โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คำศัพท์เกี่ยวกับ ‘การเลือกตั้ง’ ที่ควรรู้

LINE TODAY

เผยแพร่ 26 ม.ค. 2566 เวลา 09.07 น.

.

นิวโหวตเตอร์ (New voter)

ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งหน้าใหม่ โดยทางกฎหมายจะหมายถึงผู้ที่มีอายุครบ 18 ปีในวันเลือกตั้ง นับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกตามกฎหมายของกลุ่มคนเหล่านี้ก็ว่าได้ โดยในการเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นในปี 2566 นี้พบว่ามีจำนวนนิวโหวตเตอร์ 8.1 แสนคน

สวิงโหวตเตอร์ (Swing Voter)

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ไม่ได้จงรักภักดีต่อนักการเมืองหรือพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นพิเศษ สามารถเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจเลือกได้ตลอดเวลา

โนโหวต (No vote)

การนอนหลับทับสิทธิ์ หรือการไม่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งตามหน้าที่ โดยจะมีผลใน 3 เรื่อง ได้แก่

-เสียสิทธิการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.

-เสียสิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส., ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งสิทธิได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว.

-เสียสิทธิการสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน

โดยจะได้สิทธิทั้ง 3 กลับคืนมาเมื่อไปใช้สิทธิการเลือกตั้งอย่างใดอย่างหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

โหวตโน (Vote no)

แม้คำจะคล้ายกับโนโหวต แต่อย่าสับสน เพราะการโหวตโนคือการออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้ว (โหวตแล้ว) แต่กาช่องที่ ‘ไม่ประสงค์ลงคะแนน’ หรือ ‘ไม่เลือกผู้สมัครคนใด’ โดยคะแนนส่วนนี้ก็จะถูกนับเป็นการลงเสียง ‘ไม่ประสงค์ลงคะแนน’ นั่นเอง

หากคะแนนโหวตโนมากกว่าคะแนนของผู้สมัครสูงสุด จะต้องเลือกตั้งใหม่ในเขตนั้น และผู้สมัครคนเดิมไม่สามารถกลับมาลงสมัครได้

แลนด์สไลด์ (Landslide)

การชนะเลือกตั้งแบบขาดลอย ใช้เรียกขานเมื่อพรรคการเมืองหรือผู้สมัครสามารถเอาชนะคู่แข่ง หรือกวาดคะแนนไปด้วยคะแนนเสียงท่วมทัน เสมือนกับแผ่นดินที่ถล่มทับทุกอย่างตรงหน้าไปหมดสิ้น

คืนหมาหอน

เป็นภาษาปากที่พูดถึงคืนสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง โดยมักจะพบว่าเป็นวันที่มีการทุจริตสูงที่สุด เช่น การซื้อเสียงครั้งสุดท้าย

เลือกตั้งซ่อม

การเลือกตั้งใหม่ที่เกิดขึ้นเฉพาะเขตใดเขตหนึ่ง อันเกิดจากสมาชิกคนดังกล่าวตายหรือลาออก

บัตรเสีย

บัตรเลือกตั้งที่เข้าข่ายดังต่อไปนี้

-บัตรปลอม

- บัตรที่ทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตหรือเขียนข้อความใด ๆ นอกเหนือจากเครื่องหมายในการลงคะแนน เช่น ต้องกากบาท แต่กลับทำสัญลักษณ์วงกลม

-บัตรที่ไม่ได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน

-บัตรที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครเกิน 1 คน

-บัตรที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด ยกเว้นลงคะแนน “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่ประสงค์ลงคะแนน”

-บัตรที่ได้ทำเครื่องหมายลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร และทำเครื่องหมายในช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” พร้อมกัน

-บัตรที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้เป็นบัตรเสีย

-บัตรที่มีลักษณะตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดว่าเป็นบัตรเสีย

บัตรเขย่ง

จำนวนผู้มาใช้สิทธิกับจำนวนบัตรที่ถูกใช้ไปไม่ตรงกัน สถานการณ์ตัวอย่างเช่น ผู้มาใช้สิทธิมารายงานตัวใช้สิทธิ แต่อาจจะรอคิวนานเกินไปจนไม่ได้ลงคะแนน และสละสิทธิไป ทำให้จำนวนผู้มาใช้สิทธิมากกว่าจำนวนผู้ลงคะแนนเสียงนั่นเอง

ใบเหลือง-ใบส้ม-ใบแดง

ใบเหลือง-กกต. พบการทุจริตเลือกตั้ง หรือการนับคะแนนไม่ถูกต้อง แต่หาคนทำผิดไม่ได้ ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยใช้ผู้สมัครคนเดิม

ใบส้ม-กกต.พบการทำผิดหรือทุจริตเลือกตั้ง และทราบว่าใครเป็นผู้กระทำผิด มี 2 กรณีได้แก่

1. หากแพ้เลือกตั้ง คะแนนจะไม่ถูกนำไปคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ หรือ

2. หากชนะเลือกตั้ง กกต. จะสั่งยกเลิกการเลือกตั้ง และให้เลือกตั้งใหม่ในเขตนั้น

ใบแดง-เลือกตั้งแล้ว ได้เป็น สส. แล้ว แต่พบการทุจริตภายหลัง กกต.จะยื่นคำร้องให้ศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หากผิดจริง จะถูกตัดสิทธิ 10 ปี ลงสมัคร สส. หรือเป็นรัฐมนตรีไม่ได้ และถ้าต้องเลือกตั้งใหม่ ผู้ได้ใบแดงต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตามที่ กกต. กำหนดด้วย

แคนดิเดต

ผู้สมัครรับเลือกตั้ง, ผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งทางการเมือง เช่น แคนดิเดตนายกฯ คือ ผู้สมัครลงชิงตำแหน่งนายกฯ

นายกฯ คนใน

นายกฯ ที่มีสังกัดพรรคการเมืองชัดเจน โดยแต่ละพรรคมีได้ไม่เกิน 3 รายชื่อ

นายกฯ คนนอก

ใครก็ตามที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ โดยไม่มีสังกัดพรรคการเมือง หรืออาจเรียกว่า นกยาฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนก็ได้

ล็อบบี้ยิสต์ (Lobbyist)

นักเคลื่อนไหวผู้หาทางจูงใจสมาชิกของรัฐบาล

เอ็กซิตโพล (Exit Poll)

แบบสำรวจผลการเลือกตั้งจากผู้ที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งเสร็จเรียบร้อย โดยจะนำผลคะแนนที่ได้ไปคาดการณ์และทำนายผลการเลือกตั้งที่อาจเป็นไปได้ก่อนการนับคะแนนจะจบสิ้นและเป็นทางการ

ขอบคุณข้อมูลจาก

-bbc.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0