โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ต่างประเทศ

วิเวียน เวสต์วูด ดีไซเนอร์ขบถทรงอิทธิพล เป็นที่จดจำอย่างไรเมื่อเสียชีวิต

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 30 ธ.ค. 2565 เวลา 07.11 น. • เผยแพร่ 30 ธ.ค. 2565 เวลา 05.00 น.
vivian westwood
AP PHOTO

วิเวียน เวสต์วูด เสียชีวิตด้วยวัย 81 ปี ทิ้งตำนานดีไซเนอร์ขบถสุดเปรี้ยวซ่า ท้าทายวงการแฟชั่นให้อาลัยและรำลึก

วันที่ 30 ธันวาคม 2565 สำนักข่าว เอพี รายงานการจากไปของ วิเวียน เวสต์วูด วัย 81 ปี ดีไซเนอร์ตัวแม่ของวงการแฟชั่นโลก ที่มีบทบาทในแนวเคลื่อนไหวของกลุ่มพังก์

ห้องเสื้อเวสต์วูดแจ้งข่าวทางโซเชียลมีเดียว่า ยอดนักออกแบบหญิงเสียชีวิตอย่างสงบ และไม่ได้เผยสาเหตุ

“วิเวียนยังคงทำในสิ่งที่เธอรักจนถึงวาระสุดท้าย ออกแบบ สร้างงานศิลปะ เขียนหนังสือ และเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น” แถลงการณ์ระบุ

เวสต์วูด เริ่มต้นอาชีพดีไซเนอร์ในวงการแฟชั่นยุค 70 ด้วยสไตล์ urban street สร้างความฮือฮาราวกับพายุบุกวงการ ก่อนทำงานในอาชีพนี้อย่างยาวนานและโดดเด่น ทั้งบนรันเวย์และการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์

หากเอ่ยนาม วิเวียน เวสต์วูด แล้วจะเป็นสไตล์ที่น่าตื่นตะลึงและคาดเดาไม่ได้ ขณะที่ตัวเธอเองสร้างสีสันให้วงการแฟชั่นอังกฤษ ตั้งแต่ยังเป็นสาว ย้อมผมสีส้มเจิดจ้าจนเป็นเทรดมาร์กที่ใคร ๆ จดจำ

แอนดรูว์ โบลตัน ภัณฑารักษ์สถาบันเครื่องแต่งกาย พิพิธภัณฑ์เมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก กล่าวว่า เวสต์วูดสร้างความล้ำยุค และทรงอิทธิพลมาตั้งแต่กลางยุค 70 ความเคลื่อนไหวของแนวพังก์ที่ไม่เคยเป็นที่สนใจกลับกลายเป็นแฟชั่นกระแสหลักในปัจจุบัน

“เธอมักพยายามประดิษฐ์แฟชั่นแปลกใหม่อยู่เสมอ ผลงานออกมาแบบยั่วยุ เย้ยฟ้าท้าดิน เป็นลักษณะที่แสดงถึงความเป็นอังกฤษสูงมาก คือทั้งแดกดัน เย้ยหยัน และเสียดสี เธอภูมิใจในความเป็นอังกฤษมาก และยังคงแสดงออกมา” โบลตันกล่าว

ผลงานอื้ออึงหนึ่งเมื่อปี 2542 ปรากฏเครื่องหมายสวัสติกะ มีภาพพระเยซูบนไม้กางเขน และถ้อยคำว่า “ทำลาย” เมื่อนักข่าวสัมภาษณ์ว่าเคยเสียใจกับผลงานนี้หรือไม่ เวสต์วูดตอบว่า ไม่

“ฉันไม่เสียใจ เพราะเราต้องการพูดกับคนรุ่นเก่า ว่าเราไม่รับอุดมการณ์ เรื่องต้องห้ามของพวกเขา และจะบอกว่าพวกคนเป็นพวกฟาสซิสต์กันทั้งนั้น” เวสต์วูดกล่าว

หลังเวสต์วูดสร้างชื่อให้ตัวเองและวงการแฟชั่นอังกฤษ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร พระราชทานยศเดม ฐานันดรศักดิ์สมาชิกในสภาอัศวิน แก่ เดม วิเวียน เมื่อปี 2549

ตลอดอาชีพของเวสต์วูดผุดประเด็นโต้เถียงต่าง ๆ เช่น ตัวเธอปฏิเสธจะเข้ารับพระราชทานยศพจากควีนมาแล้วหลายครั้ง นอกจากนี้ ยังชอบแต่งตัวเป็นวัยรุ่น แม้อายุ 60 กว่าแล้ว และเป็นคนที่พูดรณรงค์ให้คนต่อสู้กับภาวะโลกร้อน

“แฟชั่นอาจเป็นเรื่องน่าเบื่อได้นะ ฉันจึงพยายามหาอะไรอื่นทำ” เวสต์วูดเคยให้สัมภาษณ์เอพี ในงานแฟชั่นเมื่อปี 2553

สำหรับการแสดงเสื้อผ้าที่ออกแบบบนรันเวย์ มักสร้างความฮือฮาอยู่เสมอ มีบุคคลดังจากทั้งวงการภาพยนตร์ เพลง โทรทัศน์ ที่ต้องการมีส่วนร่วมในความสำเร็จของดีไซเนอร์หญิง

แต่เวสต์วูดต่อต้านลัทธิบริโภคนิยม และการจับจ่ายฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย โดยกระตุ้นให้ผู้คนอย่าซื้อเสื้อที่แพง ๆ ของเธอ

“ฉันเพิ่งจะบอกผู้คนไปว่า ให้เลิกซื้อเสื้อผ้า ทำไมเราไม่ปกป้องของขวัญของชีวิตในช่วงที่เรายังมีสิ่งนี้อยู่ ฉันไม่เข้าใจทัศนคติที่ว่า การทำลายล้างเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เรามีโอกาส ก็มีพวกเราบางคนหยุดให้และหันไปช่วยคนอื่นให้มีชีวิตรอด”

เมื่อปี 2563 เวสต์วูดออกโรงรณรงค์สนับสนุน จูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ ด้วยการประท้วงที่แสดงถึงความไม่เห็นด้วยที่อังกฤษจะส่งตัวนักเคลื่อนไหวเพื่อข้อมูลเสรี ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไปอเมริกา

เวสต์วูดยังออกแบบชุดแต่งงานให้ สเตลลา มอริส หญิงคนรักของอัสซานจ์ ให้เข้าไปแต่งงานในคุกกรุงลอนดอน เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ด้วย

ก่อนเป็น วิเวียน เวสต์วูด

เวสต์วูด เกิดวันที่ 8 เมษายน 2484 (ค.ศ. 1941) ที่หมู่บ้านกลอสซอป มณฑลดาร์บีไชร์ ประเทศอังกฤษ จากนั้นอีก 16 ปี ครอบครัวย้ายเข้ากรุงลอนดอน หญิงสาวเข้าเรียนที่โรงเรียนศิลปะ 1 ปี

วิเวียนแต่งงานกับ ดีเรก เวสต์วูด พนักงานโรงงานบริษัทฮูเวอร์ เมื่อปี 2505 และใช้นามสกุลนี้มาตลอดจนกลายเป็นแบรนด์แฟชั่น แม้ว่าจะแยกทางกับสามีคนแรก

เวสต์วูดพบรักใหม่กับ มัลคอล์ม แมคลาเรน แห่งวงพังก์ร็อก Sex Pistols ตอนฝ่ายชายเป็นครูโรงเรียนประถม ทั้งสองเปิดร้านขายของเล็ก ๆ ในย่านเชลซี เมื่อปี 2514 ช่วงท้ายของยุค Swinging London ที่วงดนตรีอย่าง เดอะ บีตเทิลส์ และโรลลิงสโตนส์ โด่งดังลั่นโลก

ร้านนี้เปลี่ยนชื่อบ่อยมาก และสะดุดตาเสมอ ทั้งสองเคยถูกปรับตอนที่ตั้งชื่อร้านว่า SEX แล้วจัดแสดงนิทรรศการวาบหวามที่ร้าน นอกจากนี้ ร้านเคยมีชื่อว่า World’s End (วันสิ้นโลก) และ Seditionaries (ร้านปลุกปั่นต้านอำนาจรัฐ)

เกลน แมตล็อก คนงานของร้านคนหนึ่ง ที่ต่อมาผันเป็นมือเบสวง Sex Pistols เอ่ยถึงเวสต์วูด ว่าเป็นผู้หญิงเก่ง เด็ดเดี่ยว มีแรงบันดาลใจผลักดัน และมีหนึ่งเดียว ดีใจที่รู้จักผู้หญิงคนนี้ในยุคถือกำเนิดพังก์ กลางทศวรรษ 70 ซึ่งเป็นคลื่นกระแสไปทั่วโลก

เรียนรู้ตัดเย็บเสื้อผ้าเอง

วิเวียนเคยให้สัมภาษณ์มารีแคลร์ ว่าเริ่มเรียนรู้การตัดเย็บด้วยตนเอง ตั้งแต่เป็นสาววัยรุ่น เพราะอยากขายเสื้อยุค 50 ในร้านแรกที่เปิด ใช้วิธีตัดเย็บไปตามแพตเทิร์น และไปซื้อเสื้อผ้าเก่ามาแยกชิ้นเพื่อศึกษาโครงสร้าง และเทคนิค

หญิงสาวมีผลงานแสดงบนแคตวอล์กครั้งแรกเมื่อปี 2524 ด้วยคอลเล็กชั่น “Pirates” และสร้างชื่อตั้งแต่นั้นมา

ปี 1987 สร้างความฮือฮาเป็นที่จดจำได้อีก ด้วยชุดเทพีเสรีภาพ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการนำเทรนด์ชุดชั้นในมาใส่ให้เป็นชุดชั้นนอก จากนั้นได้ทำงานร่วมกับดีไซเนอร์ชั้นนำ เช่น จิออร์จิโอ อาร์มานี ต่อด้วยการพัฒนาเสื้อผ้าสำเร็จรูป Red Label และ Gold Label รวมถึงคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าบุรุษ Boudoir และ Libertine

ฮือฮาแม้แต่ตอนเข้าวัง

ได้รับเลือกเป็นดีไซเนอร์แห่งปีของสภาแฟชั่นอังกฤษ ปี 2533 และ 2534 ส่วนปีถัดมายังเป็นข่าวฮือฮายิ่งกว่า เมื่อเดินทางไปเข้ารับพระราชทานเหรียญเครือจักรภพอังกฤษ ที่พระราชวังบักกิงแฮม ด้วยชุดที่ไม่ใส่ชั้นใน และให้ช่างภาพกดชัตเตอร์ในมุมที่เห็นได้ชัดเจน

ครั้งนั้น ควีนไม่ได้ทรงมองว่าเป็นเรื่องหมิ่นพระเกียรติใด ๆ เวสต์วูดจึงได้รับเชิญให้กลับเข้าไปรับพระราชทานยศ Dame Commander of the British Empire เทียบเท่าอัศวิน ที่พระราชวังบักกิงแฮมอีกครั้งในปี 2549

เวสต์วูดลาโลกไปจากสมาชิกในครอบครัวที่เหลืออยู่คือ สามีคนที่สอง แอนเดรียส ครอนธาเลอร์ ดีไซเนอร์ที่เกิดในออสเตรีย ซึ่งมีกิจการแฟชั่นอยู่ภายใต้แบรนด์เวสต์วูด ส่วนลูกชาย 2 คน ได้แก่ เบน เวสต์วูด ที่มีกับสามีคนแรก เป็นช่างภาพ และ โจ คอร์ ที่มีกับแมคลาเรน เป็นผู้ก่อตั้งกิจการชุดชั้นใน Agent Provocateur

……

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0