โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ท่องเที่ยว

งาน “VIJITR 5 ภาค @PHITSANULOK” ปักหมุด 15 จุดแสดง 1 จุดแลนด์มาร์ก ร่วมสืบสานตำนานแห่งเมืองสองแคว

new18

อัพเดต 05 ก.ย 2567 เวลา 07.37 น. • เผยแพร่ 05 ก.ย 2567 เวลา 07.35 น. • new18
งาน “VIJITR 5 ภาค @PHITSANULOK” ปักหมุด 15 จุดแสดง 1 จุดแลนด์มาร์ก ร่วมสืบสานตำนานแห่งเมืองสองแคว
7-15 กันยายนนี้! ททท. เตรียมสร้างปรากฏการณ์แสง สี กับงาน “VIJITR 5 ภาค @PHITSANULOK” ปักหมุด 15 จุดแสดง และ 1 จุดแลนด์มาร์ก ร่วมสืบสานตำนานแห่งเมืองสองแคว

7-15 กันยายนนี้! ททท. เตรียมสร้างปรากฏการณ์แสง สี กับงาน “VIJITR 5 ภาค @PHITSANULOK” ปักหมุด 15 จุดแสดง และ 1 จุดแลนด์มาร์ก ร่วมสืบสานตำนานแห่งเมืองสองแคว

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมสร้างปรากฏการณ์ “VIJITR 5 ภาค @PHITSANULOK” ในวันที่ 7-15 กันยายน 2567 ตั้งแต่เวลา 18.00 - 24.00 น. ณ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก แต่งแต้มสีสันยามค่ำคืนของเมืองพิษณุโลก ภายใต้คอนเซปต์ “เล่าขานตำนานเมืองสองแคว THE LEGENDS OF SONGKHWAE” สืบสานตำนานและประวัติศาสตร์เมืองสองแควอันงดงามตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน โดยเนรมิตเมืองพิษณุโลก ริมฝั่งแม่น้ำน่าน และสถานที่สำคัญต่างๆ ให้สว่างเรืองรองด้วยเทคนิคแสง เสียง เทคนิคสมัยใหม่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ในการท่องเที่ยวผ่านกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยให้เดินทางมาสัมผัสกับความงดงามตระการตาในเมืองสองแควกับ 15 จุดการแสดง และ 1 จุดแลนด์มาร์ก ใน 7 พื้นที่ประวัติศาสตร์

ซึ่งแต่ละพื้นที่มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนี้
● จุดแลนด์มาร์ก สะพานนเรศวร (จำลอง) แลนด์มาร์กแห่งความทรงจำในประวัติศาสตร์ อุโมงค์แสงประตู สู่ตำนานวีรบุรุษ ที่จัดแสดงอย่างตระการตา ด้วยเทคนิค Light Installation และ Strip Light ตอกย้ำความยิ่งใหญ่ ในการปกป้องบ้านเมืองของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
● พื้นที่การแสดงที่ 1 ป้อมประตูเมืองพิษณุโลก ประกอบด้วย 2 จุดการแสดง ได้แก่ จุดที่ 1 ชุดการแสดง “เสน่ห์แห่งอนุสรณ์สมเด็จพระนเรศวร” แสงสีแห่งชัยชนะที่เจิดจรัส ดุจดั่งพลังแห่งความกล้าหาญของวีรกษัตริย์ ในอดีตกาล พร้อมร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และ จุดที่ 2 ชุดการแสดง “ปราการศิลป์” โบราณสถานเก่าแก่ที่อยู่คู่กับเมืองสองแควมาตั้งแต่อดีต บอกเล่าเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์สื่อให้เห็นถึงความกล้าหาญของกษัตริย์ในการต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเมืองให้เราได้มีแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์อย่างทุกวันนี้
● พื้นที่การแสดงที่ 2 แลนด์มาร์กใหม่ หน้าพระมหาเจดีย์หลวง 700 ปี วัดราชบูรณะ ประกอบด้วย 1 จุดการแสดง ได้แก่ จุดที่ 3 ชุดการแสดง “งามล้ำค่าเมืองพิษณุโลก” สะท้อนถึงแรงศรัทธาที่อยู่คู่บ้านเมือง โดยใช้เทคนิคการฉายแสงไฟสะท้อนสีเหลืองทองอร่ามของเจดีย์ที่เกิดเป็นความวิจิตรงดงามเสมือนมนต์ขลังแห่งเมืองสองแคว
● พื้นที่การแสดงที่ 3 เจดีย์หลวงวัดราชบูรณะ 700 ปี ประกอบด้วย 1 จุดการแสดง ได้แก่ จุดที่ 4 ชุดการแสดง “เสน่ห์กาลเก่า” นำเทคนิค LIGHT & LASER มารังสรรค์ความงดงามเหนือกาลเวลาขององค์เจดีย์หลวงอายุกว่า 700 ปี บอกเล่าตัวตนของเมืองสองแควผ่านศิลปกรรมที่คู่บ้านเมืองมายาวนาน
● พื้นที่การแสดงที่ 4 ต้นโพธิ์วัดพระศรีมหาธาตุ ต้นโพธิ์วัดพระศรีมหาธาตุ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปลูกไว้เมื่อ 111 ปีก่อน ตั้งอยู่ในวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวพิษณุโลก ประกอบด้วย 1 จุดการแสดง ได้แก่ จุดที่ 5 ชุดการแสดง “ศรัทธาแห่งสองแคว” เมื่อความร่มเย็นก่อกำเนิดเป็นสีสันด้วยเทคนิค LIGHT UP & LED และ Strip Light ให้กับต้นโพธิ์ทองอร่ามสว่างไสว ชวนให้รู้สึกถึงบารมีและความเป็นสิริมงคลของชีวิต
● พื้นที่การแสดงที่ 5 ศาลหลักเมือง ศาลหลักเมืองพิษณุโลก สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ประกอบด้วย 1 จุดการแสดง ได้แก่ จุดที่ 6 ชุดการแสดง “แสงโพธิ์ทองส่องบารมี” แสงโพธิ์ทองส่องประกายเจิดจ้าสว่างไสวจากลำต้นสู่ยอดโพธิ์ เส้นสายและทิศทางไฟสีเหลืองทองผสมผสานกับสีชมพู สร้างความรู้สึกสงบและศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ผู้ที่ได้มาเยือน
● พื้นที่การแสดงที่ 6 สะพานพระราชวังจันทน์ สะพานโค้งเหล็กแห่งแรกของประเทศไทย แลนด์มาร์กแห่งหนึ่ง ในจังหวัดพิษณุโลก ประกอบด้วย 1 จุดการแสดง ได้แก่ จุดที่ 7 ชุดการแสดง “เสน่ห์แสงแห่งเมืองสองแคว” ฉายแสงไฟ สีนวลลงบนสะพานพระราชวังจันทน์เหนือแม่น้ำน่าน ณ ใจกลางเมือง บอกเล่าเรื่องราวของอดีตที่สวยงามและรุ่งเรือง ของเมืองสองแคว
● พื้นที่การแสดงที่ 7 พระราชวังจันทน์ สถานที่ประทับในอดีตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประกอบด้วย 8 จุดการแสดง ได้แก่ จุดที่ 8 ชุดการแสดง “สานแสงพุทธศิลป์”สะท้อนความวิจิตรตระการตาของพระพุทธชินราช ที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร / จุดที่ 9 ชุดการแสดง “สายศิลป์สองแคว” บอกเล่าศิลปะแห่งโบราณสถาน และโบราณวัตถุที่วิจิตรตระการตาของเมืองสองแคว / จุดที่ 10 ชุดการแสดง “สานแสงเสน่ห์วังจันทน์” ชวนนึกถึงมนต์เสน่ห์ของพระราชวังจันทร์ซึ่งเป็นสถานที่แห่งประวัติศาสตร์ของเมืองสองแคว / จุดที่ 11 ชุดการแสดง “เล่าขาน ตำนานศิลป์” ร่วมเดินทางข้ามผ่านกาลเวลาย้อนไปดูถึงศิลปะและวัฒนธรรมสมัยสองแคว / จุดที่ 12 ชุดการแสดง “ร้อยเรียงศิลป์สองแคว” ถ่ายทอดวิถีชีวิตและสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของชาวสองแคว / จุดที่ 13 ชุดการแสดง “แสงแรกแห่งเมืองสองแคว” ถ่ายทอดช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ภายใต้แสงแดดอ่อนๆ ในยามเช้าสื่อถึงการเริ่มต้นใหม่ ของเมืองสองแคว / จุดที่ 14 ชุดการแสดง “ตำนานศิลป์พุทธ” สื่อถึงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของชาวเมืองสองแคว ผ่านโบราณสถาน / จุดที่ 15 ชุดการแสดง “รุ่งเรืองศิลป์แสงใหม่” ถ่ายทอดเรื่องราวในอดีตถึงปัจจุบัน ผ่าน แสง เสียง ที่ทันสมัยสะท้อนให้เห็นถึงความงดงามวิจิตรตระการตา

จาก 7 พื้นที่แสดงดังกล่าว มี 4 พื้นที่จุดแสดงที่ไม่ควรพลาด ได้แก่ แลนด์มาร์กใหม่ หน้าพระมหาเจดีย์หลวง 700 ปี วัดราชบูรณะ, เจดีย์หลวงวัดราชบูรณะ 700 ปี, สะพานพระราชวังจันทน์ และพระราชวังจันทน์ โดยจะนำเสนอการแสดงไฮไลต์พิเศษถ่ายทอดตำนานเมืองสองแควด้วยเทคนิคสื่อผสมที่ทันสมัยและยิ่งใหญ่ตระการตา

นอกจากนี้ ในวันที่ 7-8 และ 13-15 กันยายน 2567 ยังมีการจัดแสดงรอบพิเศษ นำเสนอเทคนิค Light & Sound ประกอบการแสดงเชิงวัฒนธรรม 2 จุดการแสดง ได้แก่ พระราชวังจันทน์ จัดแสดงรอบพิเศษ เวลา 19.00 น. และสะพานพระราชวังจันทน์ จัดแสดงรอบพิเศษ เวลา 19.30 น.

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเพิ่มความพิเศษให้แก่ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมสนุกแลกของที่ระลึกผ่านช่องทาง LINE Official Account @TripNiceDay เพียงนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานถ่ายรูปและเช็กอินปักหมุดให้ครบ 15 จุดการแสดง แลกรับของที่ระลึกเสื้อยืดลวดลายพิเศษของงาน จำนวนจำกัดเพียง 500 ชิ้น

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมชมงาน“VIJITR 5 ภาค @PHITSANULOK” สามารถเข้าชมฟรี หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Page : Vijitr วิจิตร 5 ภาค, Facebook : Thailand Festival และ Facebook : TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง

ตารางการแสดงโชว์

Facebook Page : Vijitr วิจิตร 5 ภาค

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น