การทำสมาธิ คือการทำจิตให้สงบมั่นคงอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง เพราะจิตเป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก จิตจึงมีหน้าที่คิด เหตุที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ฝึกสมาธิก็เพราะธรรมชาติจิตของคนเรามักมีรัก โลภ โกรธ หลง เป็นเครื่องปรุงแต่งจิตให้ฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลา
พระพุทธเจ้าจึงทรงคิดหาอุบายในการควบคุมจิตให้สงบด้วยการทำสมาธิ ซึ่งเมื่อทำสมาธิก็จะได้ใช้ความคิดไตร่ตรองจนเกิดปัญญาขึ้นมา และปัญญาก็คือการรอบรู้ รู้ทุกอย่างที่มีทั้งปัญญาทางโลก และปัญญาทางธรรม
ส่วนการฝึกสมาธิ ก็คือคือการฝึกปฏิบัติที่ใช้ความตั้งมั่น จดจ่อ และแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติเกิดความสงบ เกิดความรู้สึกตัวและมีสติในการใช้ชีวิตมากขึ้น
จริง ๆ การทำสมาธิเป็นเรื่องสากล ไม่เฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่สอนให้ฝึกสมาธิ ในศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ก็สอนให้ฝึกสมาธิด้วยเช่นกัน ก็เหมือนกับทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดีนั่นเอง
ทำไมคนเราต้องมีสมาธิ
เหตุที่คนเราต้องทำสมาธิก็เพราะต้องทำให้จิตให้สงบ เมื่อจิตสงบก็จะสามารถพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้น ต่างจากคนที่ใจไม่สงบ จะคิดจะทำอะไรก็เป็นไปได้ยาก เหมือนเวลามองสิ่งใด การมองด้วยตาที่ใสสะอาดกับตาที่มืดมัว ความชัดเจนมันต่างกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องทำให้จิตสงบเสียก่อน จึงจะนำไปสู่ปัญญาได้
การทำให้จิตสงบมีมากมาย เราสามารถฝึกสมาธิได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องนั่ง หลับตา เอามือประสานกัน แล้วท่องพุทโธเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะนอน ยืน เดิน หรือทำอะไรก็ตาม เราก็สามารถทำสมาธิให้จิตใจสงบได้
วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการใช้สติควบคุมจิตให้ระลึกอยู่ตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไร ให้จิตของเราอยู่กับการกระทำนั้น ๆ โดยต้องคิดเสมอว่าตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น เช่น เวลาอยู่ในบ้าน ในห้องนอน ใจก็อยู่ตรงนั้น ไม่ใช่คิดเรื่องงานหรือคิดเรื่องอื่น หรือเวลาอาบน้ำก็ให้ใจอยู่กับการอาบน้ำ รับรู้ถึงความสบายเวลาที่อาบน้ำ ไม่ต้องไปคิดโน่นนี่มากมาย จำไว้ว่าทำอะไรให้ใจอยู่กับสิ่งนั้น อย่าล่องลอยไปเรื่อย
คนส่วนใหญ่เวลาทำอะไรมักจะไปคิดเรื่องอื่น สองอย่าง สามอย่าง ทั้งที่จริงแล้วควรต้องทำทีละอย่าง ควรต้องเดินทีละก้าว ควรกินข้าวทีละคำ เพราะการทำทีละอย่างจะช่วยทำให้เรามีสติ มีความรู้สึกตัว ซึ่งถ้าเรามีสติอยู่กับทุกการกระทำ เราจะรับรู้ทุกอย่างนั่นเอง
มีสมาธิก็ใช่ว่าจะมีปัญญา
การฝึกสมาธิเป็นเพียงการทำจิตให้สงบ แต่ยังไม่ถึงขั้นเกิดการรู้แจ้ง เห็นจริง หรือเกิดปัญญาได้ เพราะปัญญาเกิดจากการศึกษา การพิจารณาไตร่ตรองเรื่องนั้น ๆ ให้รู้แจ้งด้วยเหตุด้วยผล เช่น นักเรียนคนหนึ่งตั้งใจฟังครูสอน เรียกว่ามีสมาธิในการฟัง สามารถควบคุมจิตให้อยู่ในวิชาที่เรียนได้ ทำให้เข้าใจเรื่องที่สอนเป็นอย่างดีจึงจะเรียกว่าเกิดปัญญา ส่วนนักเรียนอีกคนไม่ตั้งใจฟัง ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถควบคุมจิตให้อยู่ในวิชาที่ครูกำลังสอนได้ จิตฟุ้งซ่านเป็นเหตุให้ไม่รู้ว่าครูสอนอะไร จึงไม่มีความรู้เพิ่มขึ้น และไม่เกิดปัญญา
เพราะฉะนั้นมีสมาธิไม่ได้หมายความว่ามีปัญญา เพียงแต่การมีสมาธิสามารถนำไปสู่การเกิดปัญญาได้ เพราะเมื่อจิตตั้งมั่น (ข้อสำคัญคือต้องตั้งมั่น ไม่ใช่แค่การกำหนดจิตให้จดจ่ออยู่กับลมหายใจเท่านั้น) จึงจะทำให้เกิดปัญญาได้นั่นเอง
การฝึกสมาธิในทางพระพุทธศาสนานั้น ถือว่าจิตสงบเป็นกุญแจสำคัญในการเปิดแสงสว่างให้แก่โลก เป็นบ่อเกิดพลังอันยิ่งใหญ่แก่ชีวิต เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาของมวลมนุษยชาติทั้งโลก และเป็นความสุขที่มีค่าสูงสุดแก่ผู้ปฏิบัติ ดังพุทธวจนะบทหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า “นัตถิ สันติ ปรมัง สุขัง” สุขอื่นใดจะเท่าใจหยุดนิ่งไม่มีอีกแล้ว ใจหยุดนิ่งแห่งความสงบ เป็นสุขอย่างยิ่ง เมื่อใจอยู่นิ่งก็เกิดความสงบขึ้น และเมื่อสงบก็เป็นสุขมาก ซึ่งความสุขเกิดจากจิตสงบถือว่าเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตมนุษย์ก็ว่าได้
พระราชสุทธิญาณมงคล (จรัญ ฐิตธมฺโม)
การนั่งสมาธิเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญสติ
ความเห็น 38
อริยปราชญ์เมธี
BEST
พระพุทธองค์ทรงมีสมาธิทุกขณะ
แต่พระองค์ทรงมุ่งเดินไปโปรดผู้คนทั้งหลายด้วย
ไม่ใช่นั่งสมาธิอยู่เฉย ๆ พระองค์ทั้งนั่ง ยืน เดิน นอน
ทุกอย่างนั้นก็คือสมาธิหมด ถ้าทำได้อย่างนี้จึงเรียกว่าสมาธิอย่างแท้จริง
18 ก.ย 2561 เวลา 12.55 น.
สมาธิ เป็นกิจกรรมส่วนบุคคล ที่จะต้องตัดสินใจเลือกแนวทางปฏิบัติให้เหมาะสมกับตน ควรปฏิบัติเป็นประจำจึงจะพัฒนาเป็นนิสัยถาวร
18 ก.ย 2561 เวลา 22.49 น.
@...
คิดว่าในการที่มีสมาธินั้น ก็ย่อมที่จะสามารถทำให้รู้ถึงในการที่จะปฏิบัติ กับในสิ่งที่สมควรทำได้อย่างถูกต้องและไม่ผิดพลาดได้.
18 ก.ย 2561 เวลา 13.28 น.
สาธุสาธุค่ะ
19 ก.ย 2561 เวลา 00.04 น.
Tu
Good article na.
18 ก.ย 2561 เวลา 13.27 น.
ดูทั้งหมด