โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัวมีอยู่จริง...เหรอ?

PPTV HD 36

อัพเดต 10 ส.ค. 2561 เวลา 13.06 น. • เผยแพร่ 10 ส.ค. 2561 เวลา 08.51 น.
กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัวมีอยู่จริง...เหรอ?
สโลแกน “ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” ซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัดตามสกายวอล์คย่านใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร ได้กลายเป็นวลีล้อเลียนในโลกโซเชียลมีเดียถึงการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ที่อาจจะไม่ได้ดีและลงตัวอย่างชื่อ แต่ประชาชนมากมายกลับต้องพบเจอกับปัญหาหลายอย่างซึ่งเรื้อรังมานานและไม่มีทีท่าว่าจะถูกแก้ไขได้สำเร็จเสียที

รถติด…ชะตากรรมของคนกรุง

แน่นอนว่า มหากาพย์อมตะตลอดกาลของกรุงเทพฯ ย่อมหนีไม่พ้น “ปัญหารถติด” ที่วัน ๆ หนึ่งอาจต้องเสียเวลาในการเดินทางเพื่อไปเรียนหรือไปทำงานนานนับชั่วโมง ข้อมูลออนไลน์จากนิตยสารชื่อดังอย่าง ฟอร์บส ระบุว่า กรุงเทพฯ มีประชากรรวม 15 ล้านคน และค่าเฉลี่ยเวลาที่ใช้เดินทางบนท้องถนนมากกว่าปกติคือ 232 ชั่วโมงต่อปี ส่งผลให้สำนักสถิติบางแห่งจัดอันดับกรุงเทพฯ ว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่มีรถยนต์แออัดมากที่สุดในโลก

โดยถนน 10 สายในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ได้รับการสำรวจจาก INRIX ว่าติดขัดและแออัดที่สุด ได้แก่ อันดับ 10 – ถนนรามอินทรา /อันดับ 9 – ถนนเกษตร-นวมินทร์ / อันดับ 8 – ถนนลาดพร้าว / อันดับ 7 – ถนนรามคำแหง / อันดับ 6 – ถนนเพชรบุรี / อันดับ 5 – ถนนแยกแคราย / อันดับ 4 – ถนนพระราม 4 / อันดับ 3 – ถนนสาทร / อันดับ 2 – ถนนรัชดาภิเษก / และอันดับ 1 – ถนนพหลโยธิน

ซึ่งเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมานี้เริ่มมีการก่อสร้างอีกหนึ่งโครงการเพื่อ “ชีวิตที่ลงตัว” บนถนนลาดพร้าว นั่นคือโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง โดยปิดช่องจราจรพิเศษบนถนนลาดพร้าวไป 1 ช่องจราจร เหลือเพียงฝั่งละ 2 ช่องจราจรเท่านั้น ซึ่งการปิดช่องจราจรนี้จะต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี จนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ

(อ่านเพิ่ม : ทำใจ 3 ปี!! ปิดถนนลาดพร้าวฝั่งละ 1 ช่องทาง สร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง )

ผลลัพธ์คือทำให้การเดินรถบริเวณถนนลาดพร้าวขาออก เคลื่อนตัวได้ช้า และมีปริมาณรถสะสมต่อเนื่อง กระทบไปถึง ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนพหลโยธิน ถนนพระรามเก้า เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน และออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงโครงการนี้กันอย่างกว้างขวาง พร้อมตั้งคำถามว่า หลังโครงการนี้เสร็จสิ้นการจราจรบริเวณนี้จะดีขึ้นเพราะคนหันไปใช้รถไฟฟ้าจริงหรือไม่ เป็นการเรียกร้องให้ภาครัฐต้องลงมาจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น

(อ่านเพิ่ม : “ประวิตร”สั่ง ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาจราจรวิกฤต )

ด้าน ผศ.ดร.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า โครงการก่อสร้างขนส่งมวลชนขนาดใหญ่นี้ขาดวิสัยทัศน์ในระยะยาว “ณ ปัจจุบัน มีสร้างสร้างขนส่งมวลชนใหญ่ ๆ พร้อมกัน โดยคาดหวังว่าอีก 4-5 ปี เมื่อสร้างเสร็จ การขนส่งจะลงตัวเพราะเป็นเครือข่ายใยแมงมุม แต่แน่ใจหรือว่าคนกรุงเทพฯ จะมาใช้ขนส่งมวลชน”

ผศ.ดร.ธนพันธ์ มองว่าระบบขนส่งมวลชนปัจจุบันจะอยู่ตามจุดสำคัญในเมือง แต่ประชาชนยังคงอาศัยอยู่ในตรอกซอกซอย การเดินทางมาที่สถานีจึงลำบาก จึงตั้งคำถามว่าการบริหารจัดการหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

รถไฟฟ้ามาหา…แล้วยังไง

อีกหนึ่งปัญหาคนกรุงที่สืบเนื่องมาจากปัญหารถติดคือ “รถไฟฟ้าบีทีเอส” โดยเหตุผลแรกเริ่มที่มีระบบรถไฟฟ้าเกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2542 นั่นคือเพื่อแบ่งเบาภาระบนท้องถนนและทำให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจากแสนต้น ๆ ต่อวันในปี 2542 มาเป็นกว่า 6 แสนคนต่อวัน ช่วงครึ่งปี 2561 ที่ผ่านมา เป็นผลให้การบริการเกิดความแออัด ไม่ทันใจ

ประกอบกับในช่วงครึ่งปีนี้เองที่ปัญหาของรถไฟฟ้าบีทีเอสเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง สร้างความเดือดร้อนและอารมณ์ที่หงุดหงิดให้แก่ผู้โดยสาร โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายน ที่ระบบอาณัติสัญญาณรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 25 มิถุนายน 2561 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเร่งด่วนที่ประชาชนกำลังจะเดินทางไปทำงาน โดยเกิดเหตุขบวนรถเข้าและออกสถานีล่าช้า รวมถึงหยุดนิ่งกลางทางหลายครั้งตลอดทั้งวัน ทำให้ประชาชนที่ใช้บริการร่วมกันแสดงความไม่พอใจผ่านแฮชแท็ก #ยกเลิกสัมปทานBTS ในทวิตเตอร์

( อ่านเพิ่ม : เกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อ "บีทีเอส" ขัดข้องตลอดสัปดาห์ )

สถานการณ์ความหัวร้อนของประชาชนยังคงถูกทวีตและเผยแพร่ออกไปเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่องเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2561 ปรากฏว่าบัญชีทางการของรถไฟฟ้าบีทีเอส @BTS_Skytrain เกิดขัดข้องจนผู้โดยสารต้องผันตัวมารายงานสถานการณ์กันเอง

และเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2561 ได้มีคลิปวิดีโอเหตุการณ์ความผิดพลาดของรถไฟฟ้าบีทีเอสเผยแพร่ออกมา โดยในวิดีโอเป็นภาพขณะประตูของขบวนรถไฟฟ้าเปิดค้างระหว่างที่รถกำลังเคลื่อนตัว สร้างความหวาดเสียวแก่ผู้พบเห็น และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปจนถึงตำหนิการทำงานของรถไฟฟ้าบีทีเอส

( อ่านเพิ่ม : โซเชียลแห่แชร์ ภาพประตูบีทีเอสเปิดระหว่างรถวิ่ง)

การสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรงที่กำลังเป็นประเด็นว่าทำให้รถติดอยู่ในขณะนี้คือรถไฟฟ้าสายใหม่ที่กำลังจะมาถึงประชาชนในกรุงเทพฯ แต่เราไม่อาจรู้ได้ว่า หลังการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้บริการ ปัญหาที่เกิดขึ้นบนท้องถนนจะหมดไป หรือปัญหาทางเทคนิคของระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสจะเกิดขึ้นอีก ต้องติดตามในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ว่าชีวิตของคนกรุงเทพฯ จะ “ลงตัว” กว่าที่เป็นอยู่ได้หรือไม่

ขณะที่ ผศ.ดร.ธนพันธ์ ได้ให้ความเห็นว่า “เวลาใช้รถไฟฟ้าต้องสะดวกกว่าใช้รถ ทั้งในแง่ของการเดินทาง วิธีการจ่ายค่าโดยสาร และค่าใช้จ่ายไม่สูงเกินไปนัก สิ่งที่เกิดคือปัญหาการบริหารจัดการเชิงเทคนิค” ซึ่งส่งผลต่อทัศนคติของประชาชนต่อระบบขนส่งมวลชน

“เมื่อมีความรู้สึกและประสบการณ์มองว่าขนาดเริ่มต้นยังไม่ไหว แล้วระยะยาวจะเป็นอย่างไร คนกรุงเทพฯ มีความรู้สึกและภาพที่ไม่ค่อยดี จึงไม่แน่ใจว่ามันจะดีขึ้น ต้องดูว่าจะบริหารจัดการระยะยาวอย่างไร” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์กล่าว และแนะให้ภาครัฐพิจารณาการเชื่อมโยงเครือข่ายการเดินทางทั้งหมดให้ดีและสะดวกกว่านี้ เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว

ต้องยืนรอรถเมล์อย่างไร้ความหวังไปอีกนานแค่ไหน

ในขณะที่ประชาชนบางกลุ่มกำลังหัวฟัดหัวเหวี่ยงกับการรอรถไฟฟ้าไปทำงาน ก็ยังมีอีกหลายคนที่ประสบชะตากรรมคล้ายกัน ต่างตรงที่พวกเขาเหล่านั้นกำลังยืนรอ “รถเมล์” ระบบขนส่งสาธารณะที่ได้ชื่อว่าถูก เร็ว แรง แซงทุกโค้ง และที่สำคัญคือชอบ “ขาดช่วง”

รถเมล์ในกรุงเทพมหานคร แรกเริ่มเกิดในปี 2450 และใช้กำลังม้าลากจูงไม่ต้องอาศัยน้ำมันเชื้อเพลิง แล้วพัฒนามาใช้รถที่อาศัยน้ำมันเชื้อเพลิง จนเกิดพ่อค้ากิจการรถเมล์หลายราย จนในเดือนกันยายน 2518 ได้รวมรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานคร เป็นบริษัทเดียว เรียกว่า "บริษัทมหานครขนส่ง จำกัด” และกลายมาเป็นองค์การของรัฐที่ชื่อว่า "องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ" เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2519 ในที่สุด

เรียกได้ว่าเป็นระบบขนส่งที่มีมาอย่างยาวนานคู่กับกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแต่ไม่มีในอดีตคือปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นและการจราจรที่ติดขัด ทำให้บ่อยครั้งรถเมล์มักจะขาดช่วงและหายไปเป็นเวลานาน ผู้โดยสารจึงต้องใช้เวลาในการรอรถเมล์สายที่ต้องการมากกว่าปกติ ถึงขนาดที่เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ได้มีสมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ตั้งกระทู้เล่าปัญหาการรอรถเมล์นานเกือบ 3 ชั่วโมง ซึ่งทาง ขสมก. ได้ออกมาชี้แจงว่ารถเมล์ทั้ง 2 เส้นทาง วิ่งตามปกติ แต่อาจเป็นเพราะการจราจรที่ติดขัด และจากการสำรวจความคิดเห็นจากสมาชิกเพจเฟซบุ๊ก PPTV HD36 พบว่า มีผู้ที่รอรถเมล์นานสูงสุด 3-5 ชั่วโมง

( อ่านเพิ่ม : ร้องไห้เพราะรอรถเมล์ : ไทยแลนด์ โอนลี่)

แน่นอนว่านี่เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตของประชาชนในกรุงเทพฯ และเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสำคัญ แต่ด้วยปัญหาการจราจรสะสมที่หนาแน่นดังที่กล่าวถึงไว้ในหัวข้อแรกทำให้พอจะอนุมานได้ว่าปัญหาการรอรถเมล์นานกว่าที่ควรจะเป็นนี้ยากที่จะแก้ไขได้ในเร็ววัน เพราะตราบใดที่รถยังเต็มถนนอยู่ ชีวิตดี ๆ ของเหล่าผู้โดยสารรถเมล์สาธารณะก็คงจะไม่มีวันมาถึง

บาทวิถีนี้เป็นของใคร

“บาทวิถี” หรือทางเท้าที่ประชาชนมักใช้เดินสัญจรกันไปมาในกรุงเทพฯ นั้น ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญต่อชีวิตของชาวกรุง เพราะหากไม่มีทางเท้า ประชาชนคงต้องลงไปเดินบนถนนซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต

อย่างไรก็ตาม ชีวิตไม่ยอมให้เราใช้ทางเท้าได้สะดวกสบายขนาดนั้น เพราะการเดินบนทางเท้าในกรุงเทพฯ ไม่ต่างอะไรจากการเล่นเกม ระหว่างทางจากจุดเริ่มต้นไปจนถึงจุดหมายล้วนเต็มไปด้วยกับดักอันแสนอันตราย

ไม่ว่าจะเป็นทางเท้าที่ชำรุด บางจุดเป็นรู บางจุกแผ่นหินกระดกสูง ประกอบกับเมื่อมีฝนตกน้ำท่วมขังจะทำให้ประชาชนมองไม่เห็นลักษณะพื้นที่เดินอยู่ ส่งผลให้เกิดอันตรายหากเดินไปแล้วสะดุดขึ้นมา

(อ่านเพิ่ม : ประชาชนโวยอิฐปูทางเท้าหน้า ม.รามฯ ชำรุดหวั่นเกิดอันตราย)

หรือแม้แต่กรณีที่เพิ่งมีการถกเถียงกันไปล่าสุดกับเหตุการณ์ที่มีวินรถจักรยานยนต์สาธารณะได้เฉี่ยวชนนักศึกษาบริเวณหน้าสถาบันการบินพลเรือน เขตจตุจักร เป็นเหตุให้ทางสถาบันการบินฯ ทำการติดตั้งแผงเหล็กขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้มีรถจักรยานยนต์ขึ้นมาวิ่งบนทางเท้า แต่กลับกลายเป็นสิ่งกีดขวางให้แก่ประชาชนผู้สัญจรไปมาจนได้มีการถอดออกในที่สุด

( อ่านเพิ่ม : “แผงกั้นฟุตปาธ” สกัดวินมอเตอร์ไซค์ได้จริง?)

โดยในความคิดเห็นของ ผศ.ดร.ธนพันธ์ ได้ชี้ให้เห็นว่า “จักรยานยนต์ที่วิ่งบนฟุตปาธ เพราะขี้เกียจไปกลับรถไกล เลยเกิดการละเมิดกฎหมายขึ้น แต่ถ้าคิดอีกด้านก็คือ มันมีปัญหาในการออกแบบพื้นที่หรือเปล่า ทำไมจึงไม่สามารถออกแบบถนนสาธารณะให้เหมาะสมกับรถจักรยานยนต์ได้”

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ระหว่างประชาชนที่ต้องการทวงคืนทางเท้าคืนมากับบรรดารถจักรยานยนต์ที่ต้องการประหยัดต้นทุนในการให้บริการยังคงดำรงอยู่ในสังคมกรุงเทพฯไม่เสื่อมคลายไปไหน และคำถามที่ว่า “ทางเท้าจริง ๆ แล้วเป็นของใคร” นั้น แม้จะมีคำตอบที่ทุกคนสามารถพร้อมใจกันตอบได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นปัญหาที่ยังไม่มีทางแก้ไขอันชัดเจนออกมา

เดินข้ามสะพานลอยวิบาก

และหากประชาชนในกรุงเทพฯ คิดว่าการเดินอยู่บนพื้นบาทวิถีเป็นเรื่องลำบากแล้ว ขอเชิญพบกับปัญหาล่าสุดที่เพิ่งเป็นกระแสในโลกออนไลน์กับการ “เดินข้ามสะพานลอยวิบาก” เนื่องจากมีสายเคเบิลพาดระหว่างทางขึ้นสะพานลอย เป็นเหตุให้ประชาชนผู้สัญจรไปมาต้องแสดงความสามารถทางกายในการ “ก้ม หลบ มุด” ออกมาเพื่อที่จะข้ามไปยังอีกฝั่งของถนนให้ได้

ซึ่งเหตุการณ์สายเคเบิลกีดขวางบนสะพานลอยนี้เกิดขึ้นบริเวณหน้าวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ถนนอรุณอมรินทร์ ซอย 6 เขตธนบุรี โดยมีสาเหตุมาจากการประสานงานที่ผิดพลาด แต่ล่าสุดได้มีการตัดสายเคเบิลเจ้าปัญหาดังกล่าวออกไปแล้ว

(อ่านเพิ่ม : ตัดแล้ว! สายเคเบิลพาดสะพานลอย หน้าวัดกัลยาณมิตร–กฟน.ชี้แจงไม่ใช่สายไฟฟ้า)

จะเห็นได้ว่าชีวิตในกรุงเทพฯ นี้เต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรคจำนวนมากที่ไม่อาจทำให้ชีวิตของพวกเขา “ลงตัว” ได้อย่างที่สโลแกนบอกไว้

ผศ.ดร.ธนพันธ์ ได้ให้ความหมายวลี “ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” ไว้ว่า “ต้องเป็นลักษณะที่เมืองสอดรับกับความต้องการของประชาชนที่อยู่ในกรุงเทพฯ สอดรับทั้งในแง่ของการใช้ชีวิต สอดรับในแง่ของการดำเนินชีวิต การที่จะให้คนรู้สึกว่า “ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” กับพื้นที่ตรงนี้ได้ เรื่องของโครงสร้างพื้นฐานต้องอำนวยความสะดวกให้กับคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ” ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นได้ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ระบุว่าต้องมี 1.การบริหารจัดการที่ต่อเนื่อง 2.วิสัยทัศน์และการวางแผนระยะยาว และ 3.รับฟังความคิดเห็นของประชาชน

“ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” จะมาถึงใน 5 ปี 10 ปี หรืออีก 20 ปี สิ่งหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้คือเราต้องอยู่กับมัน และภาวนาอย่างแรงกล้าให้ผู้มีอำนาจเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง เพื่อที่ว่าสักวันหนึ่งในอนาคต เราจะได้อาศัยอยู่ในเมืองที่ชีวิต “ลงตัว”    จริง ๆ เสียที

 

ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >>> https://www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0