โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

'ผงชูรส' ทำให้ผมร่วง เสี่ยงอัมพาต จริงดิ? - เรื่องใกล้ใกล้ตัว

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 10 เม.ย. 2565 เวลา 17.00 น. • เรื่องใกล้ใกล้ตัว

ทั้งเมนูต้ม ผัด ทอด ถ้าจะปรุงให้อร่อยขึ้น นอกจากการใช้วัตถุดิบที่ดี มีเทคนิคและกรรมวิธีที่แพรวพราวแล้ว ตัวช่วยในครัวของหลาย ๆ คนอาจจะเป็นการเติม 'ผงชูรส' เข้าไปเพื่อเพิ่มความอูมามิหรือรสชาติที่ 5 ในจานอาหารที่ทำให้ต่อมรับรสของเราพึงพอใจเป็นที่สุด 

ถึงแม้การใช้ผงชูรสในอาหารจะไม่ใช่เรื่องที่ใหม่แต่ก็มักจะมีข่าวออกมาอยู่เรื่อย ๆ ที่เตือนถึงอันตรายของผงชูรส เพิ่งทานผงชูรสไปแบบจัดหนักจากในจานส้มตำเมื่อวานซืน 'เรื่องใกล้ใกล้ตัว' สัปดาห์นี้เลยขอพาทุกคนเดินทางไปสำรวจที่มาของผงชูรสและตอบคำถามคาใจว่าจริง ๆ แล้วการบริโภคผงชูรสเนี่ย ทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสี่ยงเป็นอัมพาตเลยหรือไม่!

ต้นกำเนิดของ 'ผงชูรส' จากสาหร่ายทะเล

ย้อนกลับไปในปีพ.ศ. 2450 ในประเทศญี่ปุ่น ดร. คิคุนาเอะ อิเคดะ เกิดปิ๊งไอเดียจากการกินสาหร่ายทะเลคอมบุว่าความจริงแล้วรสชาติในอาหารไม่ได้มีแค่เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม แต่ยังมีรสที่ 5 ที่เขาเรียกว่า 'อูมามิ' นี้อยู่ด้วย จากการเคี้ยวสาหร่ายทะเลและค้นพบรสชาติที่ซ่อนอยู่นี้ จึงทำให้ ดร. คิคุนาเอะ พัฒนาเครื่องปรุงรสรุปแบบใหม่ที่สามารถเพิ่มความอูมามิเข้าไปในทุกเมนูอาหารได้ และสิ่งที่เขาคิดค้นสำเร็จก็คือ 'โมโนโซเดียม กลูตาเมต' ที่เกิดจากการหมักกากน้ำตาลจากแป้งมันสำปะหลัง และผ่านกรรมวิธีให้ตกผลึกเป็นเกล็ดสีขาวบริสุทธิ์ ช่วยเติมรสชาติให้กลมกล่อมกับอาหารทุกจานนั่นเอง

ผงชูรสแท้ VS ผงชูรสเทียม

ด้วยความที่ผงชูรสแท้ ถูกผลิตจากวัตถุดิบที่ตั้งต้นจากธรรมชาติ และส่วนประกอบของมัน ทั้งโซเดียม (เกลือ) และกรดกลูตามิก (กรดอะมิโนชนิดหนึ่ง) ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในอาหารประเภทต่าง ๆ ที่เรารับประทานไปอยู่แล้ว แนวโน้มที่จะทำให้ร่างกายของเราพังเวลารับผงชูรสเข้าไปจึงมีค่อนข้างต่ำถึงแทบจะไม่มีเลย ในปี พ.ศ. 2530 คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยวัตถุเจือปนอาหาร และคณะกรรมาธิการกฎหมายอาหาร ขององค์การอาหารและเกษตร ร่วมกับองค์การอนามัยโลก ได้จัดการประชุมเพื่อประเมินผลความปลอดภัยของผงชูรส ซึ่งจากงานวิจัยมากกว่า 200 รายงาน ได้ข้อสรุปว่าผงชูรสไม่ได้เป็นภัยต่อสุขภาพ และเราสามารถบริโภคผงชูรสในทุกวันตลอดชีวิต โดยที่ไม่ต้องมีการกำหนดปริมาณบริโภคต่อวันเลยก็ได้

ในทางกลับกัน อันตรายที่มักจะเกิดขึ้นจากการทานผงชูรสที่เราอ่านเจอตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือเว็บไซต์สุขภาพคืออันตรายจากการทานผงชูรสเทียมเข้าไปต่างหาก จากโพสต์ในเฟซบุคเพจ "อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์" บอกว่าผงชูรสปลอมทำจากสารบอแรกซ์หรืออีกชนิดคือทำจากโซเดียมเมตาฟอสเฟต "ถ้าเป็นโซเดียมเมตาฟอสเฟต กินเข้าไปมากๆ ก็จะท้องร่วงได้ ส่วนบอแรกซ์นั้นหนักกว่า กินแล้วจะไปสะสมที่กรวยไต ทำให้ท่อปัสสาวะอักเสบ เป็นอันตรายถึงตายได้"

เพราะฉะนั้นในพาร์ตต่อไปของบทความนี้ เราจะมาตอบคำถามคาใจเกี่ยวกับผงชูรสและสุขภาพกันว่าที่ลือกันมาเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า ดังต่อไปนี้…

ความเชื่อ: ทานผงชูรสแล้วผมจะร่วง หัวจะล้าน

ความจริง: ยังไม่มีวารสารทางการแพทย์หรืองานวิจัยใด ๆ ที่พิสูจน์ว่าคำพูดนี้เป็นความจริง การที่ผมร่วงจนทำให้เกิดภาวะหัวล้านนั้นมาจากปัจจัยของร่างกาย กรรมพันธุ์และอายุมากกว่าการทานผงชูรส

ความเชื่อ: คอแห้ง ลิ้นชา กระหายน้ำ หลังทานอาหารที่ใส่ผงชูรสเยอะ ๆ

ความจริง: เกิดจากการที่ร่างกายรับปริมาณโซเดียมในผงชูรสมากเกินไปจึงทำให้เกิดอาการคอแห้ง ลิ้นชา และกระหายน้ำได้เหมือนกับเวลาที่เราทานอาหารรสเค็มจัด ๆ อาการเหล่านี้เป็นอาการชั่วคราวที่ไม่ได้ส่งผลอันตรายในระยะยาว แต่หากไม่พึงประสงค์ พยายามใช้ผงชูรสหรือเลือกรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ

ความเชื่อ: กินผงชูรสทำให้เสี่ยงเป็นอัมพาตหรือสมองตาย

ความจริง: จากบันทึกในเว็บไซต์ Glutamate.org ยืนยันว่ายังไม่มีงานวิจัยไหนที่ค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างผงชูรสและการทำงานของสมองหรือระบบประสาท อันตรายที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากการบริโภคผงชูรสเทียมที่ทำจากสารบอแรกซ์หรือโซเดียมเมตาฟอสเฟต ซึ่งปั่นป่วนระบบทางเดินอาหาร หากได้รับมากเกินไป อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน

ถ้าปรุงอาหารเอง การใส่ผงชูรสเข้าไปในปริมาณที่พอเหมาะพอดีตามที่แนะนำข้างห่อน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคนที่รักสุขภาพแต่ก็ไม่อยากทิ้งรสความอร่อย ผงชูรสในความคิดเห็นของคุณผู้อ่านคืออะไร ยังคิดว่าเครื่องปรุงชนิดนี้เป็นภัยต่อสุขภาพหรือไม่ มาแชร์กันได้ในคอมเมนต์!

อ้างอิง

เว็บไซต์ Wongnai

เว็บไซต์ คมชัดลึกออนไลน์ 

เว็บไซต์ ลงทุนแมน

เว็บไซต์ International Glutamate Information Service

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0