โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

กสิกรไทย แยก ‘KIV’ เป็นโฮลดิ้ง เพื่อลงทุนร่วมกับพันธมิตร เจาะบริการเพื่อลูกค้ารายย่อย

TODAY

อัพเดต 02 ส.ค. 2566 เวลา 13.53 น. • เผยแพร่ 02 ส.ค. 2566 เวลา 06.51 น. • workpointTODAY
กสิกรไทย แยก ‘KIV’ เป็นโฮลดิ้ง เพื่อลงทุนร่วมกับพันธมิตร เจาะบริการเพื่อลูกค้ารายย่อย 

ธนาคารกสิกรไทย เปิดยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตธุรกิจในระยะยาว ประกาศแยก‘บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด’ หรือ เคไอวี (KASIKORN INVESTURE: KIV) และแต่งตั้ง ‘พัชร สมะลาภา’ เข้าดำรงตำแหน่ง Group Chairman ของเคไอวี

โดย KIV จะเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่มุ่งเพิ่มความคล่องตัวในการรุกธุรกิจให้บริการการเงินกับลูกค้ารายย่อย พร้อมใช้ศักยภาพของพันธมิตรร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ของธนาคาร เพื่อให้สามารถลดต้นทุนธุรกิจ และลดต้นทุนความเสี่ยงด้านเครดิต

ซึ่งปัจจุบัน บริษัทที่อยู่ในโครงสร้างของเคไอวี ประกอบด้วย 14 บริษัท มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด หรือ เคไอวี เป็นบริษัทโฮลดิ้งภายใต้กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย เพื่อลงทุนในบริษัทร่วมกับพันธมิตร โดยกสิกรไทยถือหุ้น 100% ใน KIV

การ Spin-Off บริษัทออกมาในครั้งนี้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธนาคารที่มุ่งเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า (Empower Every Customer’s Life and Business) โดยเคไอวีจะมีบทบาทสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งของธนาคารและพันธมิตร เพื่อสร้างรายได้บนความเสี่ยงที่คุ้มค่า ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม

“ธนาคารได้ปรับรูปแบบการบริหารจัดการของเคไอวี โดยมีคุณพัชร สมะลาภา เข้าดำรงตำแหน่ง Group Chairman ของเคไอวี และแยกเคไอวีออกมา เพื่อทำให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ขยายความร่วมมือกับพันธมิตร ภายใต้การใช้ศักยภาพที่มีอยู่ของธนาคารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ถามว่าทำไมเราถึงต้องแยก KIV ออกมาจากธนาคารกสิกรไทย เหตุผลเพราะธนาคารและ KIV มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน โดยกลุ่มลูกค้าของ KIV ไม่ใช่ลูกค้าหลักที่กสิกรทำอยู่หรือเป็นกลุ่มที่ธนาคารเข้าไม่ถึง ดังนั้น KIV ก็จะเข้าไปตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น

“ทั้งนี้ เมื่อแยกออกมาแล้ว Business Model ต้องต่างจากธนาคาร เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น หลายอย่าง KIV จึงต้องทำร่วมกับพันธมิตร ซึ่งตรงนี้จะทำให้เกิดผลตอบแทนที่เติบโตยั่งยืนต่อเนื่องให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน

“ซึ่งนี่จะสร้างโอกาสใหม่ให้ลูกค้ารายย่อย สร้างแหล่งรายได้ใหม่ให้เรา ทำให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินที่ดี ราคาเป็นธรรม ลูกค้าและพันธมิตรเจริญเติบโตควบคู่ไปกับเรา”

“ธนาคารมั่นใจว่า การปรับครั้งนี้จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในการให้บริการการเงินกับกลุ่มลูกค้ารายย่อย และสร้างรายได้ใหม่ให้กับธนาคาร ทำให้ธนาคารมีกำไรทางธุรกิจที่สูงกว่าธนาคารบริหารจัดการเอง รวมทั้งทำให้ธนาคารมีการเติบโตต่อเนื่องอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน”

นายพัชร สมะลาภา Group Chairman ของ บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด กล่าวว่า เป้าหมายของเคไอวี คือ เพิ่มความสามารถในการให้บริการการเงินกับกลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งมีโจทย์สำคัญคือ ต้องลดต้นทุนการดำเนินงาน (Operating Cost) และลดต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit Cost) เพื่อให้ยังคงความสามารถในการสร้างกำไรของธุรกิจ

การดำเนินงานของเคไอวีอาศัยความเชี่ยวชาญของพันธมิตรในแต่ละด้าน รวมกับการใช้โครงสร้างและทรัพยากรของธนาคารกสิกรไทยที่มีอยู่แล้ว เช่น จำนวนลูกค้ากว่า 20 ล้านราย K PLUS เงินทุน ข้อมูล ไอที และสาขา เป็นต้น

ซึ่งทำให้เคไอวีมีความเข้าใจลูกค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น สามารถให้บริการการเงินที่ครอบคลุมความต้องการของกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย เจ้าของร้านค้ารายเล็ก กลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการเงินทุนเสริมสภาพคล่อง ให้สามารถใช้บริการการเงินในระบบได้มากขึ้น

ปัจจุบัน บริษัทที่อยู่ในโครงสร้างของเคไอวี ประกอบด้วย 14 บริษัท มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท ตั้งเป้ากำไรปีนี้ 900-1,000 ล้านบาท พร้อมวางเป้ามายปี 2026 มีมูลค่าการลงทุนรวม 65,000-70,000 ล้านบาท กำไร 4,500-5,000 ล้านบาท

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0