โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เปิดข้อมูลโภชนาการ เบอร์เกอร์ชีส 20 แผ่น แคลอรี่พุ่ง โซเดียมเกิน WHO กำหนด

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 11 ก.ค. 2566 เวลา 03.20 น. • เผยแพร่ 10 ก.ค. 2566 เวลา 11.51 น.
เบอร์เกอร์
ภาพจาก pexels-ใช้เพื่อประกอบข่าวเท่านั้น

เปิดข้อมูลโภชนาการ เบอร์เกอร์ชีส 20 แผ่น เมนูที่กำลังเป็นกระแสบนโลกโซเชียล แคลอรี่พุ่ง โซเดียมเกินคำเตือนขององค์การอนามัยโลก ควรกินอย่างระมัดระวัง

เรียกได้ว่ากำลังเป็นกระแสบนโลกออนไลน์ขณะนี้สำหรับ “เบอร์เกอร์ชีส” ซึ่งเป็นเบอร์เกอร์ที่มีเพียงขนมปัง ไม่มีเนื้อสัตว์ ไม่มีผัก และใส่ชีสถึง 20 แผ่น แม้เมนูดังกล่าวจะถูกใจคนรักชีส แต่ก็ทำให้เกิดข้อกังวลในเรื่องสุขภาพและคุณค่าทางโภชนาการ

ก่อนอื่นต้องทำความรู้จัก “เชดดาร์ชีส” (Cheddar Cheese) ซึ่งเป็นชีสกึ่งแข็ง ไม่ค่อยละลายเมื่อโดนความร้อน มีรสชาติเค็มเล็กน้อย นิยมใช้กับเมนู แฮมเบอร์เกอร์ หรือแซนด์วิช

สำหรับคุณค่าทางโภชนาการ เชดดาร์ ชีส 1 แผ่นสไลซ์ ในปริมาณประมาณ 21 กรัม ให้พลังงานทั้งหมด 70 กิโลแคลอรี่ โปรตีน 4 กรัม คาร์โบไฮเดรต 1 กรัม ไขมัน 5 กรัม และโซเดียม 190-320

“อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผ่านเพจเฟซบุ๊ก “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” ในบทความ เบอร์เกอร์ชีส VS ส้มตำปูปลาร้า : ใครโซเดียมโหดกว่ากัน” ว่า

องค์การอนามัยโลก กำหนดให้กินโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม หรือประมาณเกลือ 1 ช้อนชา (เฉลี่ยแล้วไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหาร) ขณะที่อาหารที่เรากินนั้นมักจะมีโซเดียมซ่อนอยู่ในวัตถุดิบอยู่แล้ว และก็มีโซเดียมจากเครื่องปรุงที่เราใส่เพิ่มเข้าไปอีก หากกินโซเดียมมากเกินไปจะมีผลเสียต่อการทำงานของไต ของหัวใจ และทำให้ระดับความดันโลหิตสูงได้

พร้อมกันนี้ได้อ้างอิงข้อมูลจาก “Fit happens by Coach Ping” ว่าเชดด้าชีสที่ใส่ในเบอร์เกอร์นั้น 1 แผ่น น้ำหนักประมาณ 21 กรัมและอาจจะมีโซเดียมสูง 190-320 มิลลิกรัม โดยขึ้นอยู่กับยี่ห้อ

เท่ากับว่า เบอร์เกอร์ชีสหนึ่งก้อนที่ใส่เชดด้าชีสไป 20 แผ่น อาจให้โซเดียมถึง 3,000 มิลลิกรัม เป็นอย่างน้อย ซึ่งยังไม่รวมโซเดียมที่อยู่ในขนมปัง กินเข้าไปหนึ่งก้อนจะได้โซเดียมเกินกว่าที่ควรกินทั้งวันเเล้ว

ยิ่งกินน้ำอัดลม เฟรนช์ฟรายส์ หรือซอส ด้วยแล้ว ปริมาณโซเดียมจะพุ่งเกินคำเตือนขององค์การอนามัยโลก (WHO) ไปเยอะ เรียกได้ว่า กินมื้อเดียวไม่ต้องกินอะไรอย่างอื่นแล้ว อาจารย์เจษฎากล่าว

นอกจากนี้อาจารย์เจษฎายังกล่าวถึง “ส้มตำปูปลาร้า” อาหารยอดนิยมของใครหลายคน โดยระบุว่า ส้มตำปลาร้าน้ำหนัก 100 กรัม พบโซเดียมในปริมาณมากถึง 702.63-1,622.59 มิลลิกรัม

ดังนั้น ถ้ากินส้มตำปูปลาร้าจานละ 100-150 กรัม ก็อาจได้รับปริมาณโซเดียมสูงถึง 2,000 มิลลิกรัม แตะระดับที่ไม่ควรกินเกินต่อหนึ่งวัน ตามเบอร์เกอร์ชีสมาติด ๆ อีกทั้ง ส้มตำยังอาจกินกันได้ทุกวัน ส่วนเบอร์เกอร์ชีส คงกินกันนาน ๆ ครั้ง

สุดท้ายอาจารย์เจษฎาแนะนำว่า ทั้งแฟน ๆ เบอร์เกอร์ชีสและส้มตำปูปลาร้า ตลอดจนอาหารอื่น ๆ ที่มีโซเดียมสูง ขอให้เพลา ๆ ลงบ้าง อย่ากินกันบ่อยนัก หรือไม่ก็ลดระดับความเค็มลง เพราะในชีวิตประจำวันเรายังต้องกินอาหารอื่น ๆ ที่ก็มีโซเดียมเจือปนอยู่ด้วย

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมอนามัย ระบุว่า ในปัจจุบัน คนไทยมีแนวโน้มการบริโภคโซเดียมมากเกินไปในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจมาจากความชอบกินอาหารเค็ม ติดรสเค็ม หรือจากความไม่รู้ส่วนประกอบของปริมาณโซเดียมในอาหารประเภทนั้น ๆ ซึ่งผลจากการกินเค็มมากเกินไปเป็นระยะเวลานาน จะก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไตเรื้อรัง

โซเดียมที่ร่างกายได้รับส่วนใหญ่มาจากเกลือ โดยอาหาร 5 ประเภท ที่มีปริมาณโซเดียมแฝงอยู่นอกจากเกลือ ได้แก่ เครื่องปรุงรสทั้งที่มีรสเค็มและไม่มีรสเค็ม, อาหารแปรรูป, ขนมที่มีการเติมผงฟู, เครื่องดื่มเกลือแร่และน้ำผลไม้ และอาหารธรรมชาติทุกชนิด โดยเนื้อสัตว์ นม ไข่ จะมีปริมาณโซเดียมสูงกว่าผักผลไม้ ธัญพืช และถั่วเมล็ดแห้งที่ยังไม่แปรรูป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น