โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

กิน-อยู่-ยั่งยืน ไม่ยาก! ทำเองได้ง่าย ๆ ตามนี้

WWF-Thailand

เผยแพร่ 10 มี.ค. 2562 เวลา 17.01 น.

ยิ่งเวลาในชีวิตผ่านไป  เรายิ่งรู้ว่า “สุขภาพ” เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ  ซึ่งสิ่งที่มีผลต่อสุขภาพของเราโดยตรง คืออาหารที่เรากินเข้าไป ดังนั้นการที่เราจะมีสุขภาพดีได้ ต้องเริ่มจาก "การกิน" ให้ดีกว่าเดิม  การกินดีอยู่ดี ไม่ได้หมายความว่าเราต้องกินอาหารที่อร่อยที่สุด หรือแพงที่สุด แต่เป็นการกินที่จะดีกับตัวเรา ดีต่อคนที่เรารักและรักเราที่เรากำลังอาศัย ใช้อากาศหายใจอยู่ร่วมกัน

"กิน-อยู่-ยั่งยืน-ไม่ยาก" คือแนวทางอย่างง่ายที่ Eat Better อยากฝากไว้ให้ลองนำไปใช้กัน เพื่อเปลี่ยนชีวิตให้มีสีสันที่เราสร้างมันขึ้นมาด้วยเรื่องราวดีๆ สิ่งเหล่านี้ อาจจะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ถูกมองข้าม แต่เป็นหนึ่งในการ "กิน-อยู่-ยั่งยืน" ขั้นพื้นฐาน  ที่คุณได้ด้วยตัวเองทั้งที่บ้าน ที่ห้าง และที่ทำงาน  เพราะจะมีใครที่ใส่ใจตัวคุณ ได้มากกว่าตัวคุณเอง  และอาจจะแถม #EatBetter ที่ใส่ใจคุณด้วยเหมือนกัน

ลองกินผักผลไม้ให้มากขึ้น 

องค์การอนามัยโลกมีผลงานวิจัยระบุว่า การกินผกผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพในเรื่องของการขับถ่ายและการบำรุงร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง เป็นภูมิคุ้มกันโรคในกลุ่ม NCDs หรือโรคไม่ติดต่อที่เกิดจากพฤติกรรม เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ 

ผักผลไม้ยังถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ช่วยลดโลกร้อนด้วย เพราะกระบวนการผลิตนั้นถือว่าใช้พลังงานน้อยกว่าอาหารจำพวกเนื้อสัตว์อยู่มาก และยังดักจับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์รวมถึงผลิตออกซิเจนเพิ่มขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้มากอีกด้วย

นอกจากนี้ การกินผักผลไม้ตามฤดูกาลที่มีในท้องถิ่น จะช่วยลดกระบวนการขนส่งจากการนำเข้าผักผลไม้จากต่างประเทศ ทำให้ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงมากขึ้นอีกด้วย อีกทั้งผักผลไม้ท้องถิ่นตามฤดูกาลยังมีราคาถูกและมีสารอาหารสูง เพราะเป็นฤดูกาลที่ได้เติบโตอย่างเต็มที่ ซึ่งเราควรจะรู้ถึงที่มาที่ไปของผักผลไม้ของเรา โดยผักผลไม้ต้องปลอดสารพิษ ถึงจะมีประโยชน์กับร่างกายมากที่สุด

ลดปริมาณการกินเนื้อสัตว์ให้น้อยลง

เป็นความจริงที่สารอาหารจำพวกโปรตีนนั้นมีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่รู้หรือไม่ว่า กระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ในแต่ละครั้งผ่านการทำปศุสัตว์ จะปล่อยแก๊สมีเทนจำนวนมากสู่ชั้นบรรยากาศ อันเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อน 

ลองจัดสรรมื้อาหารในแต่ละวัน ลองลดปริมาณเนื้อสัตว์ลงภายในหนึ่งอาทิตย์ หรือบริโภคอย่างอื่นที่มีโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา อัลมอน อะโวคาโด เต้าหู้ เป็นต้น โดยทั่วไปผู้หญิงจะต้องการโปรตีนอย่างต่ำวันละ 50 กรัม ส่วนผู้ชายประมาณ 60 กรัม ถั่วเหลืองสุก 1 ถ้วย นั้นให้โปรตีนถึง 29 กรัม ซึ่งมากกว่าโปรตีนในเนื้อสเต็กขนาด 85 กรัมเสียอีก

นอกจากนี้ การทานโปรตีนจากถั่วเหลืองทุกวัน วันละ 25 กรัมนั้นสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้ ในขณะที่ถั่วแดง ถั่วดำ จะมีโปรตีน 15 กรัมต่อถ้วย ส่วนถั่วลันเตาจะให้โปรตีน 9 กรัมต่อถ้วย

ในแต่ละมื้อ ควรกินในปริมาณที่พอดี และพยายามกินให้หลากหลาย ก็จะช่วยให้เราได้สารอาหารครบถ้วน เกิดประโยชน์มากกว่าให้โทษ และจะเป็นมื้อที่ไม่จำเจอีกด้วย

ลดการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน

หลายคนคงเริ่มตื่นตัวเรื่องผลกระทบจากพลาสติกกันแล้ว จากข่าวมากมายที่นำเสนอถึงการสูญเสียของสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลเพราะถุงพลาสติก และปัญหาขยะล้นโลกที่ย่อยสลายช้า

การลดใช้พลาสติกไม่ใช่เรื่องยาก เราต้องเริ่มจากชีวิตประจำวันอันปกติของเรา เมื่อเรารู้ว่า เราต้องกิน ต้องซื้อ ต้องใช้ ก็ค่อยๆปรับตามพฤติกรรมนั้น ๆ เช่น พกถุงผ้าติดตัว เพราะเมื่อเราเข้าร้านสะดวกซื้อเพื่อซื้อของเล็กๆน้อยๆ ก็สามารถปฏิเสธถุงพลาสติก แล้วใส่ของในถุงผ้าของเราได้ หรือการพกกระติกน้ำส่วนตัว ก็ช่วยได้เยอะเหมือนกัน เพราะจะทำให้ลดการใช้แก้วพลาสติกที่ต้องเหลือทิ้งทุกครั้ง หรือแม้แต่การไปห้างสรรพสินค้า เมื่อเรารู้ว่าเราต้องซื้อของจำนวนมาก ก็พกถุงผ้ากระสอบติดท้ายรถไว้ เพื่อที่เราจะได้ขนของได้อย่างสบายๆ

การปฏิเสธหลอดขณะไปทานอาหารนอกบ้าน ก็ถือเป็นการช่วยโลกเหมือนกัน เพราะสิ่งนี้จะทำให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคมากขึ้น หรือถ้าหากจำเป็นต้องใช้หลอดจริงๆ ก็สามารถพกหลอดเหล็ก หลอดสแตนเลสส่วนตัวไว้ด้วยก็ได้ 

ถ้าทุกคนช่วยกันปรับพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ทีละนิด ทุกคนก็จะเคยชินไปด้วยกัน แล้วโลกของเราก็จะค่อยๆ ดีขึ้นอย่างแน่นอน

เพราะโลกใบนี้ไม่ใช่ของเราเพียงคนเดียว ดังนั้น มาร่วมรับผิดชอบโดยการทำให้โลกนี้อยู่ได้อีกนานๆ ต่อไปกันเถอะ

ถึงแม้ว่าหลาย ๆ คนอาจจะค่อนข้างมีปัญหากับการทำอาหารกินเอง ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์ไม่พร้อม หรือไม่มีเวลา แต่เราอยากลองแนะนำให้ทุกคนลองทำอาหารกินเองดูสักครั้ง แล้วจะพบว่า การทำอาหารไม่ยากอย่างที่คิด

เมื่อคุณได้ลองทำเพื่อตัวของคุณเองหรือคนที่คุณรัก คุณจะยิ่งใส่ใจกับสิ่งที่ทำลงไป วัตถุดิบทางอาหารที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ การปรุงรสที่คำนึงถึงสุขภาพ ไม่ตามใจปากเกินไป เพราะเรามักจะใส่ใจสุขภาพของตัวเอง ทั้งการลดไขมัน ลดเค็ม ลดหวาน ที่สำคัญคือลดขยะที่เกิดจากการซื้ออาหารมากมาย 

จริง ๆ แล้ว อาหารทุกชนิดมีรสชาติตามธรรมชาติที่ดีอยู่แล้ว แต่มนุษย์เรามักจะชินกับรสชาติอาหารที่ปรุงแต่ง  ลองจัดตารางทำอาหารเองในสุดสัปดาห์ หรือมื้อเย็นสักวัน อาจจะเป็นกลางสัปดาห์ที่เราอยากใช้เวลากับตนเอง หรือคนรอบข้างหลังเลิกงาน ที่คุณจะได้มีโอกาสได้ไปเลือกหาซื้อวัตถุดิบมาทำเองที่บ้าน ใช้เวลากับการค่อยๆ สร้างสรรค์เมนูสุขภาพสไตล์ตัวเอง ที่คุณและคนรอบข้างอาจจะติดใจ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงบางส่วนจาก http://nutrition.anamai.moph.go.th/download/article/article_20160323133922.pdf

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0