โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

ภูมิแพ้อากาศไม่ใช่เรื่องเล่น วิจัยเผย "โควิดทำภูมิคุ้มกันตก" และคนเป็นภูมิแพ้อาการแย่ลง

Mission To The Moon

เผยแพร่ 28 ธ.ค. 2566 เวลา 05.30 น. • Mission To The Moon Media

ในขณะที่คนไทยจำนวนไม่น้อยกำลังดื่มด่ำกับอากาศเย็นที่นานๆ ทีจะได้สัมผัสสักครั้ง ชาวภูมิแพ้กลับต้องเศร้าใจเป็นพิเศษ เพราะช่วงเวลาที่ลำบากมากที่สุดอันดับต้นๆ ของชีวิตได้เริ่มขึ้นแล้ว
.
เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว อากาศจะเปลี่ยนแปลงบ่อยจนหลายคนป่วยได้ง่ายๆ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและไวต่อสิ่งกระตุ้นมากๆ อย่างเช่น ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่แค่สัมผัสกับสิ่งกระตุ้นเพียงเล็กน้อยก็ทำให้ร่างกายแสดงอาการแพ้ออกมาได้ เช่น ผื่นแพ้ตามผิวหนัง ทำให้รู้สึกคันและทำให้ผิวแห้งลอก
.
หรืออาการแพ้อากาศที่เกิดขึ้นกับระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจลำบาก มีน้ำมูกไหล ไอ จาม และโพรงจมูกมีอาการบวมจนหายใจไม่ออก ปวดหัว รวมถึงนอนไม่หลับได้ บางรายอาจเป็นหนักมากจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตเลยทีเดียว!
.
แม้ว่าชาวภูมิแพ้จะเคยชินกับความลำบากเหล่านี้ในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ หรือช่วงหน้าหนาว แต่สิ่งอยู่นอกเหนือการรับรู้ของผู้คนก็คือ ในปีนี้อาการเหล่านี้รุนแรงมากขึ้น และทิ้งผลตกค้างยาวนานกว่าปีไหนๆ
.
.
‘อากาศ’ ศัตรูตัวฉกาจของชาวภูมิแพ้
.
อาการภูมิแพ้อากาศเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น ไรฝุ่น อากาศที่แห้งและเย็น รวมถึงเชื้อไวรัสบางชนิดที่ทำให้ระบบทางเดินหายใจติดเชื้อได้ เช่น เชื้อไวรัสในไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจ (RSV) รวมถึงเชื้อไวรัสโควิด โดยอาการภูมิแพ้จะมีช่วงสงบอยู่ แต่เมื่อร่างกายสัมผัสหรือได้รับสิ่งกระตุ้นเข้าไปก็จะทำให้เกิดอาการภูมิแพ้กำเริบได้
.
โดยปกติแล้วอาการภูมิแพ้ทางเดินหายใจจะค่อยๆ ทุเลาเมื่อร่างกายสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นน้อยลง ชาวภูมิแพ้หลายคนจึงชอบทำความสะอาดหรือปัดกวาดเช็ดถูพื้นที่รอบตัวให้ปราศจากไรฝุ่นตลอดๆ พยายามหลีกเลี่ยงพื้นที่แออัดในช่วงระบาดของไวรัสต่างๆ แต่สิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ก็คือสภาพอากาศนั่นเอง
.
สำหรับคนไทยที่อยู่ในประเทศเมืองร้อนและร้อนตลอดทั้งปีจึงมักมีอาการภูมิแพ้กำเริบหนักขึ้นในช่วงปลายฝนต้นหนาว เนื่องจากความชื้นในอากาศลดลงและอุณหภูมิที่เย็นลงทำให้เกิดปัญหาในการปรับตัวของเยื่อบุโพรงจมูก และกระตุ้นให้เกิดการอักเสบขึ้นได้ อาการของโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจมีหลากหลาย แล้วแต่ผู้ป่วยแต่ละราย เช่น น้ำมูกไหล มีอาการคัดจมูก โพรงจมูกบวมแดง มีอาการคันจมูก จามหรือไอบ่อยๆ
.
แต่เหมือนว่าช่วงเวลาอันยากลำบากของชาวภูมิแพ้จะยิ่งเพิ่มความลำบากมากขึ้นอีก หลายคนอาจสังเกตได้ว่าอาการเหล่านี้เริ่มเกิดง่ายขึ้น มีอาการรุนแรงขึ้นและนานมากขึ้น จนได้แต่สงสัยว่าวังวนของโรคภูมิแพ้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด
.
.
เข้าใจปรากฏการณ์ ‘หนี้ภูมิคุ้มกัน’ (Immunity Debt)
.
ปรากฏการณ์หนี้ภูมิคุ้มกัน หรือ Immunity Debt เป็นปรากฏการณ์ใหม่ทางการแพทย์ที่เกิดหลังช่วงโควิด โดยแพทย์ได้ให้คำอธิบายเอาไว้ว่า “เป็นสภาวะที่ร่างกายไม่ได้สัมผัสกับเชื้ออื่นๆ ตามธรรมชาติหรือไม่ได้รับวัคซีนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้มีภูมิคุ้มกันลดลง”
.
ตามปกติแล้ว ร่างกายของเราจะได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งกระตุ้นให้มีภูมิคุ้นกันเชื้อไวรัสตัวอื่นๆ ที่ทำลายระบบทางเดินหายใจอย่างต่อเนื่องตลอดมา คนป่วยวัยผู้ใหญ่ที่เป็นไข้หวัดใหญ่หรือติดเชื้อ RSV จึงมีอาการที่ไม่รุนแรงมากและสามารถฟื้นฟูร่างกายได้
.
แต่ในช่วงโควิดที่ผ่านมา เราได้รับวัคซีนโควิดเป็นหลัก เมื่อรวมกับการล็อกดาวน์และวิถีชีวิตที่ลดระยะห่าง มีแอลกอฮอล์ติดตัวตลอดเวลาและปราศจากเชื้อมากขึ้น ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราลดประสิทธิภาพลงและตอบสนองต่อเชื้อไวรัสที่เข้ามาได้ช้ามากขึ้น
.
นอกจากนี้การเข้าถึงวัคซีนก็ส่งผลต่อความรุนแรงของอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจด้วยเช่นกัน ในบทความจากเว็บไซต์ CNBC ระบุว่าในฤดูกาลนี้ จำนวนของผู้ใหญ่ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อยู่ที่ 42% ส่วนเด็กที่เข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อยู่ที่ 43% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยลงเมื่อเทียบกับฤดูกาลก่อน ซึ่งมีอัตราสูงอยู่ที่ 47% ในกลุ่มผู้ใหญ่และ 57% ในกลุ่มเด็ก
.
เนื่องจากในช่วงหลังโควิดที่ผ่านมานี้ ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง และการเข้าถึงวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีจำนวนน้อยลง ก็ยิ่งทำให้อาการภูมิแพ้หรืออาการอักเสบในระบบทางเดินหายใจรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย
.
.
ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ 2 ตัวพร้อมๆ กันเพิ่มสูงขึ้น
.
ปกติแล้วเชื้อไวรัสต่างๆ จะมีช่วงระบาดสูงสุดแตกต่างกันไป เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ที่มักระบาดในช่วงปลายฤดูฝน โรคมือเท้าปากที่มักระบาดในช่วงอากาศเย็นและชื้นอย่างฤดูฝน การฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามฤดูกาลจึงช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อ และช่วยลดความรุนแรงของอาการลงได้มากทีเดียว
.
แต่เมื่อเชื้อไวรัสโควิดถือกำเนิดกลับกลายเป็นว่าเชื้อไวรัสหลายตัวระบาดขึ้นพร้อมๆ กัน ร่างกายของเราก็เหมือนกับต้องเผชิญศึกหนักจากหลายทาง ยิ่งไปกว่านั้นช่วงปลายปีอย่างนี้ก็ต้องเจอทั้งกับโควิด ไข้หวัดใหญ่ รวมถึงเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ (RSV) ที่ระบาดหนักในอากาศที่เย็นและแห้งอย่างนี้ด้วย
.
เมื่อรวมกับการที่ภูมิคุ้มกันของเราลดลงไปแล้ว และต้องเผชิญกับเชื้อไวรัสมากมายก็ทำให้เรามีโอกาสที่จะป่วยจากการติดเชื้อไวรัสมากกว่าหนึ่งตัวสูงขึ้นไปอีก
.
.
ภูมิแพ้อากาศในช่วงปลายปีไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ก็ไม่ใช่ ‘เรื่องเล่นๆ’!
.
ทั้งเชื้อไวรัสจากไข้หวัดใหญ่ โควิดและเชื้อ RSV กระตุ้นให้มีอาการหวัด และต่อให้เชื้อหมดไปแล้วก็ยังคงทิ้งผลตกค้าง อย่างอาการไอเรื้อรัง และอาการอักเสบในระบบทางเดินหายใจให้ผู้ป่วยต้องทรมานไปอีกหลายเดือน และถ้าอ้างอิงจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติของสหรัฐฯ จะพบว่าในบางรายอาจประสบกับ Long Covid หรืออาการอักเสบตกค้างในระบบทางเดินหายใจนานเป็นปีเลยทีเดียว
.
ดังนั้นนอกจากว่าเราจะติดเชื้อ 2 ตัวพร้อมกันในเวลาใกล้เคียงกันได้แล้ว อาการอักเสบยังเกิดขึ้นได้หลายครั้ง แม้จะติดเชื้อไวรัสเพียงตัวเดียวก็ได้ นั่นทำให้บางครั้งเราก็รู้สึกว่าอาการภูมิแพ้อากาศ หายใจลำบาก มีน้ำมูกหรือไอจามเรื้อรังนั้นเป็นๆ หายๆ เดี๋ยวก็สงบ เดี๋ยวก็กำเริบ รู้สึกฟื้นตัวได้ไม่กี่วันก็เป็นซ้ำวนลูปอยู่แบบนี้จนสร้างความรำคาญและความทรมานให้ชาวภูมิแพ้มากกว่าช่วงก่อนโควิดเสียอีก
.
คนภูมิแพ้ที่เผชิญกับอาการอักเสบในระบบทางเดินหายใจมาอยู่แล้วทุกปีจะรู้ดีว่าการกินยาหรือมียาดม ยาหม่องและพิมเสนติดตัวไว้ตลอดนั้นเป็นเพียงวิธีเยียวยาที่ปลายเหตุและไม่มีอะไรจะรักษาอาการภูมิแพ้ให้หายขาดได้เท่ากับการรักษาความสะอาดและอยู่ในที่ที่อากาศบริสุทธิ์ หรือกำจัดตัวกระตุ้นอาการอักเสบต่างๆ ทิ้งไป
.
.
แต่สุดท้ายแล้วเราก็ไม่สามารถควบคุมปัจจัยทุกอย่างได้ครบถ้วน โดยเฉพาะการอักเสบที่เกิดจากไวรัสหลายๆ ตัว ฝุ่นละอองที่เล็กมากๆ หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยอาการอักเสบดังกล่าว หากปล่อยทิ้งไว้ให้รุนแรงมากขึ้นหรือเป็นหนักขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะทำให้เสี่ยงต่อโรคปอดได้ในภายหลัง
.
ดังนั้นการสังเกตสัญญาณความผิดปกติต่างๆ จากร่างกายของเราเองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในยุคนี้ เพราะมีแค่เราเท่านั้นที่จะรู้จักร่างกายของเราเองได้ดีกว่าใครๆ
.
.
อ้างอิง
- Have your cold or flu symptoms lingered this winter? Doctors explain why. : Aria Bendix, CNBC - https://nbcnews.to/3toi8vo
.
.
#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0