โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ออกกำลังกายอย่างไรให้ได้กำลังใจกลับมา - หมอเอิ้น พิยะดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 06 พ.ค. 2563 เวลา 08.07 น.

ก่อนหน้านี้หลายคนอาจเคยได้เห็นข่าวผู้ว่าราชการจังหวัดเลยปั่นจักรยานไปทำงาน ออกรายการคนต้นคน ถึงเรื่องราวการต่อสู้ชีวิตกับความยากจน จนกระทั่งได้มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดในบ้านเกิดของตัวเอง

ล่าสุดเนื่องจากสถานการณ์โควิค 19 ที่แพร่ระบาด จังหวัดเลยมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 5 ราย ทางจังหวัดจึงต้องมีมาตรการณ์ในการรับมือที่ค่อนข้างเข้มงวด พร้อมกับนโยบายล็อกดาวน์ของทางรัฐบาล ส่งผลให้กิจการต่าง ๆ และเศรษฐกิจหยุดลงในทันที

สิ่งเหล่านี้เราทุกคนต่างเข้าใจในความจำเป็นที่เกิดขึ้นเพื่อให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤต แม้ว่าทุกคนจะได้รับผลกระทบทั้งทางด้านจิตใจและปากท้อง แต่สิ่งที่ท่านผู้ว่าจังหวัดเลยลงมือทำเพื่อช่วยเหลือปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชนได้สร้างความฮือฮาในโลกโซเชียลเป็นอย่างมาก เพราะท่านแอบย่องเข้าโรงจำนำแล้วใช้เงินส่วนตัวในการไถ่ถอนอุปกรณ์การทำมาหากินของประชาชน เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้อุปกรณ์กลับไปทำงานเลี้ยงชีพ พร้อมยังแถมข้าวสารอาหารแห้งให้อีกด้วย ใช้คำว่าย่องเข้าไปแค่ไหนแต่ก็มีคนเห็นความดีในสิ่งที่ทำจนกระจายไปทั่วโซเชียลอยู่ดี

งานนี้ท่านเลยงดในการที่จะให้สัมภาษณ์เรื่องนี้กับสื่อทุกชนิด

ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเลยที่กล่าวถึงคือ ท่านชัยวัตน์ ชื่นโกสุม หมอมีความโชคดีมากที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดและร่วมงานเพื่อช่วยเหลือกิจกรรมของทางจังหวัดกับท่านบ่อยครั้ง เช่น การจัดค่ายดนตรีให้กับเยาวชนในจังหวัดเลย การส่งเสริมและให้ความรู้เกษตรในเรื่องของกาแฟ การใช้ดนตรีกับการส่งเสริมพัฒนาการเด็กในครูเด็กเล็ก เป็นต้น

การได้ใกล้ชิดและร่วมงานกันบ่อยครั้ง ทำให้ยืนยันได้ว่าภาพลักษณ์ที่แสนจะธรรมดาแต่ดูโดดเด่นในสายตาสังคมนี้ไม่ได้เกิดจากการสร้างภาพให้ใครจดจำ แต่ท่านรักในความเป็นธรรมดาเช่นนั้นจริง ๆ

ในมุมหนึ่งหมอก็จะเห็นว่าท่านผู้ว่าต้องรองรับเรื่องราวปัญหามากมายทุกวัน ใหญ่บ้างเล็กบ้างแต่ก็แทบไม่เคยว่างเว้นจากปัญหาและความคาดหวังของประชาชน แต่ท่านยังดูมีพลังงานที่ดีและมีสติปัญญาในการแก้ไขปัญหาอยู่เสมอ หมอเลยขอสัมภาษณ์ท่านถึงการรับมือกับความเครียดในแบบผู้ว่าชัยวัตน์ ชื่นโกสุม

หมอ : "ความเครียดของคนที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกับการเป็นคนธรรมดาต่างกันมั้ยคะ? "

ท่านชัยวัฒน์ : "ผมว่าไม่ต่างกันสุดท้ายมันก็คือความทุกข์กับความสุขเหมือนกัน "

หมอ : "เวลาที่ท่านเครียดท่านมีวิธีการจัดการอย่างไรให้กลับมามีพลังในการทำงานต่อได้อย่างรวดเร็ว? "

ท่านชัยวัฒน์ : "ผมแบ่งการจัดการเป็นสองส่วน คือด้านจิตใจ กับร่างกาย

ด้านจิตใจผมใช้วิธีการพูดกับตัวเอง เช่น มีคนว่าเราวิพากษ์วิจารณ์เรา เราต้องฟังแล้วหยุดถามตัวเองว่า จริงมั้ย?

ถ้าไม่จริงก็ไม่ต้องใส่ใจเพราะไม่จริง ถ้าจริงก็ต้องขอบคุณคนที่พูดว่าทำให้เรารู้ตัว อย่าโกรธที่เค้าพูดความจริง

ส่วนทางด้านร่างกาย สิ่งที่จะทำสม่ำเสมอคือ 1. ถือตะกร้าไปเดินตลาดเพราะนอกจากได้ออกกำลังกายยังได้กำลังใจจากชาวบ้านกลับมาด้วย 2. หมุนหัวไหล่ 100 ครั้ง แกว่งแขน 1,000 ครั้ง เดิน 10,000 ครั้งต่อวัน 3.ปั่นจักรยานไปทำงาน"

จากวิธีการจัดการความเครียดของท่านผู้ว่าจะสะท้อนให้เห็นว่า การจัดการความเครียดโดยเฉพาะความเครียดขนาดใหญ่และหลายเรื่องนั้น การออกทั้งกำลังกายและกำลังใจเป็นเรื่องสำคัญ

การออกกำลังกายมาสัมพันธ์กับสภาวะของจิตใจได้อย่างไร?

การออกกำลังกายสม่ำเสมอและเป็นการออกกำลังแอโรบิค จะเป็นการช่วยลดความกังวลได้มาก เพราะขณะออกกำลังกายร่างกายจะหลั่งสาร adrenaline ,thyroxin ,endorphin ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อลดการตึงตัว ระบบเลือดในร่างกายไหลเวียนดีขึ้นทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น ลดความวิตกกังวลได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มการย่อยของระบบทางเดินอาหารและการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย

แล้วถ้าวันนี้เราอยากจะออกกำลังกายเพื่อทำให้จิตใจแข็งแรงด้วยควรเริ่มต้นอย่างไร?

1. ค่อยๆมองหาการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับชีวิตเราอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น ไม่ได้ออกไปไหน ไม่ได้มีเวลามากไม่ได้มีอุปกรณ์ เริ่มที่การแกว่งแขนทุกครั้งที่เริ่มยืนก็ได้ ค่อยๆเพิ่มเวลาจาก 5 นาทีเป็น 10 นาทีจนได้ครั้งละ30นาที

2. ทำใจว่า 1 เดือนแรกเราอาจจะรู้สึกยากลำบากหรือฝืนใจในการลุกมาออกกำลังกายเป็นประจำ ลองสร้างแรงจูงใจที่ตัวเองจะทำได้สม่ำเสมอพ้น 1 เดือนแล้วความอยากออกกำลังกายจะเป็นอัตโนมัติ

3. รักษาแรงจูงใจภายในด้วยการใช้เครื่องมือบันทึกการออกกำลังกาย เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเราเอง และชื่นชมตัวเองบ้าง หากทำเป้าหมายเล็กๆในการออกกำลังกายเพื่อตัวเองสำเร็จ

4. วอร์มอัพร่างกายก่อนออกกำลังทุกครั้งประมาณ 5 นาที โดยเฉพาะคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ไม่อย่างนั้นจากคลายเครียดจะเครียดกว่าเดิมจากกล้ามเนื้ออักเสบ

5. ใส่ใจกับช่วงเวลาที่เรากำลังออกกำลังกายแทนผลลัพธ์ที่จะได้ และไม่แข่งขันเปรียบเทียบกับคนอื่น

เช่น ตอนนี้วิ่งอยู่ก็รู้สึกกับลมหายใจตัวเองและเท้าที่กำลังวิ่ง แทนการต้องวิ่งเร็วแค่ไหน วิ่งแล้วน้ำหนักต้องลงกี่กิโล

6. ให้รางวัลตัวเองบ้างเมื่อทำตามเป้าหมายสำเร็จ เช่น ออกกำลังกายได้ครั้งละ 30 นาทีแล้ว หรือออกกำลังต่อเนื่องได้ครบ 1 เดือนแล้ว

7. หลังออกกำลังกายอย่าลืม Cool down อย่างน้อย 5 นาทีเพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัว

8. หลีกเลี่ยงการทานอาหาร 1 ชั่วโมงหลังออกกำลังกาย เพราะจะรบกวนระบบการไหลเวียนของเลือด

9. ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหากกำลังรู้สึกป่วย หรือมีความเครียดสูงมาก เพราะกล้ามเนื้อทุกส่วนจะมีการตึงตัวสูงควรบรรเทาด้วย Progressive Muscle Relaxation แทน

10. พยามยามออกกำลังกายให้ได้ 3 ครั้งใน หนึ่งอาทิตย์ ครั้งละประมาณ 30 นาทีอย่างสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายเพื่อตัวเองโดยรู้สึกตัวเอง เปรียบเสมือนการสร้างถังรองรับความเครียดของจิตใจให้แข็งแรง

เมื่อถังรองรับใหญ่และแข็งแรง เราจะสามารถรับความเครียดได้มากขึ้นเคลียร์ความเครียดได้เร็วขึ้น สติและปัญญาจะกลับมาได้โดยง่าย การเริ่มต้นดูแลจิตใจโดยเริ่มต้นจากการดูแลร่างกายก็เป็นอีกทางเลือกที่เราทุกคนสามารถทำได้

ไม่ใช่แค่ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยเท่านั้น

การรับมือกับความเครียด สไตล์ผู้ว่าฯ เลย

--

ติดตามบทความใหม่ ๆ จาก หมอเอิ้น พิยะดา ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0