โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ประกันผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป มีอะไรบ้าง เลือกแบบไหนดี

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

อัพเดต 21 พ.ค. 2566 เวลา 09.07 น. • เผยแพร่ 22 พ.ค. 2566 เวลา 02.15 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

การทำประกันคือหนึ่งในการลงทุนด้านชีวิต และสุขภาพ รูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ หากมีอายุ 50 ปีขึ้นไปแล้ว มีประกันรูปแบบไหนบ้างที่ตอบโจทย์ และเลือกซื้ออย่างไรดี

ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ให้การยอมรับกับการซื้อประกันชีวิต ประกันสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่ตระหนักแล้วว่า การมีประกันสุขภาพเอาไว้ ช่วยบรรเทาเรื่องค่าใช้จ่ายเมื่อต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลได้มาก ซึ่งการเลือกซื้อประกันชีวิตปัจจุบันก็มีให้เลือกมากมายหลายรูปแบบ ตามความต้องการของผู้ซื้อ และมักจะสอดคล้องกับช่วงวัยของผู้ซื้อด้วย อย่างกลุ่มคนหนุ่มสาววัยทำงาน อายุ 21-30 ปี หากซื้อประกันชีวิตก็คงมุ่งหวังจะออมเงินเอาไว้ใช้ในอนาคตเป็นหลัก จึงเลือกซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์

สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป ก็ต้องเลือกรูปแบบประกันที่เหมาะสมกับช่วงวัย เพราะมีเงื่อนไขชีวิตแตกต่างจากคนวัยอื่น ซึ่งวันนี้เรามี 4 หลักเกณฑ์มาแนะนำ สำหรับการเลือกซื้อประกันผู้สูงอายุ 50+ ว่ามีอะไรกันบ้าง

4 ข้อพิจารณาเลือกซื้อประกันสำหรับผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป

1. ศึกษารายละเอียดและเงื่อนไข

การซื้อประกันชีวิตต้องศึกษารายละเอียด และเงื่อนไขของประกันให้รอบด้าน การรับผลประโยชน์ การจ่ายเบี้ยประกันในกรณีต่างๆ อย่างไร ทั้งเจ็บป่วย เสียชีวิต หรือเมื่อครบกำหนด รวมถึงหากไม่สามารถส่งเงินได้ครบตามกำหนดเวลา จะเวนคืนเงินประกันได้หรือไม่ หรือได้ในอัตราส่วนเท่าไร โดยเฉพาะเอกสารแนบท้าย ต้องศึกษาให้ดี เพื่อความเข้าใจและเป็นไปตามความต้องการของเรา ในอนาคตจะได้ไม่เกิดปัญหา ซึ่งประกันสำหรับผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะทำได้ตั้งแต่อายุ 50-70 ปี และจะคุ้มครองไปได้ถึง 90 ปี หรือไม่ก็ตลอดชีวิต ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข

2. ระยะเวลาของการคุ้มครอง

ถึงแม้ว่าการทำประกันชีวิตจะครอบคลุมถึงอุบัติเหตุและโรคร้ายแรง แต่สิ่งที่ต้องเช็กทันทีคือรายละเอียดเกี่ยวกับกำหนดการคุ้มครองของประกัน ซึ่งบางคนอาจจะไม่ได้สนใจเท่าไหร่ เพราะมองว่าไม่สำคัญ แต่อย่าลืมว่าการทำประกันชีวิตของผู้สูงอายุจะมีคำว่า “ระยะเวลารอคอย” เข้ามาแทรกกลางเพิ่มเติม ซึ่งหมายถึงกำหนดการเริ่มการคุ้มครองโรคร้าย ซึ่งอาจจะทำให้การขอเคลมประกันเมื่อถึงเวลาที่ผู้เอาประกันเกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิต ลูกหลานหรือคนที่อยู่ข้างหลังอาจจะได้แค่เบี้ยประกันกลับไปเท่านั้น

3. เลือกประกันตามแบบที่ต้องการ

ประกันสำหรับผู้สูงอายุ 50+ มีหลายบริษัทที่ขาย แต่หลักๆ จะมี 2 รูปแบบ คือ แบบเงินออมหรือแบบสะสมทรัพย์ ที่จะจ่ายเงินคืนเมื่อครบตามกำหนดระยะเวลาในกรมธรรม์ กับแบบคุ้มครองชีวิต ที่จะได้เงินคืนเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต แต่รูปแบบประกันภัยเพื่อผู้สูงอายุ 50+ ที่สามารถเลือกซื้อได้ ก็มีแยกย่อยได้อีก 5 รูปแบบด้วยกัน คือ

3.1 ประกันชีวิตแบบผู้สูงอายุ

คุ้มครองการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และโรคภัยไข้เจ็บให้กับบุคคลที่มีอายุระหว่าง 50-70 ปี เป็นประกันที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพ และไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ เหมาะสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือร่างกายไม่แข็งแรง ทำให้ไม่สามารถทำประกันชีวิตแบบทั่วไปได้ แต่อยากจะสร้างเงินมรดกไว้ให้ลูกหลาน ซึ่งเงื่อนไขจะจ่ายเงินกรณีเสียชีวิตเท่านั้น ไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ยกเว้นแต่ซื้อสัญญาเพิ่มเติมพ่วงท้ายไว้

แต่กรณีเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บในช่วง 2 ปีแรก บริษัทประกันจะจ่ายคืนเฉพาะเบี้ยประกันที่ชำระแล้ว บวกด้วยผลตอบแทนเพิ่มเติม และถ้าเสียชีวิตจากอุบัติเหตุภายในช่วง 2 ปีแรก บริษัทประกันจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยเต็มจำนวน พร้อมเบี้ยประกันที่ชำระแล้ว บวกด้วยผลตอบแทนเพิ่มเติม ถ้าเสียชีวิตตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป บริษัทประกันจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยเต็มจำนวนในทุกกรณี ไม่ว่าจะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุหรือจากโรคภัยไข้เจ็บก็ตาม

3.2 ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ

ประกันแบบนี้คุ้มครองผู้เอาประกันภัยจนมีอายุ 90 ปี หรือตลอดชีพ ซึ่งบริษัทจะจ่ายเงินเอาประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัยเมื่ออายุ 90 ปี แต่กรณีเสียชีวิตในขณะที่กรมธรรม์มีผลบังคับ บริษัทประกันจะจ่ายเงินเอาประกันภัยให้กับผู้รับผลประโยชน์ ประกันชีวิตแบบนี้ เหมาะกับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองชีวิต และต้องการเงินทุนสำหรับค่าใช้จ่ายครั้งสุดท้าย หรือมอบเป็นมรดกแก่ทายาท และยังนำค่าเบี้ยประกันที่จ่ายไป มาใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย ซึ่งค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบนี้จะมีค่าเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำกว่าประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์

3.3 ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล

ประกันรูปแบบนี้ จะคุ้มครองผู้เอาประกันภัยกรณีเสียชีวิต และเหตุอื่นๆ อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ และยังมีแบบคุ้มครองการสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ ค่ารักษาพยาบาลอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ และเงินรายได้ชดเชยรายวันกรณีเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล (คนไข้ใน) ซึ่งจำนวนค่าเบี้ยประกันภัยจะขึ้นอยู่กับวงเงินคุ้มครองหรือจำนวนเงินเอาประกันภัย โดยทั่วไปประกันอุบัติเหตุจะเป็นประกันแบบปีต่อปี หากปีไหนไม่ต้องการทำประกันก็สามารถหยุดชำระเบี้ยประกันได้

3.4 ประกันสุขภาพ

เป็นประกันที่เน้นคุ้มครองด้านสุขภาพ การรักษาอาการเจ็บป่วย และยังสามารถเลือกซื้อสัญญาเพิ่มเติมได้ เช่น ความคุ้มครองค่าห้อง ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น หรือเลือกซื้อสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองโรคร้ายแรง เพื่อคุ้มครองกรณีเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงด้วย แต่ประกันสุขภาพ บริษัทประกันจะรับทำประกันให้กับผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง และไม่มีโรคประจำตัวมาก่อน หากมีโรคประจำตัวหรือโรคร้ายแรงมาก่อน บริษัทประกันมักไม่รับทำประกันให้ หรืออาจจะรับแต่เงื่อนไขจะเข้มงวดขึ้น และเบี้ยประกันจะแพงมากขึ้น ดังนั้นจึงควรปรึกษาตัวแทนขายประกันก่อนว่าสามารถทำประกันได้หรือไม่

3.5 ประกันชีวิตแบบบำนาญ

เป็นประกันชีวิต ที่เน้นด้านคุ้มครองรายได้เมื่อเกษียณอายุ หรือทุพพลภาพ โดยมีการกำหนดจ่ายเงินประจำ เช่น มีอายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปีเป็นต้นไป บริษัทประกันจะจ่ายเงินให้ผู้เอาประกันภัยเป็นรายงวดเท่ากันทุกงวดอย่างสม่ำเสมอ เช่น ทุกเดือน 3 ทุกเดือน 6 เดือน หรือทุกปี เป็นระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 85 ปี หรือจนกว่าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต เป็นประกันชีวิตที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองชีวิต และเงินสะสมไว้ใช้เมื่อเกษียณอายุ แถมยังนำค่าเบี้ยประกันใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร

4. เลือกเบี้ยประกันที่จ่ายไหว

เพราะผู้สูงอายุวัย 50 ปีขึ้นไป จะต้องวางแผนเก็บเงินไว้ใช้ยามเกษียณ จึงต้องพิจารณาเลือกซื้อประกันชีวิต ที่สามารถจ่ายเบี้ยประกันได้ไหว ไม่เป็นภาระกับเงินที่มีอยู่ หรือกลุ่มคนวัยเกษียณก็อาจจะไม่มีรายได้ การซื้อประกันชีวิตอาจจะนำเอาเงินเก็บมาใช้ จึงต้องดูความสามารถว่าจะจ่ายได้จนครบอายุสัญญาหรือไม่ รวมถึงไม่กระทบต่อค่าใช้จ่ายประจำเดือนด้วยหรือเปล่า

ทั้งหมดนี้ ก็เป็น 4 ข้อในการพิจารณาเลือกซื้อประกัน สำหรับผู้สูงอายุ 50+ พร้อมกับรูปแบบประกันชีวิต ที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์และความต้องการของผู้สูงอายุเอง ลองเลือกและพิจารณาให้เหมาะสม เพื่อความอุ่นใจในช่วงบั้นปลายของชีวิตตัวท่านเอง

ที่มา-สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.), SCB PROTECT

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ประกันผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป มีอะไรบ้าง เลือกแบบไหนดี

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0