โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เพิ่มระดับ "ยาแรง" !

สยามรัฐ

อัพเดต 30 มี.ค. 2563 เวลา 17.10 น. • เผยแพร่ 30 มี.ค. 2563 เวลา 17.10 น. • สยามรัฐออนไลน์
	เพิ่มระดับ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังปรากฎตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นแรงกดดันต่อการทำงานของรัฐบาล ไม่น้อย ทั้งที่ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ใช้อำนาจประกาศพ.ร.ก.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อเป็นการยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด มาเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา

แต่ล่าสุด ณ วันที่ 30 มี.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้แถลงตัวเลขยอดผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 1,524 ราย พบผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น 136 ราย โดยในส่วนพื้นที่ กทม.และนนทบุรี ยังมีตัวเลขสูงอยู่ ขณะที่แนวโน้มต่างจังหวัดยังขึ้นๆ ลงๆ

นอกจากนี้ ศูนย์โควิด ฯ ยังเปิดเผยด้วยว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้รายงานถึงมาตรการเข้มข้นใน 4 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ที่ได้มีคำสั่งให้ มีการปิดสถานที่เสี่ยงทั้งสิ้น 2,532 แห่ง

ประเด็นที่น่าสนใจ จากการประชุมของศูนย์โควิด ฯ ครั้งล่าสุด อยู่ที่ "ความเห็น" จาก "พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี" ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในฐานะผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคง ศูนย์โควิดฯ ที่เสนอที่ประชุมว่า ตั้งแต่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พบว่า การสัญจรไปมาของประชาชนทุกรูปแบบลดลงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ แต่อยากขอความร่วมมือให้ลดการสัญจรให้ได้ 90 เปอร์เซ็นต์ จึงจะสามารถลดการแพร่ระบาดได้

หมายความว่า "ยา" ที่ประชาชนเคยประเมินว่า "แรง" อย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ประกาศบังคับใช้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น อาจจะยังไม่มากพอ ที่จะสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างแท้จริง เพราะจนถึงวันนี้ ยังพบว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ปฏิบัติตัวตามมาตการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างระยะห่างทางสังคม ไปจนถึงการหยุดเดินทางเคลื่อนไหวไปตามสถานที่ต่างๆ

สถานการณ์วันนี้ดูจะสวนทางกลับกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อประชาชนเรียกร้อง "ยาแรง" จนรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ได้ส่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯมาเป็นเครื่องมือในการยับยั้ง แต่ในขณะเดียวกัน กลับพบว่าประชาชนจำนวนไม่น้อย ที่เพิกเฉย ละเลย ไม่ตระหนักถึงความสำคัญต่อมาตรการต่างๆ

จนเป็นผลทำให้ยังมีผู้ที่ทั้ง ติดเชื้อ - ผู้แพร่เชื้อ เพิ่มเติม กลายเป็น "สถิติ" ที่สร้างความหนักใจให้กับรัฐบาลและบุคลากรทางการแพทย์อย่างหนัก !

การบริหารจัดการเพื่อดำเนินไปสู่การป้องกัน สกัดกั้น การแพร่ระบาดเชื้อโควิด -19 ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ในจังหวะนี้ ดูเหมือนว่าหากมีการ "เพิ่มยาแรง" ขึ้นมาเพื่อให้มาตรการที่รัฐทยอยออกมา ได้ผล มีประสิทธิภาพอย่างจริงจัง ย่อมมีแนวโน้มว่าจะได้รับการ "ขานรับ" จากประชาชน เป็นอย่างดี

โดยประเมินจากท่าที การตอบรับจากประชาชน เมื่อครั้งที่พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา เพราะผู้คนในสังคม ต่างหวังที่จะได้เห็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ของไทย ไม่พลิกไปสู่จุดวิกฤติเช่นเดียวกับที่ประเทศอิตาลี และสหรัฐฯกำลังเผชิญอยู่ !

กระนั้น หากที่สุดแล้ว ยาแรงที่เคยใส่เข้ามา ยังไม่ได้ผล ยังมีประชาชน จำนวนมากยังไม่ตระหนัก โอกาสที่จะเกิดปฏิบัติการล็อคดาวน์ เมืองใหญ่ อย่างกทม. นำร่อง เป็นตัวอย่าง จะเกิดขึ้นจริงตามข่าวลือที่สะพัดมาเป็นระลอกแล้ว ระลอกเล่าได้หรือไม่ !?

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0