โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธรรมะ

“หัวใจของพระพุทธศาสนา” ที่ทำให้ “มาฆบูชา” เป็นวันแห่งความรัก

Another View

เผยแพร่ 19 ก.พ. 2562 เวลา 01.00 น.

“หัวใจของพระพุทธศาสนาที่ทำให้มาฆบูชา” เป็นวันแห่งความรัก

ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ถือได้ว่าเป็นปีที่มีความพิเศษอีกปีหนึ่ง นั่นก็คือ  เราได้มีวันแห่งความรักถึงสองวันด้วยกัน หลาย ๆ คนที่ได้ยินดังนี้ก็อาจจะงง ว่า 14 กุมภา วันวาเลนไทน์ ก็ได้ผ่านมาแล้ว จะมีวันแห่งความรักที่ไหนอีก แต่เราขอบอกเลยว่า วันนี้ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ก็เป็นวันแห่งความรักด้วยเช่นกัน 

ใช่แล้ว วันมาฆบูชา นี้แหละ คือวันแห่งความรักด้วยอีกวันในเดือนนี้ บางท่านอาจจะบอกว่าเรา “แถ” ไปหรือเปล่า เพราะวันนี้เป็นวันที่ระลึกถึง การแสดงธรรม “โอวาทปาฏิโมกข์” ของพระศากยมุนีพุทธเจ้าของเรา ให้ ทำความดีละเว้นความชั่วทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส ซึ่งได้รับยกย่องให้เป็น หัวใจของพระพุทธศาสนาพอมีคำว่าหัวใจเข้ามา เราจะบอกว่าเป็นวันแห่งความรักของศาสนาพุทธได้เลยหรือ  

แต่เมื่อพิจารณาให้ดี ก็จะเห็นชัดเลยว่า โอวาทปาฏิโมกข์ นี้ สอนเรื่องความรักล้วน ๆ เพราะว่าการส่งเสริมให้มวลมนุษย์ตั้งมั่นในการทำความดี ละความชั่ว ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน นั่นก็คือ การที่พระองค์ทรงสอนให้ทุกคนมีความรักอันยิ่งใหญ่ เป็นรักที่ไม่เห็นแก่ตัว สอนให้รู้จักรัก และเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลก โดยมีสาวกทั้ง 1,250 รูป ที่มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย เป็นผู้นำพระธรรมคำสั่งสอนดังกล่าวไปเผยแพร่

และ “ความรัก” ที่ว่านี้ เป็นความรักที่ไม่จำกัดอยู่เฉพาะความรักของหนุ่มสาว แต่เป็นความรักสำหรับเพื่อนมนุษย์โดยทั่วไป ที่สำคัญที่สุดคือการรู้จักรักตนเอง ด้วยการขัดเกลาจิตใจของตนเองให้ผ่องแผ้ว เพื่อจะได้เผยแผ่ความรัก เผยแผ่ธรรมให้กับเพื่อนมนุษย์โดยทั่วไป นี่คือความหมายของ ความรักในศาสนาพุทธ 

หลักการ3 อุดมการณ์4 วิธีการ6

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จำกัดความ “โอวาทปาฏิโมกข์” นี้ว่า ได้กล่าวถึง “ความรัก” ที่ควรยึดถือและปฏิบัติ โดยเริ่มต้นจากการฝึกใจตน ไปจนถึงการเผยแผ่ความรัก เมตตา ให้ผู้อื่นนั้น แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 ดังนี้

หลักการ 3 หมายถึง สาระสำคัญที่ควรยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ได้แก่ (1) การไม่ทำบาปทั้งปวง ด้วยการไม่ประพฤติชั่วทั้งกาย วาจาและใจ เช่น ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ลักขโมย ไม่ผูกพยาบาท (2) การทำกุศลให้ถึงพร้อม ด้วยการทำความดีทุกอย่างทั้งกาย วาจาและใจ เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่โลภมาก และมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และ (3) การทำจิตใจให้ผ่องใส ด้วยการละบาปทั้งมวล ทำใจให้ปราศจากกิเลส ความโลภ โกรธ หลง ถือศีลและบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา

อุดมการณ์ 4 หมายถึง หลักการที่ทรงวางไว้ เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ได้แก่ (1) ความอดทน ให้มีความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจาและใจ (2) ความไม่เบียดเบียน ให้งดเว้นจากการทำร้าย รบกวนหรือเบียดเบียนผู้อื่น (3) ความสงบ คือ การปฏิบัติตนให้สงบทั้งกาย วาจาและใจ และ (4) นิพพาน คือ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในทางพุทธศาสนา ที่จะเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ 8 ได้แก่ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ และความตั้งใจมั่นชอบ

วิธีการ 6 ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติได้แก่ (1) ไม่ว่าร้าย คือ ไม่กล่าวให้ร้ายผู้อื่น (2) ไม่ทำร้าย คือไม่เบียดเบียน ไม่ฆ่าผู้อื่น (3) สำรวมในปาฏิโมกข์ คือการเคารพระเบียบ กติกา กฏหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของสังคม (4) รู้จักประมาณ คือ รู้จักพอดี พอกิน พออยู่ (หรือจะกล่าวแบบปัจจุบันว่าถือหลักเศรษฐกิจพอเพียงก็ได้) (5) อยู่ในสถานที่ที่สงบ และมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม (6) ฝึกหัดจิตใจให้สงบ คือ การฝึกหัดชำระจิต หมั่นทำสมาธิภาวนา

เมื่อโอวาทปาฏิโมกข์เป็นหัวใจคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงไม่น่าแปลกใจที่ “โอวาทปาฏิโมกข์” ได้กลายเป็น “หัวใจคาถา” ที่พระเกจิอาจารย์ได้นำมาใช้ในการพุทธาภิเษก การสร้างวัตถุมงคลต่าง ๆ นอกจากนี้ยังใช้กำหนดภาวนาเพื่อเป็นอุบายให้ได้ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อประโยชน์ต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยไม่งมงายต่อไป ทั้งยังใช้สั่งสอนสาธุชนทั้งหลายให้ตั้งมั่นในศรัทธาที่ประกอบไปด้วยปัญญา ตามหลักพระพุทธศาสนา ดังปรากฏในคำสอนของพระอาจารย์หลายท่าน อาทิ 

“…กูไม่มีอะไรมากกูไม่มีอะไรจะสอนพวกมึงหรอกเพราะพวกมึงก็รู้ว่ากูพูดไม่เป็นพูดไม่เก่งเหมือนเขาเทศนาว่ากล่าวอะไรก็ไม่เป็นกูมีแต่ว่าให้ละชั่วทำดีกันเท่านั้นแหละบุญบาปมีจริงลูกหลานเอ๊ยให้เชื่อว่าบุญมีจริงบาปมีจริงให้ละชั่วทำดีมีศีลธรรมประจำใจบุญเห็นกับตาบาปเห็นกับตารักตัวกลัวภัยอย่าทำชั่วให้ตั้งอยู่ในเมตตา…”

พระเทพวิทยาคม(หลวงพ่อคูณปริสุทฺโธ)

“…ทำไม่ดีมาหลายปีแต่มาสร้างบุญแค่ชั่วโมงเดียวยังทำไม่ได้ชีวิตจึงมีแต่ขาดทุนแล้วท่านจะได้อะไร…”

พระธรรมสิงหบุราจารย์(หลวงพ่อจรัญฐิตธมฺโม)

“…เมื่อเราทำบุญแต่ยังไม่ละบาปก็เหมือนกับเราเอากะละมังไปคว่ำไว้กลางแจ้งฝนตกลงมาถูก้นกะละมังเหมือนกันแต่มันถูกข้างนอกไม่ถูกข้างในน้ำก็ไม่มีโอกาสที่จะเต็มกะละมังได้…”

พระโพธิญาณเถร(หลวงพ่อชาสุภทฺโท)

************************

ข้อมูลเพิ่มเติม:
http://www.stc.ac.th/stc/index.php?option=com_content&view=article&id=67

https://www.thairath.co.th/content/403301

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 7

  • เพราะสังคมขาดศีลธรรม หันหลังให้วัดๆใกล้ร้าง พระลดลงธรรมะถูกละเลย ศาสนาพุทธขาดการทำนุบำรุง จะนึกถึงวัด ก็ตอนหามเข้า...เมรุ เท่านั้นหรือ...โยม
    20 ก.พ. 2562 เวลา 17.11 น.
  • เจริญด้วยสุข ทุกๆคนครับ
    19 ก.พ. 2562 เวลา 06.54 น.
  • anne🤍
    อนุโมทนา​สาธุธรรมทานคะ
    19 ก.พ. 2562 เวลา 02.19 น.
  • Monthicha
    สาธุสาธุสาธุ
    19 ก.พ. 2562 เวลา 01.41 น.
  • บูชิตา เหล็กแจ้ง..
    สาธุๆ
    19 ก.พ. 2562 เวลา 00.49 น.
ดูทั้งหมด