โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

เล่นสงกรานต์ให้ปลอดภัย สังคมไทยเคารพสิทธิ ลดปัญหาคุกคามทางเพศ

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 03 เม.ย. เวลา 03.08 น. • เผยแพร่ 03 เม.ย. เวลา 09.54 น.

“สงกรานต์” ประเพณีเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทยที่มีมาอย่างยาวนานที่มีความงดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน ความอบอุ่น และการให้เกียรติเคารพซึ่งกัน โดยใช้ “น้ำ” เป็นสื่อในการสร้างสัมพันธไมตรี แต่ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์ของไทยได้เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม เป็นเทศกาลที่เน้นความสนุกสนานของประชาชนทุกเพศทุกวัย

ส่วนใหญ่ในช่วงเทศกาลมักจะมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ผ่านมายังคงปรากฏให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะปัญหาที่สำคัญ เช่น อุบัติเหตุทางถนน การทะเลาะวิวาท ปัญหาความรุนแรงทางเพศหรือการคุกคามทางเพศ ส่งผลกระทบให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของสังคม

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์สงกรานต์ ประจำปี 2567 ภายใต้ชื่อ “สงกรานต์ปลอดภัย สังคมไทยเคารพสิทธิ” สร้างความตระหนักถึงปัญหาการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ การสร้างความเข้าใจในเรื่องการเคารพ ให้เกียรติ ในสิทธิเนื้อตัวร่างกายความยินยอมพร้อมใจของผู้อื่น ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม หรือคุกคามทางเพศ และไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เดินทางสงกรานต์ ศูนย์ซ่อมบำรุงและตรวจสภาพรถ (รังสิต) ตรวจรถฟรี 20 รายการ

กทม.เตรียมจัด สงกรานต์ 2567 ปลอดแอลกอฮอล์ 50 เขต ‘พื้นที่เล่นน้ำ ไม่มีคนเมา’

เล่นสงกรานต์อย่างไร ให้ปลอดภัย

ทั้งนี้ข้อมูลจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เมื่อปี 2566 โดยสำรวจความเห็นประชาชนในกรุงเทพฯ ปริมณฑล 1,725 คน ระหว่างวันที่ 24-30 มีนาคม 2565 เกี่ยวกับวันสงกรานต์ พบว่า ร้อยละ 96.5 เคยหรือมีคนรู้จักถูกปะแป้ง ร้อยละ 87.9 ถูกแซว/ผิวปากหรือใช้สายตาจ้องมอง ทำให้อึดอัด ร้อยละ 84.9 เกิดอุบัติเหตุ ร้อยละ 84.2 ถูกก่อกวนจากคนเมาหรือถูกบังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ ร้อยละ 73.8 คือ การทะเลาะกันในครอบครัว อีกทั้งความเห็นของประชาชนในหัวข้อ “สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น” คือการลวนลามทางเพศ ร้อยละ 35.5 อุบัติเหตุ ร้อยละ 22.5 รวมถึง การมึนเมาขาดสติ การทะเลาะวิวาท การไม่เคารพสิทธิคนอื่น

จาการสำรวจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าประเพณีสงกรานต์สร้างค่านิยมการล่วงละเมิดทางเพศเป็นสิทธิส่วนบุคคลของแนวคิดและวัตถุประสงค์ในการนี้เพื่อให้เกิดการสร้างกระแสสังคมร่วมกันสร้างความเข้าใจเรื่องการเคารพให้เกียรติเคารพในสิทธิเนื้อตัวและไม่ใช้ความรุนแรงโดยเฉพาะ ผลกระทบการสูญเสียที่เกิดขึ้นกิจกรรมรณรงค์สงกรานต์ปลอดภัยสังคมไทยเคารพ

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ตามที่ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ที่สะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติจึงได้เสนอหลักการจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ 2567”

สร้างความตระหนักปัญหาการคุกคามทางเพศ

ครม. มีมติเห็นชอบให้จัดกิจกรรมสงกรานต์ 21 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 – 21 เมษายน 2567 ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสดังกล่าว และโดยที่ทราบกันทั่วไปว่า เทศกาลสงกรานต์ของไทยเป็นเทศกาลที่เน้นความสนุกสนาน และส่วนใหญ่ในช่วงเทศกาลก็มักจะมีการสังสรรค์ด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงตามมา โดยเฉพาะอุบัติเหตุบนท้องถนน และการทะเลาะวิวาท

นอกจากนั้น ยังมีอีกหนึ่งปัญหาความรุนแรงที่เรามักจะมองข้าม หรือไม่คิดว่าสิ่งนั้นเป็นปัญหา นั่นคือ ปัญหาการคุกคามทางเพศ พม. และภาคีเครือข่าย จึงได้จัดการรณรงค์ครั้งนี้ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักถึงปัญหาการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สร้างการรับรู้เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ ที่ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และผิดกฎหมาย สร้างความเข้าใจในเรื่องการเคารพ

ให้เกียรติ ในสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ความยินยอมพร้อมใจของผู้อื่น ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม หรือคุกคามทางเพศ และไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ เพื่อให้ทุกคนในสังคมไม่ว่าจะเด็ก สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ ต่างก็มีความปลอดภัยในทุกพื้นที่ ได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน ช่วยกันสร้างกระแสให้สังคมร่วมกันผลักดัน ร่วมกันเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบกับปัญหาความรุนแรงและปัญหาการคุกคามทางเพศ และปลูกจิตสำนึกแก่เยาวชนให้เห็นถึงโทษของแอลกอฮอล์ การลดผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในมิติต่าง ๆ

กิจกรรมการรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย สังคมไทยเคารพสิทธิ” จะไม่จบลงเฉพาะในการจัดงานในวันนี้เท่านั้น โดย พม. และภาคีเครือข่าย ได้สนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์และแนวคิดการรณรงค์ฯ ไปยังเครือข่ายและหน่วยงานระดับจังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อให้ช่วงเวลาของเทศกาลสงกรานต์ในทุกพื้นที่ ที่นอกจากจะสืบสานประเพณีอันดีงามแล้ว ยังเป็นเทศกาลแห่งความสุข สนุกสนาน

ในช่วงเวลานี้ยังเป็นวันผู้สูงอายุกับวันครอบครัว ซึ่งเราจะใช้ช่วงเวลานี้ไปรดน้ำขอพรจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และผู้ที่เคารพนับถือ เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ไทยที่มีความสุข มีความปลอดภัย ปราศจากแอลกอฮอล์ และขอชวนเชิญทุกท่านให้ร่วมตระหนักไปด้วยกันว่า ในทุก ๆ วัน ไม่เฉพาะเทศกาลนี้เท่านั้น สังคมไทยต้องปลอดภัยจากการคุกคาม ทุกพื้นที่ต้องปลอดภัยสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย เป็นสังคมที่ให้ความเคารพในสิทธิ ซึ่งกันและกัน” นายอนุกูล กล่าว

จัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า ป้องกันลดอุบัติเหตุ

น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลว่า ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) รายงานสถานการณ์สงกรานต์ ปี 2566 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 264 คน ลดลง 14 คน จากปี 2565 ที่มีผู้เสียชีวิต 278 คน ส่วนการดื่มแล้วขับที่เป็นเหตุให้เสียชีวิตลดจาก 16.5% ในปี 2565 เหลือ 10.6% ในปี 2566 สอดคล้องกับจำนวนผู้เสียชีวิตคาที่ลดลงจาก 56.8% ในปี 2565 เหลือ 53.4% ในปี 2566 ส่วนใหญ่มาจากการขับรถเร็วที่มีการชนรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตในทันที

นอกจากนี้ข้อมูลการจากการเก็บข้อมูลของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในช่วงสงกรานต์ปีที่ผ่านมาพบปัญหาส่วนใหญ่ คือ ถูกประแป้งที่ใบหน้าหรือร่างกาย ถูกแซว/ผิวปากหรือใช้สายตาจ้องมองทำให้อึดอัด เคยถูกฉวยโอกาสลวนลาม เกิดอุบัติเหตุ ถูกก่อกวนจากคนเมาหรือถูกบังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และทะเลาะกันในครอบครัว

“สงกรานต์ปีนี้ สสส. จึงเน้นย้ำเรื่องการจัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า ป้องกันลดอุบัติเหตุ ความรุนแรง มีสติ มีขอบเขตและการเคารพสิทธิ ปัจจุบันมีพื้นที่เข้าร่วมกว่า 100 พื้นที่ ถนนตระกูลข้าวปลอดเหล้ากว่า 60 แห่ง โดยขอฝากทุกคนว่า “ดื่มไม่ขับ ดื่มเหล้า เมาถึงสมอง” เพราะร่างกายเรามีร่างเดียว เปลี่ยนไม่ได้ ต้องดูแลให้ดีเพื่อให้ใช้ได้ยาวนาน จนถึงวัยชรา จึงอยากเชิญชวนให้ ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดการทำลายสมอง” น.ส.รุ่งอรุณฯ กล่าว

เผยเล่นสงกราน์ถูกประแป้งที่ใบหน้า ร้อยละ 57.79

ดร.ณัฐพล แย้มฉิม ประธานสวนดุสิตโพล เปิดเผยข้อมูลความคิดเห็นของประชาชนต่อเทศกาลสงกรานต์ 2567 ระหว่างวันที่ 26-29 มีนาคม 2567 โดยสำรวจจากประชาชนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จำนวน 4,011 คน พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ร้อยละ 66.09 ไม่เล่นน้ำสงกรานต์ เพราะต้องการพักผ่อน อากาศร้อน มีร้อยละ 14.19 ที่ไม่เล่นเพราะกลัวถูกลวนลาม (บางส่วนเคยถูกลวนลาม) กลุ่มที่เคยเล่นสงกราน์ส่วนใหญ่เคยเจอสถานการณ์ถูกประแป้งที่ใบหน้า ร้อยละ 57.79 ถูกฉวยโอกาสแต๊ะอั๋ง/ลวนลาม ร้อยละ 32.43 และเด็กกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปี เคยถูกประแป้งที่ใบหน้ามากที่สุด ร้อยละ 76.77

โดยพฤติกรรมการฉวยโอกาสแต๊ะอั๋ง/ลวนลามที่พบมากที่สุด คือ ถูกจับมือ/แขน/เบียดเสียด ร้อยละ 61.45 ถูกสัมผัสลูบไล้ร่างกาย ร้อยละ 37.19 ถูกจับแก้ม ร้อยละ 34.47 ใช้สายตาจ้องมอง แทะโลม ทําให้รู้สึกอึดอัด ไม่ปลอดภัย ร้อยละ 22.45 ถูกแซว/ล้อเลียนส่อไปในเรื่องเพศ ร้อยละ 21.54 และถูกสัมผัส/ล่วงอวัยวะอื่นๆ ที่เกินเลย ร้อยละ 16.55 และกลุ่มตัวอย่าง “รับรู้” ว่าการถูกลวนลาม/คุกคามทางเพศถือว่าเป็นการกระทําความผิดตามกฎหมายอาญา ร้อยละ 92.10

เมื่อถามว่า ปี 2567 นี้จะออกไปเล่นน้ำสงกรานต์หรือไม่ พบว่า ร้อยละ 48.49 รอดูสถานการณ์/การจัดงาน/กิจกรรม ใกล้ ๆ ก่อน และไม่ออกแน่นอน ร้อยละ 37.70 สิ่งที่กังวลหรือห่วงใยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ คือ ภัยอันตราย/อุบัติเหตุมากที่สุด ร้อยละ 85.06 การจราจรติดขัด ร้อยละ 52.03 น้ำไม่สะอาดและโรคที่มากับน้ำ ร้อยละ 47.12 สภาพอากาศร้อนและโรคที่มากับความร้อน ร้อยละ 43.72 การดื่มสุรา/น้ำกระท่อมทำให้ขาดสติ แล้วเกิดการทะเลาะวิวาท ร้อยละ 40.22 และการล่วงละเมิดทางเพศ ร้อยละ 34.13

ในส่วนของข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาการลวนลามและการคุกคามทางเพศในเทศกาลสงกรานต์ อาทิ ให้ระมัดระวังตนเองขณะที่เล่นน้ำสงกรานต์ ร้อยละ 24.33 มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพิ่มบทลงโทษให้ชัดเจน และมีความรุนแรงมากขึ้น กับผู้ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ร้อยละ 15.97 เพิ่มเจ้าหน้าที่คอยดูแลและควบคุมสถานการณ์ตามจุดต่าง ๆ อย่างเข้มงวดและทั่วถึงทุกพื้นที่ รวมถึงให้ภาคประชาชนช่วยสอดส่องดูแล ร้อยละ 11.04 รณรงค์สร้างจิตสำนึกที่ดีในการเล่นน้ำสงกรานต์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น เช่น ไม่เล่นสาดน้ำรุนแรง ทะเลาะวิวาทมีปากเสียงกัน ประแป้งอย่างสุภาพ ร้อยละ 10.00 หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่ที่มีผู้คนหนาแน่นและเสี่ยงที่จะถูกลวนลาม ร้อยละ 8.06 จัดกิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์แบบขนบธรรมเนียมประเพณีไทยดั้งเดิม เพื่อสืบสานวัฒนธรรมที่ดีไว้อย่างต่อเนื่องทุกปี เช่น จัดเทศกาลสงกรานต์ตามแบบฉบับของชุมชนต่าง ๆ เพื่อสืบสานประเพณีเดิมไม่ให้สูญหายไป และให้คนรุ่นใหม่รักษาและสืบสานประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิม ร้อยละ 7.01

ทุกเพศถูกลวนลามทางเพศช่วงสงกรานต์

ในช่วงเปิดเวทีเสวนา การคุกคามทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ เป็นประเด็นที่ถูกยกมาพูดถึง เนื่องจากเป็น “สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น” ในสำรวจความเห็นประชาชนในกรุงเทพฯ

อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า การคุกคามทางเพศ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 และเป็นมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็น การปะแป้ง การจับเนื้อต้องตัว ถือเป็นเรื่องที่ไม่ปกติในสังคมไทย เป็นการคุกคามและยังถือเป็นเรื่องที่ผิดกฏหมาย มีคนหลายคนไม่สามารถที่จะร้องขอความช่วยเหลือ อีกทั้งยังไม่รู้ช่องทางติดต่อหน่วยงานต่างๆ ที่จะสามารถลุกขึ้นมาช่วยเหลือเราได้

จากผลโพลที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่แค่เพศหญิงที่โดนคุกคาม แต่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย รวมถึง LGBTQ ก็สามารถถูกคุกคามได้เช่นกัน

ประเด็นเรื่องการแต่งตัว เป็นอีกประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันในทุก ๆ ปี เรื่องของการแต่งตัววาบหวิว ใส่ขาสั้น จนทำให้เกิดการลวนลามเกิดขึ้น ในมุมมองของอังคณา คิดว่า มันเป็นมายาคติที่ถูกปลูกฝังขึ้นมาเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแต่งตัว แต่มันเป็นเรื่องของการเคารพสิทธิของซึ่งกันและกัน

“ในการณรงค์ในครั้งนี้ที่ทางมูลนิธิได้ร่วมมือกับสสส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นการกระตุ้นให้สังคมยอมรับว่า การคุกคามทางเพศเป็นเรื่องปกติ เราจำเป็นต้องลุกขึ้นมาสื่อสารว่า เรายอมรับกับเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ สังคมต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เราจะต้องเล่นสงกรานต์อีก 21 วัน ดังนั้นเราต้องทำให้ประเด็นการเล่นสงกรานต์ เป็นประเด็นของการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน”อังคณา กล่าว

ยลดา สวนยศ Miss fabulous thailand2024 กล่าวเสริมว่า การแต่งตัวเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมาอย่างยาวนาน แต่ถึงแม้ว่าเรารู้ควรแต่งตัวยังไง มิดชิดรัดกุมให้มันกระฉับบกระเฉง แต่มันก็เป็นเรื่องที่หลีกเหลี่ยงไม่ได้ เนื่องในสภาพอากาศที่ร้อน อีกทั้งการเจอน้ำที่อาจทำให้เสื้อผ้าที่เราใส่แนบเนื้อไปด้วย อยากให้คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ปกติธรรมดา

ทำอย่างไรถ้าถูกคุกคาม ล่วงละเมิดทางเพศ

กรรณิการ์ เจริญรัตน์ อำนวยการกองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า ทางกระทรวงเราทำงานรณรงค์กันมาในทุก ๆ ปี มีหลายตัวอย่างให้เห็นเรื่องการแต่งตัวในนิทรรศการ Don’t tell me How to dress ที่เหยื่อถูกกระทำในชุดปกติ แสดงให้เห็นว่า ผู้กระทำนั้นฉวยโอกาสกระทำความผิด และในหลาย ๆ ครั้งคนกลับมองว่าเหยื่อแต่งตัวไม่เหมาะสม เพราะฉะนั้นตรงนี้เอง เราจำเป็นต้องปรับทัศนคติใหม่ว่า “เขาจะแต่งตัวอย่างไรก็ได้มันเป็นสิทธิของเขาแต่คุณไม่มีสิทธิที่จะไปละเมิดสิทธิของเขา”

กรกณิการ์ กล่าวว่า ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีช่องทางการร้องทุกข์ค่อนข้างที่จะเยอะมาก เช่น สายด่วน 1300 ที่สามารถโทรได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ถ้าในกรณีที่ถูกทำร้ายร่างกายหรือการกระทำที่อาจทำให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศ ทางกระทรวงมีแอปพลิเคชัน ESS Help me ที่เชื่อมต่อกับสำนักงานตำรวจให้ทราบถึงตำแหน่งที่ตั้งที่ร้องเรียนทันที นอกจากนี้ยังมีศูนย์ประสานการป้องกันแก้ไขการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน ในการข้อความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงต้องตระหนักและให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้เทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลที่มีความปลอดภัย ปลอดการคุกคามทางเพศ ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การเล่นน้ำอยู่ ในกรอบของการเคารพในเนื้อตัวร่างกาย ให้เกียรติกัน ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม คุกคามทางเพศ เป็นเทศกาลที่สื่อถึงประเพณีวัฒนธรรมที่ดีของสังคมไทย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น