สถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM 2.5 วนกลับมาอีกครั้งในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งหนึ่งในสาเหตุการเกิดฝุ่นมาจากการเผาในภาคเกษตร โดยเฉพาะการเผาอ้อยในช่วงการเปิดหีบอ้อย ซึ่งประเด็นนี้รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เริ่มออกมาตรการแก้ฝุ่น โดยวางกรอบการทำงานไว้ 3 ปี นับจากปี 2564
ล่าสุด นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ได้ถูกประกาศขึ้นให้เดินหน้าตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้กรอบระยะเวลา 3 ปีตั้งแต่ปี 2564
โดยให้เริ่มดำเนินการในปีการผลิต 2564/2565 กำหนดว่าต้องปริมาณอ้อยไฟไหม้ส่งเข้าหีบไม่เกิน 10% ถัดมาฤดูการผลิต 2565/2566 ปริมาณอ้อยไฟไหม้ส่งเข้าหีบต้องไม่เกิน 5% และฤดูการผลิต 2566/2567 อ้อยไฟไหม้ ต้องเป็น 0%
ล่าสุดโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดรัฐบาลจึงเข้ามาช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการตัดอ้อยสดในอัตราตันละ 120 บาท ได้รับงบประมาณ 8,000 ล้านบาทสำหรับฤดูการผลิตปี 2566/2567
อ้อยไฟไหม้ยืน 32%
อย่างไรก็ตาม จากการเก็บสถิติ พบว่า ฤดูการผลิตปี 2563/2564 ปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลงจาก 60-70% เหลือ 26.42% “ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์”
ขณะที่ปีการผลิต 2564/2565 มีปริมาณอ้อยไฟไหม้ส่งเข้าหีบอยู่ที่ 27.28% และปี 2565/66 อยู่ที่ 32.79%
“การเผาอ้อยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากเหตุสุดวิสัยและการขาดเจตนา เพราะมีทั้งเรื่องปัญหาการใช้แรงงานคนที่ขาดแคลนและมีต้นทุนสูง ดังนั้นควรจะมีส่วนที่ต้องยอมรับให้ได้ (Buffer) ที่ไม่เกิน 5% ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่นอกเหนือการควบคุมโดยสิ้นเชิง”
แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง
ปัญหาการเผาอ้อยในประเทศไทย จึงถือเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างอาจไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงได้ในช่วงข้ามปี
แนวทางปฏิบัติที่ผ่านมา อาทิ การจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสดให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในอัตรา 120 บาทต่อตันอ้อย ถือเป็นมาตรการเฉพาะช่วงเวลาเท่านั้น ส่วนการแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง จะต้องแก้ด้วยการทำความเข้าใจที่ฐานรากของปัญหาและแก้ไขโดยพลิกฟื้นไปทั้งระบบ
“เราไม่ได้นิ่งนอนใจหรือปล่อยให้มีการเผาอ้อย เพราะเราออกมาตรการดักไว้ทุกทาง สิ่งหนึ่งก็ต้องมาทำความเข้าใจเรื่องของโครงสร้างอ้อยด้วย ว่ามีหลายส่วนเป็นองค์ประกอบจะให้ลดการเผาในเวลาแค่ข้ามวันก็คงไม่ได้”
6 แนวทางแก้อ้อยไฟไหม้
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยในเชิงโครงสร้างของประเทศไทย 1.การสร้างและกระตุ้นการรับรู้ 2.การสร้างรายได้เพิ่ม 3.การร่วมรับผิดรับชอบของทุกภาคส่วน 4.การส่งเสริม สนับสนุน และกำกับของภาครัฐ
ซึ่งจะต้องไม่มุ่งเน้นเฉพาะผลสำเร็จระยะสั้น (Quick Win) มากเกินไปจนพลาดเป้าหมายระยะยาว รวมทั้งพิจารณาบทบาทการช่วยเหลือและการสนับสนุนของภาครัฐที่ไม่ขัดต่อพันธกรณีภายใต้ WTO เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงรถตัดอ้อยและเครื่องจักรกลการเกษตรชนิดอื่น หรือการงดเว้นภาษีศุลกากรเมื่อมีการนำเข้ารถตัดอ้อยใหม่ ที่มีขนาดแรงม้าไม่น้อยกว่า 300 แรงม้า
เรื่องของแรงงาน ในบางพื้นที่ที่มีข้อจำกัดในการใช้รถตัดอ้อยและจำเป็นต้องใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยวอ้อยกระทรวงแรงงานได้ช่วยจัดหาแรงงานภายในประเทศ หรือการสร้างความร่วมมือในการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในช่วงเวลาที่จำเป็นต้องใช้แรงงานเพื่อการตัดอ้อย
5.การบังคับใช้กฎหมาย พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2584 ประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องมีความเข้มงวดและมีความจริงจังกับการบังคับใช้กฎหมาย
นอกจากนั้น การกำหนดให้มีการหักเงินจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยเผาเข้าหีบในอัตราตันละ 30 บาท และนำเงิน 30 บาทดังกล่าวไปเฉลี่ยคืนให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดเข้าหีบในโรงงานน้ำตาลเดียวกัน
6.การวิจัยและพัฒนา เพื่อการแก้ไขปัญหาการเผาอ้อย อาทิ การปรับปรุงพันธุ์อ้อยให้ลดอ้อยไม่หักล้ม และใบหลุดร่วงง่าย เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยด้วยแรงงานคนสามารถตัดอ้อยสดได้โดยไม่จำเป็นต้องเผาก่อนตัด
คุมโรงงานซื้ออ้อยสดไม่ได้
อย่างไรก็ตาม การใช้กฎหมาย ระเบียบ หรือประกาศที่เกี่ยวข้องกับการบังคับไม่ให้โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยเผาโดยตรง ยังไม่สามารถทำได้
แต่มีระเบียบที่ใกล้เคียงและเกี่ยวข้องที่สุด คือ ระเบียบที่ว่าด้วยการตัดและส่งอ้อยให้แก่โรงงาน การตรวจสอบคุณภาพอ้อย และการรับอ้อยจากชาวไร่อ้อยหรือหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย พ.ศ. 2553 ข้อ 12 ที่กำหนดให้โรงงานมีสิทธิปฏิเสธการรับซื้ออ้อยจากชาวไร่อ้อยได้ 2 กรณีเท่านั้น คือ
1.คุณภาพอ้อยต่ำกว่า 6 ซีซีเอส โรงงานอาจปฏิเสธการรับซื้ออ้อยส่วนที่ยังไม่ได้หีบของชาวไร่อ้อยรายนั้น ได้ตามคณะทำงานควบคุมการผลิตประจำโรงงานชี้ขาด ส่วนที่หีบแล้วให้จ่ายตามคุณภาพอ้อย
2.อ้อยไฟไหม้ที่มีความบริสุทธิ์ไม่ได้มาตรฐานตามที่คณะทำงานควบคุมการผลิตประจำโรงงานตัดสิน
จะเห็นว่าจากระเบียบข้างต้น ไม่ได้กำหนดสิทธิให้แก่โรงงานน้ำตาลในการไม่รับซื้ออ้อยไฟไหม้ และ สอน. ก็ไม่มีอำนาจในการบังคับให้โรงงานน้ำตาลไม่รับซื้ออ้อยไฟไหม้ นอกเหนือจากการพิจารณาที่คุณภาพของอ้อยและความบริสุทธิ์ของอ้อย
ดังนั้น อ้อยที่ถูกไฟไหม้และถูกส่งเข้าโรงงานน้ำตาล โดยขาดเจตนาเผาของชาวไร่อ้อยหรือด้วยเหตุสุดวิสัย จึงไม่อาจถือเป็นการทำผิดที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องได้รับการลงโทษแต่อย่างใด และโรงงานน้ำตาลก็จำเป็นต้องรับอ้อยเข้าหีบตามเงื่อนไขสัญญาที่กำหนด
นอกจากนี้ โรงงานน้ำตาลอาจกำหนดราคารับซื้ออ้อยที่จ่ายให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในทางบวก (Positive) หรือโรงงานน้ำตาลจ่ายเงินเพิ่มเป็นแรงจูงใจให้แก่ชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งเข้าหีบ และไม่มีเงินเพิ่มให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้ส่งเข้าหีบ
ภาพสะท้อนทั้งหมดนี้นับได้ว่าเป็นความท้าทายของการลดฝุ่น PM 2.5 จากการเผาอ้อยว่าจะเป็นไปตามกรอบ 3 ปี ได้อย่างไร