวณนี้และตรัสว่าในอนาคตที่นี่จะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุของพระองค์ ได้แก่ พระบรมธาตุส่วนทักษิณโมลีธาตุจอมหัวเบื้องขวา ธาตุกระดูกด้ามมีด (ไหปลาร้า) เบื้องขวา และพระธาตุย่อยอีก 5 องค์ และที่นี่จะเป็นที่ตั้งพระพุทธศาสนาอันรุ่งเรืองสืบไป

และตำนานยังกล่าวถึงพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ชาวอินเดีย องค์เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก ว่าเป็นผู้อัญเชิญพระบรมธาตุมาประดิษฐานไว้ที่ดอยจอมทองตั้งแต่ พ.ศ. 218 โดยได้เสด็จมาอัญเชิญพระบรมธาตุสู่คูหาใต้พื้นดอยจอมทอง จนมีการก่อสร้างสถาปนาวัดพระธาตุศรีจอมทอง และมีการค้นพบพระบรมธาตุในกาลต่อมา

ในพ.ศ.2060 เมื่อครั้งที่พระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิ (พระเมืองแก้ว) เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ขณะนั้นจอมทองเป็นส่วนหนึ่งของล้านนา พระเมืองแก้วได้ทรงรับสั่งให้มีการปฏิสังขรณ์ปลูกสร้างพระวิหาร 4 มุขหลังหนึ่ง ยึดตามแบบของวิหารวัดศรีภูมิในตัวเมืองเชียงใหม่แล้วสั่งให้ก่อปราสาทหลังหนึ่งในเหมือนปราสาทอันมีอยู่ในพระอุโบสถวัดมหาโพธิหลวง (วัดเจ็ดยอด) เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ

จากนั้นรับสั่งให้ช่างทองสร้างโกศทองคำเพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ ทรงประกอบพิธีสมโภชเฉลิมฉลอง และอัญเชิญพระบรมธาตุเข้าไว้ในโกศทองคำ และประดิษฐานไว้ในมณฑปปราสาทนั้น และได้พระราชทานวัตถุไทยทานและเครื่องแห่ไว้กับพระบรมธาตุเจ้าเป็นอันมาก ทั้งยังถวายข้าทาสและที่นาให้แก่วัด เรียกว่า “ข้าพระธาตุ” เพื่อให้คนเหล่านั้นอยู่ดูแลรักษาทำนุบำรุงพระบรมธาตุและวัดสืบไป

เรียกได้ว่าพระบรมสารีริกธาตุแห่งวัดพระธาตุศรีจอมทองนี้อยู่ใกล้ชิดกับพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างมาก โดยพระบรมธาตุองค์อื่นๆ มักจะประดิษฐานอยู่ในสถูปหรือเจดีย์ แต่พระทักขิณโมลีธาตุประดิษฐานอยู่ในโกศภายในมณฑปปราสาทในวิหารหลวงของวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร และยังเปิดให้ประชาชนได้สรงน้ำสักการะทุกปีเป็นประจำในช่วงวันสำคัญทางศาสนา อาทิ วันมาฆบูชา วันสงกรานต์ วันวิสาขบูชา เป็นประเพณีสำคัญที่ชาวจอมทองและชาวเชียงใหม่จะมาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก

เมื่อมายังวัดพระธาตุศรีจอมทองแล้ว จะได้พบกับเจดีย์สีทองอร่ามหรือ “พระเจดีย์ศรีจอมทอง” ที่สร้างด้วยศิลปะล้านนา บริเวณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า “ยกเก็จ” ส่วนบริเวณยอดเป็นฐานทรงกลมซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้นตามแบบที่นิยมในล้านนา

ส่วนที่อยู่ติดกันคือพระวิหารหลวงทรงจตุรมุขอันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ องค์พระธาตุนั้นบรรจุอยู่ในโกศทองคำ ซึ่งประดิษฐานอยู่บนมณฑปปราสาท หรือ “กู่” ซึ่งเป็นอาคารขนาดเล็กสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปหรือพระบรมธาตุ มีประตู 4 ด้าน หลังคาหลายชั้นซ้อนกันมียอดแหลมงดงามยิ่งนัก โดยกู่นี้เปรียบเสมือนปราสาทที่ประทับของพระพุทธเจ้านั่นเอง ประชาชนสามารถเข้าไปสักการะพระบรมธาตุภายในวิหารหลวงกันได้

ส่วนอีกด้านหนึ่งของพระเจดีย์ศรีจอมทองคือพระอุโบสถซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมทรงไทยหลังคาซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น หน้าบันลงรักปิดทอง บริเวณประตูทางเข้าพระอุโบสถได้มีการฝังสิ่งศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ตามความเชื่อของชาวล้านนาจึงห้ามผู้หญิงขึ้น

และนอกจากการสรงน้ำพระธาตุซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของทุกๆ ปีแล้ว ที่วัดพระธาตุศรีจอมทองก็ยังมีประเพณี “แห่ไม้ค้ำโพธิ์” หรือ “ไม้ค้ำสะหลี” ในช่วงวันปีใหม่เมืองหรือวันสงกรานต์อีกด้วย โดยมีการจัดงานประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์มายาวนานถึง 200 กว่าปีแล้ว ซึ่งการถวายไม้ค้ำโพธิ์นอกจากจะเป็นการค้ำยันกิ่งต้นไม้ไม่ให้ล้มแล้ว ยังมีความหมายไปถึงการค้ำชูพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวสืบต่อไป อีกทั้งเชื่อกันว่ากุศลในการถวายไม้ค้ำโพธิ์จะช่วยคุ้มครองดวงชะตาให้เจริญขึ้น ไม่ตกต่ำ มีคนช่วยเหลือค้ำชูไปตลอด

สำหรับผู้ที่เกิดปีชวด (หนู) หรือผู้ที่เกิดในปีนักษัตรอื่นๆ ก็สามารถมากราบไหว้พระบรมธาตุและพระธาตุประจำปีเกิดปีชวดได้ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง เพื่อให้เกิดเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เพื่อสร้างความสงบสุขในจิตใจ อีกทั้งยังจะได้ชมศิลปะล้านนาที่งดงามภายในวัดอีกด้วย

สำหรับพระธาตุประจำปีเกิดทั้ง 12 ปีนักษัตร มีดังนี้ พระธาตุประจำปีชวด(หนู) - พระธาตุศรีจอมทอง จ.เชียงใหม่ พระธาตุประจำปีฉลู(วัว) - พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง พระธาตุประจำปีขาล(เสือ) - พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ พระธาตุประจำปีเถาะ(กระต่าย) - พระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน พระธาตุประจำปีมะโรง(งูใหญ่) - พระธาตุเจดีย์วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ พระธาตุประจำปีมะเส็ง(งูเล็ก) - มหาเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย หรือเจดีย์วัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่ พระธาตุประจำปีมะเมีย(ม้า) - พระมหาเจดีย์ชเวดากอง ประเทศเมียนมา พระธาตุประจำปีมะแม(แพะ) - พระบรมธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ พระธาตุประจำปีวอก(ลิง) - พระธาตุพนม จ.นครพนม พระธาตุประจำปีระกา(ไก่) - พระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน พระธาตุประจำปีจอ(สุนัข) - พระธาตุอินทร์แขวน ประเทศเมียนมา และ พระธาตุประจำปีกุน(หมู) - พระธาตุดอยตุง จ.เชียงราย

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager

ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Travel MGR

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0