คอลัมน์ ช่วยกันคิด
โดย สิทธิพงษ์ อินจง, จิรวัส จันทรสุธา ทีมกรุ๊ป
อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรในกรุงเทพมหานครแต่ละปี ก่อให้เกิดความแออัด และส่งผลให้เกิดความคับคั่งของการจราจรจากรถยนต์ส่วนบุคคลที่เพิ่มมากขึ้น สวนทางกับพื้นผิวจราจรที่มีอยู่อย่างจำกัด ระบบขนส่งสาธารณะทางรางจึงถูกผลักดันให้นำเข้ามาใช้ขนส่งผู้โดยสารในหลาย ๆ เส้นทาง เพื่อลดปัญหาการจราจร และตอบสนองความต้องการในการดำเนินชีวิตของคนเมืองที่มีความเร่งรีบ ซึ่งต้องการความสะดวกสบาย มีความรวดเร็ว และใช้ระยะเวลาที่แน่นอนในการเดินทาง
การนำรถไฟเข้ามาใช้ขนส่งผู้โดยสารในเขตเมืองดูจะเป็นทางออกของปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพฯได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่กระนั้นก็ยังคงมีจุดตัดทางรถไฟทางไกลที่วิ่งเสมอระดับคู่ไปกับถนน ทำให้รถยนต์ต้องหยุดรอเพื่อให้รถไฟวิ่งผ่าน ก่อให้เกิดปัญหารถติดในบริเวณเขตทางเดินรถไฟ
จากปัญหาการจราจรติดขัดอันเนื่องมาจากจุดตัดทางรถไฟ ทำให้รัฐบาลมีนโยบายในการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนทางรางที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเดินรถไฟทางไกล จากเดิมที่วิ่งเสมอระดับไปเป็นวิ่งยกระดับลอยฟ้า เพื่อแก้ปัญหาลดจุดตัดทางรถไฟดังกล่าว และลดการเกิดอุบัติเหตุ จึงเกิดเป็นโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อใช้ขนส่งผู้โดยสารประชาชนจากด้านทิศเหนือเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร
นอกจากจะเปลี่ยนรูปแบบการเดินรถไฟทางไกลในเขตเมืองแล้ว โครงการยังมีการนำรถไฟฟ้าเข้ามาวิ่งขนส่งผู้โดยสารจากเขตชานเมืองเข้ามาสู่ตัวเมืองหลวง ทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางเข้าออกกรุงเทพฯได้ภายในระยะเวลาอันสั้น อีกทั้งยังช่วยลดมลพิษ ลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิง เนื่องจากใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนรถให้ปลอดมลพิษ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เหมาะกับสภาพพื้นที่ของตัวเมืองหลวงที่มีปริมาณการอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น
และจากความต้องการขนส่งผู้โดยสารให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โครงการจึงแบ่งการเดินรถออกเป็น 3 เส้นทาง ตามแนวทางวิ่งรถไฟสายเก่า เป็นเส้นทางที่ 1สายสีแดงเข้ม เดินรถจากทางทิศเหนือสู่ทางทิศใต้ ช่วงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-มหาชัย, เส้นทางที่ 2 สายสีแดงอ่อน เดินรถจากทางทิศตะวันตกสู่ทิศตะวันออก ช่วงศาลายา-หัวหมาก และเส้นทางสุดท้าย เส้นทางที่ 3 แอร์พอร์ตเรลลิงก์ รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานดอนเมือง-สุวรรณภูมิ
โดยทุก ๆ เส้นทางจะมาเชื่อมต่อกันที่สถานีกลางบางซื่อ บริเวณพื้นที่ย่านพหลโยธิน ซึ่งทางรัฐบาลกำหนดเป้าหมายให้สถานีกลางบางซื่อ เป็นศูนย์กลางการคมนาคม และเป็นจุดเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งทางรางจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศแทนสถานีหัวลำโพง รองรับการเดินทางทั้งรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) รถไฟทางไกล รถไฟเชื่อมท่าอากาศยานแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และรถไฟความเร็วสูงในอนาคต เนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางเขตเศรษฐกิจโดยรอบ ทั้งแหล่งสรรพสินค้า,สวนสาธารณะ รวมไปถึงระบบขนส่งมวลชนรูปแบบอื่น ๆ
การดำเนินการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ปัจจุบันมีเส้นทางดำเนินงานทางด้านโยธาแล้วเสร็จ 1 เส้นทาง ได้แก่เส้นทางเดินรถทางทิศตะวันตก ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และอยู่ระหว่างการดำเนินงานติดตั้งระบบเครื่องกลไฟฟ้า และจะเปิดให้บริการพร้อมเส้นทางเดินรถในทางทิศเหนือ ช่วงบางซื่อ-รังสิต ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง โดยจัดวางเส้นทางเดินรถทางตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร ระยะทางรวม 26.3 กิโลเมตร ซึ่งการรถไฟฯได้แบ่งขอบเขตการดำเนินงานการก่อสร้างออกเป็นทั้งสิ้น 3 สัญญา
ส่วนของสัญญาที่ 1 การก่อสร้างอาคารสถานีกลางบางซื่อ สถานีจตุจักร และศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟ รับผิดชอบดำเนินการโดยกิจการร่วมค้าเอสยู (บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น)
สัญญาที่ 2 การก่อสร้างสถานีรายทาง 8 สถานี อันได้แก่ สถานีวัดเสมียนนารี, สถานีบางเขน, สถานีทุ่งสองห้อง, สถานีหลักสี่, สถานีการเคหะ, สถานีดอนเมือง, สถานีหลักหก และสถานีรังสิต รวมไปถึงทางวิ่งรถทั้งแบบยกระดับและเสมอระดับ รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างโดย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์และสัญญาที่ 3 การดำเนินงานติดตั้งระบบเครื่องกลไฟฟ้า และงานติดตั้งรางในพื้นที่โครงการ รวมถึงออกแบบและจัดหาตู้รถไฟชานเมือง รับผิดชอบดำเนินการโดยกลุ่มบริษัท Mitsubishi-Hitachi-Sumitomo Consortium (MHSC) เพื่อให้บริการประชาชนเมื่อเปิดดำเนินการ
สำหรับในส่วนของการควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต การรถไฟฯได้ว่าจ้าง บมจ.ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเม้นท์ ให้เป็นหัวเรือใหญ่ของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาและควบคุมการก่อสร้างงานโยธาและเครื่องกลไฟฟ้า รวมไปถึงระบบรางและระบบการควบคุมรถไฟภายในโครงการ
ด้วยจุดมุ่งหมายสำคัญของโครงการในการลดจุดตัดทางรถไฟ เพื่อแก้ปัญหาการจราจร โดยการยกระดับทางวิ่งรถไฟทางไกล จากเดิมที่วิ่งเสมอระดับ ซึ่งใช้โครงสร้างรองรับรางแบบใช้หินโรยทาง (ballasted track) ไปเป็นทางวิ่งยกระดับ ที่ใช้โครงสร้างรองรับรางแบบเทคอนกรีตถาวร (ballastless track) และดำเนินการจัดทำทางวิ่งขนาด meter-gauge track ความกว้างระหว่างราง 1.00 เมตร
สำหรับการเดินรถไฟทางไกลและรถไฟชานเมืองเพื่อให้สอดคล้องกับทางวิ่งเดิมและสามารถเชื่อมต่อกับทางวิ่งของประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างสะดวก โดยติดตั้งรางมาตรฐาน UIC60 สำหรับทางวิ่งหลัก โดยมีหมอนคอนกรีตอัดแรงรองรับทุก ๆ ระยะ 60 เซนติเมตร ตลอดแนวทางรถไฟ และยึดรางเข้ากับหมอนคอนกรีตด้วยเครื่องยึดเหนี่ยวรางแบบ DSR (double resilient fastening system) ซึ่งจะช่วยลดมลพิษทางเสียงที่เกิดขึ้นจากการเดินรถในเขตตัวเมือง
และอีกหนึ่งจุดมุ่งหมายที่จะนำระบบรถไฟฟ้าเข้ามาให้บริการประชาชน เพื่อขนส่งผู้โดยสารที่อาศัยอยู่บริเวณชานเมืองเข้ามายังพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยใช้ระบบจ่ายไฟแบบระบบสายส่งไฟฟ้าเหนือศีรษะ OCS (overhead catenary system) แรงดันไฟฟ้า 25 กิโลโวลต์ ทำให้รถไฟสามารถใช้ความเร็วได้สูงสุดถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และใช้ระบบอาณัติสัญญาณควบคุมการเดินรถไฟชานเมืองแบบ ETCS (European train control system) level 1 ที่จะทำให้รถไฟชานเมืองสามารถเดินรถเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าในเส้นทางอื่นได้
โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต เมื่อแล้วเสร็จคาดว่าพร้อมให้บริการได้ในปี 2563 ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการคมนาคมทางรางที่ต้องการจะพัฒนาให้มีความทันสมัย ทัดเทียมนานาอารยประเทศ และเปิดให้บริการให้ผู้โดยสารได้รับด้วยความสะดวก และคล่องตัวมากขึ้น ที่สำคัญยังยกระดับเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนเมืองและเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน
ความเห็น 2
pond
บ้านนอก อย่างเราคงไม่ได้ใช้ กระจายความเจริญมาบ้างซิ
13 ก.ค. 2561 เวลา 10.41 น.
POm
ถ้าถึงนวนคร จะworkกว่านี้
14 ก.ค. 2561 เวลา 02.45 น.
ดูทั้งหมด