โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมื่อการเรียนออนไลน์ไม่ได้เหมาะกับทุกคน ลูกเราคงต้องพักก่อน #1: คุยกับแม่แหม่ม—สุทธินันท์ มณีหล่อสวัสดิ์

Mood of the Motherhood

อัพเดต 04 ต.ค. 2564 เวลา 08.35 น. • เผยแพร่ 04 ต.ค. 2564 เวลา 08.36 น. • INTERVIEW

หลังจากปล่อยให้เด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่ต้องวนเวียนอยู่กับคำว่าเรียนออนไลน์มานานแสนนาน เราก็เริ่มได้ยินความคืบหน้าของการพยายามให้โรงเรียนสามารถกลับมาเปิดภาคเรียนแบบเต็มรูปแบบภายในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ แต่ก่อนจะถึงวันนั้น เราย้อนกลับมาดูข้อมูลจากกองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ระบุว่า ปัจจุบันมีเด็กไทยที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว จำนวน 6,000 คน และคาดว่าในปีการศึกษา 2564 จะมีจำนวนเด็กหลุดจากระบบมากถึง 65,000 คน นั่นหมายความว่า การเปิดเทอมที่จะถึงนี้ จะมีเด็กอีกหลายคนที่ไม่ได้กลับเข้าไปเรียนในโรงเรียนตามเดิมได้เพราะ การเรียนออนไลน์ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกครอบครัว ไม่ว่าจะความพร้อมของลูก ความพร้อมของพ่อแม่ ความพร้อมของอุปกรณ์ หรือแม้แต่บรรยากาศภายในบ้าน ทุกอย่างมีผลให้การเรียนออนไลน์ของลูกกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมาของคนในครอบครัวไปโดยปริยายM.O.M จึงชวนคุณพ่อคุณแม่ที่ตัดสินใจให้ลูกพักการเรียนหรือลาออกจากโรงเรียน เพราะเห็นผลกระทบที่ลูกได้รับจากการเรียนออนไลน์ จนเกิดเป็นซีรีส์บทสัมภาษณ์ ‘เมื่อการเรียนออนไลน์ ไม่ได้เหมาะกับทุกคน ลูกเราคงต้องพักก่อน’โดยตอนแรกนี้ เราคุยกับ แม่แหม่ม—สุทธินันท์ มณีหล่อสวัสดิ์ คุณแม่ของน้องลานิ วัยห้าขวบ เด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 2 ที่การเรียนออนไลน์ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนรู้ คุณแม่แหม่มจึงเลือกที่จะให้ลูกลาออกจากโรงเรียน และเปลี่ยนมาใช้วิธีเรียนด้วยกันที่บ้านเป็นกลุ่มเล็กๆ หรือ Home School Bubble ซึ่งนอกจากจะลดความกังวลเรื่องการออกไปเสี่ยงนอกบ้านแล้ว ยังทำให้ลูกเรียนที่บ้านได้อย่างมีความสุข

ทำไมถึงตัดสินใจให้น้องลานิลาออกจากโรงเรียนตอนแรกก็ไม่ได้จะให้ลูกลาออกทันที อยากให้เขาเรียนไปก่อน แต่ตอนนั้นน้องเริ่มเรียนออนไลน์ตั้งแต่เดือนเมษายน ประมาณ 2-3 เดือนต่อมา เราก็เริ่มสังเกตเห็นว่าระบบการเรียนออนไลน์ของโรงเรียนไม่ค่อยเหมาะกับน้อง รู้สึกว่าเขาตามไม่ทันช่วงนั้นโรงเรียนให้น้องเรียน 45 นาที ต่อสองวิชา เช่น เรียนเลขกับเรียนภาษาไทยก็ใช้เวลาทั้งหมด 45 นาที เท่ากับวิชาละประมาณ 20 นาที เนื้อหาจึงผ่านไปเร็วมาก และเราเองก็ต้องเตรียมตัวและอุปกรณ์เพื่อสอนลูกไปด้วยตอนนั้นเลยตัดสินใจคุยกับทางโรงเรียนว่าเป็นไปได้ไหมที่จะปรับการเรียน เช่น ภายใน 45 นาที เรียนแค่หนึ่งวิชา เพื่อให้การสอนช้าลง แล้วอาจจะมีเพลงมีอะไรสนุกๆ ให้เด็กทำ หรือจัดกิจกรรมที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ด้วยตัวเองมากขึ้น เช่น โรงเรียนอาจจะจัดอุปกรณ์ให้เด็กกิจกรรมที่บ้าน แล้วนัดให้ผู้ปกครองไปรับที่โรงเรียนอาทิตย์ละครั้งหรือเดือนละครั้งก็ได้แต่ผ่านไปหนึ่งเดือนก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งที่แม่เห็นคือน้องไม่แฮปปี้กับการเรียนเลย อาจจะเพราะ ตามไม่ทัน รวมถึงผู้ปกครองก็ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะต้องดูลูกเอง ต้องเป็นคนคอยเคี่ยวเข็ญลูกด้วยความที่เรามีอาชีพเป็นโค้ชอยู่แล้ว ก็คิดว่าตัวเองคงเป็นแม่ที่สอนลูกได้ แต่พอเอาเข้าจริง เหมือนเรามีวิญญาณอะไรสักอย่างเข้าสิง กลายเป็นแม่ที่ดุกับลูกมาก บังคับให้เขาคัด ให้เขาทำอะไร ต้องการให้เขาทำให้ได้ และกับเรามีเวลาไม่มาก กลายเป็นลูกเรียนกับเราด้วยความเครียด คุณครูก็สอนเร็วแล้ว เรียนกับแม่ แม่ก็ดุ จนน้องเริ่มพูดว่าหม่ามี้ใจร้าย ก็เลยคิดว่าไม่ได้แล้ว ต้องหาทางแก้หรือหาคนมาช่วย

นอกจากการให้เวลาเรียนแต่ละวิชาน้อยเกินไป คุณแม่คิดว่าปัญหาของการเรียนออนไลน์คืออะไรเรารู้สึกว่าปัญหาการเรียนออนไลน์ คือผู้ใหญ่ไม่เข้าใจธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก ไม่รู้ว่าต้องสื่อสารกับเด็กยังไง ขาดเครื่องมือที่จะทำให้เด็กเข้าใจ เพราะเด็กบางคนอาจเรียนรู้ผ่านการมอง บางคนอาจเรียนรู้ผ่านการฟัง บางคนอาจเรียนรู้ผ่านการเล่นเกม แต่ที่ผ่านมาเหมือนเราพยายามส่งให้เขาอย่างเดียว ซึ่งมันไม่ได้ผล เลยคิดว่าการจ้างครูปฐมวัยที่เข้าใจเด็กจริงๆ มาสอนน่าจะตอบโจทย์มากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายเยอะมาก รับผิดชอบคนเดียวไม่น่าไหว บวกกับช่วงที่ผ่านมา ลูกเรียนคนเดียวมาเกือบสี่เดือน เราก็กังวลว่าเขาจะเป็นเด็กที่ขาดทักษะทางสังคม เลยคิดว่าไหนๆ จะจ้างครูมาแล้ว เราเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนด้วยการลองชวนเพื่อนๆ ของน้องที่เรียนอยู่ชั้นเดียวกันมาเรียนด้วยกันดีกว่า ลูกจะได้เรียนกับครูที่เข้าใจเด็กจริงๆ และลูกจะได้มีเพื่อนด้วย

เลยเป็นที่มาของการให้ลูกเรียนด้วยวิธี Home School Bubbleใช่ค่ะ พอคิดปุ๊บก็ทำเลย เริ่มติดต่อคุณแม่ของน้องอีกสองคนที่เรียนชั้นเดียวกับลานิ และบ้านก็อยู่ใกล้กันมาก แล้วคุณแม่ทั้งสองคนก็ตอบตกลงทันที เพราะเขาเจอปัญหาเรื่องลูกเรียนออนไลน์เหมือนกัน ลูกเริ่มเบื่อที่จะต้องเรียนคนเดียว และกลายเป็นคุณแม่เองก็เครียด เพราะต้องจัดการทั้งเรื่องงาน และต้องแบ่งเวลามาสอนลูกกลายเป็นเราสามคนมีความคิดเหมือนกัน เลยตัดสินใจจ้างคุณครูปฐมวัยมาหนึ่งคน เป็นคุณครูที่สามารถดูแลเด็กๆ ได้ตั้งแต่เช้ายันเย็น ส่วนภาษาอังกฤษและภาษาจีนยังให้เป็นการเรียนแบบออนไลน์ เพื่อลดจำนวนคนที่เด็กๆ ต้องเจอ แต่ก็จะมีครูปฐมวัยคอยช่วยดูแลเสมอเราใช้วิธีเรียนสลับไปทีละบ้าน บ้านละหนึ่งสัปดาห์ ปกติแล้วเด็กที่เรียนโฮมสกูลจะเรียนที่บ้านตัวเองและเรียนคนเดียวเป็นส่วนใหญ่ อาจจะมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมกับเพื่อนบ้าง แต่ก็ไม่ทุกวัน ส่วนรูปแบบที่เราทำ คือ small bubble คือให้เรียนด้วยกันสามคน และมีการเปลี่ยนบ้านเรียนสัปดาห์ละครั้งถามว่าทำไมเราถึงทำแบบนี้ เพราะหนึ่ง—ผู้ปกครองทั้งสามครอบครัวก็มีงานที่ต้องทำ การเรียนที่บ้านคนใดคนหนึ่งไปตลอดอาจจะไม่แฟร์ สมมติรอบนี้เด็กๆ มาเรียนที่บ้านแม่แหม่ม คุณแม่ของน้องอีกสองคนก็จะสามารถทำงานได้เต็มที่ แค่มาส่งลูกที่บ้านเราตอนเช้าและมารับตอนเย็น เราก็จะจัดการเวลาได้ดีขึ้น เพราะดูแลเด็กๆ แค่สัปดาห์ที่เขามาเรียนที่บ้านเราเท่านั้นอีกประเด็นคือ เด็กทุกคนจะได้รู้สึกถึงการผลัดกันเป็นเจ้าบ้าน อย่างลานิเขาจะบอกว่าว่าสัปดาห์หน้าจะได้ไปเรียนที่โรงเรียนของสกาย อีกสัปดาห์หนึ่งมาเรียนที่โรงเรียนของลานิ อยากให้หม่ามี้ซื้อสตรอว์เบอร์รีสามกล่อง เราก็ถามว่าทำไม เขาก็บอกว่าเอาไว้แบ่งสกายกับเซกิ คือเขารู้จักที่จะแบ่งปันและดูแลเพื่อน ตรงนี้คือสิ่งที่การเรียนออนไลน์มันขาดไปพอเราให้ลูกเรียนแบบนี้มาได้ประมาณหนึ่งเดือน ที่โรงเรียนก็มีการประชุมผู้ปกครอง และแจ้งว่าอยากให้จ่ายค่าเทอมส่วนที่เหลือ เราก็เลยบอกกับทางโรงเรียนว่าตอนนี้เราจ้างครูมาสอน ค่าใช้จ่ายต่อเดือนก็เยอะมาก หารกันสามครอบครัวแล้วก็ยังเยอะ เลยอยากขอดรอปเรียนให้ลูกก่อนได้ไหม แต่ทางโรงเรียนบอกว่าไม่มีนโยบายดรอป เท่ากับว่าต้องจ่ายค่าเทอมหรือไม่ก็ลาออกได้เลยคุณแม่สามคนเลยคุยกันว่าทำยังไงดี ถ้าจ่ายทั้งสองทางเท่ากับค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ประมาณปีละสี่แสน มันเยอะเกินไป เลยตัดสินใจตรงกันว่าให้ลูกเรียนแบบที่เราทำอยู่ เพราะเราเห็นเขามีพัฒนาการที่ดี มีความสุข มีวินัยกับเวลาที่เราจัด รู้จักแบ่งปันและคิดถึงคนอื่นถือว่าให้ลูกออกจากระบบโรงเรียนเต็มตัวตอนนี้ก็ทำเรื่องจดทะเบียนโฮมสกูลกันอยู่ เพราะน้องออกมาก็ไม่ได้สมุดพกอนุบาล 2 แต่ว่าระดับชั้นอนุบาลไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ ดังนั้นน้องสามารถเข้าเรียน ป.1 ได้ แต่ยังไงเราก็จะเตรียมเก็บคลิป เก็บผลงานของลูกไว้ เผื่อว่าจะกลับไปสมัครเรียนอนุบาล 3 จะไปสมัครที่ไหน จะได้นำไปยื่นได้

เป็นการตัดสินใจที่คนรอบข้างเห็นด้วยหรือมีการตอบรับอย่างไรเราโชคดีที่สามีสนับสนุนเสมอ เขาค่อนข้างเชื่อใจ จะมีบ้างก็คือคุณพ่อคุณแม่ของเราเองที่ความกังวลว่าจะต้องให้ลูกลาออกเลยเหรอ แล้วจะกลับไปเรียนที่ไหน โรงเรียนอื่นจะรับไหม ซึ่งเราก็เข้าใจความกังวลตรงนั้นนะเราก็อธิบายให้เขาฟังว่าจริงๆ แล้วมันมีโรงเรียนอีกเยอะมาก พยายามแก้จุดที่เขากังวลด้วยการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง คอยส่งคลิปวิดีโอไปให้ดู พอเขาเห็นว่าหลานดูมีความสุขมากขึ้นจริงๆ ความกังวลต่างๆ ก็คลายลง

เราอาจจะไม่ต้องยอมอยู่ในสภาพที่ลูกเรียนไม่รู้เรื่อง เรียนแล้วถดถอย หรือเรียนแล้วมีปัญหา เพียงแต่อาจจะต้องหาทางที่เหมาะกับครอบครัวและทางที่เป็นไปได้ให้ลูก

ในสายตาแม่ที่เฝ้าดูลูกเรียนออนไลน์มาตลอด คิดว่าอะไรที่พอจะช่วยให้เด็กสามารถเรียนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพถ้าจากประสบการณ์ที่เห็นจากลูก เรารู้สึกว่าถ้าให้เด็กเล็กตั้งใจเรียนด้วยการจ้องมองจอตลอดเวลา เขาอาจจะตามไม่ทันเนื้อหาที่คุณครูสอน แต่เด็กน่าจะเรียนรู้ได้ดีขึ้น ถ้ามีคนคอยซัปพอร์ตและกระตุ้นเขาด้วยความเข้าใจทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องเข้าใจว่าพ่อแม่แต่ละบ้านก็มีงานต้องทำ เราไม่สามารถช่วยลูกเรียนได้ตลอดเวลา บางบ้านคุณตาคุณยายต้องมานั่งประกบ คอยช่วยหลานเรียน แต่สมมติเป็นวิชาภาษาจีน คุณตาคุณยายก็ไม่สามารถช่วยสอนได้ หรือบางบ้านอยากจะจ้างครูมาช่วยที่บ้านก็อาจจะไม่พร้อมเรื่องค่าใช้จ่าย หรือแม้กระทั่งบ้านที่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเรื่องนี้ได้ ก็อาจจะยังกังวลเรื่องความปลอดภัยที่จะให้คนอื่นเข้ามาในบ้าน เพราะฉะนั้นเลยมองว่าเงื่อนไขของแต่ละครอบครัวก็แตกต่างกัน จึงใช้วิธีการเหมือนกันไม่ได้ เพียงแต่อยากให้เห็นว่ามันมีทางเลือกอยู่นะ เราสามารถหาข้อมูล เปิดใจรับและเลือกทางที่เหมาะกับครอบครัวเราได้ เพราะยุคสมัยนี้ทางเลือกมีมากขึ้น เราอาจจะไม่ต้องยอมอยู่ในสภาพที่ลูกเรียนไม่รู้เรื่อง เรียนแล้วถดถอย หรือเรียนแล้วมีปัญหา เพียงแต่อาจจะต้องหาทางที่เหมาะกับครอบครัวและทางที่เป็นไปได้ให้ลูกคิดว่าต่อไปโรงเรียนหรือภาครัฐควรแก้ปัญหาหรือเยียวยาระบบการศึกษาที่กระท่อนกระแท่นตอนนี้อย่างไรไม่โควิด-19 อยู่กับเรามาเป็นปีๆ แล้ว ก็มองว่าการช่วยเหลือจากภาครัฐควรจะมีมากกว่านี้ เพราะเท่าที่เห็น คนประสบปัญหาเรื่องนี้กันเยอะ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีผลกับเยาวชนโดยตรง ก็อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเด็กให้สามารถเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสม เช่น ช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่าย ช่วยเหลือเรื่องเทคโนโลยีและอุปกรณ์การเรียนต่างๆ เพราะถ้ารัฐช่วยสนับสนุนให้โรงเรียน โรงเรียนก็จะสามารถนำมาส่งต่อให้ผู้ปกครองและเด็กๆ ได้การเรียนออนไลน์ทุกบ้านต้องมีค่าใช้จ่าย ต้องใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ซึ่งอินเทอร์เน็ตมันไม่ใช่สาธารณูปโภคพื้นฐาน ก็เท่ากับว่าจะมีแค่คนบางกลุ่มที่มีศักยภาพพอที่จะเข้าถึงได้ แล้วคนที่เข้าถึงไม่ได้จะทำยังไง แต่เขาก็เป็นเยาวชนของชาติเหมือนกัน

ตอนนี้โรงเรียนเริ่มมีกำหนดการกลับมาเปิดเทอมอีกครั้ง คุณแม่วางแผนหรือเตรียมการไว้อย่างไรบ้างถ้าโรงเรียนกลับมาเปิดแบบที่เด็กๆ ไปโรงเรียนได้อย่างปลอดภัยจริงๆ ก็อยากให้เขากลับไปเรียนนะ เพราะอยากให้ลูกได้เจอสังคมที่ใหญ่ขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตอนนี้ยอดคนติดเชื้อยังเยอะ เด็กๆ ก็ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เราเลยมองกันว่าคงจะจัดให้ลูกเรียนแบบนี้ไปจนจบอนุบาลสอง อาจจะสักกลางปีหน้าที่มั่นใจแล้วว่าปลอดภัยจริงๆ ค่อยให้เขากลับไปเรียนในโรงเรียนตามเดิมเพราะเราเห็นว่าโรงเรียนในต่างประเทศที่เปิดเรียนตามปกติ พอมียอดคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น โรงเรียนก็ต้องปิด บางประเทศมีคนติดเชื้อหลักร้อยเขาก็ปิดโรงเรียนแล้ว แต่ตอนนี้ประเทศไทยยังเป็นหลักหมื่นทุกวัน ก็ยังรู้สึกกังวล ยังไม่วางใจที่จะให้ลูกไปเสี่ยง ถ้าเราสามารถจัดการศึกษาในแบบที่รักษาความปลอดภัยเองได้ และลูกก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ก็คงยังเลือกทางนี้ไปก่อน แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่รู้สึกปลอดภัยจริงๆ หรือมีการฉีดวัคซีนมากพอ ยอดผู้ติดเชื้อลดลงจนวางใจได้แล้ว ตอนนั้นค่อยว่ากันสัมภาษณ์วันที่ 23/09/2021

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0