โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ครั้งหนึ่งในชีวิตลูกผู้ชาย..บวชเพื่อไปต่อแบบมีศีลธรรม

LINE TODAY

เผยแพร่ 22 ส.ค. 2560 เวลา 11.01 น.

การบวช เป็นการปฏิบัติด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชน เป็นการเดินออกจากความสุขในทางโลก ออกจากทุกอย่างที่มี ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ความรัก ลาภ ยศ ชื่อเสียง เงินทอง เพราะฉะนั้นคนที่จะบวชได้จึงต้องเป็นคนที่ตัดสินใจที่จะละทิ้งจากความสุขทั้งปวง

“ทำไมผู้ชายต้องบวช” และ “ทำไมต้องบวชตอนอายุ 20” 

ตามประเพณีปฏิบัติในการบวชเป็นพระ ผู้ชายจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจความจริงของชีวิต เพราะพระพุทธศาสนาเป็นหลักคำสอนแห่งความจริงในโลก ที่สอนให้มนุษย์รู้สาเหตุของการเกิด แก่ เจ็บ และตาย ช่วยให้มนุษย์มีสติสัมปชัญญะที่จะนำไปสู่ในทางที่ดีที่ชอบ การบวชจึงมีความสำคัญโดยเฉพาะต่อผู้ที่จะเป็นหลักของครอบครัว แถมยังได้ศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนนำข้อปฏิบัติที่ได้จากการบวชพระมาใช้ในการดำรงชีวิตสืบต่อไปได้อย่างมีความสุข

เหตุที่ต้องบวชตอนอายุ 20 ปีขึ้นไปก็เพราะเป็นกฎตั้งแต่สมัยพุทธกาล เนื่องจากในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงผนวช เพื่อบำเพ็ญธรรมจนตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งนั้นพระนางยโสธราทรงให้พระราหุล (โอรส) ทูลขอราชสมบัติจากพระองค์ ซึ่งตอนนั้นพระราหุลมีพระชนมายุเพียง 7 ปี ทำให้พระพุทธองค์ทรงมองเห็นว่าทรัพย์สมบัติเหล่านั้นเป็นเพียงสิ่งนอกกายที่ไม่ยั่งยืน จึงทรงให้พระสารีบุตรบรรพชาพระราหุลเป็นสามเณรที่ถือได้ว่าเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา 

เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นปู่ทราบข่าว จึงขอร้องต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า "ขออย่าได้ให้ทรงบวชใคร หากพ่อแม่หรือบุพการีผู้นั้นไม่ได้อนุญาต" หากอายุยังไม่ครบ 20 ปี ทำให้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของพระสงฆ์เรื่อยมา หากว่าใครต้องการบวชจะต้องมีอายุครบ 20 ปีก่อนจึงจะบวชได้ และพระสงฆ์ผู้เป็นพระอุปชาจะไม่มีสิทธิ์บวชให้ใคร หากคนที่จะบวชอายุไม่ถึง 20 ปี

เตรียมตัวเพื่อบวช

ไม่ว่าสมัยนี้หรือสมัยไหน ขั้นตอนและอุปกรณ์ทุกอย่างที่ใช้ในการบวชนั้นเหมือนกัน เริ่มตั้งแต่การกำหนดฤกษ์ยาม ลาผู้ใหญ่หรือผู้ที่เคารพนับถือ ปลงผม แต่งกายนาค ทำขวัญนาค นำนาคเข้าโบสถ์ บรรพชาอุปสมบท และกรวดน้ำ ซึ่งก่อนจะถึงวันบวชผู้ที่จะบวชจำเป็นต้องไปหาผู้เป็นอุปัชฌาย์หรือพระเถระผู้ทำหน้าที่เป็นประธานในการบวช

หน้าที่ของผู้ที่จะบวชคือ ก่อนการบวชจำเป็นต้องหัดให้คุ้นเคยกับระเบียบแบบแผนต่าง ๆ ไว้ และท่องคำบาลีต่าง ๆ ให้คล่อง โดยเฉพาะคำบรรพชาอุปสมบทถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก ควรท่องจำให้ขึ้นใจเสียก่อนจะบวช 

นอกจากนี้ ยังต้องท่องวิธีทำพินทุ อธิษฐาน และวิธีวิกัปจีวร คำกรวดน้ำ วิธีแสดงอาบัติ คำอนุโมทนา คือบทยถาสัพพี คำพิจารณาปัจจัยสี่ และคำสวดทำวัตรเช้า-เย็นด้วย

บวชให้พ่อ-แม่ได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์

คำว่า"เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์" ไม่มีในพระไตรปิฎกและคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่มาของประโยคนี้มาจากข้อความในพระไตรปิฎก ที่กล่าวว่า มีคนหนึ่งเป็นบิดาของภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง ตอนใกล้ตายได้นึกถึงกุศลที่ทำในการถวายผ้าสาฏกเนื้อหยาบแก่ภิกษุที่เป็นบุตร แต่เพราะระลึกถึงกุศลที่ได้ถวายผ้ากับพระภิกษุจึงได้ไปสวรรค์

ซึ่งก็หมายความว่าการที่ลูกบวชไม่สามารถทำให้พ่อแม่ไปสวรรค์ได้ แต่ที่ได้ไปสวรรค์เพราะการทำบุญ ทำกุศลกับภิกษุ อย่าลืมว่าบุญใครทำ คนนั้นก็ได้ และบาปใครทำ คนนั้นก็รับไปเช่นกัน

บวชก่อนถึงเบียดได้

การที่ผู้ชายบวชเสียก่อนจึงค่อยแต่งงานมีครอบครัว เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งของคนโบราณ เพราะอยากให้ผู้ชายได้ศึกษาธรรมะก่อนมีครอบครัว เพราะผู้ชายคือคนที่ต้องรับผิดชอบครอบครัว จำเป็นต้องมีทั้งธรรมะและความรับผิดชอบในหน้าที่สามี และพ่อที่ดี 

เมื่อผ่านการบวชมาแล้ว จะทำให้ผู้ชายมีความคิด ความรับผิดชอบ และมีหลักธรรมในการครองเรือนมากขึ้น เช่น ต้องรักลูกรักเมีย มีความรับผิดชอบ ไม่เจ้าชู้ ไม่ควรสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เล่นการพนัน ต้องอดทนต่อสิ่งยั่วยุภายนอก โดยหากผู้ชายได้ศึกษาเรื่องเหล่านี้มาก่อนที่จะแต่งงาน ก็จะทำให้สามารถสร้างครอบครัวที่อบอุ่น เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี เป็นเสาหลักของบ้านได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายที่ยังไม่ผ่านการบวชเรียนจะแต่งงานไม่ได้ เรื่องแบบนี้เป็นความยินยอมของผู้ชายเองและครอบครัวด้วย

ตัดสินใจบวชว่ายากแล้ว การเป็นพระนั้นยากกว่า

นอกจากพระจะต้องสำรวมกาย วาจา ใจ ประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลในธรรมแล้ว ภิกษุจำเป็นต้องปฏิบัติตามพระวินัย สำรวมกับทุกอากัปกริยา รักษาศีล 227 ข้อ ซึ่งหากทำผิดข้อใดข้อหนึ่งเรียกว่า “อาบัติ และมี 4 ข้อที่เป็นเป็นความผิดร้ายแรง ได้แก่ เสพเมถุน ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน ฆ่าคน และกล่าวอวดอุตริ ซึ่งหากผิดอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 ข้อนี้เรียกว่าปาราชิก ต้องสึกออกไปสถานเดียวและจะกลับเข้ามาบวชใหม่ไม่ได้อีก 

นอกจากการรักษาศีลแล้ว วินัยของพระภิกษุก็เป็นเรื่องที่ต้องเคร่งครัดไม่แพ้กัน ภิกษุต้องมีพฤติกรรมที่สงบเรียบร้อย ญาติโยมเห็นแล้วเกิดความเลื่อมใส เช่น การเดิน การนอน การนั่ง การฉันอาหาร เป็นต้น เพราะหากไม่ได้ตั้งใจที่จะมารักษาศีล เป็นพระที่ดีก็อาจจะไม่คู่ควรกับการเคารพกราบไหว้ของญาติโยม

ถ้าคำถามคือ “จำเป็นหรือไม่ที่ลูกผู้ชายจะต้องบวช” คำตอบก็คงต้องบอกว่า “ไม่จำเป็น” แต่ผู้ชายที่บวชเรียนมาแล้ว จะต่างจากคนที่ยังไม่เคยบวชอย่างสิ้นเชิง เพราะการบวชไม่ใช่แค่ได้บุญอย่างเดียว แต่บวชเพื่อสงบกายใจให้พร้อมออกไปรับผิดชอบต่อชีวิตในอนาคตของทั้งตัวเองและคนที่รัก เพื่อให้มีเข็มทิศนำชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น สูงขึ้น และไม่หลงตกไปสู่อบายมุขต่าง ๆ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 35

  • Ittipat
    ครั้งหนึ่งในชีวิตของลูกผู้ชาย
    22 ส.ค. 2560 เวลา 16.09 น.
  • $note
    การ​บวช​ไม่ใช่​เรื่อง​ง่าย​ ต้อง​สละ​ชีวิต​ตน​เข้า​สู่​เส้น​ทาง​ธรรม​ ปฏิบัติ​ตน​ให้​ดี​ตาม​พระ​ธรรม​วินัย​ หาก​ปฏิบัติ​ได้​อย่าง​สมบูรณ์​ ก็​เป็น​พระ​แท้​ผู้​เป็น​เนื้อ​นา​บุญ​ให้​กับ​ญาติ​โยม​ ช่วย​ให้​ผู้​ทำ​บุญ​ปิด​อบาย​ไป​สวรรค์​ เหมือน​อย่าง​พระ​สาวก​ของ​พระ​พุทธเจ้า​ใน​ครั้ง​พุทธ​กาล​ เป็น​ผู้​สืบทอด​อายุ​พระ​พุทธ​ศาสนา​ให้​ยืนยาว​ต่อไป​ ขอ​เป็น​กำลังใจ​ให้​ผู้​ที่​ได้​บวช​ทุกคน​ ขอ​ให้​ประพฤติ​ตน​ดี​น่า​กราบไหว้​ ไม่​ทำ​เรื่อง​ผิด​พระ​ธรรม​วินัย​ เป็น​อายุ​พระ​พุทธ​ศาสนา​สืบ​ต่อ​ไป​ครับ
    22 ส.ค. 2560 เวลา 16.54 น.
  • บทความดีมากๆคับ น่าอ่านน่าสนใจ ทำให้ได้รู้บางเรื่อง ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ขอบคุณสำหรับบทความดีดีคับ ทำต่อไปเรื่อยๆ เป็นกำลังใจให้คับ
    22 ส.ค. 2560 เวลา 17.32 น.
  • Amporn Rhyner
    เป็นลูกผู้ชายสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกฝนทั้งนอกและในเพื่อเตรียมตัวเป็นบุคคลต้นแบบค่ะ
    22 ส.ค. 2560 เวลา 17.42 น.
  • Just do it!!!😉😉😉😉
    😊😊😊😊😊👍👍👍👍👍😇😇😇🙏🙏🙏🙇‍♀️🙇‍♀️
    22 ส.ค. 2560 เวลา 16.46 น.
ดูทั้งหมด