สธ. เฝ้าระวังต่อเนื่อง สุ่มเก็บตัวอย่างหอยเชลล์ อาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น ใน ปลา ปลาหมึก หอย ปู สาหร่ายกว่า 90 ตัวอย่าง รมว.สาธารณสุขให้ อย. เฝ้าระวังและตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยของประชาชนอย่างเข้มงวด
จากกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดฟุกุชิมะของญี่ปุ่นมีการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าลงสู่ทะเล เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 และปล่อยอีกครั้งในรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 ทำให้มีความกังวลว่า อาหารทะเลที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นอาจมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่ปนมากับน้ำซึ่งปล่อยลงสู่ทะเลตามข่าวที่ได้มีการรายงานก่อนหน้านี้
ล่าสุด นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข มีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการเฝ้าระวังและตรวจสอบการนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศญี่ปุ่นอย่างเข้มงวด โดยมีมาตรการในการเก็บตัวอย่างอาหารทะเลนำเข้าจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยง และกักสินค้าระหว่างตรวจวิเคราะห์ หากพบสารกัมมันตรังสีจะทำลายสินค้าและระงับการนำเข้าทันที
รมว.สาธารณสุข ระบุว่า อย. ได้เริ่มดำเนินการเก็บตัวอย่างอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน เก็บตัวอย่างไปแล้ว 90 ตัวอย่าง เช่น ปลา ปลาหมึก หอย ปูสาหร่าย เป็นต้น ส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณกัมมันตรังสี ซีเซียม-134 (Cs-134) และซีเซียม-137 (Cs137) ที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ล่าสุดได้รับผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างอาหารทะเล 80 ตัวอย่าง ยืนยันว่า ไม่พบสารกัมมันตรังสีทุกตัวอย่าง นอกจากนี้ ยังได้เก็บตัวอย่างหอยเชลล์ 15 ตัวอย่าง เป็นหอยเชลล์จากท้องตลาด 10 ตัวอย่าง จากห้างดองกิและร้าน Sen Sen Sushi ประเทศ ไทย 2 ตัวอย่าง และเป็นหอยเชลล์ที่สุ่มเก็บตัวอย่าง ณ ด่านอาหารและยา 5 ตัวอย่าง ไม่พบสารกัมมันตรังสีทุกตัวอย่าง เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายให้ อย. ยังดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยสุ่มเก็บตัวอย่างที่มีความเสี่ยงทุกการนำเข้าและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะดำเนินมาตรการอย่างจริงจังและเข้มข้นเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และพร้อมที่จะให้ข้อมูลต่อสาธารณชน โดยสามารถติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดผ่านทางเว็บไซต์ อย. https://www.fda.moph.go.th/home ตลอด 24 ชั่วโมง
ความเห็น 0