โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

6 สิ่งทดแทนกาแฟ แถมดีต่อสุขภาพ!

Mango Zero

เผยแพร่ 11 มิ.ย. 2562 เวลา 09.20 น. • Mango Zero
6 สิ่งทดแทนกาแฟ แถมดีต่อสุขภาพ!

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘กาแฟ’ คือเครื่องดื่มในอันดับต้นๆ ที่ครองใจคนมาทุกยุคทุกสมัย ส่วนใหญ่ต้องการดื่มเพื่อเรียกความสดชื่นให้หายจากความง่วงเหงาหาวนอน บางคนถึงกับดื่มได้ 2 – 3 แก้วต่อวัน หรืออาจมากกว่านั้น

สาเหตุที่ทำให้หลายคนติดงอมแงม ก็เพราะคาเฟอีน (Caffeine) ในกาแฟ ที่ส่งผลต่อสมองและระบบประสาทส่วนกลาง ที่มีการกระตุ้นการหลั่งอะดรีนาลีน (Adrenaline) จึงทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า และโดปามีน (Dopamine) ที่ทำให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจ ซึ่งอย่างหลังนี่ล่ะที่น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หลายคนติดกาแฟ!

ทว่าก็มีอีกหลายคนที่เกิดอาการวิงเวียนศรีษะ หรือหัวใจเต้นเร็ว เพราะไม่สามารถรับปริมาณคาเฟอีนได้เท่าคนทั่วไป วันนี้เราได้รวบรวมสิ่งทดแทนกาแฟ ไม่ว่าจะในแง่ของรสชาติ หรือปริมาณของสารคาเฟอีนที่น้อยกว่า แถมยังดีต่อสุขภาพมาบอกต่อกัน แค่เพียงเลือกรับในปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกายเป็นพอ แล้วคุณจะเอนจอยไลฟ์ขึ้นอีกเยอะเลย 🙂

รูทชิโครี (Root Chicory) 

รากของพืชชนิดนี้สามารถนำไปคั่ว บด และชงใส่เครื่องดื่มร้อนเพื่อปรุงรสกาแฟ หรือดื่มแทนกาแฟเลยก็ได้ เพราะรสชาติคล้ายคลึงกับกาแฟมาก ทั้งนี้ปริมาณคาเฟอีนที่ร่างกายรับได้ต่อวันนั้น ไม่ควรเกิน 200 – 300 มิลลิกรัม แต่สำหรับรูทชิโครีไม่ต้องกังวลเรื่องการคำนวณคาเฟอีน เพราะรูทชิโครีรสเหมือนกาแฟ แต่ปราศจากคาเฟอีน!

วิธีการชงก็ง่ายมากๆ เพียงนำรูทชิโครีที่ผ่านการคั่วและบดมาแล้ว ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ ต้มกับน้ำ 180 มิลลิลิตร (หรือปรับสัดส่วนตามชอบ) แล้วกรองออกเท่านั้นก็เป็นอันดื่มได้ อาจชงผ่านอุปกรณ์ชงกาแฟอย่างเฟรนช์เพรส (French Press) ก็สะดวกดี หรือจะชงในรูปแบบของกาแฟดริปก็ยังได้

โดยรูทชิโครีมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก (Prebiotic) คือเป็นอาหารของแบคทีเรียในกลุ่มโปรไบโอติก (Probiotic) ซึ่งอยู่ในลำไส้ใหญ่ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อีกทั้งยังมีอินูลิน (Inulin) ซึ่งเป็นเส้นใยอาหาร ช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่เส้นเลือด และลดระดับคลอเลสเตอรอลได้อีกด้วย

ชาเขียว (Green Tea) 

ชาเขียวขึ้นชื่อในเรื่องของสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ซึ่งช่วยชะลอความเสื่อมสภาพของเซลล์ต่างๆ ช่วยคงความอ่อนเยาว์ อีกทั้งสารคาเทชิน (Catechins) ที่พบได้ปริมาณสูงในชาเขียว ยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง

นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด รวมถึงช่วยขับเหงื่อ และสารพิษตกค้างในลำไส้

ชาเขียวถ้วยขนาด 8 ออนซ์ จะมีคาเฟอีนอยู่ประมาณ 24 – 25 มิลลิกรัม และใช้ระยะเวลาในการดูดซึมคาเฟอีนอย่างช้าๆ ประมาณ 3 – 6 ชั่วโมง ในขณะที่กาแฟจะมีคาเฟอีนอยู่ประมาณ 95 – 200 มิลลิกรัม ต่อถ้วยขนาด 8 ออนซ์ ซึ่งใช้ระยะเวลาดูดซึมเพียง 30 นาทีเท่านั้น

หลายคนจึงอาจแพ้จากการที่ร่างกายดูดซึมคาเฟอีนจากกาแฟเร็วเกินไป จึงทำให้มีอาการใจสั่นได้ แต่ชาเขียวจะช่วยให้ตื่นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ มัทฉะ (Matcha) ซึ่งทำจากใบชาเต็มใบบดละเอียด จะมีคาเฟอีนสูงกว่าชาเขียว 3 เท่า เมื่อเทียบต่อถ้วยขนาดเท่ากัน

เยอบา มาเต (Yerba Mate) 

‘เยอ-บา มา-เต’ เป็นเครื่องดื่มที่มีชื่อเสียงมากในอเมริกาใต้ เป็นพืชที่นิยมนำใบและกิ่งไปอบในน้ำร้อนแบบเดียวกับการชงน้ำชาจากต้นชา ด้วยคุณสมบัติที่ครบเครื่องในการให้คาเฟอีนที่ไม่ต่างจากกาแฟ ทว่ามีรสชาติที่หอมหวานแบบช็อคโกแลต และสรรพคุณแบบชาสมุนไพร

ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือด เพิ่มพลังงานให้ร่างกาย ลดความอยากอาหาร และเพิ่มอัตราเผาผลาญไขมันได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับนักกีฬาหรือผู้ที่ต้องการการเผาผลาญ บางงานวิจัยอ้างว่า เยอบา มาเต มีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าในชาเขียวอีกด้วย

โดยถ้วยขนาด 8 ออนซ์ จะมีคาเฟอีนอยู่ประมาณ 78 มิลลิกรัม เพียงแต่มีแทนนิน (Tannin) ที่ต่ำกว่า จึงไม่มีรสขมเท่า และไม่ก่อให้เกิดกรดในกระเพาะและลำไส้ ทั้งนี้นิยมดื่มกันในถ้วยทรงคล้ายน้ำเต้าที่ทำจากผลมะระ (Gourd) พร้อมหลอดพิเศษที่เรียกว่า ‘Bombillas’ ซึ่งปลายหลอดจะมีรูกรองโดยเฉพาะ

โกโก้ (Cocoa) และช็อคโกแลต (Chocolate) 

โกโก้และช็อคโกแลตมีจุดเริ่มต้นมาจากเมล็ดของต้นกาเกา (Cacao) พืชท้องถิ่นของทวีปอเมริกาใต้ ปัจจุบันมีการนำมาปลูกทั่วไปในประเทศเขตร้อน รวมถึงบ้านเราที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้

โดยมีกระบวนการแปรรูปไม่ต่างจากกาแฟมากนัก คือ เริ่มจากการหมัก ตาก กะเทาะเปลือก การคั่ว และการแปรรูป ออกมาเป็นผงช็อคโกแลต และเมื่อสกัดเอาไขมันออกจึงเรียกว่าผงโกโก้

สรรพคุณนั้นมีอยู่มากมาย ทั้งสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบรรเทาภาวะความเครียด ลดระดับไขมันและน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต และมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ โดยแก้วขนาด 8 ออนซ์ จะมีคาเฟอีนอยู่ประมาณ 2 – 7 มิลลิกรัม

ทั้งนี้โกโก้และช็อคโกแลตที่วางจำหน่ายทั่วไป มักมีน้ำตาลผสมอยู่มาก จึงควรอ่านฉลากให้ละเอียดก่อนเสมอ

กัวรานา (Guarana) 

พืชไม้เลื้อยแถบลุ่มแม่น้ำอเมซอน สารสกัดจากเมล็ดกัวรานามีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ สารกัวรานีน (Guaranine) มีฤทธิ์เฉพาะที่แตกต่างจากคาเฟอีนทั่วไปที่ได้จากชา กาแฟ ช่วยสร้างความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ช่วยให้กำลัง ลดความตึงปวดของกล้ามเนื้อ

และยังช่วยระงับอาการอยากบุหรี่และกาแฟได้ด้วย เนื่องจากช่วยทำให้ต่อมที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลและเกลือแร่ในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ อุดมด้วยวิตามินต่างๆ รวมถึงมีสารโพลีฟีนอลที่ช่วยในการขับสารพิษตกค้างในร่างกายอันมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่

ตลอดจนสารอื่นๆ ที่ตกค้างในระบบทางเดินอาหารและระบบหมุนเวียนเลือด ปัจจุบันพืชชนิดนี้มักถูกนำมาใส่ในเครื่องดื่มชูกำลัง และทำออกมาในรูปแบบของผงสกัดหรือแบบอัดเม็ด

โดยชาวบราซิล อุรุกวัย คนพื้นเมืองแถบแอฟริกา และอเมริกาใต้ใช้ชงดื่มมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว โดยเมล็ดกัวรานาเมล็ดหนึ่งๆ จะให้คาเฟอีนอยู่ที่ 4 – 8%

เมล็ดทานตะวัน (Sunflower seeds) 

ใครจะคิดว่าเมล็ดทานตะวันจะมีคาเฟอีน? ใช่แล้ว! เมล็ดทานตะวันไม่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบโดยตรง แต่มีกรดอะมิโน อย่างทอรีน (Taurine) และไลซีน (Lysine) ที่ให้พลังงานเสริมความกระปรี้กระเปร่าได้เทียบเท่ากับคาเฟอีน เมื่อกินในปริมาณที่มากพอ

มีการเทียบเอาไว้ว่าเมล็ดทานตะวัน 50 กรัม  จะให้สารช่วยกระตุ้นเทียบเท่าปริมาณคาเฟอีนสูงถึง 140 มิลลิกรัม ดังนั้นในหนึ่งวันจึงควรกินในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะคุณอาจจะกินเพลินจนได้รับคาเฟอีนมากเกินแบบไม่รู้ตัว และอาจส่งผลต่อการนอนหลับได้

อย่างไรก็ตามเมล็ดทานตะวันมีคุณค่าทางโภชนาการสูง และยังอุดมไปด้วยวิตามินมากมาย อาทิ โฟเลท (Folate) บี6 (B6) และโดยเฉพาะวิตามิน E ที่พบได้มากกว่าพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งช่วยทำให้ผิวพรรณแลดูสดใส ช่วยบำรุงสายตา และยังอาจช่วยชะลอการเกิดต้อกระจกได้อีกด้วย

ที่มา: (chamate.in.th), (eatthis.com), (yerbamate.com), (health.com), (healthline.com), (honestdocs.co), (inc.com), (medthai.com), ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 16: พืชให้สารกระตุ้น (2544)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น